Posted: 22 Feb 2018 07:12 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
จากร่างแผนการปฏิรูประบบสุขภาพปี 2560-2564 หลังการปิดประตูคุยกันเองของคณะกรรมการทีมีใจเสนานิยม ครั้งที่ 3 ที่นำโดย ประธาน นพ.เสรี ตู้จินดา และคณะที่เลือกสรรมาโดย คสช. ที่ปราศจากตัวแทนภาคประชาชน เพราะเป็นแผนปฏิรูปประเทศ ที่มีหลักคิดที่เห็นประชาชนเป็นเพียงเป้าหมายการพัฒนา ซึ่งเป็นความคิดที่ล้าหลังของกระบวนการพัฒนาอย่างสูงที่ทำให้ขาดการมีส่วนร่วม ขาดการเคารพซึ่งสิทธิของประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง รอเพียงการรับบริการจากผู้ให้บริการ ผลของระบบบริการคงได้ผลลัพธ์ที่ล้มเหลวเหมือนเดิม
เมื่อเป้าหมายมองประชาชนเป็นเพียงแค่ผลลัพธ์ กระบวนการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศ จึงทำโดยกลุ่มและเครือข่ายผู้ให้บริการ ขาดการมีส่วนร่วม และความเป็นเจ้าของของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่วันนี้ถือเป็นปัจจัยสำเร็จที่รับรู้กันทั่วไป นับเป็นความล้าหลังของเครือข่ายราชการที่ยังอาจหาญมากำหนดแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิรูปโดยพวกพ้อง เพื่อพวกพ้องเท่านั้น โดยมีแผนด้านต่างๆ ตามภาพประกอบ
โดยขอเสนอตัวอย่างรูปธรรมความล้มเหลวของแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ดังต่อไปนี้
1. การปฏิรูปการกำหนด และติดตามนโยบาย (policy and regulators)
ก. การกำหนดให้มีคณะกรรมนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Policy Board : NHPB) หรือเรียกง่ายๆ ว่า ซุปเปอร์บอร์ด องค์ประกอบของคณะกรรมการ 80-20 แต่ไม่ระบุองค์ประกอบ จะทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมได้อย่างไร โดยคาดว่าคงเต็มไปด้วยตัวแทนจากภาคราชการ และกลุ่มผู้ใกล้ชิดที่มีที่มีหลักคิดแบบเสนานิยม และนิยมการสงเคราะห์คนยากจนอนาถามากกว่าการพัฒนาประเทศให้เป็นรัฐสวัสดิการเพื่อประชาชน เหมือนคณะกรรมการชุดอื่นๆที่ผ่านมา เช่น คณะกรรมการด้านการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ จึงมีความสุ่มเสี่ยงอย่างสูงต่อการตัดสินใจที่ขาดการคำนึงและการรับฟังที่เปิดกว้างจริงใจ รอบคอบจากทุกภาคส่วน จึงมีข้อเสนอที่เหมาะสมกว่า โดยที่ประเทศไทยมีกฎหมาย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติอยู่แล้ว ในกฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบครอบคลุมทุกภาคส่วน (ไม่ใช่กรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ) ครบถ้วนอยู่แล้ว น่าจะเหมาะสม ชัดเจนกว่า การไปรอ ยกร่างกฎหมายใหม่ตามที่ระบุในแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข
ข. การปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขก็ขาดความชัดเจนในการปฏิรูประบบราชการให้เหมาะสม มีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนบทบาทของกระทรวงฯที่เป็นทั้งผู้กำกับติดตามนโยบาย และเป็นผู้จัดบริการ (เจ้าของ รพ.) ไปด้วย ทำให้การกำกับติดตามไม่จริงจังอย่างที่ควรจะเป็น เกิดพฤติกรรมที่เกรงใจเพื่อนผองน้องพี่มากกว่าประชาชน และการกระจายอำนาจสู่เขต และชุมชนจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงมายาคติโฆษณาชวนเชื่อต่อประชาชน ทั้งๆที่ความเป็นจริงนั้นเป็นเพียงการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางสู่เขต โดยที่ปลัดกระทรวงฯ ก็ยังสามารถสั่งการ และให้คุณให้โทษผู้แก่ตรวจราชการกระทรวงได้ดั้งเดิม
2. การปฏิรูปผู้จัดซื้อบริการ (purchasers) ที่ขาดการกำหนดโครงสร้างที่สมดุลเป็นธรรม เสี่ยงต่อการกำหนดทิศทางนโยบายที่มุ่งเน้นความเห็นแบบเสนานิยม และการสงเคราะห์คนยากจนอนาถามากกว่ารัฐสวัสดิการเพื่อประชาชน มองการจัดบริการสุขภาพให้ประชาชนเป็นภาระของประเทศ ไม่ใช่การลงทุนเพื่อประชาชน แต่กับพวกพ้องกลับมองว่าเป็นสวัสดิการ ร่วมไปถึงการร่วมจ่าย ณ จุดบริการที่เสี่ยงต่อการเข้าถึงไม่บริการ ที่เปรียบได้กับการตอกลิ่มทิ่มแทงเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้มากยิ่งขึ้น
3. การปฏิรูปผู้จัดบริการ (providers)
ก. การปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิที่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้จัดบริการที่หลากหลาย เหมาะสมกับบริบทที่ต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ และกลุ่มประชาชนทั้งจากภาครัฐนอกกระทรวงสาธารณสุข และเอกชน รวมไปถึงภาคประชาชนที่เป็นผู้รับผลงานที่แท้จริงจากบริการปฐมภูมิที่ดีมีคุณภาพถึงประชาชนได้จริง มิใช้มีแค่เพียงต้นแบบที่ยึดติดภาพของกระทรวงแบบเดิมๆ อยู่ร่วมไปถึงการเสริมพลัง เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และติดตามประเมินผลมากขึ้น ที่จะต่อยอดเสริมความเป็นเจ้าของระบบสุขภาพของชุมชน ลดการนำของระบบราชการจากคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่จะมีบทบาทได้อย่างแท้จริง
ข. การพัฒนาอัตรากำลังที่ขาดรายละเอียดในการกระจายบุคลากรที่เป็นธรรม ลดระบบอุปถัมภ์ และเชื่อมโยงกับการปฏิรูประบบราชการที่เป็นรูปธรรม มุ่นเน้นประสิทธิภาพของระบบที่แท้จริง
ดังนั้นหากให้ประเทศไทยเดินหน้าได้จริง ต้องหยุดคิดว่าประเทศไทยเป็นของพวกคุณเท่านั้น แต่เป็นของคนไทยทุกคนที่จะดำเนินการปฏิรูปประเทศไปด้วยกันเพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานสืบไป
แสดงความคิดเห็น