Posted: 29 Jan 2018 11:28 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซต์ประชาไท)
31 ม.ค.นี้ ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาคดี อภิชาติ ชูป้ายต้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ปี 57 ลุ้นบรรทัดฐานสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ พร้อมเปิด 6 ประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ฝ่ายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์
ภาพและคลิปขณะเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ วันเกิดเหตุ
30 ม.ค. 2561 ผูัสื่อข่าวได้รับแจ้งจาก สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ว่าวันที่ 31 ม.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ณ ศาลแขวงปทุมวัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ถูกฟ้องตามความผิดประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และชุมนุมมั่วสุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก มาตรา216 และมาตรา 368 (คดีหมายเลขดำที่ 1097/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 9075/2559)
คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ได้เลื่อนฟังคำพิพากษามาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 30 ส.ค. 2560 และครั้งที่สองวันที่ 16 พ.ย. 2560
ยกฟ้องคดี 'อภิชาต' ชูป้ายต้าน คสช.-ศาลระบุกองปราบไม่มีอำนาจทำคดี
ศาลสั่งจำคุก 2 เดือน รอการลงโทษ 1 ปี คดีอภิชาตชูป้ายต้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์
'คดีซับซ้อน' เลื่อนพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งที่ 2 คดี 'อภิชาต' ชูป้ายค้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์ฯ
สนส ระบุด้วยว่า คดีนี้เกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐประหารคดีแรกๆ ย้อนกลับเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2557 ภายหลังการรัฐประหารของ คสช. เพียงหนึ่งวัน กลุ่มประชาชนจำนวนหนึ่งได้ออกมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ เพื่อคัดค้านการรัฐประหาร ซึ่ง อภิชาต ก็เป็นหนึ่งในคนที่เข้าร่วมทำกิจกรรมในวันดังกล่าว กลุ่มประชาชนที่ออกมาคัดค้านรัฐประหารในวันนั้นได้แสดงสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงการคัดค้านรัฐประหาร ส่วนใหญ่จะเป็นป้ายข้อความในกระดาษ A 4 ที่เตรียมกันมาเอง ในส่วนของ อภิชาตินั้น เขาได้ชูป้ายข้อความว่า “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” และในช่วงค่ำของวันนั้นเอง เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าเคลียร์พื้นที่และสลายกลุ่มประชาชน อภิชาติถูกทหารจับกุมและถูกนำตัวไปควบคุมไว้ภายใต้อำนาจของกฎอัยการศึก 7 วัน
ต่อมาวันที่ 28 เม.ย.2558 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องอภิชาต ในความผิดฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ชุมนุมมั่งสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวานในบ้านเมือง ไม่เลิกชุมนุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก และขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามหน้าที่ตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันควร (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก มาตรา 216 และมาตรา 368)
อภิชาต ได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่ความผิด ผลคือศาลแขวงปทุมวันได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2559 ด้วยเหตุผลว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
วันที่ 17 มี.ค. 2559 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ต่อมาวันที่ 6 มิ.ย. 2559 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลแขวงประทุมวันว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ได้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่
และต่อมาวันที่ 19 ธ.ค. 2559 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาใหม่ว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ให้พิจารณาโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก เป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุกจำเลย 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยในการกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
สนส รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ต่อมาวันที่ 20 ก.พ. 2560 ฝ่ายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลแขวงปทุมวัน ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวม 6 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เนื่องจากการสอบสวนในคดีนี้มิชอบด้วยกฎหมาย เพราะแม้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม จะอ้างระเบียบว่าด้วยอำนาจการสอบสวน ว่าคดีนี้เป็น “คดีที่ประชาชนชนให้ความสนใจ” แต่พยานกลับให้การขัดแย้งกันเอง และจำเลยเป็นเพียงประชาชนธรรมดา ไม่ได้เป็นที่รู้จักหรืออยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด
ประเด็นที่สอง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้อยู่ในฐานะรัฐฐาธิปัตย์ เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดของนักวิชาการกฎหมายส่วนข้างน้อยเท่านั้น แต่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ถือว่าการได้มาซึ่งอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มิใช่การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดรองรับอำนาจของพลเอกประยุทธ์ มีเพียงประกาศคณะรักษาความความสงบแห่งชาติซึ่งพลเอกประยุทธ์ ประกาศใช้เองโดยไม่ได้ผ่านความยินยอมของประชาชน ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับดังกล่าวจึงไม่มีผลเป็นกฎหมายซึ่งจะนำมาบังคับใช้กับจำเลยได้
ประเด็นที่สาม การประกาศกฎอัยการศึกโดยกองทัพบกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรนั้น ไม่ได้มีพระบรมราชโองการตามมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพ.ศ. 2457 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 7/2557 ที่มาใช้ดำเนินคดีกับจำเลย ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 22 พฤษภาคม2557 แต่ประกาศภายหลังเหตุตามฟ้องวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 จำเลยซึ่งเป็นนักกฎหมายย่อมทราบดีถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของประกาศฉบับดังกล่าวที่ประกาศโดยบุคคลที่ไม่มีอำนาจและไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จำเลยจึงออกไปคัดค้านการรัฐประหารอย่างสันติวิธี เพราะเชื่อโดยสุจริตว่าประกาศดังกล่าวนั้นยังไม่มีผลบังคับใช้ และจำเลยมีสิทธิที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550
ประเด็นที่สี่ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ไม่มีผลบังคับแล้ว เพราะได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ. 2558 ที่เป็นกฎหมายเฉพาะ และมีลักษณะเป็นคุณต่อจำเลย โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อห้ามมิให้มั่วสุมหรือเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำเลยจึงไม่ต้องผูกพันในการแก้ข้อกล่าวหาใดๆ ดังกล่าวอีก
ประเด็นที่ห้า พยานโจทก์ปากร้อยโทพีรพันธ์ สรรเสริญ ซึ่งศาลเชื่อว่าเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันการกระทำจำเลยได้อย่างดีนั้น ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ยืนยันว่าพยานปากดังกล่าวอยู่ในที่เกิดเหตุและเป็นผู้ควบคุมตัวจำเลย แม้แต่บันทึกการควบคุมตัวก็ไม่ปรากฏชื่อของร้อยโทพีรพันธ์ สรรเสริญ แต่อย่างใด คำเบิกความของพยานโจทก์ปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้ศาลรับฟัง
การกระทำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประกาศฉบับที่ 7/2557 เนื่องจากการไปชุมนุมและแสดงความไม่เห็นด้วยกับการการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติของจำเลย ไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุมโดยมีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ปราศจากความรุนแรง อุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมของจำเลยมีเพียงแผ่นกระดาษขนาด A4 และในระหว่างการจัดกิจกรรมของจำเลยนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบใดแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และจำเลยเห็นว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2558 ไม่สามารถบังคับใช้กับจำเลยได้ เนื่องจากการยึดอำนาจนั้นยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น และประชาชนมีสิทธิคัดค้านโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นสันติวิธีและเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่หก การกระทำของจำเลยไม่ถือเป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เนื่องจากข้อเท็จจริงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมีพฤติกรรมปลุกเร้าผู้ชุมนุมให้ฮึกเหิม หรือปลุกระดมกลุ่มผู้ชุมนุมให้เข้าร่วมมากขึ้น เพราะในทางนำสืบของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยปราศจากพยานหลักฐานยืนยัน
อีกทั้ง ในการตีความกฎหมายซึ่งมีโทษทางอาญาจำต้องตีความโดยเคร่งครัด และต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์และเจตนาที่แท้จริงของจำเลยประกอบการวินิจฉัย มาตรา 69 และมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 ได้คุ้มครองรับรองสิทธิของประชาชนที่จะต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นการได้อำนาจการปกครองประเทศมาโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตใจและเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในฐานะพลเมืองที่มีหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่เป็นการกระทำความผิดฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และขณะที่จำเลยถูกกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีนี้ เป็นวันที่ 23พฤษภาคม 2557 ภายหลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง 1 วัน ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะสามารถยึดอำนาจได้หรือไม่เพราะยังมีประชาชนออกมาต่อต้านและกฎหมาย
แสดงความคิดเห็น