Posted: 25 Jan 2018 06:21 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ถอดบทเรียนจากหนัง ‘The Human Scale’ พื้นที่สาธารณะของไทยไม่ใช่ของเราแต่เป็นของรัฐ ประชาชนไม่รู้สึกมีส่วนร่วม ขาดเวทีกลางรับฟังความเห็น ขณะบางคำถามจากรัฐมีคำตอบรออยู่แล้ว ชี้ต้องสร้างเมืองแบบมีส่วนร่วม ไม่เกี่ยวกับระดับการศึกษา หรือวิชาชีพ



“เรื่องทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลงพื้นที่ไปคุยกับคุณป้าที่อยู่ริมแม่น้ำ เขาบอกว่า พวกคุณศึกษากันดีนัก สุดท้ายก็สร้างทิ้งไว้แล้วก็ไป ฉันสิต้องอยู่กับมันทุกวัน คุณเป็นด็อกเตอร์คุณก็อึ้ง หรือเจอคุณยายบอกว่า เนี่ย รู้ไหม อยู่แบบลำบากแต่สบายดีกว่า คืออยู่แบบไม่ต้องสบายมากแต่สบายใจ ไม่ต้องมาทำแลนด์มาร์กอะไรวิลิศมาหรา หรือคุณยายบอกว่า จะมารื้อๆ จัดระเบียบอะไรกันริมน้ำ ช่วยบอกด้วยนะ ฉันจะได้ขุดรากเหง้าของฉันไปได้ทัน ต้องใช้การศึกษาสูงๆ เพื่อจะเข้าใจเรื่องพวกนี้ไหม ไม่ มันเป็นเรื่องมนุษย์ คุณเข้าใจมนุษย์รึเปล่า”

คือคำบอกเล่าส่วนหนึ่งจากงานเสวนาหลังฉายหนัง ‘The Human Scale’ หนังที่เล่าเกี่ยวกับชีวิตของผู้คนในเมืองใหญ่ เพราะอะไรเมืองสมัยใหม่จึงกีดกันผู้คนธรรมดาๆ อย่างเราออกจากการพัฒนา และถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสร้าง "เมือง" ซึ่งมองเห็นความต้องการและความสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นปัจจัยแรก

งานดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ม.ค. โดย "asa Cloud Exhibition Center" ร่วมกับ "Documentary Club" ที่ห้องออดิทอเรียมชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนาโดย กัญจนีย์ พุทธิเมธี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ร่วมผลักดันโครงการเส้นทางจักรยานเพื่อฟื้นฟูกรุงเทพมหานคร และยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม "Friends of the river" ดำเนินรายการโดย มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา มัณฑนากร สถาปนิก และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Hypothesis

(ซ้ายไปขวา) กัญจนีย์-ยศพล-มนัสพงษ์
ถอดบทเรียนจากหนัง ‘The Human Scale’
พื้นที่สาธารณะไม่ใช่ของเราแต่เป็นของรัฐ

ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม "Friends of the river" กล่าวว่า จากหนัง ถ้าเราถอดหมวกสถาปนิกออกไป แล้วเป็นพลเมืองที่เติบโตมาในประเทศใดๆ ก็แล้วแต่ จะเห็นว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญมันแย่ในแบบที่ต่างกันไป แต่ละเมืองก็ต้องต่อสู้กับเรื่องที่แตกต่างกันไป แต่อยากสะท้อนหลังจากดูหนังว่า แต่ละเมืองในหนังเหมือนมีโมเมนตัมหรืออะไรหลายอย่างที่เราไม่มี เราอาจจะไม่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีการออกแบบสำหรับผู้คน หรือเราไม่มีการชวนคิดชวนคุยแบบนิวซีแลนด์ เรายังไม่เห็นอิมแพคว่าถ้าเราแชร์ความคิดกันแล้วมันจะเกิดอะไร หรือถ้าเมืองมันเปลี่ยนแล้วมันเกิดอะไร มันมีหลายอย่างที่สะท้อนว่าเขามีและเราไม่มี

“มีประโยคในหนังที่เขาพูดว่า ‘มันจะดีกว่าไหมถ้าเป็นสเปซที่ไม่ใช่ของคุณหรือฉัน แต่เป็นสเปซของเรา’ เพราะมันคือของเรา แล้วเราก็จะได้ปฏิสัมพันธ์กัน แต่ถ้าเรามองย้อนในเมืองที่เราอยู่ มันมีสเปซของเราจริงๆ ไหม ตรงนี้ของรัฐ ตรงนั้นของการรถไฟ อันนี้ของท่าเรือ อันนี้ของ กทม. อันนั้นของทหาร อันนั้นเป็นของหน้าห้างสรรพสินค้า แล้วตกลงสเปซ ‘ของเรา’ มันอยู่ตรงไหน” ยศพลกล่าว

ยศพลกล่าวต่อเรื่องความเป็นสาธารณะ โดยยกตัวอย่างสวนสาธารณะของต่างประเทศ ที่พลเมืองเขาใช้และรู้สึกมีส่วนร่วม แต่สวนสาธารณะของไทย แม้จะเรียกว่าสวนสาธารณะและเราใช้ได้

“แต่จริงๆ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็น “ของเรา” เสียทีเดียว มันเป็นสวนสาธารณะในความดูแล กทม. ซึ่งจะมีกฎระเบียบมากมาย ห้ามทำนู่นทำนี่ ห้ามเล่นสเกตบอร์ด ห้ามเล่นบาสเกตบอล มีอันหนึ่งน่าสนใจมาก ห้ามเล่นไอซ์สเกต

“มันเหมือนเป็นการบอกว่า พื้นที่สาธารณะเป็นของรัฐ แต่เขามาสร้างให้คุณมีโอกาสได้ใช้ เพราะฉะนั้นคุณต้องทำตามกฎ ช่วยกันดูแลนะ เขาสั่งมา นี่คือวิธีการปกครอง หรือลักษณะวัฒนธรรมของเรา เพราะฉะนั้นเราจึงไม่รู้สึกว่าเรามีส่วนในนั้น นำมาซึ่งลักษณะของพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีคุณภาพ

ความรู้สึกว่าพื้นที่มันเป็นของรัฐมันมีมากกว่าเป็นพื้นที่ของเรา เช่น ตอนที่ กทม. มีแผนทำสะพานข้ามศิริราช-ท่าพระจันทร์ แล้วมีเสียงคัดค้าน เราก็ต้องบอกว่า ขอบคุณ กทม. ที่กรุณาไม่ทำสะพานข้ามศิริราช-ท่าพระจันทร์ คือประโยคนี้มีความผิดปกติบางอย่าง

“ปัญหาคือ ทำไมเราต้องขอบคุณ กทม. ที่ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีต่อเมือง ถ้าเราเข้าใจสถานะของรัฐและสถานะของพลเมืองที่มันเสมอภาคกัน รัฐก็มีหน้าที่ต้องคิดว่า ทำยังไงให้เมืองเป็นของผู้คน ทำยังไงให้เรารู้สึกเป็นเจ้าของแล้วไปร่วมใช้งาน แต่ตอนนี้กลายเป็นเราต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ แล้วเขาก็เป็นคนสั่งห้ามให้เราทำหรือไม่ทำอะไร จริงๆ ตามรัฐธรรมนูญ รัฐกับเราเท่ากัน รัฐมีหน้าที่ดูแลแทนเรา แต่เขาไม่ใช่เจ้าของที่นั่น ประชาชนเองก็ต้องมีส่วนร่วมในการดูแล แต่ความคิดนี้ไม่ได้ถูกสร้างความเข้าใจร่วมกัน”

กัญจนีย์ พุทธิเมธี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวเสริมว่า ทุกวันนี้ ประชาชนมีส่วนน้อยมากๆ ในการคิดหรือออกแบบพื้นที่สาธารณะ จนไม่อาจรู้สึกเป็นเจ้าของ


สร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อเป็นแค่พื้นที่สาธารณะหรือสร้างเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับคน

ยศพลยกตัวอย่างสนามกีฬาทางน้ำแห่งหนึ่งในพิษณุโลกซึ่งอยู่ติดกับบึงน้ำ แต่สนามกีฬาแห่งนี้ถูกใช้เพียงปีละครั้งหรืออาจไม่ได้ใช้เลย เขาอธิบายว่า เพราะคุณแค่เห็นที่ริมน้ำแล้วคุณก็คิดจะไปเปลี่ยนมัน สร้างสิ่งปลูกสร้างลงไป แต่มันไม่ได้ทำให้เป็นที่ของผู้คนจริงๆ เพราะเราไม่เห็นว่ามันสัมพันธ์ยังไงกับผู้คน

“คุณสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อให้มันเป็นแค่พื้นที่สาธารณะ หรือคุณกำลังสร้างเมืองเพื่อคน คำถามนี้เป็นคำถามใหญ่ ในหนังก็พยายามถามว่า ตกลงคุณต้องการเมืองแบบไหน คำถามนี้ต้องตอบโดยพวกเราทุกคน มันไม่ควรถูกตอบโดยนักออกแบบ ผู้ว่าฯ หรือผู้มีอำนาจ แต่เราควรจะถอดหมวกอันนั้นแล้วตอบในฐานะพลเมือง อย่างทางเดินเลียบแม่น้ำ เขาอยากได้จริงไหม แลกกับชุมชน ระบบนิเวศ อะไรต่างๆ” ยศพลกล่าว

พื้นที่สาธารณะ ความเข้าใจกันไปคนละทางของรัฐกับประชาชน


ยศพลอธิบายว่า คิดว่าอาจเป็นความซับซ้อนของบ้านเราตรงที่ หากรัฐมาดูหนังเรื่องนี้ เขาอาจจะคิดว่า เขาก็สร้างพื้นที่สาธารณะอยู่แล้ว เขาสร้างสนามกีฬาแล้ว มันก็คือที่สาธารณะ หรือเขาก็ทำทางเลียบแม่น้ำให้เป็นทางเดินของทุกคน เขาทำแล้วแต่พวกคุณนั้นแหละยังจะมาต่อต้านอีก

“เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ทัศนคติในการมอง ตกลงพื้นที่สาธารณะคืออะไร สำหรับรัฐมันอาจเป็นเรื่องของการสร้างความเท่าเทียม การที่เขาควบคุม จัดการได้ ดูแลรักษาง่าย แต่ของประชาชนอาจจะพูดถึงเรื่องความหลากหลาย ความยืดหยุ่น ก่อให้เกิดการผุดของบางสิ่งขึ้นมาได้ นี่คือชีวิต แต่พอมันอนุญาตให้เกิดอะไรขึ้นมาได้รัฐก็ยากที่จะควบคุม” ยศพลกล่าว

สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนคน

ยศพลยกตัวอย่างพื้นที่ริมน้ำอีกที่ที่จังหวัดกำแพงเพชร เขาเล่าว่ามีคนมานั่งดูพระอาทิตย์ตก คนมาวิ่ง มีแม่น้ำ มีหุบเขา ซึ่งเขามองว่าดี แต่ถามว่ามันดีกว่านี้ได้ไหม ลองคิดว่าถ้าเราเป็นเด็กกำแพงเพชรแล้วเติบโตขึ้นมากับสถานที่แบบนี้ ถ้าสถานที่แห่งนี้มันดีขึ้นได้อีก อาจจะมีต้นกก มีพื้นที่เรียนรู้ระหว่างริมน้ำ เราก็อาจจะเป็นอีกคนหนึ่ง เด็กที่อยู่ในสถานที่แวดล้อมที่ต่างกันก็อาจจะกลายเป็นคนที่ต่างกัน เราทุกคนไม่ว่าอยู่ในสถานะอะไรก็แล้วจะต้องก่อร่างมัน และคิดว่ามันดีได้มากกว่านี้

กัญจนีย์กล่าวว่า เนื่องจากเราเรียนสถาปัตย์มา เราเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนคน สิ่งแวดล้อมสร้างพฤติกรรมที่ดีหรือไม่ดีแก่คน เราในฐานะนักสร้างสิ่งแวดล้อม เรารู้สึกสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลตั้งแต่เรื่องสุขภาพไปจนถึงพฤติกรรม

กัญจนีย์กล่าวถึง เจน เจค็อบส์ ผู้เขียนหนังสือ The Death and Life of Great American Cities ซึ่งตั้งประเด็นตั้งแต่แรกที่เริ่มเขียนหนังสือว่าอยากจะวาดภาพว่าอะไรคือชีวิตที่ดี เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องมีภาพของ “อะไรคือชีวิตที่ดี” แล้วฉายภาพมันออกมาในเมืองที่เราอยู่ ช่วยกันสื่อสารมันออกมา ว่าเราอยากได้อะไรกับเมือง

ขาดเวทีกลางรับฟังความเห็น บางคำถามจากรัฐมีคำตอบอยู่แล้ว

ในเรื่องเวทีในการสื่อสาร ยศพลมองว่ายังไม่ค่อยมีเวทีในการสื่อสารของคนที่อาศัยในเมือง ว่าอยากได้เมืองแบบไหน รัฐอาจจะมองว่าเขาก็ถามไม่ใช่ไม่ถาม เขาก็พยายามไปถามตามบ้าน เก็บข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด แต่เชื่อว่ามันไม่ได้มีความเข้มข้น เพื่อจะให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึก หรือนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เปิดเป็นคำถามปลายเปิด

เขาชี้ว่า การพัฒนาเมืองต้องอาศัยข้อมูล ข้อมูลก็มีหลายระดับ ข้อมูลจากพื้นที่ นักวิชาการ งานวิจัย แล้วก็ถูกนำมาประมวลและถูกแชร์ เพื่อให้การขับเคลื่อนหรือการตัดสินใจมันอธิบายได้ แต่ถ้าตอบไม่ได้มันมีความกังขา ก็ต้องมีความเป็นอารยะ

“บ้านเราเวลาพูดถึงกระบวนการมีส่วนร่วมในการถามคำถามบางอย่าง มันเหมือนจะมีคำตอบรออยู่แล้ว เพราะมันคือวิธีการที่คุณต้องการจะควบคุมให้ได้ ถ้าคุณโยนคำถามปลายเปิดไปมันยากที่จะควบคุม เพราะฉะนั้นมันจึงไม่นำไปสู่สิ่งที่ควรจะเป็นหรือเหมาะกับเราจริงๆ แต่เหมาะกับวิธีการปกครอง หรือวิธีการจัดการงบประมาณ ระยะเวลา หรืออื่นๆ” ยศพลกล่าว

กัญจนีย์กล่าวว่า ถ้าทำแบบเข้มข้นจริงๆ ต้องยอมทั้งในเชิงงบประมาณและเวลาด้วย ซึ่งจริงๆ แล้ว ทุกคนยอมรึเปล่า ก็เป็นอีกคำถามหนึ่ง อย่างฝรั่งเศสหรือเยอรมนีเขาบอกว่าโปรเจกต์จัดการพื้นที่สาธารณะใช้ระยะเวลานานมากๆ นานจนเขาเบื่อ คนทำเบื่อ แต่เขาก็ทำ และก็เป็นขั้นตอนปกติของเขา หลายปีกว่าจะสรุปได้สักเรื่องหนึ่ง แต่เข้าใจว่าเมื่อสรุปแล้วมันได้สิ่งที่เป็นของคนที่นั่นจริงๆ

กัญจนีย์กล่าวต่อว่า ปัญหาเรื่องการรับฟังความเห็นสาธารณะของเราอย่างหนึ่งคือการแชร์ข้อมูล รัฐมีความจริงอยู่หนึ่งชุดแต่แสดงแค่ส่วนเดียวของความจริงทั้งหมด เริ่มแบบนี้มันก็จบ แต่ถ้าทุกคนมีความจริงใจที่จะเป็นการรับฟังความเห็นสาธารณะจริงๆ ข้อมูลต้องเป็นชุดเดียวกัน ต้องเข้าใจเหมือนกัน


สร้างเมืองแบบเข้าใจมนุษย์ ทุกคนต้องร่วมกันสร้างไม่เกี่ยวกับระดับการศึกษาหรือวิชาชีพ

กัญจนีย์กล่าวว่า “เรื่องของเมือง ไม่จำเป็นต้องจบโท จบเอก ทุกคนใช้เมืองอยู่ทุกวัน การศึกษาไม่ใช้ตัววัดว่าความคิดของคนนี้จะดี และคนนี้ไม่ดี ทุกคนต้องแชร์ทุกมุมมองและไอเดีย ถึงจะออกมาเป็นเมืองที่ทุกคนร่วมกันใช้”

ยศพลกล่าวว่า มันมีความสลับซับซ้อนอยู่ภายใต้คำถามว่าทำไมเมืองถึงไม่ดี ทำไมรัฐถึงทำแบบนั้น มันมีปัจจัยหลายอย่าง แต่ยังคิดว่ากลไกการมีส่วนร่วมสำคัญ “เราคุยกันแล้วเราเข้าใจกันไหม”

“เรื่องทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลงพื้นที่ไปคุยกับคุณป้าที่อยู่ริมแม่น้ำ เขาบอกว่า พวกคุณศึกษากันดีนัก สุดท้ายก็สร้างทิ้งไว้แล้วก็ไป ฉันสิต้องอยู่กับมันทุกวัน คุณเป็นด็อกเตอร์คุณก็อึ้ง หรือเจอคุณยายบอกว่า เนี่ยรู้ไหม อยู่แบบลำบากแต่สบายดีกว่า คืออยู่แบบไม่ต้องสบายมากแต่สบายใจ ไม่ต้องมาทำแลนด์มาร์กอะไรวิลิศมาหรา หรือคุณยายบอกว่า จะมารื้อๆ จัดระเบียบอะไรกันริมน้ำ ช่วยบอกด้วยนะ ฉันจะได้ขุดรากเหง้าของฉันไปได้ทัน ต้องใช้การศึกษาสูงๆ เพื่อจะเข้าใจเรื่องพวกนี้ไหม ไม่ มันเป็นเรื่องมนุษย์ คุณเข้าใจมนุษย์รึเปล่า

“เราเล่าให้เพื่อนที่เป็นคนพิการฟังว่ามีคุณยายที่อยู่บ้านริมแม่น้ำแล้วจะได้รับผลกระทบจากการสร้างทางเลียบริมแม่น้ำ เราบอกว่ารัฐเขาบอกว่าทำแล้วจะให้คนพิการได้ใช้ เพื่อนคนนั้นฟังแล้วเขาก็ไม่อยากได้ คือเราจะไปเอาความเป็นสาธารณะทำไมถ้ามันไปรบกวนและทำลายวิถีชีวิตคนอื่น” ยศพลกล่าว

ยศพลกล่าวต่อว่า บางเรื่องแค่ข้อมูลมันไม่ช่วย ต้องอาศัยการพูดคุย ทำให้เราเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือเราไม่ได้รับฟังมันจริงๆ เราเก็บเพื่อให้ได้ข้อมูลเพื่อส่งตามเช็คลิสต์ของงานวิจัย แล้วก็เอาไปส่งรัฐบาล รัฐบาลก็บอก 80 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยแล้ว น้ำไหลผ่านสะดวกแล้ว ขยะไม่ติด น้ำทะเลไม่ขึ้นสูงแล้ว สร้างได้ แต่คุณจะเข้าใจไหมว่าคุณเสียอะไร ได้อะไร อนาคตลูกหลานเป็นยังไง

“หรือคำถามสำคัญคือคุณอยากได้เมือง และอยากมีชีวิตแบบไหน ไม่ต้องใช้การศึกษา ถามกันแบบใจ-ใจ ท่านประยุทธ์อยากได้เมืองแบบไหน ท่านประวิตรอยากได้เมืองแบบไหน แบบนี้เหรอ แต่คุณยายเขาไม่อยากได้นะ ท่านว่าไง มันควรจะเป็นไดอะล็อกแบบนี้” ยศพลกล่าว

ยศพลกล่าวในเรื่องวิชาชีพว่า แน่นอนเราเคารพในวิชาชีพ วิชาชีพมันเข้ามาคลี่คลาย เข้ามาเพื่อสรุปและเสนอทางเลือก กลไกในวิชาชีพจึงสำคัญ และก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นอาชีพเดียวที่สามารถแปรความสลับซับซ้อนนี้ออกมาเป็นกายภาพ สิ่งที่เราเรียนรู้คือผลวิจัยหรือข้อสรุปในวันนี้มันอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ในอีก 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้น เหมือนในหนัง มันจึงไม่ควรเป็น master plan

“แม้เราเรียกร้องการมี master plan แต่มันควรเป็น inclusive master plan เพราะบางที master plan มันใช้เป็นเครื่องมือในการชวนคนคุยกัน จะตัดถนนตรงนี้ เอาไหม ไม่เอา เพราะอะไร มันเป็นเครื่องมือในการคุยกัน ข้อสรุปนี้มันอาจจะอยู่กับคนยุคนี้แต่มันอาจจะเปลี่ยนได้ ขยับได้ แต่คุณต้องเข้าใจเป้าหมายก่อน คือคุณมีคุณค่าอะไรและคุณอยากจะพัฒนาบนคุณค่าอะไร แล้วคุณค่านั้นมันเปลี่ยนทั้งเมืองไหม ถ้าคุณเข้าใจในรากฐานนี้ master plan จะกลายเป็นเครื่องมือในการมีส่วนร่วมของคน แต่ไม่ใช่เงิน 120 ล้านที่คุณจ่ายในการทำ master plan แต่ทำแล้วใช้ไม่ได้” ยศพลกล่าว

นอกจากนี้ยศพลยังมองว่าปัญหาของรัฐ เช่น การทำทางข้ามแม่น้ำจากศิริราชไปท่าพระจันทร์ ที่เสียงบก้อนหนึ่ง 50 ล้านในการทำงานวิจัย ทำการรับฟังความคิดเห็นตามที่กฎหมายกำหนด สุดท้ายบอกว่าไม่สร้างแล้ว ทำต่อไม่ได้ ถามว่าแล้วเราจะเสียเงิน 50 ล้านนั้นไปเพื่ออะไรถ้ามันไม่ได้นำไปสู่การพูดคุยและเข้าใจจริงๆ ว่าเราต้องการอะไร เมื่อเราเข้าใจเราจะตระหนักได้ว่าเราทำอะไรได้ และเราทำอะไรไม่ได้ในพื้นที่สาธารณะ และตัวคุณควรทำหน้าที่อะไร แต่พอคุณไม่ได้คุยกัน คุณก็ไม่เข้าใจ แล้วก็เป็นแบบนี้

กัญจนีย์กล่าวในฐานะสถาปนิกว่า สิ่งที่คนคิดถึงหลักๆ มีสามประเด็น คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ทั้งสามประเด็นนี้ต้องถูกพูดเวลาจะตกลงอะไรกัน แล้วเราในฐานะสถาปนิก ผู้ออกแบบเมือง จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการฉายภาพสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าทำตามแบบ A B C ในทั้งสามทิศทางคือ เศรษฐกิจจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งแวดล้อมจะเกิดอะไรขึ้น สังคมจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราฉายภาพได้ดีพอ การตัดสินใจจะง่ายขึ้น เพราะทุกอย่างมันเป็นประเด็นที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ตามเวลา แต่ถ้าเราพูดถึงครบตามประเด็นพวกนี้ แล้วกางออกมา มาตัดสินใจร่วมกันบนพื้นฐานประเด็นพวกนี้ เราเชื่อว่าจะไปสู่ข้อตกลงได้

“Do Something” เริ่มต้นด้วยตัวเรา ไม่ต้องรอ “top-down”

ยศพลกล่าวว่า เราต้องลุกขึ้นมา “Do something” สมมติกรณีเรื่องทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เราก็รอไปว่าเขาจะตัดสินยังไง จะสร้างหรือไม่ แต่บางทีวิธีคิดไม่จำเป็นต้องเป็น linear หรือไปตามเส้น เราต้องทำเอง เราจะลองเอาเรือที่มีสวนสาธารณะเล็กๆ อยู่ มาลอยในน้ำดูว่าจะเกิดปฏิกิริยาอะไร ที่เราจะทำการทดลองวันที่ 27 ม.ค. ที่งาน Design week

“มันเป็นการตั้งคำถามต่อพื้นที่สีเขียวในเมืองว่า คุณจะไปหาจากไหน ปัจจุบัน กทม.มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 6 ตารางเมตร/คน มันยากมากที่จะให้เพิ่มจากนี้ จะไปหาจากไหน สุดท้ายมันกลับมาที่ นี่ก็ที่ของทหาร นี่ก็ที่การรถไฟ จริงๆ มันสีเขียวเหมือนกันแต่มันไม่อยู่ในของ กทม. มันเอามาเป็นพื้นที่สาธารณะไม่ได้

“พื้นที่ริมแม่น้ำจึงเป็นพื้นที่ที่รัฐจับจ้อง เพราะมันเป็นพื้นที่เดียวที่จะสามารถเอามาทำได้ ดังนั้นการที่เราเอาเรือมาลองลอยดู สุดท้ายมันอาจเป็นทางออกของทุกฝ่ายว่า ไม่ต้องสร้างก็ได้ ทำเรือเหล่านี้แทน

เขาชี้ว่า มันสะท้อนกลไกการพัฒนาว่า ถ้ามันไม่เป็น top-down มันก็มีวิธี เริ่มจากคำถามง่ายๆ แต่ละคำตอบมันสะท้อนจริงๆ ว่าคนอยากได้อะไร ในฐานะนักออกแบบเราก็ต้องออกแบบข้อมูล เปลี่ยนเป็นการนำเสนอ แต่สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการสำรวจ ต้องลงไปในเชิงลึก พื้นที่นี้มีปัญหาอะไร เอาคนมาแลกเปลี่ยนกัน พื้นที่ของเรา จริงๆ มันเริ่มมาจากบนโต๊ะ เอา กทม.มานั่ง เจ้าของที่ดินรายใหญ่มานั่ง ชาวบ้านมานั่ง เด็กมานั่ง ทุกคนเท่ากัน สะท้อนสิ่งที่ทุกคนต้องการและมีปัญหา สุดท้ายจะนำมาสู่ว่า การที่คุณจะทำ มันกระทบเขาไหม การพัฒนาจะพัฒนาแบบไหนให้ยอมรับร่วมกันได้

กัญจนีย์เสริมว่า เท่าที่เห็น คนของ กทม.เองก็เข้าใจในความคิดของเรา เพราะอยู่ในเจเนอเรชั่นเดียวกัน เพียงแต่อำนาจการตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่เขา เขาต้องไปขอเจ้านายอีกที ซึ่งเจ้านายอาจมีมุมมองอย่างอื่น มีข้อจำกัดอย่างอื่น แต่เราเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นจากการพยายามทำงานกับ กทม.มา รุ่นนักเรียนนักศึกษาถ้าลุกขึ้นมาทำอาจจะได้ประสบการณ์ที่ดีกว่าเรา

โมเดลตัวอย่างที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน


ทศพลยกตัวอย่างนิทรรศการที่เคยทำ เกี่ยวกับการออกแบบบริเวณรอบแม่น้ำ เขาทำโต๊ะจำลองสภาพแวดล้อมโดยรอบแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วมีโมเดลจำลองต่างๆ เช่น สนามเด็กเล่น ทางเดิน และคำตอบที่เขาได้น่าสนใจมาก มีเด็กสองคนบอกว่าไม่ต้องทำทางเลียบแม่น้ำหรอก เราทำทางอ้อมไปในชุมชน แล้วมีสนามเด็กเล่นในชุมชนก็ได้ ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่ปรุงแต่ง เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมทางความคิด เป็นการสะท้อนมาที่ผู้ใหญ่ เพราะเด็กก็เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาเหมือนกัน

หรืออีกตัวอย่างที่ทศพลยกคือ พื้นที่รกร้างใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ เสาตอม่อเป็นของกรมทางหลวง เสาไฟฟ้าเป็นของการทางพิเศษ พื้นที่ใต้ทางด่วนก็เป็นของการทางพิเศษ เขาลงไปสำรวจว่าคนในชุมชนอยากมีอะไร อยากใช้พื้นที่ยังไง ทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจริงๆ คนในชุมชนก็รู้สึกเป็นเจ้าของจริงๆ สุดท้ายงานประสบความสำเร็จเพราะเกิดความร่วมมือ กทม.เข้ามาดูแล การทางพิเศษให้ใช้พื้นที่ ชุมชนก็ตั้งคณะกรรมการร่วมกับหน่วยงานรัฐในการดูแลรักษา ล่าสุดงานวันเด็กก็มีการใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมทำให้ 4 ชุมชนมาเจอกัน ซึ่งได้มากกว่าความเป็นสวนสาธารณะ แต่มันคือความร่วมมือของคน

“เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่ารัฐไม่ได้ลุกขึ้นมาทำ แต่ถ้ามันเกิดโมเดลและการเชื้อเชิญที่มันเกิดเหตุและปัจจัยถึงพร้อม มันก็อาจจะนำมาสู่เคสที่ดีได้ อย่างอันนี้มันประสบความสำเร็จเพราะมันอาศัยการบริจาคกับเงินลงทุนด้วย ไม่ใช่เงินของรัฐอย่างเดียว มีงบของ สสส.มาทำการวิจัย มีภาคเอกชนสนับสนุนงบก่อสร้างบางส่วน เพราะฉะนั้นมันแสดงให้เห็นว่าถ้ามันจะประสบความสำเร็จ ทุกคนต้องมาร่วมมือกันจริงๆ” ยศพลกล่าว

\

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.