สำนักข่าวนิกเกอิของญี่ปุ่น รายงานข่าวคดีนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งสื่อต่างประเทศขนานนามว่า "นายพลโรเล็กซ์" รวมถึงคดีที่พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืมเงินเจ้าของธุรกิจอาบอบนวดเป็นเงิน 300 ล้านบาท และคดีที่นายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหารบริษัทอิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ มหาเศรษฐีอันดับต้นๆของเมืองไทย ถูกจับในข้อหาล่าสัตว์ป่าคุ้มครองในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
นิกเกอิมองว่าทั้ง 3 คดีนี้ ตอกย้ำว่าสังคมไทยมีวัฒนธรรมของการปล่อยให้ผู้มีอำนาจและมีเงินลอยนวลพ้นผิด รวมถึงได้รับสิทธิพิเศษในกระบวนการยุติธรรม แม้แต่ลูกหลานของอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ก็ทำตนอยู่เหนือกฎหมาย แม้เมื่อพฤติกรรมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของบุคคลอื่นก็ตาม
นิกเกอิพุ่งเป้าไปที่กรณีนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตร ที่ทำให้รัฐบาลคสช.ต้องตกที่นั่งลำบาก เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกโรงปกป้องพลเอกประวิตร ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอันดับสองในคสช. ในขณะที่รัฐบาลต้องการแรงสนับสนุนจากประชาชนในการปกครองประเทศต่อไป เนื่องจากการเลือกตั้งได้ถูกเลื่อนออกไปและยังไม่มีกำหนดชัดเจน โดยกระแสความไม่พอใจอย่างสูงในสังคมต่อประเด็นนาฬิกาของพลเอกประวิตร ยังถูกมองว่าความอดทนที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลทหาร กำลังเริ่มหมดลง
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีผู้เข้าชื่อสนับสนุนให้พลเอกประวิตรลาออกจากตำแหน่งกว่า 80,000 รายชื่อ ขณะที่นักวาดการืตูนล้อเลียนก็ทำให้พลเอกประวิตรกลายเป็นตัวตลก ซึ่งการล้อเลียนเหล่านี้ทำให้ภาพของรัฐบาลทหารที่อ้างว่าเข้ามาเพื่อปราบปรามการคอรัปชั่นและเป็นรัฐบาลที่มีคุณธรรม อันเป็นข้ออ้างประจำของคสช.ในการอยู่ในอำนาจต่อไป ถูกลบล้างลงอย่างสิ้นเชิง
นิกเกอิยังไปสัมภาษณ์นายคิงส์ลี แอบบอท ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโสของ International Commission of Jurists หรือ ICJ องค์กรระหว่างประเทศด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน โดยนายแอบบอทกล่าวว่าวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดหยั่งรากลึกมานานในสังคมไทย และไม่ใช่แค่เรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับผู้กระทำผิดที่มีเงินหรือมีอำนาจมาเข้าสู่กระบวรการยุติธรรมได้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่กระบวนการยุติธรรมดูจะยืดยาวไม่มีที่สิ้นสุดสำหรับบางคดี จนทำให้สุดท้ายไม่มีใครถูกลงโทษเลย
แสดงความคิดเห็น