Posted: 21 Feb 2018 10:03 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ชาวบ้านตำบลเชียงเพ็งกว่าร้อยคน รวมตัวรณรงค์ปกป้องชุมชนจากโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล กระจายตัวแจกใบปลิว พูดคุยให้ข้อมูลในชุมชนใกล้เคียง พร้อมประกาศเจตนารมย์ค้านโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล




เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561 เวลา 09.00 น. กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กว่า 100 คน ใช้รถกระบะประมาณ 10 คัน เพื่อรณรงค์ปกป้องทรัพยากรชุมชน 7 หมู่บ้าน ที่อยู่ในตำบลเชียงเพ็ง พร้อมแจกใบปลิวและพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจการออกมาร่วมกันกันปกป้องชุมชน ปกป้องลำน้ำเซบาย และประกาศเจตนารมย์คัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

มะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กล่าวว่า การมาเดินรณรงค์ในวันนี้ก็เพื่ออยากจะให้ชาวบ้านในตำบลเชียงเพ็ง มีความตระหนักและตื่นรู้ในประเด็นการปกป้องทรัพยากรชุมชน ซึ่งก็มีแผ่นพับแจกเพื่อให้ความรู้กับชาวบ้านถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากมีโรงงานน้ำตาลโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยทางกลุ่มพยายามสื่อสารกับชุมชนถึงข้อกังวลเช่น การแย่งชิงทรัพยากรน้ำลำเซบายจะถูกผันมาใช้ในโรงงานและโรงไฟฟ้า 2.0 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ละขุดบ่อลึกกว่าลำน้ำเซบาย ซึ่งจะทำให้น้ำจากลำเซบายซึ่งใช้ในการบริโภค-อุปโภค การเกษตร และอื่นๆ ถูกแย่งชิงไปแม้แต่ปัจจุบันน้ำก็ไม่มีเพียงพอในการให้ชุมชนในบางปี รวมทั้งน้ำเสียจากกระบวนการผลิต ที่มีโอกาสซึมลงในดินและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ส่งผลให้น้ำใช้ประโยชน์ไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องฝุ่นดำ เถ้า ควัน กลิ่นเหม็นจากการเผาไร่อ้อย และปัญหาเรื่องการขนย้ายอ้อยจำนวนมากเข้าออกพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการจราจร ฝุ่นละออง เศษอ้อยหล่น ถนนชำรุด อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ด้าน สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินกิจการดังกล่าวว่า เกิดขึ้นภายใต้บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบและพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีแผนในการจะก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 24 ส.ค 2559 และวันที่ 10 มี.ค. 2560 ซึ่งในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ให้บริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทั้งสองโครงการ และได้ยื่นให้สำนักแผนนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ได้ตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ขึ้นมาเพื่อพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)ของบริษัทน้ำตาลมิตรการฬสินธุ์ จำกัด และบริษัท มิตรผลไบโอพาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ขึ้น 2 ชุด โดยคณะคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้แยกพิจารณาทีละประเด็น ในส่วนประเด็นโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด (คชก.) ได้พิจารณา ในครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2560 และในครั้งที่สองวันที่ 29 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา โดยทั้ง 2 ครั้ง คชก. มีมติไม่เห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

สิริศักดิ์ ให้ข้อมูลต่อไปว่า ในส่วนของบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบและพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล คชก. ได้มีมติไม่เห็นชอบครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2560

“สาเหตุ EIA ไม่ผ่านผมคิดว่าเกิดจาก การที่ประชาชนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรไม่รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงตั้งแต่เริ่มต้นที่รอบด้าน ครบถ้วน เพียงพอ มีการบิดเบือนข้อมูลซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของชุมชน และการที่ EIA ไม่ผ่านความเห็นชอบก็สะท้อนให้เห็นความไม่ชอบธรรมของกระบวนการ การดำเนินงานตั้งแต่ต้น” สิริศักดิ์ กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.