Posted: 24 Feb 2018 04:27 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
มูลนิธิโกมลคีมทอง ประกาศเกียรติคุณให้ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' เป็นบุคคลเกียรติยศ ในฐานะปราการที่ยืนขวางกั้น เพื่อปกป้องร่วมกับประชาชนอีก 48 ล้าน มิให้ถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นในอดีต
24 ก.พ. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรม ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2561 ครั้งที่ 44 ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีเพื่อยกย่องและให้คนหนุ่มสาวผู้ทำงานรับใช้สังคมตามอุดมคติของตัวได้มาแบ่งปันประสบการณ์แก่ผู้อื่น โดยในงานดังกล่าวมีการประกาศบุคคลเกียรติยศ ในด้านสาธารณสุข คือ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ด้วย
บุคคลแห่งปี 2017: ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ ภูมิคุ้มกันสวัสดิการสุขภาพเพื่อทุกคน
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ 6 ภาค
ในประกาศเกียรติคุณบุคคลเกียรติยศ ระบุตอนหนึ่งถึงกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ว่า "ภายใต้แนวคิดที่เห็นคนไม่เท่ากัน อันสะท้อนผ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 การถอยหลังจากสิทธิไปสู่การสงเคราะห์ ความพยายามอย่างแข็งขันของคนบางกลุ่มและกลุ่มผลประโยชน์ที่ต้องการทำลายหลักการสำคัญของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การกล่าวหาว่าระบบจะทำให้ประเทศล้มละลาย สิ่งเหล่านี้กำลังบ่อนทำลายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ คือปราการที่ยืนขวางกั้น เพื่อปกป้องร่วมกับประชาชนอีก 48 ล้านคนที่ได้รับการดูแลจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มิให้ถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นในอดีต"
รายละเอียด :
ประกาศเกียรติคุณบุคคลเกียรติยศ มูลนิธิโกมลคีมทอง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
ทำไมจึงต้องเป็น ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’?
ก่อนปี 2545 ใครบางคนกัดฟันทนความเจ็บปวดจากโรคร้าย มันดีกว่าต้องทนเห็นตนเองเป็นภาระของคนในครอบครัว บางคนยอมหมดเนื้อหมดตัวเพื่อยื้อชีวิตคนรัก แม่คนหนึ่งอุ้มลูกที่ซมด้วยพิษไข้ กำเศษเงินชื้นเหงื่อ บากหน้าไปขอความเห็นใจจากโรงพยาบาล อีกไม่น้อยยอมรับชะตากรรมด้วยความคับแค้นและน้ำตา
นี่ไม่ใช่เหตุการณ์สมมติ มันคือฉากชีวิตจริง มีเลือด มีเนื้อ ที่เกิดกับผู้คนจำนวนมาก ในวันที่ความเป็นความตายตัดสินด้วยเงินในสมุดบัญชี หลายครั้งที่ความป่วยไข้ไม่ได้ฆ่าพวกเขา ความจนต่างหากที่ลงมือ มันคือสภาพที่เป็นคนเหมือนกัน แต่ไม่เท่ากัน
เครือข่ายประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ บุคลากรสาธารณสุข จึงร่วมกันต่อสู้ ศึกษาวิจัย ผลักดัน เรียกร้อง เพื่อสร้างความเป็นคนเท่ากันผ่านรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้มีการรับรองสิทธิ์ คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และกำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งรวมถึงสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและเท่าเทียม 5 ปีต่อมา พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น หรือที่รู้จักกันในเวลานั้นว่า 30 บาทรักษาทุกโรค
การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามิใช่การสิ้นสุดภารกิจ ตรงกันข้าม มันเป็นเพียงการเริ่มต้น เพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพให้สมกับคำว่า ‘ถ้วนหน้า’ เครือข่ายประชาชนยังต้องต่อสู้เรียกร้องอีกหลายต่อหลายครั้ง กระทั่งโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างโรคเอดส์ โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็งทยอยได้รับสิทธิ์ ผู้ป่วยไม่ต้องล้มละลายจากการรักษา จากที่เคยเก็บ 30 บาทเปลี่ยนเป็นไม่ต้องจ่าย การพัฒนาระบบให้เกิดความยั่งยืน และอื่นๆ จนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับการยกย่องชื่นชมในระดับสากล
แต่แล้ว ปี 2555 ภัยคุกคามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งจากนโยบายรัฐ จากกลุ่มคนและกลุ่มทุนที่สูญเสียผลประโยชน์ก็แสดงตัวชัดขึ้นๆ เครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมกันสร้างและพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงจับมือกันเป็น ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ เพื่อปกป้อง ไม่ว่าจะด้วยการถกเถียง ต่อรอง ตรวจสอบ สื่อสารข้อเท็จจริงกับสังคม ศึกษาวิจัย คัดค้าน ชุมนุมประท้วง หรือแม้กระทั่งการนอนกับพื้นเพื่อขัดขวางกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม
ถึงปัจจุบัน ภายใต้แนวคิดที่เห็นคนไม่เท่ากัน อันสะท้อนผ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 การถอยหลังจากสิทธิไปสู่การสงเคราะห์ ความพยายามอย่างแข็งขันของคนบางกลุ่มและกลุ่มผลประโยชน์ที่ต้องการทำลายหลักการสำคัญของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การกล่าวหาว่าระบบจะทำให้ประเทศล้มละลาย สิ่งเหล่านี้กำลังบ่อนทำลายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ คือปราการที่ยืนขวางกั้น เพื่อปกป้องร่วมกับประชาชนอีก 48 ล้านคนที่ได้รับการดูแลจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มิให้ถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นในอดีต
ยิ่งกว่าการร่วมพลังค้าน ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ ยังลงมือลงแรงผลักเพดานสิทธิและความเท่าเทียมของคนไทยให้สูงขึ้นด้วยหลักการ ‘ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว’ ที่สำคัญยังจุดประกายและส่งต่อความคิด ‘รัฐสวัสดิการ’ ให้หยั่งรากลึกในสังคมอย่างกว้างขวาง สร้างความตระหนักรู้ว่าเราทุกคนมีสิทธิ์ และรัฐมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนให้เข้าถึงสิทธิ์ในทุกๆ ด้านอย่างเท่าเทียม
บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่มีสิทธิใดที่ประชาชนจะได้มาโดยปราศจากการต่อสู้ ยิ่งในห้วงยามที่หม่นมืดของระบอบประชาธิปไตย การลิดรอนสิทธิเสรีภาพและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง การต่อสู้ของประชาชนก็ยิ่งต้องใช้ความกล้าหาญในการต่อสู้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมและหัวใจที่แข็งแรงกว่าปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเธอและเขาในฐานะ ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ มีอยู่พร้อม
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อาจสรุปการต่อสู้ของ ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ ด้วยวลีเดียวว่า ‘คนเท่ากัน’ และมูลนิธิโกมลคีมทองจะขอร่วมยืนยันอุดมการณ์และยกย่อง ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ เป็นบุคคลเกียรติยศของมูลนิธิโกมลคีมทองประจำปี 2561
สำหรับ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นั้นเกิดจากการรวมตัวกันของผู้คนมากหน้าหลายตา ท่ามกลางความพยายามทำลายหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล คสช.และรัฐราชการ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ออกมาเคลื่อนไหว เฝ้าระวัง ปกป้อง และยันสถานการณ์เอาไว้อย่างสุดกำลัง สำหรับสถานการณ์ในปีหน้าที่พอจะเห็นเค้าลางว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะยิ่งเผชิญการคุกคามที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ กำลังยืนขวางระหว่างรัฐบาลและกลุ่มคนที่ต้องการทำลายกับผู้คน 48 ล้านคนที่ได้รับการดูแลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคอยย้ำเตือนว่าการรักษาพยาบาลคือสิทธิของประชาชนที่รัฐไม่อาจพรากมันไปได้
บุญยืน ศิริธรรม: ประวัติศาสตร์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภาคประชาชน
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล: ภัยคุกคามที่สุดต่อระบบหลักประกันสุขภาพฯ คือการที่รัฐมองคนไม่เท่ากัน
นิมิตร์ เทียนอุดม: “เพราะวิธีคิดตั้งต้นของรัฐเริ่มจากความไม่เป็นธรรม” กับปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพฯ
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: หลักประกันสุขภาพฯ คือสิทธิที่ถอยหลังกลับไม่ได้
แสดงความคิดเห็น