Posted: 25 Feb 2018 03:24 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
แชร์สนั่น ตม.ไทย ตรวจเข้มคนไทยจากเหนือ อีสาน ออกนอกประเทศ หวั่นโดดทัวร์หนีทำงาน!
การเดินทางไปทำงานต่างประเทศ พบว่า มีคนจำนวนมากเลือกเดินทางไปทำงานแบบผิดกฎหมาย โดยลักลอบเข้าประเทศ ซึ่งหลายครั้งเกิดปัญหาภายหลัง โดยเฉพาะการโดนลอยแพ เจ็บป่วย บางรายถึงขั้นเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง โดยล่าสุดพบว่า สมาชิกเฟซบุ๊ก Songsai Thapranee ได้แชร์ภาพและเรื่องราว ซึ่งพบว่า ตม.ไทยความเข้มงวดมากขึ้น โดยตรวจสกัดตั้งแต่การเดินทางออกนอกประเทศเลยทีเดียว
โดยระบุว่า “สดๆๆร้อนๆๆ เจ้าหน้าด่านตรวจคนหางานประจำสนามบิน ออกตรวจคนไทยที่จะเดินทางไปเกาหลี โดยอาศัยการเดินทางไปแบบนักท่องเที่ยว เพื่อสกัดการลักลอบไปทำงานแบบผิดกฏหมาย โดยคนไทยส่วนใหญ่ที่จะถูกจับตามองมากที่สุด คือ กลุ่มลูกค้าที่มาจากทางภาคเหนือและทางภาคอีสานหน้าพาสใหม่ๆไม่เคยไปเที่ยวไหนเลย คนที่ถูกปฎิเสธการเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนหนึ่งจะมีข้อมูลจากส่วนกลางคือกรมแรงงาน จะมีข้อมูลเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนไปทำงานต่างประเทศหรือเคยไปทำงานมาแล้วก็ตาม
การออกตรวจของเจ้าหน้าที่ทุกวันนี้ ไม่ได้มีแค่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมืองก็ตรวจเช่นกัน เพียงแต่ที่สนามบินดอนเมืองเจ้าหน้าที่น้อย และบวกกับลูกค้าที่บุ๊คตั๋วแบบเปลี่ยนแปลงการเดินทางได้ และไม่ค่อยไปกับกรุ๊ปทัวร์เท่าไร เลยทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจไม่ทั่วถึงเท่าไรนัก #สำหรับใครที่กำลังคิดจะเดินทาง ควรคิดให้ดี วางแผนให้ดี
อย่าสักแต่อยากไปอย่างเดียว บางทัวร์รู้ทั้งรู้ว่าลูกค้าจะโดนตรวจและอาจจะถูกปฎิเสธการเดินทางมีการเรียกเก็บเงินประกันก็มี เก็บตั้งแต่ 5 พันถึง 1 หมื่น ถ้าจ่ายแล้วถูกปฎิเสธหรือไปแล้วติดตม.ก็จะไม่ได้เงินนี้คืน เว้นแต่จะไปเที่ยวกับกรุ๊ปทัวร์แล้วกลับพร้อมกรุ๊ปทัวร์เท่านั้นถึงจะได้คืน”
ที่มา: ข่าวสด, 25/2/2561
สปส.จี้ บ.รับเหมาก่อสร้างหักเงินสมทบแล้วไม่นำส่ง ให้ชำระเงินทดแทน-เงินสมทบกองทุนประกันสังคมของลูกจ้าง 150 คน รวม 13.2 ล้านบาทภายใน 2 มี.ค. นี้
ความคืบหน้ากรณีลูกจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ในย่านบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ประมาณ 150 คน ได้เข้าแจ้งความ ณ สถานีตำรวจภูธรบางปะกง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อดำเนินคดีกับนายจ้างเนื่องจากหักเงินสมทบแล้วไม่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมในฐานความผิดฉ้อโกงจนทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิรักษาจากประกันสังคม
ล่าสุด - นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยถึงประเด็นข่าวดังกล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง เขตพื้นที่รับผิดชอบเข้าตรวจสอบพร้อมลงพื้นที่ประสานงานให้ความช่วยเหลือเป็นการด่วนจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าบริษัทฯ ดังกล่าวได้ค้างชำระเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนประจำปี 2559 และ 2561 รวม 697,000 บาท ค้างชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมาย จำนวน 12,561,951.28 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 13,285,951.28 บาท
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้แทนบริษัทฯ ในวันดังกล่าว ซึ่งทางบริษัทฯ ตกลงรับจะชำระเงินสมทบค้างชำระกองทุนประกันสังคมของลูกจ้างที่ปฏิบัติงานทั้งหมด ภายในวันที่ 2 มี.ค. 2561 นี้ ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง ได้ชี้แจงสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง รวมถึงขั้นตอนในการเร่งรัดหนี้ของสำนักงานประกันสังคมให้ลูกจ้างทุกคนได้เข้าใจแล้ว
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามพฤติกรรมที่นายจ้างกระทำนั้น ถือเป็นการทำผิดกฎหมายประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินคดีทางกฎหมายกับนายจ้าง ตามขั้นตอน คือ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบย้อนหลังตามจำนวนที่ยังไม่นำส่ง และจ่ายเงินเพิ่มในอัตรา ที่กฎหมายกำหนด
โดยในส่วนนายจ้างที่ค้างชำระหนี้กองทุนประกันสังคม จะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินสมทบที่ยังไม่นำส่งหรือส่วนที่ขาดอยู่จนครบ ส่วนนายจ้างค้างชำระหนี้ของกองทุนเงินทดแทน นายจ้างจะต้องจ่ายเพิ่มในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนของเงินสมทบที่ยังค้างชำระ กรณีที่สำนักงานประกันสังคมได้ติดตามเร่งรัดหนี้ตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว แต่นายจ้างยังเพิกเฉยไม่นำส่งเงินสมทบและเงินเพิ่ม (ค่าปรับ) ที่ค้างชำระ ทางสำนักงานประกันสังคมจะใช้มาตรการในการดำเนินคดีทางอาญากับนายจ้างตามขั้นตอนทันที คือ การดำเนินการยึด อายัด และขายทรัพย์สินทอดตลาด ซึ่งกรณีดังกล่าวนอกจากนายจ้างจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ยังส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพราะไม่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิประโยชน์ในแต่ละกรณีได้
อย่างไรก็ตามขอความร่วมมือไปยังลูกจ้าง/ผู้ประกันตนหรือผู้ที่พบเห็นการกระทำดังกล่าว แจ้งข้อมูลเบาะแสได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ ที่ท่านสะดวก โดยยื่นร้องเรียนด้วยตนเอง ผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือที่เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ www.1111.go.th
ที่มา: คมชัดลึก, 24/2/2561
ทลายนวดกระปู๋กลางโตเกียว สาวไทยลอบทำงานนับสิบ แฉรายได้เดือนละ 1.2 ล้าน
เป็นอีกคดีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เมื่อตำรวจกรุงโตเกียว เผยรายงานการจับกุมร้านนวดผิดกฎหมายในเขตอิตาบาชิ โดยการจับกุมครั้งนี้ตำรวจควบคุมตัวพนักงานหญิงชาวไทยที่หลบหนีเข้าเมือง ด้วยการชักชวนจากนายหน้าที่คอยตระเวนหาเหยื่อเข้าทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งร้านนวดแห่งนี้มีการจัดห้องเดี่ยวแบบส่วนตัวไว้ 3 ห้อง เพื่อจัดให้มีการกระทำอนาจารภายในร้านให้ลูกค้า
โดยตำรวจได้จับกุมตัวผู้จัดการร้านทราบชื่อนายโอคาเบะ คาสึฮิโกะ ผู้ต้องหาอายุ 62 ปี พร้อมพนักงานสาวชาวจีนนางเทียนชูหวา อายุ 45 ปี และพวกรวม 7 คน ในข้อหาจัดให้มีหรือการเปิดสถานประกอบการที่มีการกระทำอนาจารโดยไม่ได้รับอนุญาต
จากการสอบปากคำผู้จัดการร้านให้การว่า พนักงานหญิงคนไทยเหล่านี้ได้มาจากนายหน้าคนไทยชื่อนางละมุน จำเลยที่เคยถูกจับตัวไปเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งนางละมุนจะจัดหานำเข้าแรงงานผิดกฎหมายจากประเทศไทย ด้วยการพาผู้หญิงไทย 13 คนหลบหนีเข้าเมือง โดยในร้านที่ถูกจับล่าสุดนี้มีพนักงานคนไทย 3 คนที่นางละมุนพามา
โดยพนักงานหญิงคนไทยภายในร้าน มีการทำอนาจารให้ลูกค้าที่มาใช้บริการ ซึ่งใน 1 เดือนสร้างยอดขายได้มากถึง 1.2 ล้านบาท
ที่มา: ข่าวสด, 24/2/2561
รวบ“ป๋าจง”ขาใหญ่ค้ายา-ปล่อยกู้นิคมฯลำพูน หลังสื่อญี่ปุ่นแฉคนงานติดยาเยอะ
ลำพูน/เชียงใหม่ -จนท.ทหาร-ปกครอง-ตำรวจลำพูน ผนึกชุดสืบภาค 5 แกะรอยข่าวสื่อญี่ปุ่นแฉคนงานบริษัทยุ่นในไทยติดยาเยอะ ซ้อนแผนรวบ “ป๋าจง” หนุ่มพะเยาขาใหญ่ค้ายานิคมฯลำพูน แถมปล่อยกู้ฟอกเงินจนมีเงินหมุนนับล้าน
พ.ท.เฉลิมพล ศรีทะ ผบ.ร.7 พัน.1/ผบ.ร้อย.รส.ที่ 1 (ร.7 พัน.1) ได้สั่งการให้ ร.ต.วิทยา แสงประสิทธิ์ รอง ผบ.ร้อย.รส.ที่ 1 (ร.7 พัน.1) ร่วมกับ พ.ต.ท.ธีรไนย ศิริรุ่งพาณิชย์ สว.สส.-กำลังชุดสืบสวน สภ.นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือลำพูน , ฝ่ายปกครอง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนภาค 5 ร่วมกันจับกุมเป้าหมายผู้ค้ายาเสพติด กลางดึกที่ผ่านมา(23 ก.พ.)
หลังจากและมีสื่อมวลชนของประเทศญี่ปุ่นได้นำเสนอข่าวว่า บริษัทของนายทุนจากประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทย มีพนักงานติดยาเสพติดมากที่สุด
ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่สืบทราบว่า นายเจษฎา หรือจง ชัยวร หรือป๋าจง อายุ 37 ปี ที่อยู่ตามบัตรประชาชน อยู่บ้านเลขที่ 69 หมู่ที่ 2 ต.จุน อ.จุน จ.พะเยา ที่มาทำงานโรงงานในนิคมฯ มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยนำยาบ้ามาขายให้กับพนักงานในย่านนิคมอุตสาหกรรมฯด้วย เมื่อขายยาบ้าได้เงินแล้วก็ทำการฟอกเงิน โดยนำเงินดังกล่าวไปปล่อยกู้อีกทีหนึ่ง จนมีเงินหมุนเวียนในบัญชีนับล้านบาท
เจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันวางแผนล่อซื้อยาบ้าจาก “ป๋าจง” จำนวน 10 เม็ด ในราคา 1,900 บาท โดยนัดหมายกันที่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ก่อนจะขยายผลเข้าตรวจค้นห้องพัก บริเวณหอพักย่าน ต.บ้านกลาง อ.เมืองลำพูน
ซึ่งพบของกลางยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 (เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า) จำนวน 370 เม็ด , อาวุธปืนพกสั้นแบบไทยประดิษฐ์ ขนาด .22 (ปืนปากกา) จำนวน 1 กระบอก , เครื่องกระสุนปืนขนาด .22 จำนวน 3 นัด , รถยนต์กระบะบรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้อ อีซูซุ สีขาว หมายเลขทะเบียน ผล 4381 ชม. จำนวน 1 คัน , โทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อไอโฟน 5s สีขาว จำนวน 1 เครื่อง , สมุดบัญชีธนาคารออมสิน จำนวน 1 เล่ม , สมุดบัญชีธนาคารกรุงไทย จำนวน 1 เล่ม , สมุดบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำนวน 1 เล่ม , บัตรเอทีเอ็ม ธนาคารออมสิน จำนวน 2 ใบ , บัตรเอทีเอ็ม ธนาคารกรุงไทย จำนวน 1 ใบ , บัตรเอทีเอ็ม ธนาคารกรุงเทพ จำนวน 2 ใบ
จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สภ.นิคมอุตสาหกรรมลำพูน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ที่มา: MGR Online, 24/2/2561
รถตู้รับส่งพนักงาน ชนประสานงานกระบะ เจ็บ 13 ราย
เหตุเกิด บนถนนบ้านภูไทร-ปลวกแดง ใน ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี รถตู้ที่มีพนักงานบริษัทนั่งมาเต็มคัน มุ่งหน้าไปโรงงานที่อยู่ย่านนิคมอุตสาหกรรมปลวกแดง มาถึงจุดเกิดเหตุเป็นทางโค้ง รถตู้หลุดโค้งชนประสานงากับรถกระบะ ที่สวนทางมา สภาพรถกระบะ พบว่า ฝั่งคนขับเสียหายหนัก เช่นเดียวกับรถตู้ ที่คนขับติดอยู่บนเบาะ เจ้าหน้าที่เร่งใช้อุปกรณ์เครื่องตัดถ่างช่วยเหลือออกมา เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้บาดเจ็บถึง 13 คน รวมถึงพนักงานที่มากับรถตู้ แต่ไม่มีใครเล่าเหตุการณ์ได้ เพราะหลับมาบนรถทั้งคัน เบื้องต้น เชื่อว่า คนขับรถตู้ อาจอาการหลับ
ที่มา: เนชั่นทีวี, 23/2/2561
รมว.แรงงานเปิดตัว 'ประชารัฐรวมพลัง สร้างยุวแรงงาน'
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดตัวโครงการ “ประชารัฐรวมพลัง สร้างยุวแรงงาน” ส่งเสริมการมีงานทำให้นักเรียน นักศึกษา ในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงว่างจากการเรียนระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมมอบโอวาทแก่นักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมงาน ว่า โครงการ “ประชารัฐรวมพลัง สร้างยุวแรงงาน” จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในช่วงปิดภาคเรียน/ช่วงว่างจากการเรียน ให้ได้รับประสบการณ์จากการทำงานจริง รู้จักความอดทน ระเบียบวินัย และเรียนรู้โลกอาชีพในการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังเรียนจบ ตลอดจนมีรายได้ระหว่างการเรียน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ทั้งยังเห็นคุณค่าของเงินอีกด้วย
ทั้งนี้ หลังจากสิ้นสุดการทำงานตามโครงการ “ประชารัฐรวมพลัง สร้างยุวแรงงาน” แล้ว นักเรียน นักศึกษาจะได้รับใบประกาศรับรองการผ่านงานจากสถานประกอบการ ส่วนสถานประกอบการที่ร่วมมือในการส่งเสริมการมีงานทำให้นักเรียน นักศึกษา ก็จะได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากกระทรวงแรงงาน ซึ่งหากนักเรียน นักศึกษา หรือสถานศึกษาใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือ โทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 22/2/2561
กสร. ติวเข้ม“นิติกร”ฟ้องคดีแทนลูกจ้าง
20 ก.พ.2561 นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร.มีกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบหลายฉบับ โดยเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ 6 ฉบับ รวมทั้งกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ การปฏิบัติงานด้านกฎหมาย ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย นิติกรในฐานะผู้ปฏิบัติงานหลักด้านกฎหมาย ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนงานดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ สัมฤทธิ์ผล และก่อประโยชน์สูงสุดแก่นายจ้าง ลูกจ้าง
"ซึ่งหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือ การเป็นทนายความฟ้องคดี หรือ แก้ต่างคดีให้แก่ลูกจ้าง หรือทายาทโดยชอบธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 8 แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือการดำเนินคดีแทนให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาทในการฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหาย"อธิบดี กสร.กล่าว
นายอนันต์ชัย กล่าวต่อไปว่า กสร. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ ในเรื่อง การจัดทำความฟ้อง คำให้การ คำร้องต่าง ๆ การเตรียมการรวบรวมพยานหลักฐาน ขั้นตอนวิธีพิจารณาคดีของศาลแรงงาน และการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแรงงาน จึงได้จัดหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านกฎหมาย หลักสูตรการว่าความในศาลแรงงานให้แก่นิติกรผู้ปฏิบัติงาน
"โดยมีหัวข้อหลัก ๆ อาทิ เรื่องการเตรียมคดี การดำเนินคดีแบบกลุ่ม การอุทธรณ์และฎีกา การรับฟังพยานหลักฐานของศาล เทคนิคการซักถามพยาน มารยาทการว่าความ เป็นต้น และยังมุ่งเน้นการฝึกเชิงปฏิบัติ โดยฝึกเขียนคำฟ้อง คำร้องขอต่าง ๆ และฝึกศาลจำลอง เป็นต้น ทั้งนี้ กสร. มุ่งหวังให้นิติกรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้าง ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือทายาทโดยชอบธรรมของบุคคลดังกล่าว"อธิบดีกสร.กล่าวในที่สุด
ที่มา: คมชัดลึก, 21/2/2561
กรมการจัดหางานรับสมัครพนักงานผลิตแผงวงจรไฟฟ้าที่ไต้หวัน ระยะเวลา 3 ปี
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานในไต้หวันกับบริษัท Tripod Technology Corporation จำนวน 30 อัตรา ระยะเวลาการจ้างงาน 3 ปี สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2561
นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า กรมการจัดหางานรับสมัครพนักงานผลิตแผงวงจรไฟฟ้า (PCB) เพื่อไปทำงานในไต้หวันกับบริษัท Tripod Technology Corporation จำนวน 30 อัตรา เงินเดือน 22,000 เหรียญไต้หวัน หรือประมาณ 23,776 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561) ระยะเวลาการจ้างงาน 3 ปี นายจ้างรับผิดชอบค่าโดยสารเครื่องบินกลับประเทศไทยเมื่อทำงานครบสัญญาจ้าง และค่าบริการดูแลรายเดือนที่ต้องจ่ายให้แก่บริษัทจัดหางาน ส่วนคนหางานรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนตัว คือ ค่าโดยสารเครื่องบินไปไต้หวัน/ ค่าตรวจโรคที่ไต้หวัน ค่าธรรมเนียมใบถิ่นที่อยู่ ค่าใช้จ่ายรายเดือน ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าทีพัก ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ค่าเบี้ยประกันภัยแรงงาน
คุณสมบัติผู้สมัคร เป็นเพศชาย อายุ 20 – 40 ปี และเพศหญิง อายุ 20 – 35 ปี วุฒิการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3 ขึ้นไป) ระดับสายตาไม่สั้น ไม่บอดสี ระดับการฟังต้องอยู่ในระดับ 0-44 เดซิเบล (DB) และไม่แพ้กลิ่นหรือน้ำยาสารเคมี หลักฐานที่ใช้ในการสมัครงาน ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่าย 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) สำเนาวุฒิการศึกษา
ผู้ได้รับการคัดเลือกให้ไปทำงานจะจ่ายค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ได้แก่ ค่ารูปถ่าย ค่าทำหนังสือเดินทาง (กรณียังไม่มี) ค่าตรวจสุขภาพ ค่าตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ค่าวีซ่า ค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,000 บาท
นายอนุรักษ์ กล่าวต่อว่า บริษัทฯ จะคัดเลือกผู้สมัครโดยการสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์แบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Skype ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 และขอย้ำเตือนคนหางานว่าอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้างว่าสามารถจัดส่งไปทำงานได้โดยต้องเสียค่าบริการต่าง ๆ เนื่องจากการสมัครในครั้งนี้ไม่เสียค่าสมัครหรือค่าบริการใด ๆ โดยสามารถสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานการสมัคร ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชั้น 10 โทร.02-2451034 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน
ที่มา: กรมการจัดหางาน, 21/2/2561
ประเมิน EEC แรงงานมนุษย์ถูกหุ่นยนต์แย่งงาน 6.5 แสนคน
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินว่าแม้การลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC จะเพิ่มขึ้น แต่อาจทำให้แรงงานจำนวนมากตกงาน เพราะมีการใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่มนุษย์ประมาณ 6.5 แสนคน ด้านข้อมูลจากคณะกรรมการอีอีซีเชื่อยังมีความต้องการแรงงานคนอีกมาก
พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นศูนย์กลางโรงงานอุตสาหกรรมในภาคการผลิตสำคัญและอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งนายวิธาน เจริญผล ผู้อำนวยการอาวุโสคลัสเตอร์ธุรกิจบริการ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ภาคการผลิตในพื้นที่นี้จะทยอยปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมไม่น้อยกว่า 650,000 คน หรือประมาณร้อยละ 15 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในภาคการผลิต ภายในปี 2573 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังพบว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาไทยนำเข้าระบบอัตโนมัติ หรือ IR ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 20 มาอยู่ที่ประมาณ 13,500 ตัว
ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ระบุว่า จากการประเมินเบื้องต้น แรงงานในอีอีซียังขาดแคลนแรงงานอาชีวะประมาณ 50,000 คน ส่วนแรงงานที่จบการศึกษาปริญญาตรี อาจจะเกินความต้องการร้อยละ 30 พร้อมระบุอีกว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อนำหุ่นยนต์มาใช้ตั้งแต่วันนี้จะช่วยให้ไทยพ้นจากวิกฤตขาดแคลนแรงงานในอนาคต
ที่มา: ThaiPBS, 20/2/2561
เตือนนายจ้างไว้เลย! พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ห้ามหักค่าจ้าง-โอที ฝ่าฝืนเจอคุก 6 เดือน
กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตือนนายจ้างห้ามหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ลูกจ้าง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยว่ากสร.ให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าวในทุกด้าน เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียม เข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย ที่ผ่านมายังพบว่ามีสถานประกอบการบางแห่งมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องของการหักค่าจ้าง โดยมีการหักค่าจ้างจากลูกจ้างเพื่อเป็นค่าอาหาร ค่าชุดทำงานเป็นต้น ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ในเรื่องนี้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541ได้กำหนดห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดจากลูกจ้าง เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนด เช่น ชำระค่าภาษี ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น กรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติก็จะมีความผิดตามกฎหมายโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีการฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนายจ้าง ลูกจ้าง และที่มีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0 2245 7020, 0 2246 3096 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3
ที่มา: ข่าวสด, 20/2/2561
แสดงความคิดเห็น