Posted: 25 Feb 2018 01:37 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เตือนเตรียมการรับมือการย้ายโรงงานกลับประเทศของกลุ่มบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ญี่ปุ่นและกระแสการโอนเงินทุนกลับประเทศของสหรัฐอเมริกา ความไม่ชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งและการไม่สามารถสรรหา กกต. สร้างความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มขึ้น

25 ก.พ. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าสถานการณ์การย้ายโรงงานการผลิตบางส่วนกลับประเทศของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ญี่ปุ่นจะเกิดขึ้นทั่วทั้งเอเชียตะวันออกรวมทั้งไทยก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย แต่ประเทศไทยอาจจะมีสถานการณ์ที่ไม่ดีกว่าบางประเทศนัก เพราะเงินบาทแข็งค่ากว่าเงินสกุลเอเชียอื่นๆ ขณะเดียวกันก็มีความไม่ชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งและล่าสุดก็ไม่สามารถสรรหา กกต. ได้สร้างความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการไหลออกของการย้ายฐานการผลิตและเม็ดเงินลงทุนมากขึ้นอีกด้วย

เงินเยนที่อ่อนค่าลง ต้นทุนการผลิตลดต่ำลงจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ AI ทำให้โรงงานผลิตนอกประเทศญี่ปุ่นของบรรษัทขนาดใหญ่บางส่วนไม่คุ้มทุน การผลิตในประเทศญี่ปุ่นถูกกว่าโดยเฉพาะในบริษัที่มีการลงทุนด้วยเทคโนโลยหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะอย่างมากและมีระบบทำงานเครื่องจักรอัตโนมัติที่ทำงานแทนแรงงานคนได้ ประกอบกับค่าแรงของประเทศในเอเชียรวมทั้งไทยก็ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ บางประเทศขาดแคลนแรงงานมีทักษะ ซึ่งไทยเองก็มีปัญหาขาดแคลนช่วงเทคนิคหลายสาขา การที่เงินเยนอ่อนค่าลงและอัตราเงินเฟ้อต่ำในญี่ปุ่น ประกอบกับประเทศเอเชียบางประเทศรวมทั้งไทยมีค่าเงินสกุลท้องถิ่นที่แข็งค่า ทำให้สินค้าที่ผลิตในประเทศดังกล่าวมีขีดความสามารถทางด้านราคาที่ลดลง บริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่อย่าง Canon Pioneer Honda Nissan Toyota Casio ได้วางแผนทยอยย้ายโรงงานผลิตบางส่วนกลับญี่ปุ่น และการย้ายฐานการผลิตกลับนี้เกิดขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยมีการคาดการณ์ว่าการใช้หุ่นยนต์และ AI ในการผลิตนั้นช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และทำให้ต้นทุนทางด้านแรงงานลดลงอย่างชัดเจนและผลผลิตรวมทั้งผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้น

ตนมองว่ากระแสการไหลย้อนกลับของการลงทุนจากทุนข้ามชาติจะไม่เกิดเฉพาะกรณีญี่ปุ่นเท่านั้น แต่อาจเกิดขึ้นกับประเทศที่มีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีการผลิตมากอย่าง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และยุโรปบางประเทศอีกด้วย ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ พลวัตการเคลื่อนย้ายของการลงทุนข้ามชาติ ดังกล่าวให้ดีด้วย ส่วน SMEs ญี่ปุ่นอาจจะเข้ามาลงทุนใน EEC ของไทยเพิ่มขึ้น

นโยบายการปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯซึ่งจะลดภาษีทั้งนิติบุคคล (ลดจาก 35% เหลือ 21%) และบุคคลธรรมดาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและน่าจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวในตลาดการเงินโลก ในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นอาจไม่มากอย่างที่คาดการณ์ไว้จากการตีกรอบไม่ให้ขาดดุลการคลังส่วนเพิ่มจากมาตรการลดภาษีเกิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการขาดดุลการคลังนี้น้อยกว่าการลดภาษีครั้งใหญ่ในรอบก่อน นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าจะช่วยกระตุ้นอัตราการเติบโตเศรษฐกิจได้เพียง 0.1-0.3% ต่อปี

ส่วนกฎหมายภาษีการนำกำไรนอกประเทศกลับเข้าประเทศด้วยอัตราพิเศษครั้งเดียว จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับสหรัฐฯ ขณะนี้มีเม็ดเงินของบรรษัทสัญชาติสหรัฐฯนอกประเทศประมาณ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ การลดภาษีนิติบุคคล ทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้นและมีเงินมากขึ้นในการขยายกิจการและการจ้างงาน การใช้มาตรการภาษีจูงใจให้กลุ่มทุนสหรัฐฯโอนเงินกลับประเทศน่าจะช่วยให้ราคาหุ้นในตลาดดาวโจนส์คึกคักขึ้น น่าจะมีการจ่ายเงินปันผลและซื้อคืนหุ้นมากขึ้น

ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าอยากให้ทางการไทยติดตามความคืบหน้าข้อตกลงทางการค้า CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ซึ่งเวลานี้ “ไทย” ตกขบวนไปแล้วและไม่ได้เป็นสมาชิก ทำให้เราไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีการค้าระหว่างประเทศจากกลุ่มประเทศ CPTPP โดยมูลค่าส่งออกจากไทยไปยังประเทศสมาชิก CTPTT อยู่ที่ประมาณ 20% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด CPTPP นั้นมีสมาชิกทั้งหมด (ไม่รวมสหรัฐอเมริกา) ของ TPP เดิม 11 ประเทศ โดยประเทศเหล่านี้เห็นชอบกับเนื้อหาข้อตกลง TPP เดิมยกเว้นเฉพาะในส่วนที่เป็นเรื่องที่ผลักดันโดยสหรัฐฯ เช่น เรื่องสิทธิแรงงาน เรื่องการขยายระยะเวลาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น หากไทยไม่ติดตามความคืบหน้าและผลกระทบจากข้อตกลงดังกล่าวให้ดี เราอาจสูญเสียโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.