Posted: 27 Feb 2018 09:12 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ชาวแอฟริกันที่อาศัยอยู่ในจีนแสดงความเห็นต่อชุดการแสดงหนึ่งในช่อง CCTV ว่าล้อเลียนและสะท้อนภาพเหมารวมคนดำหรือไม่ ทั้งนี้แม้ชุดการแสดงดังกล่าวมุ่งเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จีน-แอฟริกา แต่การใช้นักแสดงจีนแต่งหน้าดำแทนการใช้นักแสดงชาวแอฟริกันนั้นสื่อให้เห็นการขาดความตระหนักรู้ทางวัฒนธรรมหรือไม่ รวมทั้งตั้งคำถามต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยจีนว่ามุ่งตอบสนองความทะเยอทะยานของจีน

ชุดการแสดง "ความหรรษาเดียวกัน ความสุขเดียวกัน" ออกอากาศในรายการฉลองตรุษจีนทาง CCTV โดยช่วงนี้เป็นช่วงที่ถูกวิจารณ์เนื่องจากตัวละครหญิงที่แต่งหน้าให้เหมือนชาวแอฟริกัน และการแสดงชุดนี้มีลักษณะการแสดงในเชิงล้อเลียนเหมารวมชาวแอฟริกัน


ชุดการแสดง "ความหรรษาเดียวกัน ความสุขเดียวกัน" ออกอากาศในรายการฉลองตรุษจีนทาง CCTV

ก่อนหน้านี้ในรายการโทรทัศน์เพื่อฉลองตรุษจีนทางช่อง CCTV ของจีน มีการแสดงชุดหนึ่งชื่อ "ความหรรษาเดียวกัน ความสุขเดียวกัน" ความยาว 13 นาที ที่ต้องการฉลองการสร้างทางรถไฟสายมอมบาซา-ไนโรบี ในประเทศเคนยา ที่สร้างโดยจีน และฉลองความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศในทวีปแอฟริกา (ชมคลิป) มีนักแสดงหญิงชาวจีนแต่งหน้าและต่งกายเพื่อแสดงเป็นชาวแอฟริกัน นอกจากนี้ยังมีการแสดงในเชิงล้อเลียนภาพเหมารวมคนดำด้วย จนทำให้เกิดข้อโต้แย้งขึ้นและมีการอภิปรายเรื่องนี้กันทั่วโลกในเรื่องที่กล่าวหาว่ารายการนี้มีเหยียดและมีอคติทางเชื้อชาติสีผิว

อย่างไรก็ตามก่อนทางรายการดังกล่าวเคยมีการคัดตัวนักแสดงโดยที่มีชาวไนจีเรียที่อาศัยอยู่ในจีนมานาน 9 ปี อย่างกลอเรีย บราวน์ เข้าร่วมคัดตัวด้วย แต่เธอกลับไม่ได้รับบทดังกล่าวถึงแม้ว่าเธอจะเป็นชาวแอฟริกันก็ตาม โดยที่บราวน์พูดถึงข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นว่าเพื่อนของเธอส่วนมากราวร้อยละ 90 ที่โพสต์วิจารณ์รายการนี้ ทั้งชาวแอฟริกัน ชาวอเมริกันและชาวจีน ต่างก็วิจารณ์รายการเหยียดเชื้อชาติของรายการนี้ มีคนจีนอยู่จำนวนเล็กน้อยเท่านั้นโต้ตอบในทำนองว่า "ถ้าชาวแอฟริกันไม่พอใจก็กลับประเทศของพวกคุณไป ไม่ต้องอยู่ที่นี่"

ช่วงในรายการที่กลายเป็นข้อถกเถียงดังกล่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในรายการฉลองตรุษจีนที่มีความยาวรวม 4 ชั่วโมง สิ่งที่ทำให้ถูกวิจารณ์เรื่องเหยียดเชื้อชาติคือการให้นักแสดงชาวจีนทาหน้าสีดำ หรือที่ค่านิยมตะวันตกมองว่าเป็นการเย้ยหยันทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า "แบล็กเฟซ" รวมถึงแต่งกายแบบล้อเลียนภาพเหมารวมคนผิวดำอื่นๆ

การล้อเลียนเช่นนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์โต้ตอบกลับในระดับที่กระทรวงการต่างประเทศของจีนรู้สึกว่าต้องพูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเจิ้งชวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงเมื่อ 22 ก.พ. ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าชุดการแสดงดังกล่าวเหยียดเชื้อชาติ และกล่าวว่า "ประเทศจีนต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบเสมอมา"

"ความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะใช้สิ่งนี้ เพื่อเป็นข้ออ้างในการตื่นตระหนกและตอกลิ่มระหว่างจีนและประเทศในแอฟริกา นับเป็นเรื่องไร้ประโยชน์"

เขากล่าวด้วยว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและประเทศในแอฟริกานั้นแข็งแกร่ง และทั้ง 2 ฝ่ายต่างได้รับผลโยชน์

กรณีของบราวน์ เป็นแค่หนึ่งในชาวแอฟริกันหลายๆ คนที่เข้าคัดตัวนักแสดง เธอใช้ชีวิตอยู่ในจีนมานาน 9 ปี แล้วและมีงานหลักๆ คือการขายเฟอร์นิเจอร์ทำจากจีนให้กับลูกค้าชาวแอฟริกัน เธอบอกว่าพอเห็นกระแสโต้ตอบกลับเช่นนี้แล้วเธอไม่เสียดายเลยที่ไม่ได้รับบทในการแสดง ถึงเธอจะบอกว่าไม่ได้รู้สึกถูกล่วงเกินในด้านสีผิวมากนักเพราะเข้าใจว่ามันเป็นรายการตลก แต่เธอก็บอกว่าถ้าเป็นเธอเองก็คงไม่อยากเล่นบทที่ทำให้คนอื่นรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า รู้สึกเสียดาย หรือรู้สึกว่ากำลังโดนดูถูก

ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแอฟริกาบราวน์มองว่าทั้งสองฝ่ายไม่ควรจะให้ใครมีอำนาจมากกว่ากันหรือครอบงำอีกฝ่ายหนึ่ง จากความคิดเห็นของชาวแอฟริกันในจีนแล้วถ้าหากบราวน์ได้รับบทของชาวแอฟริกันเองแทนที่จะให้คนจีนแสดงแทนคงจะไม่เกิดข้อโต้แย้งตามมาแบบนี้

มูฮัมหมัด ฮัมหมิด ชาวเซียร์ราลีโอนผู้อาศัยอยู่ในจีนตั้งแต่ปี 2558 กล่าวว่าเขารู้สึกตกตะลึงเมื่อเจอ "แบล็กเฟซ" ในรายการจีน และบอกว่าถึงแม้การแสดงจะดี มีธีมเกี่ยวกับมิตรไมตรี แต่คนดำน่าจะได้รับบทนี้มากกว่าการให้คนจีนแสดงแทนทำให้รู้สึกถูกกีดกันทางโอกาส

เรื่องนี้ชวนให้ตั้งคำถามว่าขณะที่จีนพยายามเข้าหาภูมิภาคแอฟริกันมากขึ้นสังคมจีนที่เป็นประเทศปิดมานานมีความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมอื่นๆ และมีความละเอียดอ่อนในเรื่องนี้บ้างหรือไม่ เพื่อนของบราวน์ชื่อ เอมิเลย บายวอเตอร์ บอกว่าตัวเธอเองไม่รู้สึกถูกล่วงเกินจากการแสดงนี้แต่ก็พูดถึงสังคมจีนโดยทั่วไป เธอเล่าว่าจากที่เคยอยู่ในสหรัฐฯ มาก่อนตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว ทัศนคติเรื่องการเหยียดเชื้อชาติสีผิวกำลังเปลี่ยนแปลงในตะวันตก แต่ในจีนเธอกลับเจออคติทางเชื้อชาติสีผิวในชีวิตประจำวันแทบทุกวัน

บายวอเตอร์เปิดเผยว่าขณะที่ตะวันตกเริ่มคำนึงถึงภาพลักษณ์ที่เปิดรับอัตลักษณ์หลากหลาย ในสังคมจีนยังมีอคติและความลำเอียงในแง่มุมอื่นๆ ทั้งเรื่องเพศที่ลำเอียงเข้าข้างชายมากกว่าหญิง หรือเรื่องเชื้อชาติอย่างในโรงเรียนนานาชาติที่จะอยากให้มีคนขาวอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารในโรงเรียนมากกว่าคนดำ

แต่ในแง่ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจนั้นบายวอเตอร์ก็มองว่าจีนให้ความช่วยเหลือแอฟริกันจริงในแง่ทุนการศึกษาเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่พวกเธอไม่เคยได้รับทุนการศึกษาต่อเลย โดยกรณีทุนการศึกษาจากจีนที่เธอกล่าวถึงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ที่จีนพยายามสร้างความร่วมมือกับแอฟริกันโดยการให้ทุนรัฐบาลแก่นักศึกษาแอฟริกัน 30,000 ราย เพื่อพยายามเข้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเหล่านั้นตอบสนองความทะเยอทะยานของตัวเอง รายการตลกที่เป็นข้อถกเถียงเรื่องแบล็กเฟซก็ถึงขั้นมีการพูดถึงทางรถไฟ มอมบาซา-ไนโรบี ในเคนยาด้วย

อย่างไรก็ตาม แดเนียล อะเนียกัน นักศึกษาชาวไนจีเรียที่กำลังศึกษาด้านการแพทย์ในจีนก็มองว่าจีนไม่ได้เป็นพ่อพระ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแอฟริกาเป็นไปแบบสองทาง จีนคงต้องการอะไรสักอย่างจากแอฟริกาจึงเข้ามาลงทุน แต่ในด้านสังคมเอง อะเนียกันก็บอกว่ายังคงมีการเหยียดสีผิวอยู่ เช่น ผู้หญิงเห็นเขาบนถนนก็วิ่งหนีด้วยความกลัว พนักงานธนาคารแค่เห็นเขาเข้าไปก็คิดว่าเขาจะมาปล้น ในกรณีของแบล็กเฟซในทีวีอะเนียกันบอกว่าก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าทำไมคนถึงโกรธแม้แต่เพื่อนชาวจีนของเขาบางคนก็ไม่ชอบมัน

อะเนียกันบอกว่าถ้าหากจีนต้องการจะตกลงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับแอฟริกันก็ควรจะทำให้ผู้คนเข้าใจกันมากขึ้นด้วย ควรจะงดการนำเสนอภาพเย้ยหยันทางเชื้อชาติแบบในกรณีรายการของ CCTV ซึ่งแทนที่จะทำให้เกิดความสมัครสมานกลับทำให้เกิดการกีดกัน

เรียบเรียงจาก...

African woman who auditioned for ‘racist’ Chinese TV gala show speaks out on blackface row, South China Morning Post, 26-02-2018

China ‘opposes’ racism but dismisses criticism of CCTV blackface skit, South China Morning Post, 22-02-2018

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.