"รวมพลคนอยากเลือกตั้ง" หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา

Posted: 22 Feb 2018 05:39 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เครือข่ายผู้มีความห่วงใยในบทบาทของสถานศึกษาต่อสังคม ร้องคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดพื้นที่มหาวิทยาลัยห้เป็นไปตามพันธกิจของการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยการอำนวยความสะดวกและปกป้องประชาชนผู้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสุจริต

จากรณีที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่อนุญาต ให้เครือข่าย People Go Network ใช้พื้นที่ภายมหาวิทยาลัย เพื่อจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ ที่เกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมานั้น

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก ผู้ประสานงาน เครือข่ายผู้มีความห่วงใยในบทบาทของสถานศึกษาต่อสังคม ว่า วันนี้ เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ตัวแทนเครือข่ายฯ ซึ่งประกอบด้วย คณาจารย์ บุคคลการมหาวิทยาลัย และนักศึกษา ร่วมเข้าชื่อกัน 92 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เรื่องขอให้กำกับ ดูแล และติดตามการทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติโดยอำนวยความสะดวกและปกป้องประชาชนผู้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต โดยมี วันนี นนท์ศิริ ผอ.สำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นตัวแทนรับจดหมายดังกล่าว

จดหมายเปิดผนึกได้เรียกร้องให้ผู้ที่รับผิดชอบดำเนินการ กำกับ ดูแล และติดตามการทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามพันธกิจของการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยการอำนวยความสะดวกและปกป้องประชาชนผู้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสุจริต ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 มาตรา 7 ที่กำหนดให้กระบวนการเรียนรู้ต้อง “มุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และตามข้อเสนอวาระแห่งชาติ: สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมแนวทางขับเคลื่อนตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557-2561) ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศพร้อมให้ความร่วมมือ สนับสนุน และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง (หนังสือกระทรวงศึกษาธิการ ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0208/4864 ลงวันที่ 8 พ.ย. 2560) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560

สำหรับเหตุผลของการเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกครั้งนี้สืบเนื่องมาจากช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ประชาชนขอใช้พื้นที่ภายในบางมหาวิทยาลัยเพื่อจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่ปรากฏว่าทางมหาวิทยาลัยไม่ได้เอื้ออำนวยให้ประชาชนได้ใช้พื้นที่เพื่อทำกิจกรรมดังกล่าวนั้น เช่น กรณีการจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา (ชนพ.) ร่วมกับเครือข่ายประชาชน People Go Network จัดกิจกรรม “เวทีวัฒนธรรมและวิชาการ ครั้งที่ 4: We Walk เดินมิตรภาพ - รัฐธรรมนูญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา” ณ เวทีกิจกรรมองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ถูกยกเลิกการใช้สถานที่อย่างกะทันหัน และกรณีวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มผู้จัดกิจกรรมบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งแม้จะทำหนังสือแจ้งจัดชุมนุมสาธารณะตามกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10 แล้ว แต่ได้มีการแจ้งความแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในข้อหา “รวมตัวกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558

เอกพันธุ์ เปิดเผยกับประชาไทเพิ่มเติม ว่าเนื่องจากช่วงหลังมีความไร้เหตุผลมากขึ้นในการยุติกิจกรรม จึงมีความเห็นว่าต้องเรียกร้องให้มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทำตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและการเปิดพื้นที่ให้โอกาสประชาชนมาแสดงออกต่างๆ บนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน

"กิจกรรมที่จะทำให้เห็นว่าประชาชนควรจะมีส่วนร่วมทางการเมืองจะต้องมีมากขึ้น เพราะว่าแน่นอน คสช. ก็คงไม่ได้อยู่จนชั่วกัลปาวสาน ก็กำลังจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นการรณรงค์การให้ความรู้หรืออะไรต่างๆ มันก็จะมีมากขึ้น มหาวิทยาลัยในประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนทัศนคติ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังไม่เปลี่ยนทัศนคติที่จะไม่ยอมให้เกิดการจัดกิจกรรมขึ้น ปัญหามันก็จะมีขึ้นตลอดทางจนถึงการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ มันจะทำให้บรรยากาศในการเปลี่ยนผ่านมันก็จะแย่ลงทุกวัน" เอกพันธ์ุ กล่าว

สำหรับกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมากล่าวถึงนักวิชาการอาจารย์ที่ออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาให้ดูบทเรียนความรุนแรงในต่างประเทศนั้น เอกพันธ์ุ ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านสันติศึกษา กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านที่เป็นความรุนแรงนั้น จุดเริ่มต้นไม่ได้เกิดจากการเคลื่อนไหวของชุมชนหรือประชาชน แต่เกิดขึ้นจากผู้ที่ยึดครองอำนาจไม่ยอมปล่อยอำนาจออกไป และอยากจะยึดอำนาจในระยะยาว จึงเกิดการเปลี่ยนผ่านที่ไม่งาม

"เมืองไทยถ้าเกิดการรัฐประหารและพยายามสานต่อ พยายามจะอยู่ยาว พยายามที่จะรวบอำนาจไว้หรืออะไรก็แล้วแต่อันนั้นแทบจะลงแย่ทุกครั้ง" เอกพันธ์ุ กล่าว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน ออก จ.ม. ถึงอธิการฯ ผู้บริหาร มข. เหตุไม่ให้ We Walk จัดเสวนา
กลุ่มนร.บัณฑิตศึกษา SOC-ANP เรียกร้องให้ยุติฟ้องคดีคนอยากเลือกตั้งที่เชียงใหม่

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.