Posted: 22 Feb 2018 07:48 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ณัฐดนัย พรมมา
การเมืองภายในประเทศในปัจจุบัน เต็มไปด้วยกระแสของการเรียกร้องประชาธิปไตย ตั้งแต่การล้มรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้กระแส Hero of Politic มาแรงซึ่งกระแสนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วและโด่งดังมากในสมัยรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2501-2506 ซึ่งในขณะนั้นประชาชนนิยมชมชอบในตัว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มากและจอมพลจอมพลสฤษดิ์เองก็เปรียบตัวเองเป็นเหมือนดาราภาพยนตร์ มีการโปรโมตและลงพื้นที่พบปะประชาชนอย่างแพร่หลาย
กล่าวได้ว่าในยุคนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สามารถโน้มทัศนะคติของประชาชนให้นิยมในตัวทหารได้ และก็ทำสำเร็จมากด้วยทำให้ขณะนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มีบารมีและอำนาจมากในประเทศ ประชาชนนิยมในตัวจอมพลจอมพลสฤษดิ์ เพราะสามารถโค้นอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งประชาชนมองว่าเป็นเผด็จการลงได้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเหมือนกับอัสวินที่ขี่ม้าขาวมาเพื่อช่วยประชาชน ทำให้คนในสมัยนั้นิยมชมชอบในตัวจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มากถึงแม้ลึกๆ จะเป็นการปกครองที่เป็นเผด็จการก็ตาม ด้วยทัศนะคติแบบนี้จึงได้รับการถ่ายทอดผ่านสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน ทำให้ประชาชนชอบอำนาจที่เด็ดขาดแบบเผด็จการ และปฏิเสธการมีอยู่ของประชาธิปไตย
ย้อนมาในการรัฐประหารปี 2557 ก็เช่นกันกระแสความต้องการเผด็จการทหารกลับมาในสังคมไทย เป็นการแส Hero of Politic ที่ประชาชนอดทนกับระบอบประชาธิปไตยไม่ได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องหาระบบใหม่ที่รวดเร็วและทันใจกว่า ดังนั้น ในปัจจุบันเราจึงพูดได้ไม่เต็มปากว่าเราเกลียดหรือไม่ชอบเผด็จการในเมือเราเองที่เป็นคนกวักมือเรียกเผด็จการให้เข้ามาปกครองประเทศตั้งแต่แรก
ทำไมทหารต้องยุ่งเกี่ยวทางการเมือง
ในปัจจุบันเราจะเห็นการมีบทบาทในสังคมค่อนข้างมาก และยิ่งปัจจุบันนี้ก็ยิ่งมากกว่าเดิม ในทัศนะคติส่วนใหญ่ มองว่าทหารคือผู้ที่ต้องคอยดูแลความเรียบร้อย และรักษาความปลอดภัยของประเทศ ในปัจจุบันผมมองว่าหน้าที่ของทหารเริ่มที่จะแปรเปลี่ยนไปมากพอสมควร ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วมีบ้างที่ทหารจะมีหน้าที่ในการเข้ามาดูแลความเรียบร้อย โดยเฉพาะทางการเมืองน้อยครั้งที่จะมาเล่นการเมืองด้วยตนเอง แต่ในสังคมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สังคมไทยถูกรัฐประหารถึง 13 ครั้งนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถือว่ามีความถี่มากทีเดียวในสังคมที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย และการรัฐประหารส่วนใหญ่ทหารก็จะขึ้นมาเป็นรัฐบาลเสียเอง สิ่งนี้เองการเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสังคมไทย เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยังต้องการทหารในมีส่วนร่วมทางการเมือง แทนที่จะกันออกไปเมื่อรัฐประหารเสร็จสิ้นและคืนอำนาจในประชาชนดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว วัฒนธรรมทางความคิดที่ต้องการทหาร ทำให้สร้างกระบวนการทางความคิดให้กับกองทัพว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองจึงเป็นหน้าที่ของทหารที่ต้องยุติปัญหา ซึ่งก็ถูกต้องส่วนหนึ่งที่ทหารต้องเข้ามาควบคุมเหตุการณ์ความรุนแรงของบ้านเมือง แต่คำถามอยู่ที่ว่าเหตุใดการเข้ามาของทหารจึงต้องล้มรัฐธรรมนูญล้มรัฐบาล และกระบวนการทางประชาธิปไตย และขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลด้วยตนเอง
การศึกษาทางการเมืองไทยจำต้องเพื่มตัวแปรสำคัญคือกองทัพไว้ด้วย โดยเฉพาะคณะรัฐศาสตร์ทั่วประเทศที่ศึกษาเรื่องการเมือง ควรจะมีวิชาที่ศึกษากองทัพโดยเฉพาะ เพราะเห็นได้ว่ากองทัพหรือทหารมีอิทธิพลทางการเมืองไทยนับว่ามากพอสมควรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การศึกษาการเมืองไทยจึงไม่ควรละเลยบทบาทของกองทัพ เพราะกองทัพเปรียบเหมือนกับขั้วการเมืองหนึ่งในระบบการเมือง
ประชาชนต้องการทหารจริงหรือ?
หากจะมองในบริบทและบทบาทของกองทัพอย่างเดียวเห็นจะไม่สมควร จึงต้องกลับมามองที่ประชาชนบ้าง ย้อนกลับไปในเหตุการณ์การการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการเปลี่ยนประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งในคณะนั้นมีสถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุด ไปสู่ระบอบที่เรียกไม่เต็มปากว่าระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชนเสมอกัน ซึ่งต่อมามีการตั้งคำถามถึงการเกิดขึ้นของกระแสเปลี่ยนแปลการปกครอง 2475 มีวาทกรรมทางการเมืองตั้งคำถามต่อคณะราษฎรสมัยนั้นว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” ทางการเมืองหรือไม่ รีบเปลี่ยนแปลงไปรึปล่าวเพราะสังคมในสมัยนั้นอาจจะยังไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง
เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 2475 มีนัยยะทางการเมืองและจุดอ่อนที่สำคัญของคณะราษฎรคืออย่างแรก เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 2475 มีนัยยะที่สำคัญคือการที่ผู้มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำคณะปฎิวัตินั้นส่วนใหญ่ประกอบด้วยข้าราชการ ตำรวจ ทหารทั้งสิ้นน้อยนักที่จะเป็นคนธรรมดา และจุดอ่อนของคณะราษฐรคือการขาดความร่วมมือจากประชาชนส่วนใหญ่ การปฎิวัติทั้งหมดกระทำโดยตำรวจทหาร ทำให้เป็นจุดอ่อนที่ถูกโจมตีในระยะเวลาต่อมา โดยนัยยะของคณะราษฎรที่ประกอบด้วยข้าราชการ ตำรวจ ทหารนี้เอง เป็นภาพลักษณ์ที่สำคัญให้กับประชาชนในสมัยนั้นและระยะเวลาต่อมา เป็นการสร้างความชอบธรรมให้ทหารในการเข้ามามีบทบาททางการเมืองในระยะเวลาต่อมา และเมื่อคณะราฎรยังมีอำนาจในการเมืองในระยะเวลาที่สั้นไปในการที่จะพัฒนากระบวนการและวิธีคิดให้ประชาชนมีการคิดและแสดงออกแบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ได้ตกผลึกทางความคิดแก่สังคม และเมื่อคณะราษฎรบริหารประเทศได้ไม่ถึง 10 ปี ประเทศก็กลับไปสู่ระบอบที่ทหารเป็นใหญ่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประชาชนจึงไม่มีเวลาที่จะซึมซับความเป็นประชาธิปไตยมากพอ จะซึมซับก็แต่ระบอบเผด็จการทหารเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะข้ออ้างที่เผด็จการทหารชอบใช้ คือ ความไม่พร้อม ความไม่รู้ และยังไม่ถึงเวลาในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นการโฆษณาที่สำคัญทำให้สังคมเชื่อ และรับรู้มาจนถึงปัจจุบัน
สังคมไทยจึงสร้างทัศนะคติทางการเมืองที่ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “เป็นสังคมที่คนไม่อดทนต่อระบอบประชาธิปไตย” โดยชอบความรวดเร็วและเด็ดขาดของเผด็จการมากกว่า ดังเช่นเหตุการณ์ทางการเมืองไทยหลายๆ เหตุการณ์ที่คนออกมาเรียกร้อง และกวักมือเรียกทหารเมื่อเการเมืองมีปัญหาหรือไม่ชอบบุคคลทางการเมืองบางคนพรรคการเมืองบางพรรค ไม่รอให้กระบวนการทางประชาธิปไตยที่ต้องมีการเลือกตั้งทุก 4 ปี ได้ดำเนินไป จึงเป็นการเรียกเสือเข้าบ้านโดยแท้
ทหารมีหน้าที่ถือปืนหรือถือไมค์หาเสียงกันแน่?
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันสังคมไทยนั้นต่างเคยชินกับการรัฐประหารและการฉีกรัฐธรรมนูญกันอยู่แล้ว ทำให้ทหารจำต้องเปลี่ยนลูกเล่นใหม่ทางการเมือง ซึ่งจะได้ไม่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายและพร้อมกับสร้างภาพลักษณ์ผู้นำทางการเมืองของทหารมากขึ้น
ทหารพยายามปรับตัวเองและพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้มีคุณลักษณะไม่ต่างจากนักการเมือง เช่น ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการนำระบบไฮปาร์คของอเมริกามาใช้ สมัยจอมพลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการเดินสายพบปะประชาชนมากขึ้นในชนบท สมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ มีการชูนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามีการสร้างรายการคืนความสุขโฆษณาผลงานรัฐบาลต่อประชาชน มีการแต่งเพลงฯลฯซึ่งนับว่าแปลกใหม่มากในสังคมปัจจุบัน หรือแม้แต่การประกาศว่าตัวเองเป็นนักการเมืองก็เคยพูดมาแล้ว
ทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่าทหารต้องปรับตัวและเรียนรู้ให้เข้ากับสังคมปัจจุบันมากที่สุด แต่สิ่งที่ทหารไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เลย คือวัฒนธรรมการรัฐประหาร หากท่านลองไปศึกษาการเมืองไทยในอดีตตั้งแต่การรัฐประหารของจอมพล ป. พิบูลสงครามเรื่อยมาจนกระทั้งรัฐประหารปี 2557 นั้นบทบาทการรัฐประหารแทบจะไม่เปลี่ยนเลย มีการกระทำที่เหมือนกัน เช่น ต้องมีการฉีกรัฐธรมนูญและร่างใหม่ มีการขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลด้วยตนเอง มีกฎหมายที่ให้อำนาจพวกตนเองสูงสุด มีการสืบทอดอำนาจ แม้การทั้งคณะรัฐประหารยังมีชื่อที่คล้ายคลึงกัน เช่น คณะ รสช. ปี 2534 กับ คสช. ปี 2557
ดังนั้นทหารจึงมีตำราการรัฐประหารที่เพียบพร้อมอยู่แล้ว ว่าต้องทำอย่างไรในการรัฐประหารและร้อยละ 95 ก็ทำรัฐประหารได้สำเร็จ ทหารจึงไม่จำเป็นต้องเรียนรู้มากในการรัฐประหาร แต่สิ่งที่กองทัพหรือทหารต้องเรียนรู้และมักจะไม่สำเร็จคือการบริหารประเทศ ทหารเมื่อขึ้นมามีอำนาจแล้วไม่มีประสบการณ์ในการบริหารและส่วนมากก็จะล้มเหล้ว ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปเมื่อรัฐประหารสำเร็จจะเห็นได้ว่าคณะรัฐประหารส่วนใหญ่จะทำให้ประเทศมีปัญหามากมายนับจากขึ้นมามีอำนาจ และส่วนใหญ่ก็มีทางลงที่ไม่สวยหรูนักจะมีน้อยคนที่ได้ขึ้นชื่อว่าขึ้นสวยลงสวย ส่วนใหญ่ลงจากอำนาจไม่สวยทั้งนั้น จึงกล่าวได้ว่าทหารนั้นต่างรู้แต่การรัฐประหารแต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรหากรัฐประหารสำเร็จและได้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ
อำนาจปลายกระบอกปืน
การที่คนเราได้สิ่งได้มาง่ายและได้มาด้วยอำนาจตนเองต่างก็ไม่รู้คุณค่าสิ่งที่ตนเองได้มาทั้งนั้น เป็นหลักตรรกะง่ายๆ การขึ้นมามีอำนาจของทหารก็เช่นกัน อำนาจทางการเมืองที่ทหารได้มานั้นก็ล้วนมาจากอำนาจปลายกระบอกปืนที่กดท้ายทอยประเทศเอาไว้ เป็นอำนาจที่ที่ทหารใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองสูงสุด ไม่ได้เป็นอำนาจที่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเลือกเข้ามาและมอบอำนาจให้บริหารประเทศ จึงทำให้ทหารไม่เห็นคุณค่าจากประชาชน เพราะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ตนมีอำนาจ ประชาชนไม่ได้ใหญ่ที่สุดในความคิดของกองทัพและทหาร
เมื่อมองจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทหารไม่เคารพประชาชน เริ่มจากสิ่งง่ายๆ คือ การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชนต่อรัฐบาลถูกควบคุม เช่น สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร พลเอกสุจินดา คราประยูร หรือแม้แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในปัจจุบัน ทหารไม่เคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ใช้อำนาจอันมิชอบควบคุมคนส่วนใหญ่ และไม่ฟังเสียงจากประชาชน ซึ่งในอดีตอาจเหมาะสมกับสังคมในขณะนั้นที่ต้องการให้สังคมมีความสงบเรียบร้อยเพื่อป้องกันภัยจากภายนอก แต่ปัจจุบันไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปที่จะปิดปากปิดตาประชาชน
แต่ผมเองก็แอบเห็นข้อดีอยู่บ้างในการที่ทหารควบคุมความคิดความเห็นของประชาชน เพราะส่วนหนึ่งก็ทำให้สังคมเริ่มเข้าใจความหมายและความสำคัญของสิทธิแสะเสรีภาพตนเองมากขึ้น ผ่านการชุมนุมและประท้วงต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาสังคมประชาธิปไตยต่อไป ในเมื่อทหารไม่ได้ได้อำนาจจากประชาชนจึงเป็นการสร้างกระบวนการคิดว่าไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้นต่อประชาชน และ “เมื่อประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจสิทธิขาดของท่าน ท่านก็ฆ่า” ดังเช่นเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรงที่นำไปสู่ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ ล้วนแล้วเป็นเหตุการณ์ที่ทหารจับปืนขึ้นยิงประชาชนแทนที่จะปกป้อง “มันจะไม่ดีกว่าหรือครับที่แม้การเมืองจะไม่สงบมีผู้นำที่ไม่ใช่ทหาร มีการชุมนุมและประท้วงเพื่อขับไล่ถึงแม้จะทำให้บ้านเมืองไม่สงบแต่ก็ไม่นำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงอย่างใหญ่หลวงเหมือนการปกครองของทหาร และไม่มีการสูญเสียชีวิตของประชาชน(น้อยกว่า) ดีกว่าการที่ต้องมาไล่เผด็จการทหารที่มันจะจับปืนมายิงเราเมื่อไรก็ไม่รู้” อำนาจที่จะได้ในการปกครองประเทศของทหารไม่ใช่อำนาจสิทธิทางการเมืองของประชาชน มีก็แต่อำนาจความตายจากปลายกระบอกปืน
ถอดบทเรียนในอดีตสู่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
จะเห็นได้ว่าการขึ้นมาสู่อำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้นเป็นการขึ้นมามาอำนาจของกองทัพครั้งล่าสุดนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันายายน 2549 จะเห็นได้ว่าการเมืองช่วงปี 2550 -2557 นั้นลุกล้มคลุกคลานพอสมควร จึงเป็นช่องทางอันนำไปสู่การรัฐประหาร โดยเฉพาะปี 2557 ที่ประชาชนเริ่มเบื่อหนายนักการเมืองและการเมืองมีท่าทีจะนำไปสู่ความรุนแรงระหว่าง นปช และ กปปส จึงเหมือนเป็นช่วงเวลาที่หอมหวานและประจวบเหมาะของการเข้ามาของกองทัพ จนกระทั้งเกิดการรัฐประหารขึ้น ประชาชนจำนวนมากมีความยินดีที่ทหารยึดอำนาจและมีประชาชนจำนวนไม่น้อย ได้นำดอกไม้และพวงมาลัยให้แก่ทหาร จึงนับเป็นช่วงเวลาประสบความสำเร็จของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ คสช. ที่เหมือนเป็น Hero ของประชาชนมายุติความขัดแย้ง ยำเตือนถึงทัศนะคติทางความคิดลึกๆของประชาชน ว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานการเมืองจะพัฒนาไปมากแค่ไหน แต่ก็ยังต้องการเผด็จการทหารอยู่ดี แต่ระยะเวลาต่อมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะก็ได้เริ่มแสดงความเป็นทหารออกมาด้วยการบริหารที่ย่ำแย่ ประกอบกับการพยายามปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน และการคอรัปชันอันเน่าเหม็นของรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ นำไปสู่การมีอยู่ของรัฐบาล Hero ของประชาชน ในระยะปีสองปีมานี้ก็ได้มีกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้นจากประชาชนในสังคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะพยายามทำตัวให้เป็นนักการเมืองและออกนโยบายประชานิยมต่างๆ แต่ก็ล้มเหลวย้ำเตือนหน้าที่ของทหารมากขึ้นว่าไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองในระยะยาว ประกอบกับสื่อปัจจุบันที่พัฒนาไปไกลทำให้ทหารไม่สามารถตามทันและควบคุมไว้ได้ดังเช่นอดีต ประกอบกับพี่ใหญ่ร่วม ครม. ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเองก็เริ่มส่งกลิ่นการคอรัปชั่นมากขึ้น แต่รัฐบาลก็ไม่ยอมเรียนรู้บทเรียนจากอดีตที่ได้จากการพยายามบริหารของทหารที่มักล้มเหลว และถูกต่อต้านและขับไล่จากประชาชน แม้ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะมาอย่างอัสวินขี่ม้าขาวฮีโร่ของประชาชน ก็อาจมีจุดจบเหมือนสุนัขข้างถนนถูกขับไล่จากสังคมได้ เช่น จอมพล ถนอม กิตติขจร หรือ พลเอก สุจินดา คราประยูร ที่ถูกสังคมต่อต้านและขับไล่ เผด็จการทหารในประเทศไทยไม่เรียนรู้การคืออำนาจให้กับประชาชนและอยู่อย่างรัฐบุรุษ เพียงขึ้นมายุติความขับแย้งผมเชื่อว่าหากสังคมทหารเรียนรู้ที่จะคืออำนาจแก่ประชาชน ไม่คิดสืบทอดอำนาจ จะได้รับความนิยมจากประชาชนมิใช่น้อย กลับมาที่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีเรื่องเสื่อมเสียมากกว่าที่สังคมจะรับได้ แต่ก็ยังลุแก่อำนาจไม่ยอมคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตประเทศด้วยตนเอง ยังคงเดินหน้าด้วยปลายกระบอกปืนอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เรียนรู้ที่จะยอมคืนอำนาจเมื่อสังคมต้องการ “ผมขอฟังธงอย่างแน่นอนว่าหากยังคงดื้อดึงต่อไป จะจบไม่สวยอย่างแน่นอน เพราะท่านและคณะของท่านลืมอำนาจสูงสุดของประเทศนี้เสียแล้วคืออำนาจจากประชาชน”
จากที่ได้กล่าวมาแล้วดังข้างต้น จะเห็นความสัมพันธ์ของทหารในการเมืองไทย ที่มีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่น และเปรียบเหมือนองค์กรทางการเมืององค์การหนึ่ง มีการสร้างวัฒนธรรมของทั้งประชาชน และทหารในทางการเมือง จึงทำให้เกิดการแทรกแซงทางการเมืองหลายครั้งของทหาร ฉีกรัฐธรรมนูญอันได้มาจากประชาชนและเขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการเปิดช่องให่สืบทอดอำนาจต่อไป การเมืองไทยจึงเต็มไปด้วยการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญหมุนวนอยู่ซ้ำๆ เป็นการปิดกั้นการพัฒนาไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนในประเทศขาดการพัฒนาทางการเมือง เพราะต้องถูกทั้งการปิดกั้นจากทหารและปิดกั้นจากความคิดทางสังคม
สังคมแห่งฮีโร่ทางการเมืองจึงเป็นสังคมที่เพ้อฝัน หามิได้ในการเมืองปัจจุบันเพราะในระบบการเมืองนั้นเป็นการตอบแทนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างเหมาะสมที่สุด จึงไม่ใช่สังคมที่ดีทั้งหมดมีทั้งฝ่ายที่ได้เปรียบและเสียเปรียบแต่หากสังคมเป็นประชาธิปไตย ผลประโยชน์ก็สามารถต่อรองกันได้ แต่ในสังคมเผด็จการเรามิอาจคิดหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้มากนัก ก็อย่าได้พูดเรื่องผลประโยชน์เลย แม้ทหารหลายคนขึ้นมามีอำนาจล้วนอ้างความเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลตน ไม่มีการสืบทอดอำนาจ และสัญญาจะมีการเลือกตั้งโดยเร็ววัน แต่จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยหากได้ศึกษาจะพบว่าล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องโกหกของผู้นำเผด็จการทหารเพียงเพื่อให้ความหวังและซื้อเวลาเท่านั้นเอง
และถึงแม้ว่าอาจจะมีคำกล่าวว่าการเลือกตั้งไม่ได้ยืนยันการเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ต้องถือว่าการเลือกตั้งเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่ทำให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกและมีสิทธิทางการเมืองที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย สำหรับวิธิการแก้ปัญหาสังคมไทยภายใต้เผด็จการทหาร ผมจะยังไม่ขอกล่าวไว้ในที่นี้ แต่จะเขียนไว้ในบทความถัดไป
และท้ายที่สุดนี้ผมยังมีความหวังที่สังคมจะมีเจตนาในการพัฒนาประชาธิปไตยและหวังว่าผู้นำทหารในกองทัพในอนาคต จะมีคนที่มีความคิดเรื่องสิทธิพื้นฐานของประชาชน และชี้แนวทางและหน้าที่ของทหารที่ควรจะเป็น ผมเชื่อว่าผู้นำทหารที่มีทัศนะคติแบบนี้ในกองทัพมีมากอยู่ เพียงแค่ไม่มีอำนาจเท่านั้นเอง
แสดงความคิดเห็น