Posted: 27 Feb 2018 08:04 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องจากผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฯลฯ ที่ขอให้วินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 60 หรือไม่ โดยศาลระบุต้องใช้สิทธิทางศาลและผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน


เพจ iLaw รายงานว่าเมื่อวันที่ 26 ก.พ. ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย กรณีที่ภาคประชาชนสามกลุ่มได้ใช้สิทธิตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ยื่นคำร้องสามฉบับขอให้วินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ขัดต่อเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

โดยทั้ง 3 คำร้องที่ถูกยก ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 มีสถานะใช้บังคับตามกฎหมาย คำร้องดังกล่าวจึงเป็นการขอให้ศาลตรวจสอบว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ชอบตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญได้ระบุสิทธิในการตรวจสอบความชอบตามรัฐธรรมนูญไว้เป็นการเฉพาะแล้วโดยการใช้สิทธิทางศาลตามมาตรา 212 และช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 231(1) ผู้ร้องจึงไม่สามารถยื่นคำร้องผ่านช่องทางศาลรัฐธรรมนูญได้

ในส่วนของคำสั่งที่ 10/2561 เรื่อง กรณีอานนท์และพวกรวมสี่คน ขอให้พิจารณาว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26,28 และ 44 หรือไม่ ศาลระบุว่า ช่วงที่ผู้ร้องถูกควบคุมตัวไว้ในสถานที่อื่นใดที่ไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2558 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ผู้ร้องจึงไม่สามารถยื่นคำร้องผ่านช่องทางมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญได้

ทั้งนี้กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา

โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 6 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัวบุคคลมาสอบปากคำและควบคุมตัวไว้ได้นานสุดถึง 7 วันโดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล ส่วนข้อ 12 ได้กำหนดห้ามการชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน ปรับสูงสุด 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 26 มกราคม 2561 ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้องของนิมิตร์ เทียนอุดม และพวกรวมสามคนที่ขอให้พิจารณาว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 และ 44 หรือไม่ ซึ่งให้เหตุผลเหมือนกันกับคำร้องสามคำร้องนี้

iLaw ระบุว่า จากการสอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 พบว่านับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จนถึงวันดังกล่าว มีการยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยช่องทางตามมาตรา 213 อย่างน้อย 73 เรื่อง แบ่งเป็นในปี 2560 จำนวน 67 เรื่อง และในปี 2561 อีกจำนวนหกเรื่อง โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญพบว่าที่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งออกมาแล้วทั้งหมด 55 ฉบับ ซึ่งทุกฉบับศาลไม่รับพิจารณาคำร้อง โดยอาศัยเหตุผลสามประการ คือ

หนึ่ง ในรัฐธรรมนูญกำหนดกระบวนการในการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว

สอง รัฐธรรมนูญได้กำหนดวิธีการยื่นคำร้องไว้เฉพาะแล้วให้ไปยื่นตามวิธีการดังกล่าว

สาม เป็นเรื่องที่ไม่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้อง

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.