Posted: 26 Feb 2018 11:22 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
10 ปีของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มรดกสำคัญของรัฐประหารปี 2549 กอ.รมน. แปลงสภาพเป็นหน่วยงานถาวรที่คอยสร้างความชอบธรรมให้กองทัพด้วยสารพัดวิธี เริ่มเข้าไปพัวพันกับกระบวนการยุติธรรม ควบคุมพลเรือน และมองประชาธิปไตยคือภัยความมั่นคง
ในยุคสงครามเย็น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ครั้นพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลาย สงครามเย็นยุติไปพร้อมกับการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน กอ.รมน. ก็ควรยุติบทบาทและยุบไปตามกาลเวลา ทว่า มันไม่เป็นเช่นนั้น
กอ.รมน. ยังคงอยู่และอยู่อย่างถาวรในฐานะหน่วยงานหนึ่งของรัฐนับตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 ที่พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ถูกประกาศใช้ 10 ปีผ่านมา กอ.รมน. เป็นมือไม้ของกองทัพสยายปีก แทรกซึม จัดตั้ง และสร้างความชอบธรรมให้แก่กองทัพ
“พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน พ.ศ.2551 ถูกผลักดันในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดิฉันถือว่าเป็นมรดกที่สำคัญของรัฐบาลสุรยุทธ์” กล่าวโดยพวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาประเด็นนี้
ผนวกกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 51/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ออกเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 อ่านในรายละเอียดจะพบว่ามีความพยายามเข้าไปพัวพันกับกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ถามว่าเหตุใดกองทัพจึงต้องสถาปนา กอ.รมน. ให้เป็นหน่วยงานถาวร ต้องใช้ออกคำสั่งแก้ไขกฎหมาย ทั้งที่อรเดิมอย่างคอมมิวนิสต์ไม่หลงเหลือ คำตอบของพวงทวงก็คือ กอ.รมน. ซึ่งนัยหนึ่งคือกองทัพบกมองว่าประชาธิปไตย รัฐสภา และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นปัญหาความมั่นคงของไทย สามสิ่งนี้คือภัยต่อความมั่งคงของประเทศได้อย่างไร บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะให้คำตอบ
เหนืออื่นใด หากการปฏิรูปกองทัพคือโจทย์สำคัญของระบอบประชาธิปไตยไทย การยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
มรดกจากยุคสงครามเย็น
เมื่อรัฐไทยในยุคสงครามเย็นเผชิญภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์และตระหนักว่าการสู้รบด้วยอาวุธเพียงอย่างเดียวมิใช่เส้นทางสู่ชัยชนะ ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีในการต่อสู้จึงได้รับการปรับเปลี่ยน จากมุมมองที่ว่าคอมมิวนิสต์คือภัยจากภายนอกที่ต้องการผลักให้ประเทศไทยเป็นโดมิโนตัวต่อไป สู่มุมมองว่าการก่อตัวของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ รากเหง้าก็มาจากปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง ความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งผลักให้ผู้คนต้องจับอาวุธขึ้นสู้รบ หากต้องการขจัดภัยคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซาก ต้องขุดรากถอนโคนปัญหาเหล่านี้ เชิงอรรถไว้ตรงนี้ว่าการที่รัฐไทยเปลี่ยนมุมมอง ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ หรือซีไอเอด้วย
“กอ.รมน. คือการทำให้พลเรือนอยู่ใต้ทหาร และยิ่งตอนนี้เรามีรัฐบาลทหาร ทั้งระดับประเทศ ระดับภาค ระดับจังหวัด รองผู้อำนวยการ กอ.รมน.จังหวัดก็เป็นทหาร ทุกศาลากลางจังหวัด จะมีออฟฟิศและเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. นั่งอยู่เพื่อทำงานประสานกับมหาดไทย จะเห็นได้ว่าเขากุมทุกหน่วยงานทุกระดับ”
กอ.รมน. ถือกำเนิดขึ้นจากเหตุนี้ ดำเนินการควบคู่ไปกับการทหารที่ไม่ได้ลดความสำคัญลง เพียงแต่เพิ่มภารกิจเอาชนะใจประชาชนด้วยวิธีการทางเศรษฐกิจและการเมืองเข้าไปด้วย แปรเปลี่ยนเป็นโครงการพัฒนาทั้งหลาย ทั้งนี้ ในยุคสงครามเย็น โครงการในพระราชดำริก็มีเป้าหมายเอาชนะภัยคอมมิวนิสต์ด้วยเช่นกัน
“ทั้งสองส่วนเป็นแนวความคิดเดียวกัน เพียงแต่เวลาพูดถึงมักพูดแยกกันเสมอ หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการพระราชดำริคือทหาร เพราะมีกำลังคนของตนในพื้นที่ทั่วประเทศ
“กอ.รมน. เป็นส่วนที่วางยุทธศาสตร์และแผนโดยใช้การเมืองและเศรษฐกิจในการต่อสู้ ข้อสำคัญคือโครงการพัฒนาเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นในพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่ที่คอมมิวนิสต์แทรกซึมเข้าไปมีอิทธิพลสูง หรือพื้นที่ที่กองกำลังคอมมิวนิสต์ยึดพื้นที่ได้ ดังนั้น พื้นที่เหล่านี้ต้องใช้กลไกกองทัพควบคู่กับการพัฒนา สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อกองทัพยึดพื้นที่จากคอมมิวนิสต์ได้ก็ตั้งหมู่บ้าน เอาประชาชนไปใส่ไว้ที่นั่น ซึ่งก็เป็นประชาชนจัดตั้งของ กอ.รมน. กลุ่มต่างๆ ให้ที่ดินกับประชาชนที่เข้าไปอยู่ ให้การอบรมศึกษาเกี่ยวกับความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันประชาชนเหล่านี้ก็ช่วยเป็นหูเป็นตาว่า คอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวอย่างไร ใครเป็นสายให้คอมมิวนิสต์”
นโยบาย 66/2523 และ 65/2525 เป็นอีกรูปธรรมหนึ่งที่กองทัพใช้ประนีประนอมทางการเมืองเพื่อจัดการความขัดแย้ง แปรเหล่าสหายเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย พวงทองอธิบายว่า นโยบาย 66/2523 ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการเมืองนำการทหาร เพราะจริงๆ ทหารไม่เคยละทิ้งแนวทางสงครามหรือการปราบปรามต่อประชาชนเลย แต่นโยบายทั้งสองเป็นผลจากการที่กองทัพคิดว่า การจะสามารถเอาชนะสงครามประชาชนได้อย่างยั่งยืน ต้องใช้แนวทางการเมืองควบคู่ไปด้วย เป็นจุดหมายของความสำเร็จและเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แม้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) พ่ายแพ้แล้ว แต่ยุทธศาสตร์นี้ยังคงถูกใช้ต่อมา ทั้งที่ กอ.รมน. ควรหมดบทบาท
กองทัพไม่เคยชื่นชมประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
พวงทองอธิบายต่อว่า ช่วงปลายยุคประชาธิปไตยครึ่งใบของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดกระแสเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องการวุฒิสภาที่เลือกโดยนายกฯ ทั้งหมดและมีอำนาจเท่ากับสภาผู้แทนราษฎร ห้วงยามนั้นชนชั้นนำเริ่มมองเห็นแล้วว่ากระแสความต้องการของชนชั้นกลางในเมืองที่อยากได้ประชาธิปไตยเต็มใบแบบรัฐสภามีมากขึ้น
“หลังสงครามเย็นปัญหาที่ทำให้สังคมไทยไม่มั่นคงในทัศนะของทหารคือ นักการเมือง มีแต่นักการเมืองที่คอร์รัปชั่น ซื้อเสียง ชาวบ้านขายสิทธิ โง่ จน เจ็บ มันลามไปถึงชาวบ้านด้วยในตอนหลัง กองทัพมองนักการเมืองเป็นสาเหตุของความไม่มั่นคง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แบบที่ประชาชนมีสิทธิเลือก อยากได้ใครก็ได้ เป็นสิ่งที่กองทัพไม่ชอบ เพราะเขาไม่เชื่อการตัดสินใจของประชาชน”
พวงทองตั้งคำถามว่า แต่กองทัพจะยอมลงจากอำนาจและหมดบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิงหรือ?
“เมื่อมองกลับไปจะเห็นว่าเขาพยายามรักษาอำนาจของทหารไว้ในกลไกทางการเมืองผ่าน กอ.รมน. เช่น การจัดตั้งมวลชนที่ยังดำเนินต่อไปในหลายส่วน รวมถึงการขยายบทบาทของทหารในมิติอื่นที่ไม่ใช่มิติการสู้รบ ถ้าดูยุทธศาสตร์ของกองทัพบกและของ กอ.รมน. จะเห็นว่าภารกิจและการนิยามปัญหาความมั่นคงของไทยขยายออกไปสู่ปัญหายาเสพติด สิ่งแวดล้อม การค้ามนุษย์ การก่อการร้าย เรื่องการพัฒนาก็ยังอยู่ บทบาทไม่ได้ลดลงเลย โดยบอกว่าตัวเองสนับสนุนโครงการพระราชดำริ ซึ่งการพูดแบบนี้ไม่มีใครเถียงหรือคัดค้านได้”
ภายหลังพลเอกเปรมลงจากอำนาจ กองทัพยังมโนต่อไปว่าตนเองเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงความมั่นคงของชาติ โดยภัยที่เป็นภัยความมั่นคงของชาติในทัศนะกองทัพส่วนใหญ่เป็นภัยจากภายใน
“กองทัพมีความคิดต่อระบอบประชาธิปไตยในแบบของเขา เขาไม่เคยชื่นชมประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่วางอยู่บนหลักการเสียงส่วนใหญ่ ไม่ไว้ใจนักการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่สงครามเย็น พลเอกเปรมชัดเจนว่าไม่เคยไว้วางใจพรรคการเมืองเลย ตำแหน่งสำคัญในสมัยพลเอกเปรม ไม่ใช่ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นคนที่เขาเลือกมาเอง ซึ่งเป็นเทคโนแครตเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น ความไม่ไว้วางใจนี้ก็นำมาสู่การวางโครงสร้างให้กองทัพเข้าไปมีบทบาทในเรื่องต่างๆ ได้ บทบาทเหล่านี้อาจไม่มีผลทางการเมืองอย่างชัดเจน แต่มีผลในการสร้างความชอบธรรม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกองทัพในสายตาประชาชนที่ชี้ให้เห็นว่าทหารไทยทำอะไรหลายอย่างมาก น้ำท่วมก็มาช่วย น้ำแล้งก็ขนน้ำมาช่วย สร้างถนน ขุดคลอง
“แม้ในช่วงความนิยมของกองทัพตกต่ำที่สุดในช่วงหลังพฤษภาคม 2535 ทหารหันไปทำงานพัฒนากันมาก ด้านหนึ่งเพื่อบอกว่ากองทัพไม่ยุ่งกับการเมืองแล้ว แต่กองทัพก็ยังมีประโยชน์กับสังคมไทย มันอาจดูไม่เป็นการเมือง แต่สำหรับดิฉันมันเป็นการเมืองมาก”
มันทำให้กองทัพช่างดูไม่มีพิษมีภัย แต่เมื่อใดที่กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองโดยตรง กลไกที่มีอยู่จะถูกระดมมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กองทัพหรือทำลายความชอบธรรมคนอื่น เช่น ช่วงประชามติที่มีการระดมมวลชนมาเพื่อสนับสนุนรัฐธรรมนูญ กรณีการประท้วงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพาที่ชาวบ้านประท้วงวันนี้ รุ่งขึ้นมีมวลชนที่มีสายสัมพันธ์กับ กอ.รมน.ออกมาต่อต้านชาวบ้านที่ไม่เอาถ่านหิน อ้างว่ามีถึง 67 กลุ่ม มีมวลชน 50,000 คนสนับสนุน สามารถเข้าไปยื่นจดหมายในค่ายทหารได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งสะท้อนว่าต้องมีการจัดตั้งที่ดีมาก ถ้าไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทำอยู่แล้ว ไม่มีทางทำได้เร็วเพียงนี้
ยุคสงครามเย็น คอมมิวนิสต์คือศัตรูหลัก หลังยุคสงครามเย็น ใครหรืออะไรคือศัตรูที่ กอ.รมน. ต้องสู้รบปรมมือด้วย พวงทองตอบว่า
“หลังสงครามเย็นปัญหาที่ทำให้สังคมไทยไม่มั่นคงในทัศนะของทหารคือ นักการเมือง มีแต่นักการเมืองที่คอร์รัปชั่น ซื้อเสียง ชาวบ้านขายสิทธิ โง่ จน เจ็บ มันลามไปถึงชาวบ้านด้วยในตอนหลัง กองทัพมองนักการเมืองเป็นสาเหตุของความไม่มั่นคง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แบบที่ประชาชนมีสิทธิเลือก อยากได้ใครก็ได้ เป็นสิ่งที่กองทัพไม่ชอบ เพราะเขาไม่เชื่อการตัดสินใจของประชาชน กองทัพยังท่องอยู่นั่นแหละว่าประชาชนเลือกเพราะซื้อสิทธิขายเสียง หรือเลือกเพียงเพื่อแลกกับผลประโยชน์เล็กน้อยของตัวเอง แต่ประเทศชาติโดยรวมฉิบหาย ทั้งที่มีงานวิจัยออกมามากมายที่ยืนยันว่าชาวบ้านเลือกเพราะนโยบายของพรรคการเมืองมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองที่สามารถตอบสนองความต้องการ ทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น แต่สังคมไทยทำให้หลายอย่างบิดเบี้ยวกลับหัวกลับหางไปหมด”
พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
“พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน พ.ศ.2551 ถูกผลักดันในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดิฉันถือว่าเป็นมรดกที่สำคัญของรัฐบาลสุรยุทธ์ รัฐประหาร 2549 มีการสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งภายใน 1 ปี ตอนนั้นกองทัพอาจยังมองไม่เห็นพลังคนเสื้อแดงเพราะยังไม่มีกลุ่มเสื้อแดง ขณะเดียวกันการจะมีการเลือกตั้งภายใน 1 ปีก็ต้องมีการจัดระเบียบระบบที่จะทำให้อำนาจของกองทัพดำรงอยู่ในทางการเมือง ฉะนั้น พ.ร.บ.ความมั่นคง 2551 ซึ่งอันที่จริงแล้วสามารถเปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ.กอ.รมน. ก็ได้เพราะมีเนื้อหาว่าด้วย กอ.รมน. อย่างเดียว เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจ กอ.รมน. อยู่เหนือหน่วยงานพลเรือนทั้งหมด โดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉินของประเทศ”
เดิมทีไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับ กอ.รมน. เป็นการเฉพาะมาก่อน กอ.รมน. เกิดขึ้นโดย พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 ซึ่งได้มีการยกเลิกไปในปี 2543 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย แต่ กอ.รมน. มิได้ยุติบทบาท กลับยังคงอยู่โดยอำนาจ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 157/2542 ที่ออกสมัยรัฐบาลชวน ต่อมาก็คือคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 158/2545 ที่ออกสมัยรัฐบาลทักษิณ
“กองทัพมีความคิดต่อระบอบประชาธิปไตยในแบบของเขา เขาไม่เคยชื่นชมประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่วางอยู่บนหลักการเสียงส่วนใหญ่ ไม่ไว้ใจนักการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร... ความไม่ไว้วางใจนี้ก็นำมาสู่การวางโครงสร้างให้กองทัพเข้าไปมีบทบาทในเรื่องต่างๆ ได้ บทบาทเหล่านี้อาจไม่มีผลทางการเมืองอย่างชัดเจน แต่มีผลในการสร้างความชอบธรรม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกองทัพในสายตาประชาชน”
แต่ในยุคพลเอกสุรยุทธ์ได้ทำให้ กอ.รมน. กลายเป็นหน่วยงานถาวรและมีอำนาจมากยิ่งขึ้น แม้ไม่ได้ขึ้นกับกระทรวงกลาโหม แต่ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีโครงสร้างเป็นทหารเกือบทั้งหมด หมายความว่าผู้ที่เสนอประเด็น กำหนดยุทธศาสตร์ย่อมต้องเป็นทหารและถูกครอบงำด้วยทหาร
“ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา กอ.รมน. ถูกเรียกใช้เยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลเอกสุรยุทธ์และพลเอกประยุทธ์จะใช้เยอะมาก ช่วงพลเอกประยุทธ์ทั้งคณะกรรมการปฏิรูป คณะกรรมการสมานฉันท์ ก็จะมอบหมายไปให้ กอ.รมน. เป็นผู้ดูแล ประสานงาน จัดทำร่าง”
จุดสำคัญหนึ่งของ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ.2551 คือการแก้ประเด็นที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเคยแก้ไขไว้ พวงทองกล่าวว่า รัฐบาลทักษิณช่วง 2 ปีหลังพยายามปฏิรูปกองทัพและ กอ.รมน. แต่ก็ทำได้อย่างจำกัด ส่วนหนึ่งเพราะสูญเสียความชอบธรรมจากการแต่งตั้งญาติตนเองเป็นผู้บัญชาการทหารบก ทำให้ถูกมองว่าการปฏิรูปกองทัพเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ โดยทักษิณพยายามทำคือการจัดโครงสร้างใหม่ให้ กอ.รมน.จังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการ มาขึ้นตรงกับผู้อำนวยการ กอ.รมน.ส่วนกลาง ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่อยู่ภายใต้ กอ.รมน.ภาค ที่มีแม่ทัพภาคเป็นผู้ดูแล
“กอ.รมน. คือการทำให้พลเรือนอยู่ใต้ทหาร และยิ่งตอนนี้เรามีรัฐบาลทหาร ทั้งระดับประเทศ ระดับภาค ระดับจังหวัด รองผู้อำนวยการ กอ.รมน.จังหวัดก็เป็นทหาร ทุกศาลากลางจังหวัด จะมีออฟฟิศและเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. นั่งอยู่เพื่อทำงานประสานกับมหาดไทย จะเห็นได้ว่าเขากุมทุกหน่วยงานทุกระดับ พอมี พ.ร.บ.ความมั่นคง 2551 ก็กลับเอาทุกอย่างที่ทักษิณเปลี่ยนกลับไปเหมือนเดิม เอาผู้อำนวยการ กอ.รมน.ไปอยู่ใต้แม่ทัพภาคเหมือนเดิม”
และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 คือทหารหวนกลับมาทุ่มเทกับการจัดตั้งมวลชนมากยิ่งขึ้น พวงทองอ้างอิงเอกสารของกองทัพที่ทำการศึกษา ซึ่งระบุว่า ตั้งแต่ปี 2549 มีคำสั่งให้ตรวจสอบจำนวนมวลชนกลุ่มต่างๆ ว่ามีเท่าไร ให้เรียกระดมขึ้นมาใหม่ และจัดกิจกรรมจำนวนมาก ซึ่งในอดีตกลุ่มองค์กรที่ กอ.รมน. จัดตั้งเหล่านี้อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยและอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีคอมมิวนิสต์แทรกซึม แต่ในช่วง 10 ปีหลัง องค์กรที่ กอ.รมน. จัดตั้งมีในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้เห็นได้ว่าการพยายามรักษาอำนาจของกองทัพโดยกฎหมายความมั่นคงภายในเริ่มมาตั้งแต่ 2549 และรัฐประหาร 2557 ก็ใช้กลไกนี้ต่อมาอย่างแข็งขันมากยิ่งขึ้น
กองทัพขยายอำนาจเข้าสู่กลไกตุลาการ?
สำหรับพวงทอง จุดที่น่าจับตามองในคำสั่งที่ 51/2560 คือการจัดตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในระดับภาคที่ระบุชัดเจนนว่า ผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค ซึ่งก็คือแม่ทัพภาค ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ และมีอธิบดีอัยการภาคที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีอาวุโสสูงสุดเข้ามาเป็นกรรมการของคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคด้วย หน่วยงานอื่นนอกจากนั้นล้วนเป็นกลไกที่ทำงานให้ กอ.รมน. มานานแล้ว
“ต้องจับตาดูว่าการร่วมมือระหว่างกองทัพกับอัยการภาคจะออกมารูปแบบไหน นี่น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญเพราะอัยการเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ฟ้องคดี ที่ผ่านมาจะเห็นว่ากองทัพฟ้องประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารเยอะมาก อาจเกิดความกังวลว่า วันหนึ่งถ้าหมดอำนาจ พวกเขาอาจจะเดือดร้อน อาจถูกฟ้อง การเอาหน่วยงานอัยการเข้ามาร่วมมือด้วยอาจเป็นการป้องกันตัวเอง นี่มองแบบดีที่สุด เบาที่สุดแล้ว ถ้าแบบร้ายที่สุด ก็อาจเข้าไปแทรกแซงกระบวนการในการดำเนินงานของอัยการ”
“กลไกใหม่คืออธิบดีอัยการภาค หมายความว่ากองทัพกำลังขยายอำนาจตัวเองเข้าไปสู่กลไกตุลาการหรือไม่”
พวงทองขยายความว่า พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจ กอ.รมน. อย่างมากในการเรียกใช้งานหน่วยงานอื่นๆ ตามยุทธศาสตร์ที่ กอ.รมน. วางไว้ รวมถึงหน่วยงานยุติธรรม แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีระบุไว้ชัดเจน คำสั่งนี้ย่อมทำให้ กอ.รมน. เกิดความสะดวกมากขึ้นที่จะเรียกใช้หน่วยงานรัฐให้ทำงานประสานกับตนเอง เพราะก่อนนี้ยังมีความเกรงใจกันอยู่ระหว่างกองทัพกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
“ต้องจับตาดูว่าการร่วมมือระหว่างกองทัพกับอัยการภาคจะออกมารูปแบบไหน นี่น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญเพราะอัยการเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ฟ้องคดี ที่ผ่านมาจะเห็นว่ากองทัพฟ้องประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารเยอะมาก อาจเกิดความกังวลว่า วันหนึ่งถ้าหมดอำนาจ พวกเขาอาจจะเดือดร้อน อาจถูกฟ้อง การเอาหน่วยงานอัยการเข้ามาร่วมมือด้วยอาจเป็นการป้องกันตัวเอง นี่มองแบบดีที่สุด เบาที่สุดแล้ว ถ้าแบบร้ายที่สุด ก็อาจเข้าไปแทรกแซงกระบวนการในการดำเนินงานของอัยการ
“ที่ผ่านมา มีการพูดว่าศาลไทยมีปัญหาเรื่องสองมาตรฐาน ถูกอิทธิพลทางการเมืองเข้าแทรกแซง แต่ดิฉันคิดว่าของแบบนี้ไม่เคยสั่งกันได้ตรงๆ มันเป็นไปตามกระแสทางการเมือง จะมีกรณีไหนสั่งได้ตรงๆ ไหม ไม่เคยมีหลักฐาน เราไม่รู้ แต่เมื่อถูกดึงให้มาทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น อิทธิพลของกองทัพก็จะชัดเจนขึ้น”
กอ.รมน.ทำงานการเมืองให้กองทัพ
กอ.รมน.มีบทบาทสำคัญในการทำงานทางการเมืองให้กองทัพ รวมถึงการทำให้ผลทางการเมืองออกมาในแบบที่ คสช. ต้องการ เช่น การจัดตั้งกลุ่มมวลชนในท้องถิ่น การสกัดกั้นมวลชนฝ่ายตรงข้าม การประเมินความนิยมของ คสช. ในระดับท้องถิ่น เป็นต้น ขณะเดียวกัน กอ.รมน. ก็ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ทั้งระดับผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ จังหวัด ซึ่ง กอ.รมน. มีอำนาจสั่งการ ซึ่งนับจากอดีต หน่วยงานที่ขยันขันแข็งที่สุดคือกระทรวงมหาดไทย
แต่ในช่วง 3 ปีมานี้ กอ.รมน. เข้าไปใช้กระทรวงศึกษาธิการมากขึ้น กอ.รมน. เข้าไปฝึกอบรมครูตามโรงเรียน จัดรณรงค์ หรือกรณีของนักพูด เบสต์-อรพิมพ์ รักษาผล ที่ทำให้คนอีสานไม่พอใจ ซึ่งเป็นการพูดกับนักเรียน 3,000 กว่าคน ก็เป็นการเกณฑ์มาจาก 5 จังหวัดโดย กอ.รมน. นี่คือกลไกของกระทรวงศึกษาธิการที่ กอ.รมน. เข้าไปใช้อย่างสะดวก ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งต่อไป กลไกเหล่านี้ก็จะถูกใช้อีกเช่นเดียวกับตอนทำประชามติ
“แต่การเลือกตั้งกับการทำประชามติต่างกัน ผลอาจไม่ออกมาสวยงามแบบประชามติ ตอนประชามติคนเข้าใจผิดเยอะว่ามีรัฐธรรมนูญแล้วจะมีการเลือกตั้งโดยเร็ว คนอาจไม่เข้าใจเนื้อหารัฐธรรมนูญ แต่กับการเลือกตั้งคนชัดเจนว่าแต่ละพรรคเป็นอย่างไร คุณไม่ต้องไปบอกให้เขาเลือก เขาก็มีตัวเลือกอยู่แล้ว เลือกตั้งจึงคุมยากกว่าประชามติ”
ยุบ กอ.รมน. คือความจำเป็นหากต้องการปฏิรูปกองทัพ
จากบทสนทนาทั้งหมด เราตั้งคำถามกับพวงทองว่า หากต้องการปฏิรูปกองทัพ ต้องการทำให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และยุบ กอ.รมน. คือความจำเป็น?
“เราจะปฏิรูปกองทัพไม่ได้ ถ้ากองทัพไม่สูญเสียความชอบธรรมทางการเมือง ถ้าคนไทยกลุ่มหลักๆ โดยเฉพาะสื่อมวลชนกระแสหลักและชนชั้นกลางมองไม่เห็นปัญหาที่เกิดจากกองทัพ และมีฉันทามติว่าถึงเวลาที่จะต้องเอาทหารออกจากการเมือง คุณก็แตะต้องอะไรกองทัพไม่ได้ และถ้ามีโอกาสปฏิรูปกองทัพเมื่อใด ก็ต้องดำเนินการกับ กอ.รมน.”
“ใช่ ต้องเอากิจการที่ไม่ใช่การรบ การปกป้องดินแดนออกจากมือกองทัพ รวมถึงประเด็นเรื่องความมั่นคงภายในก็ไม่ควรอยู่ในมือทหาร เพราะทหารมองว่าประชาชนเป็นปัญหาความมั่นคง และนี่เป็นสิ่งที่หลายประเทศทำ อินโดนีเซียทำหลังยุคซูฮาร์โต ต้องมีการบัญญัติกฎหมายว่าทหารจะต้องไม่เข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง รัฐประหารเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ต้องเอากิจการพลเรือนที่อยู่ในมือกองทัพทั้งหมดออกไป
“จะยกเลิกกฎหมายได้ ต้องไปด้วยกันกับเจตจำนงที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องประกาศว่าถึงเวลาที่จะปฏิรูปกองทัพ ให้กองทัพอยู่ภายใต้อำนาจของพลเรือน ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าถ้าเกิดน้ำท่วม ภัยพิบัติขึ้นมาจะใช้กองทัพทำงานเหล่านี้ไม่ได้ ใช้ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของพลเรือนที่มาจากประชาชน ทหารออกมาเองไม่ได้ แต่ตอนนี้กองทัพมีอำนาจของตัวเอง ทำได้เองและยังสั่งพลเรือนทำด้วย มันกลับกัน”
พวงทองสรุปว่า ตราบเท่าที่กองทัพยังมีอำนาจหรือต่อให้ คสช. ไม่อยู่แล้ว แต่หากไม่มีความพยายามปฏิรูปกองทัพ ปีกอนุรักษ์นิยมที่ต่อต้านการเมืองแบบรัฐสภาที่ขึ้นมามีอำนาจก็จะยังใช้ กอ.รมน. เป็นมือไม้ในการต่อต้านการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
“กรณีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านเทพาจะเกิดบ่อยขึ้น ทำให้ประชาชนเคลื่อนไหวลำบาก ตอนนี้เวลาประชาชนถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ ภาพข่าวออกมา เจ้าหน้าที่เสียหาย แต่ถ้าคุณไปเดินแล้วมีประชาชนกลุ่มหนึ่งทำร้ายอีกกลุ่มหนึ่ง เจ้าหน้าที่จะบอกว่าก็ประชาชนทำกันเอง จะให้ทำอย่างไร เขาก็ไม่พอใจในสิ่งที่คุณทำ จะเห็นได้ว่า การมีมวลชนเป็นของตัวเองมันสำคัญ ทำให้เขาไม่ต้องพึ่งพิงพรรคประชาธิปัตย์ หรือ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) แบบเดิมในทุกงาน
“แน่นอนว่าหากเขาต้องการมวลชนจำนวนเป็นแสนเป็นล้านเขาต้องพึ่ง แต่เหตุการณ์จำนวนมากไม่ต้องการมวลชนขนาดนั้น แค่ 500 คน 1,000 คนออกมาต่อต้านกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล แค่นี้ก็พอแล้ว ล่ารายชื่อ 50,000 คนเตรียมไว้ก็พอแล้ว จริงๆ แล้วกองทัพไม่ชอบ Social Movement เพราะเขามองว่านี่คือพวกที่ชอบสร้างอำนาจต่อรองกับภาครัฐ แต่ตัวเขาเองต่างหากที่ต้องการสร้างมวลชนตลอดมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น”
บทสนทนาสุดท้าย พวงทองย้ำความสำคัญของการปฏิรูปกองทัพและการยุติบทบาทของ กอ.รมน. ซึ่งเป็นสองสิ่งที่ต้องดำเนินไปควบคู่กันว่า
“เราจะปฏิรูปกองทัพไม่ได้ ถ้ากองทัพไม่สูญเสียความชอบธรรมทางการเมือง ถ้าคนไทยกลุ่มหลักๆ โดยเฉพาะสื่อมวลชนกระแสหลักและชนชั้นกลางมองไม่เห็นปัญหาที่เกิดจากกองทัพ และมีฉันทามติว่าถึงเวลาที่จะต้องเอาทหารออกจากการเมือง คุณก็แตะต้องอะไรกองทัพไม่ได้ และถ้ามีโอกาสปฏิรูปกองทัพเมื่อใด ก็ต้องดำเนินการกับ กอ.รมน.”
แสดงความคิดเห็น