Posted: 24 Feb 2018 09:41 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
สัพพัญญู วงศ์ชัย
ในห้วงเวลาตั้งแต่ปฏิทินได้เปลี่ยนเข้าสู่ปี 2561 สังคมไทยได้เกิดกระแสของการวิพากย์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงต่อกระแสข่าวที่โด่งดังอย่างมาก ได้แก่ กรณีของน้องเมย นักเรียนนายร้อยที่เสียชีวิตอย่างปริศนา, กรณีของนาฬิกาสุดหรูของผู้มีอำนาจในรัฐบาล คสช., กรณีการเข้าป่าล่าสัตว์สุดฉาวโฉ่ว ของผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทก่อสร้างชั้นนำของประเทศ และกรณีล่าสุดได้แก่กรณีของคุณป้าขวานพิฆาต ที่สั่นสะเทือนไปทั่วทั้งกรุงเทพฯ กระแสข่าวทั้งหมดได้ชักนำให้ผู้เสพสื่อทั้งหลาย มุ่งประเด็นสำคัญหลายประเด็นด้วยกัน ทั้งประเด็นการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่รัฐ, กระบวนการยุติธรรม, การปฏิบัติหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง, การบังคับใช้กฎหมายที่ ‘ขัดตา ขัดใจ’ สังคมที่รายล้อมผู้กระทำผิดเหล่านั้นอย่างลอยหน้าลอยตา หรือแม้กระทั่งประเด็นเรื่องข้อเรียกร้องทางกฎหมายที่ถูกเพิกเฉยมาหลายปี ประเด็นทั้งหมดที่ผู้เขียนยกมาเป็นตัวอย่างเหล่านี้ล้วนลากเป้าสายตาของเราเข้าไปจ้องมอง หรือกระทั่งเพ่งมองไปสู่ การทำงานภายในภาคราชการ อันเป็นที่พึ่ง และความหวังของสังคมมาอย่างยาวนาน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กระแสสังคมได้ทุ่มโถมไปสู่การโจมตีการทำงานของข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่ผู้เขียนได้กล่าวในข้างต้น ได้แสดงออกมาในทิศทางของความ ‘ผิดหวัง’ ต่อระบบราชการ (bureaucratic system) ซึ่งเป็นหน่วย หรือองค์กรที่มีอำนาจมหาศาลในสังคมไทยมาโดยตลอด ระบบราชการได้เติบโตด้วยน้ำหล่อเลี้ยงที่ไหลออกจากกระเป๋าเงินของประชาชนในประเทศจำนวนมหาศาลมาอย่างยาวนาน และยังคงมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในทางกลับกัน ความหวังที่มีต่อข้าราชการ/ระบบราชการไทยนั้น กลับลดน้อยถอยลงทุกที ช่างสวนทางกับสิ่งที่เสียไปเหลือเกิน กล่าวง่าย ๆ คือ ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’
วิกฤติการณ์ดังกล่าวไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาที่มีคู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ทั้ง การเล่นพรรคเล่นพวก, การทุจริตงบประมาณ หรือแม้กระทั่งการกระทำอันผิดต่อกฎหมายที่ถูกทำให้หายเงียบไป ได้ถูกกลบให้ดูเป็นประเด็นที่ถูกบดบังด้วยเงาของ ‘การกล่าวโทษนักการเมือง’ นักการเมืองตกเป็นจำเลยของวาทกรรม ‘นักการเมืองเลว เป็นพวกที่เข้ามาเพื่อทุจริต’ วาทกรรมดังกล่าวมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ดังประโยคที่มักจะถูกหยิบยกมา ได้แก่ “ถ้านักการเมืองไทยหยุดโกงเพียงสองปี ถนนประเทศไทยจะปูด้วยทองคำก็ยังได้” วาทกรรมดังกล่าวได้ถูกผลิตซ้ำ และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับยุคสมัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำของอุดมการณ์แบบต่อต้านการเมือง
ในปัจจุบัน สายตาที่ถูกบังจากเงาของ ‘นักการเมืองเลว’ นั้นไม่มีอีกต่อไป ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารนั้น ภาพฉายของระบบราชการจึงเป็นภาพขนาดใหญ่มหึมาที่เข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้ง การเมือง, เศรษฐกิจ และสังคม ชัดเจนมากกว่าสิ่งอื่นใด จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงแรงกระแทกจากสังคมโดยตรงได้ เกราะกำบังจากวาทกรรมกล่าวโทษนักการเมืองไม่อาจใช้มาอธิบายปรากฎการณ์ของการ ทุจริต และความไม่เป็นธรรมในสังคมได้อีกต่อไป ในขณะเดียวกันแรงโต้กลับของระบบราชการที่เป็นเสมือนยักษ์ใหญ่แห่งรัฐ (The giant of state) ในขณะนี้ได้ตอบกลับสังคมด้วย ‘ความไม่รับผิดชอบ’ ความไม่รับผิดชอบนี้หมายรวมถึง ความไม่รับผิดชอบต่อกิจที่ตนได้กระทำผิดไป และความรับผิดชอบที่ตนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งในด้านจริยธรรม ศีลธรรม และกฎหมาย ยักษ์ใหญ่ตัวนี้กลายเป็นหน่วยที่แทบจะอยู่เหนือกฎหมายและความยุติธรรม ความผิดหวังต่อระบบราชการนั้นยังสามารถหมายรวบไปถึง ความผิดหวังที่มีต่อ รัฐบาล ที่ไม่ใช่ใครอื่นนอกเสียจากร่างอวตารที่มาจาก หรือแทบจะเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระบบราชการแทบเสียทั้งหมด
รัฐไทยจึงกลายเป็นรัฐราชการ (bureaucratic polity) อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เกษียร เตชะพีระ ได้อธิบายระบบราชการผ่านการประมวลผลงานของ Benedict Anderson ในงานเสวนา หัวข้อ เบน แอนเดอร์สัน กับชุมชนจินตกรรม และอื่น ๆ และ อื่น ๆ’ ได้อย่างชัดเจน สรุปใจความได้ว่า รัฐราชการไทยนั้นไร้ประสิทธิภาพ ทุจริต เล่นพรรคเล่นพวก ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชน และกลุ่มคนที่อยู่นอกระบบราชการ อันเกิดจากสภาวะเปลี่ยนผ่านที่ค้างเนิ่นนานจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไม่ดับสูญสนิท (non-finished transition) ชนชั้นปกครองไม่อาจเอาความชอบธรรมแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมาใช้ได้อีกแล้ว ชนชั้นนำเหล่านี้จึงต้องมีการหาหุ้นส่วนภายในระบบราชการ โดยต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ราชเสนาอมาตยาสมาสัย’ กล่าวคือ ระบบราชการเป็นฐานในการสร้างความชอบธรรมให้แก่ชนชั้นนำ ในการใช้อำนาจผ่านระบบราชการนั่นเอง (ดูเพิ่มเติม : https://www.youtube.com/watch?v=q1E-0o0eD_M)
สุดท้ายนี้ผู้เขียนต้องขอออกตัวว่า ไม่ได้มีความต้องการที่จะลดความเชื่อมั่น (Discredit) ต่อข้าราชการไทย เนื่องจากข้าราชการทั้งชั้นผู้น้อยและลำดับชั้นที่สูงขึ้นไปนั้น ต่างก็เป็น ‘ประชาชน’ เฉกเช่นเดียวกับเรา ๆ ทั้งหลาย ผู้เขียนมีความเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านมีความแคลงใจว่าเหตุใด ระบบราชการที่มีการหมุนเวียนบุคลากรอยู่แทบทุกปี คนรุ่นใหม่เหล่านั้นมีอายุเพียง ยี่สิบปีต้น ๆ เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่มีการศึกษาดี ส่วนใหญ่มาจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพภายในประเทศ แต่กลับต้องถูกระบบที่มีขนาดมหึมาครอบงำความทะเยอทะยาน ความกระตือรือร้น และความต้องการกระทำตามอุดมการณ์ของตน พวกเขาเหล่านั้น (ข้าราชการ) กลับกลายเป็นกลุ่มที่รับแรงกดดันมากกว่าคนนอกระบบราชการอย่างเรา ๆ ทั้งหลาย ทั้งความคาดหวังจากภาคสังคม และแรงกดทับที่มาจากสายบังคับบัญชาของผู้มีอำนาจในระบบราชการ จึงมีหลายครั้งที่คนหนุ่มที่มีคุณภาพ มีแรงผลักดันในการทำงาน เกิดอาการ ‘หมดไฟ’ และตัดสินใจออกจากราชการอย่างน่าเศร้า
เกี่ยวกับผู้เขียน: สัพพัญญู วงศ์ชัย เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการเมือง การปกครอง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แสดงความคิดเห็น