เมื่อเวลา 14.30 น. นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางเข้าให้กำลังประชาชนที่เข้าร่วมทำกิจกรรมของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (ดีอาร์จี) และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ครั้งที่ 3 ภายใต้ชื่อว่า "ปากปราศรัย น้ำใจเชือดเผด็จการ 3-2-1 ถึงเวลาเปลี่ยน" บริเวณทางเดินข้างหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีประชาชนที่ร่วมงานจำนวนหนึ่งให้ความสนใจขอถ่ายภาพคู่และภาพแบบกลุ่มไว้เป็นที่ระลึก ทั้งนี้นายวัฒนาได้ขอพบแกนนำกลุ่มนักศึกษาที่จัดงานดังกล่าว บริเวณด้านหลังเวที แต่ปรากฎกว่าแกนนำยังไม่มีผู้ใดเดินทางมาถึงพื้นที่จัดงาน ทำให้นายวัฒนา ได้เดินทางออกจากพื้นที่ โดยใช้เวลาเข้าพื้นที่ประมาณ 45 นาที

ทั้งนี้นายวัฒนา ให้สัมภาษณ์ว่าตนมาในนามส่วนตัว ฐานะประชาชนที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้กำลังใจกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ร่วมจัดงานตามที่นายรังสิมัน โรม แกนนำกลุ่มดีอาร์จี ประกาศเชิญชวนในการจัดงานครั้งที่ผ่านมา โดยตนยืนยันว่าไม่มีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง หากกรณีที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การแจ้งคดีความ ตนพร้อมยอมรับ

นายวัฒนา ยังเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เร่งสร้างความพร้อมต่อการเลือกตั้งตามที่ประกาศไว้ในปี 2561  โดยขณะนี้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมต่อการเลือกตั้ง ทั้งนี้ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ คสช.​มีความไม่พร้อมต่อการจัดการเลือกตั้ง จึงพยายามสร้างเงื่อนไขและปัญหาต่อกระบวนการจัดการเลือกตั้ง

"สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ พูดและกระทำ ถือว่าส่อเจตนา ที่ผ่านมา คสช.เข้ายึดอำนาจโดยไม่มีผู้ใดร้องขอ แต่ขณะนี้ประชาชนฐานะเจ้าของอำนาจร้องขอให้ คสช.​คืนอำนาจกลับให้ประชาชนน ดังนั้น คสช.​ควรพิจารณาและดำเนินการตามเพราะสิทธิการเลือกตั้งเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน ส่วนกรณีที่คสช.​มองว่ายังมีความไม่สงบนั้น ผมมองว่าขึ้นอยู่กับจะมองอย่างไร ผมขอยกตัวอย่างว่า ความไม่สงบในกรณีของตลาดสด และ ค่ายทหาร ว่า ในตลาดสดแม้จะมีเสียงจ๊อกแจ๊ก จอแจ แต่เขาไม่เคยขัดแย้งกัน ขณะที่ความไม่สงบในค่ายทหารต้องใช้คำสั่งซ้ายหัน ขวาหันเพื่อจัดการ แต่นี่ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายทหาร ดังนั้นคสช.ควรทบทวน" นายวัฒนา กล่าว

นายวัฒนา ยังกล่าวถึงเงื่อนไขเลื่อนเลือกตั้งที่หลายฝ่ายมองว่าเกิดจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติไม่เห็นชอบบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 7 คน ว่า เป็นความแปลกในทิศทางที่ดี เพราะบุคคลที่ถูกเสนอชื่อโดยคณะกรรมการสรรหานั้น ล้วนเป็นบุคคลที่มีข้อครหา ทั้งตัวแทนที่คัดเลือกจากประชุมใหญ่ศาลฏีกา 2 คนที่มีประเด็นปัญหาต่อกระบวนการลงมติคัดเลือก หรือบุคคลที่มาจากการสรรหา มีทั้งบุคคลที่เคยทำงานให้กับคสช., เคยขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ เคยเป็นทนายความให้กับพล.ต.อ.พัชวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีในรัฐบาลคสช. ดังนั้นเมื่อไม่ได้รับการเห็นชอบจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม  แต่กรณีดังกล่าวถือเป็นคนละเรื่องกับการจัดการเลือกตั้ง เพราะปัจจุบันยังมี กกต.ชุดที่มีนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.​ทำหน้าที่ ดังนั้นกระบวนการยังสามารถเดินหน้าได้


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.