ที่มาภาพ UNICEF/UN0147322/Brown

Posted: 23 Feb 2018 03:38 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ยูนิเซฟชี้เด็กชาวโรฮิงญากว่า 720,000 คนในเมียนมาร์และบังกลาเทศตกอยู่ในอันตรายจากพายุไซโคลนและความรุนแรง

23 ก.พ.2561 องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย แจ้งว่า องค์การยูนิเซฟเรียกร้องให้มีการเร่งช่วยเหลือเด็กชาวโรฮิงญากว่า 720,000 คน ที่กำลังถูกคุกคามจากฤดูพายุไซโคลนที่ใกล้จะมาถึงในบังกลาเทศ และจากเหตุการณ์ความรุนแรงและการถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานในเมียนมาร์

จากรายงาน LIVES IN LIMBO: No End in Sight to the threats facing Rohingya children ซึ่งเผยแพร่ในวาระครบรอบหกเดือนของการอพยพของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาไปยังภาคใต้ของบังกลาเทศ ยูนิเซฟระบุว่า ฤดูพายุไซโคลนที่กำลังใกล้เข้ามา อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมภายในค่ายอพยพของผู้ลี้ภัยซึ่งขาดสุขอนามัยอยู่แล้ว และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรคระบาดต่างๆ ซึ่งอาจทำให้คลินิก ศูนย์การเรียนรู้และบริการสำหรับเด็กต่าง ๆ อาจจำเป็นต้องปิดลง

รายงานยังกล่าวอีกว่า มีเด็กชาวโรฮิงญาประมาณ 185,000 คนยังตกค้างอยู่ในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งกำลังหวาดผวากับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และในบังกลาเทศ ขณะนี้มีเด็กผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญารวมประมาณ 534,000 คนจากการอพยพที่ผ่านมา

“ขณะนี้เด็กชาวโรฮิงญาประมาณ 720,000 คน กำลังติดกับ ไปไหนไม่ได้ – ไม่ว่าจะถูกล้อมไปด้วยเหตุการณ์ความรุนแรง หรือต้องอพยพหนีภัยอยู่ในเมียนมาร์ หรือติดอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดยัดเยียดในบังกลาเทศ เพราะพวกเขากลับบ้านไม่ได้เช่นกัน นี่เป็นวิกฤติการณ์ที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น อาจต้องใช้เวลาหลายปีหากพวกเราไม่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ” มานูเอล ฟอนเทน ผู้อำนวยการฝ่ายภัยพิบัติฉุกเฉินของยูนิเซฟ กล่าว

รายงานระบุว่า ชาวโรฮิงญาถูกขับไล่จากบ้านและชุมชนที่ตนอาศัย ถูกทอดทิ้ง ติดอยู่ในสถานที่ยากแค้น ไม่มีที่ไป ถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามต่อสุขภาพและชีวิต

ยูนิเซฟได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติการใช้ความรุนแรงในทันที และแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ ทั้งในด้านการลิดรอนเสรีภาพในการเดินทางของชาวโรฮิงญา การเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา ตลอดจนการดำรงชีวิตที่ยากลำบากที่สุด รายงานยังระบุว่า การคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวโรฮิงญาเป็นสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขากลับบ้านเดิมในเมียนมาร์ได้

“พวกเขาจะไม่กลับบ้านจนกว่าจะมีการรับประกันความปลอดภัย ได้สัญชาติ สามารถส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าได้” ฟอนเทน กล่าว

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ยูนิเซฟและองค์กรอื่น ๆ ไม่สามารถเดินทางเข้าถึงพื้นที่หลายแห่งในรัฐยะไข่ ทำให้การให้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก ยูนิเซฟได้ออกมาเรียกร้องให้เปิดพื้นที่อย่างไม่มีข้อจำกัดโดยด่วน เพื่อให้การช่วยเหลือเข้าถึงเด็กทุกคน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระยะยาวเพื่อลดความขัดแย้งและเพื่อความสงบสุขในสังคม

สำหรับในบังกลาเทศ รัฐบาลกำลังดำเนินการป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น โดยชุมชนกำลังให้การช่วยเหลือเด็กกว่า 79,000 คน ในขณะเดียวกัน ยูนิเซฟกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เด็กชาวโรฮิงญาที่อพยพหนีภัย ทั้งในด้านการจัดหาแหล่งน้ำสะอาด การสร้างห้องน้ำหลายพันห้อง และสนับสนุนโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์ โรคหัดและโรคอื่น ๆ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.