ซ้ายไปขวา: ณัฏฐา โกมลวาทิน นรนิติ เศรษฐบุตร ไชยันต์ ไชยพร สมบูรณ์ สุขสำราญ วุฒิสาร ตันไชย


Posted: 20 Feb 2018 08:01 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

วงเสวนาเปิดตัวหนังสือวิเคราะห์การใช้ประเพณีการปกครองตามมาตรา 5 มาตรา 7 อำนาจของกษัตริย์ยังคงจำเป็นเมื่อมีวิกฤตรุนแรง ทักษิณยุบสภา 24 ก.พ. 49 ต่างจากทุกครั้ง ถ้ายกเป็นประเพณีเท่ากับนายกฯ อำนาจเท่ากษัตริย์อังกฤษยุคกลาง ประชาธิปไตยที่ยังไม่เข้มแข็งควรใช้ประเพณีการปกครองเท่าที่จำเป็น

20 ก.พ. 2561 ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ มีการจัดเวทีเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ประเพณีการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บทวิเคราะห์ มาตรา 7 จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน”  เป็นงานวิจัยที่เขียนโดย ศ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสถาบันพระปกเกล้า
ในงานเสวนา ได้มีการเชิญ ศ.ไชยันต์ ผู้เขียน ศ.(พิเศษ) นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ศ.สมบูรณ์ สุขสำราญ คณบดีสถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต มาเป็นผู้ร่วมเสวนา และมีณัฏฐา โกมลวาทิน เป็นผู้ดำเนินรายการ
บทคัดย่องานวิจัยระบุว่า งานวิจัยเน้นศึกษาและตีความประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในสามกรณีที่เป็นปัญหา หนึ่ง กรณีการใช้มาตรา 7 เพื่อ “ขอนายกฯ พระราชทาน” สอง กรณีการยุบสภาที่เกี่ยวข้องกับประเพณีการปกครอง และสาม ใครคือผู้ตัดสินวินิจฉัยประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย โดยงานวิจัยระบุว่า การยุบสภาของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อ 24 ก.พ. 2549 ต่างจากแบบแผนครรลองของการยุบสภาไทยก่อนหน้าทั้งหมด และแตกต่างจากการยุบสภาในประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  เพราะถ้านายฯ สามารถยุบสภาไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ และเมื่อไรก็ได้ย่อมหมายความว่า นายกฯ สามารถใช้อำนาจฝ่ายบริหารยุบสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติได้อย่างกว้างขวางตามวินิจฉัยส่วนตัวหรือตามอำเภอใจ นำมาซึ่งการทำลายหลักการการปกครองแบบผสม ซึ่งเป็นหลักการและรากฐานของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ และจะส่งผลให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า “เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง”
การศึกษาแสดงให้เห็นแล้วว่าวิกฤตมาตรา 7 กรณี "ขอนายกฯ พระราชทาน" ในปี 2549 ไม่ได้เป็นวิกฤตในตัวเอง แต่เป็นปัญหาสืบเนื่องจากการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรมทั่วไป ซึ่งสืบเนื่องมาจากการยุบสภาในวันที่ 24 ก.พ. 2549 ทั้งนี้ ผู้วิจัยมีความเห็นว่า เงื่อนไขของประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่มั่นคงเข้มแข็ง การอ้างอิงประเพณีการปกครองในการร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ขาดวิจารณญาณอย่างยิ่ง และควรที่จะบัญญัติเงื่อนไขกติกาต่างๆ ไว้ให้ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญไว้เท่าที่จะทำได้ และอาศัยประเพณีการปกครองตามมาตรา 5 [มาตรา 7 เดิมในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550] เท่าที่จำเป็นจริงๆ หรืออาจจะไม่จำเป็นต้องมีมาตราในลักษณะนี้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วยซ้ำ

ชวนดูกรอบประเพณีการปกครองของไทย 3 ชั้น วิเคราะห์การใช้ประเพณีการปกครองและพระราชวินิจฉัยของกษัตริย์ในกฎหมาย

ไชยันต์กล่าวว่า ตนสนใจมาตรา 7 เพราะว่าเป็นประเด็นที่เกิดข้อถกเถียง และเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการเมืองไทยทั้งสองครั้ง ในปี 2549 ที่มีเรื่องการยกมาตรา 7 ขึ้นมา คือขอนายกฯ พระราชทาน ต่อมามาปลายปี 2556 ต่อ 2557 ก็มีการยกประเด็นมาตรา 7 ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ได้มีข้อถกเถียงจากทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายค้านที่บอกว่าต้องใช้ประเพณีการปกครองที่ทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปได้ ข้อถกเถียงเรื่องพระราชอำนาจก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ อันนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำรัฐประหารหรือไม่ ในฐานะที่จะเป็นการไม่ให้ดึงสถาบันเข้ามาเป็นขั้วขัดแย้งของการเมือง จึงสงสัยว่าตกลงแล้วทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านมาตรา 7 ตกลงแล้วมีคำตอบที่ผิดหรือถูกจริงๆ หรือไม่
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2540 มาตรา 7
"ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
oooooooooo
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 5
"...เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้น
ไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข..."
ในปี 2549 วิษณุ เครืองามไม่ได้เห็นด้วยกับการใช้มาตรา แต่หลัง 22 พ.ค. 2557 วิษณุ ไปบรรยายและให้สัมภาษณ์ว่า วิกฤตการเมืองทั้งในปี 2549 และ 2557 เต็มไปด้วยคำถามที่ไม่รู้จะตอบอย่างไรว่าทำได้หรือไม่ได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ บางเรื่อง เช่น นายกฯ รักษาการณ์ลาออกได้ไหม ก็ไม่มีใครกล้าตอบ คิดว่าจะต้องตอบปัญหาเป็นร้อยๆ ข้อ ตน (ไชยันต์) จึงขอเป็นผู้อาสาตอบสักหนึ่งหรือสองข้อคือเรื่องการใช้ประเพณีการปกครอง ในการที่จะบอกว่าประเพณีการปกครองของไทยคืออะไรจะต้องวางกรอบไว้ก่อน ซึ่งได้กำหนดกรอบให้มี 3 ชั้น
ชั้นที่หนึ่ง ชั้นแนวคิดระบอบการปกครองผสมที่กำเนิดจากกรีกโบราณ ที่เป็นการผสมผสานการให้อำนาจสามรูปแบบ ได้แก่การให้อำนาจต่อบุคคลๆ เดียว (The one) กลุ่มบุคคล (The few) และมหาชน (The many) อยู่ในระบอบการปกครองเดียว 
ชั้นที่สอง ชั้นประเพณีของประเทศต้นแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ เมื่อรูปแบบการปกครองแบบผสมพัฒนามาเรื่อยๆ แล้วไปปรากฏตัวในดินแดนต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบประชาธิปไตยในหลายประเทศในเวลาต่อมา เช่นในสหรัฐฯ ที่กลายเป็นระบอบประธานาธิบดีแบบอเมริกัน เมื่อมันไปโตที่อังกฤษ ที่ยังมีสถาบันกษัตริย์อยู่ แม้เมื่อหมดไปก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา ก็กลายเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และในกรณีฝรั่งเศสที่กว่าจะลงตัวได้ก็ปาไปศตวรรษที่ 20 ที่มีหน้าตาแบบกึ่งประธานาธิบดี กึ่งรัฐสภา ฉะนั้น ประเพณีการปกครองแบบผสมคือชั้นแรก ประเพณีของประเทศที่เป็นต้นแบบเป็นชั้นที่สอง ส่วนชั้นที่สามจะมีในประเทศที่รับเอาต้นแบบประชาธิปไตยมาใช้ เช่น ถ้าไทยไปรับแบบอังกฤษมา ประเพณีของไทยที่มีอยู่เดิม ชั้นผสม ชั้นอังกฤษ และชั้นรากฐานที่ดำรงอยู่ในประเทศเราอยู่แล้ว
มาตรา 7 มีเนื้อหาคร่าวๆ ว่า ถ้าไม่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ให้ใช้ประเพณีการปกครองมาพิจารณา เรื่องแต่งตั้งนายกฯ ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่ถ้าไม่มีผู้รับสนองฯ เลยก็ใช้พระราชอำนาจได้ ซึ่งปรกติมาตรา 7 นี้ไม่เคยถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญถาวร เพิ่งจะถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญถาวรในฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ทั้งนี้ มาตรา 7 ในฉบับ  2540 และ 2550 เขียนไว้ลอยๆ โดยไม่มีเจ้าภาพในการเป็นผู้ตัดสินวินิจฉัย คือไม่ระบุว่าใครจะรับเรื่อง ต้องทำอย่างไรบ้าง ในร่างรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร 2557 ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรโณ และร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติในปี 2559 ได้กำหนดให้คณะตัดสินวินิจฉัยประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์กรอิสระ ในแง่นี้ก็ดีที่มีคณะบุคคล มีเจ้าภาพชัดเจน คนที่เป็นคนสำคัญ หรือผู้นำในองค์กรสำคัญที่เป็นองค์กรทางการเมืองได้มาประชุมหารือกัน เมื่อคณะบุคคลได้ตัดสินแล้วก็เป็นความเห็นของคณะบุคคล ถ้ามีอะไรที่พระมหากษัตริย์ต้องลงพระปรมาภิไธยในสิ่งที่กลุ่มคณะดังกล่าวเห็นว่าต้องทำ ก็เท่ากับสถาบันไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง ถ้าเกิดสาธารณะเกิดไม่ยอมรับ ไม่ศรัทธาคณะบุคคล ก็ต้องกลับไปที่พระราชอำนาจโดยตรงที่มีความชอบธรรมทางการเมืองมากกว่า ประเด็นก็คือ พระราชอำนาจโดยตรงนำไปสู่การข้องเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง ในทางบวกก็คือ ในยามที่ประเทศมีความขัดแย้งยังมีพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมใจ และสามารถนำพาประเทศฝ่าวิกฤตได้  
อย่างไรเสีย ในบทคัดย่อของงานวิจัยระบุว่า การให้มีคณะบุคคลวินิจฉัยตัดสินให้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการไปพัวพันกับความยุ่งยากทางการเมืองเป็นการลดทอนพระราชวินิจฉัยในการตีความปรพเพณีการปกครองที่ต้องเกี่ยวข้องกับการใช้พระราชอำนาจของพระองค์ด้วย ในแง่หนึ่ง คำวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดเกี่ยวกับมาตรา 5 ของคณะบุคคลดังกล่าวย่อมหมายถึงพระมหากษัตริย์ย่อมต้องทรงใช้พระราชอำนาจตามคำวินิจฉัยนั้น ซึ่งในแง่หนึ่งจะส่งผลให้ภาพของความเป็นระบอบการปกครอง “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) มีความชัดเจนและเป็นจริง

ทักษิณยุบสภา 24 ก.พ. 49 ต่างจากทุกครั้ง ถ้ายกเป็นประเพณีเท่ากับนายกฯ มีอำนาจเท่ากษัตริย์อังกฤษยุคกลาง

ไชยันต์กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเพณีการยุบสภาของอังกฤษนั้น แต่เดิมในยุคกลางกษัตริย์สามารถเปิด ปิดสภาได้ตามใจชอบ สภาแทบจะไม่มีตัวตนอยู่ด้วยตัวเอง สภาก็ต้องวางกติกาว่าต้องเปิดอย่างน้อยกี่ครั้ง ต่อมาการต่อสู้ระหว่างกษัตริย์กับสภา ก็มาลงตรงที่สภาสามารถเลือกคนที่จะเป็นฝ่ายบริหาร อำนาจการยุบสภาที่เดิมอยู่กับกษัตริย์ก็เคลื่อนตัวมาอยู่กับหมู่คณะที่ต่อยอดมาจากสภา ต่อมาอำนาจการยุบสภาเคลื่อนจาก ครม. มาอยู่ที่นายกฯ ในกรณีการยุบสภาของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเมื่อ 24 ก.พ. 2549 ตนยืนยันว่าผิดประเพณียุบสภาของอังกฤษ และต่างจากการยุบสภาทุกครั้งก่อนหน้าในเมืองไทย ไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูก เพราะหลายท่านก็บอกว่ายุบได้ การยุบสภาที่ไม่มีเหตุที่จะให้ยุบก็จะเกิดปัญหา แต่ถ้าจะถือว่า 24 ก.พ ทำได้ ต่อไปในกรณีที่นายกฯ หรือครอบครัวนายกฯ มีปัญหาหรือเจอคำกล่าวหาส่วนตัวเช่น การซื้อขายหุ้น แต่นายกฯ ใช้วิธีทุบสภาทิ้ง ถือเป็นการที่ the one ทุบ the few ที่มาจากการลงคะแนนเสียงของ the many เท่ากับว่าทักษิณมีอำนาจเท่ากษัตริย์ในยุคกลางของอังกฤษ จะเอาแบบนี้ให้เป็นประเพณีการปกครองไทยได้หรือไม่ ถ้ากลับไปดูที่อังกฤษ ปี 2559 เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษขณะนั้น โดนเปิดโปงกรณีการซื้อหุ้นอย่างไม่เสียภาษีจากปานามา เปเปอร์เมื่อปี 2559 เรื่องการขายหุ้นแล้วไม่ชำระภาษี แต่คาเมรอนตัดสินใจเรียกประชุมสภาให้สมาชิกสภาที่เป็นตัวแทนประชาชนมาซักฟอกตนเอง แต่เมื่อซักฟอกแล้วคาเมรอนก็ยังอยู่ได้  เพราะเสียงข้างมากในสภาของคาเมรอนยังอยู่ ในบริบททักษิณตอนนั้นความนิยมก็กินไปสี่พรรคแล้ว ถ้าจะซักฟอกจะต้องกลัวอะไร แล้วถ้ายังซักฟอกอยู่แล้วมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ต้องมาถามว่า ใครกันแน่ที่มีความชอบธรรม กรณีของไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมา 86 ปีเท่านั้น ยังไม่ตกผลึก คิดว่าจะทำอะไรก็อย่าอ้างประเพณีเยอะ ใส่กติกาเอาไว้เยอะๆ ได้ก็ใส่ อาจจำเป็นต้องบัญญัติการยุบสภาของนายกฯ ว่าทำได้ในเงื่อนไขแบบใดบ้าง
ไชยันต์พูดถึงกรณีความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยว่า น่าสนใจว่าในหลวง ร.9 จะเอาตัวแบบการพิจารณาจากที่ไหนได้ ในเมื่อพี่ชายท่าน (ในหลวง ร.8) ก็ยังทรงงานได้ไม่เต็มที่ รัชกาลที่ 7 ก็ทรงสละราชสมบัติอย่างรวดเร็ว รัชกาลก่อนหน้านั้นก็เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็เป็นช่วงเวลาอันท้าทายและลำบากยิ่งสำหรับปฐมกษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญไทยที่พยายามวางรากฐานว่าพระราชอำนาจทำได้แค่ไหน เท่าที่กษัตริย์ภายใต้ระบอบใหม่ทำได้ ทั้งภายใต้เงื่อนไขสงครามเย็น หลังสงครามเย็นก็มีปัญหาเรื่องทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ แต่อย่างน้อยก็เป็นเรื่องดีที่เราเข้าสู่รัชกาลที่สองของระบอบใหม่ และยังต้องสร้างความมั่นคงลำดับต่อไปอีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำได้

พระราชอำนาจยังต้องมีไว้เผื่อกรณีวิกฤตรุนแรง อยากให้สังคมพูดถึงประเพณีการปกครองให้มากขึ้น

ไชยันต์กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นในไทยหรืออังกฤษ การที่พระมหากษัตริย์จะใช้อำนาจแต่งตั้งบุคคลจะต้องมีผู้รับสนองฯ แต่ก็มีคำถามว่าถ้าไม่มีผู้รับสนองฯ จะสามารถทำได้ไหม ศ.เวอร์นอน บอกดาโน ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาบันกษัตริย์อังกฤษบอกว่า ถ้าในเวลาวิกฤตขั้นรุนแรง ไม่มีผู้รับสนองฯ พระราชอำนาจยังคงอยู่เพื่อให้การเมืองเดินหน้าต่อไป ไม่ชะงักงัน
ถ้าศึกษาประเพณีการปกครองของอังกฤษจะพบว่ามีชีวิตชีวา มีการเคลื่อนไหว การที่มีพลวัตจะต้องมีความต่อเนื่องกับอดีต ถ้าขาดไปก็จะกลายเป็นการปฏิวัติใหญ่ ไม่เหลือต้นทุนใดๆ ทั้งสิ้น ตนอยากให้สังคมไทยมีการพูดเรื่องประเพณีการปกครองมากขึ้นในระดับสาธารณะ ประเด็นนี้ไม่ควรกระจุกตัวอยู่แค่นักวิชาการ หรือปรมาจารย์ด้านกฎหมาย ประเพณีที่คณะบุคคลตัดสินมาแล้วคนหมู่มากไม่ยอมรับก็ไม่มีความหมาย  

ต้องหาสมดุลการกระจายอำนาจแบบประชาธิปไตยให้เจอ คาด เลือกนายกฯ รอบหน้าอาจได้เปิดประเพณีการปกครอง

ต่อประเด็นการให้อำนาจของตัวแสดงทางการเมือง ไชยันต์กล่าวว่า ถ้าให้อำนาจบุคคลๆ หนึ่ง หรือคณะบุคคลมากเป็นพิเศษจนไม่เหลืออำนาจให้มหาชน มันก็ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้การเลือกตั้งครั้งหน้าให้สิทธิประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น แต่ว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการแต่งตั้ง แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยไทยแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 มีการให้อำนาจกับคณะบุคคลมากขึ้น ทั้งยังเป็นคณะบุคคลที่ไม่ยึดโยงกับการเลือกตั้ง แต่อย่าลืมว่าผลพวงของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มี ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง สุดท้ายก็ส่งผลให้มีสภาผัว - เมีย ภรรยาลง ส.ส. สามีลง ส.ว. ตนเคยถามชาวบ้านตอนลงพื้นที่ว่าทำไมเลือกตั้งทั้งสามีและภรรยา เขาก็บอกว่าให้ไปช่วยกันทำงาน ดังนั้น การไปทุ่มน้ำหนักกับการเลือกตั้งทั้ง ส.ส .กับ ส.ว. เลยต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ส่วนผสมมันถ่วงดุลกันได้ ควรเลิกพูดเรื่องประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ เพราะมันมีแต่ประชาธิปไตยแบบผสม ถ้าอยากได้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็ต้องกลับไปเป็นแบบที่เกิดขึ้นในนครรัฐเอเธนส์ ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งมันสะท้อนว่าคุณกำลังเลือกคนที่เก่งกว่าคนอื่น ที่เอเธนส์เขาจับสลากเข้าไปนั่งในสภากัน
ต่อคำถามว่า ถ้าเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้เสร็จแล้วปรากฏว่ามีปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ จะยังเหลือทางเลือกให้ใช้มาตรา 5 ไหม ไชยันต์ตอบว่า ถ้าเรายังอยู่ในวังวนแบบนี้ การเกิดทางตันก็เป็นไปได้ เราจะมีการเลือกตั้งแน่นอนเพียงแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แล้วหลังเลือกตั้งถ้าทั้ง ส.ส. และ ส.ว. หานายกฯ คนในก็ไม่ได้ หานายกฯ คนนอกก็ไม่ได้ ผนวกกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ได้บัญญัติเอาไว้ว่าจะต้องจัดตั้งรัฐบาลหลังเปิดประชุมสภากี่วัน เมื่อนานไปหากยังไม่ได้นายกฯ เสียทีจนคนในสภาบอกว่าไม่ได้แล้ว ก็ต้องว่ากันตามประเพณีปกครอง ในกรณีอังกฤษ ถ้าจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็ต้องยุบสภา แล้วถ้าเช่นนั้นใครเป็นคนยุบ นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่าง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะสามารถยุบสภาที่มาจากการเลือกตั้งได้ไหม หรือถ้าไม่ยุบสภา ก็ยังมีวิธีที่จะให้เสนอชื่อคนที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในตอนซาวเสียงหานายกฯ เอาคนที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ขึ้นทูลเกล้าฯ ก็จะได้นายกฯ เสียงข้างน้อย หมายความว่าถ้าจะเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ก็ต้องอ้างมาตรา 5 ใช่หรือไม่ เรื่องนี้ต้องขึ้นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ามีประเพณีการปกครองที่สอดคล้องหรือไม่ เพราะเป็นการทำในสิ่งที่ไม่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ

ทุกคนตีความประเพณีปกครองได้ แต่ต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

นรนิติกล่าวว่า มาตรา 7 มีครั้งแรกในธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 ซึ่งระบุว่าขอบเขตการพิจารณาประเพณีของประเทศไทยก็มีตั้งแต่ในฉบับนั้น เพียงแต่ฉบับ 2540 ของบวรศักดิ์ไปตัดออก ของปี 2550 ก็ลอกปี 2540 มา ที่ตอนนั้นเริ่มเขียนเพราะธรรมนูญการปกครองมีเพียง 20 มาตรา เนื่องจากการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พยายามดึงการตีความมาให้แคบลง ไม่เช่นนั้นจะมีการเอาบริบทต่างชาติมาตีความเยอะแยะ
มาตรา ๒๐
ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ๆ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวแก่การวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคก่อนเกิดขึ้นในวงงานของสภา หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภาวินิจฉัย ให้สภาวินิจฉัยชี้ขาด
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ (ที่มา:วิกิซอร์ซ)
นรนิติเห็นว่าทุกคนมีสิทธิ์ตีความเรื่องประเพณีการปกครอง แต่สุดท้ายต้องไปสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่า อะไรที่ขัดกับรัฐธรรมนูญต้องหาข้อยุติและกับศาลรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่าผู้ที่ร่างการยุบสภาโดยสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นการใช้มาตรา 22 อาศัยประเพณีการปกครองมายุบสภา เพราะธรรมนูญปี 2515 ไม่ได้กล่าวถึงการยุบสภา แต่สภาไม่สามารถทำหน้าที่ได้แล้วเพราะถูกบีบ ถูกด่า จนเหลือสมาชิกน้อยจนประชุมไม่ได้ จนต้องมีสภาแห่งชาติ สภาสนามม้า เพราะฉะนั้นสัญญาก็ใช้อำนาจนายกฯ ในการยุบสภา คิดว่าการอาศัยประเพณีการปกครอง ไม่รู้ของไทยหรือไม่ไทย แต่ก่อนนี้ก็มีการยุบสภาในปี 2481 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา และในปี 2488 ในยุค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมทย์ มาแล้ว พอมาถึงสัญญาแล้วทำไมต้องอ้างประเพณี การยุบสภาก็มีวิวัฒนาการ แต่สรุปว่าการยุบสภาจะเป็นของนายกฯ หรือเป็นของสภา ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร เพราะฝ่ายบริหารยุบสภาที่มาจากการเลือกตั้งได้ก่อนกำหนด ฝ่ายบริหารก็ได้เปรียบ แต่ในทำนองเดียวกัน ฝ่ายสภาก็มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าเสียงเกินครึ่งเมื่อไหร่ก็เอาออกได้ ก็สมดุลกัน ก็คิดว่าการยุบสภาเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งคิดว่าควรเป็นอำนาจของนายกฯ เพราะนายกฯ เป็นคนเลือกรัฐมนตรีเข้ามา และไล่รัฐมนตรีออกได้

ไทยยังขาดสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ ในหลวง ร.9 ชี้ แต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ ไม่ผิด

สมบูรณ์กล่าวว่า ประเพณีการปกครองมีความสำคัญอย่างยิ่งของกษัตริย์ในยุโรปในการตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไร ต้นทุนทางวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง สืบเนื่องจากที่ไชยันต์พูดถึงว่าต้นทุนทางวัฒนธรรมของไทยก็ผูกพันอย่างยิ่งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งต้องถามต่อว่าคนไทยมองสถาบันกษัตริย์อย่างไร
สมบูรณ์คิดว่า ตนยังมองไม่เห็นว่าถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีพระมหากษัตริย์ สังคมไทยจะดำรงอยู่กันได้อย่างไร ตนยังคิดว่าสถาบันกษัตริย์ที่ตัวเองเรียกว่ากษัตราประชาธิปไตย น่าจะยังคงอยู่อีกนาน เราได้ผ่านวิกฤตมาหลายครั้งโดยที่ไม่ต้องใช้มาตรา 7 เพราะบารมีของพระองค์ท่านและต้นทุนทางสังคมที่เรายึดถือมายาวนาน ตนเคยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมานานก็พบว่าในความเป็นจริง ความภักดีต่อสถาบันมีสูง สิ่งที่อยากจะให้ไชยันต์เขียนต่อคือ เราจะเปลี่ยนความภักดีต่อพระมหากษัตริย์ให้เป็นความภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่
วุฒิสารกล่าวว่าประเด็นมาตรา 7 ทีตอนนี้เป็นมาตรา 5 มีการพูดถึงมานาน สังคมตั้งคำถามทุกครั้งที่มีวิกฤต แล้วก็ไปอ้างอิงสิ่งที่เสมือนจะเป็นการใช้มาตรา 7 ในอดีต เช่น สมัยที่สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถ้าดูพระราชดำรัสในหลวง ร.9 เมื่อปี 2549 ท่านก็บอกว่าท่านทำตามกติกา เพราะวันนั้นมีทวี แรงขำเป็นผู้รับสนองฯ และก็ยังมีสภา พระองค์ไม่ได้ทำอะไรผิด ในกรณีมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้ขยายไปอีกว่าการขอบเขตการพิจารณาจะต้องเป็นประเพณีการปกครองของไทย ไชยันต์ก็ตั้งคำถามอยู่สี่ประเด็นว่า หนึ่ง ประเพณีคืออะไร เอาอะไรเป็นหลัก สอง ตกลงแล้วประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยยึดหลักไหน สาม อะไรคือประเพณีการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สี่ ประชาธิปไตยของไทยเป็นอย่างไร

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.