Posted: 21 Feb 2018 12:24 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
เปิดรายงานดัชนีคอร์รัปชัน 2017 ไทยได้ 37 เต็ม 100 อยู่อันดับ 96 อันดับเพิ่มขึ้น 5 อันดับ แต่คะแนนยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ได้ 43 คะแนน ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ได้ 84 คะแนนอยู่อันดับ 6 ด้านองค์กรเพื่อความโปร่งใสฯ ชี้ว่าประเทศบนโลกมากกว่า 2 ใน 3 ได้คะแนนน้อยกว่าครึ่ง และคะแนนปีนี้สะท้อนว่าประเทศส่วนใหญ่ปรับปรุงแก้ไขน้อยมากเพื่อยุติการคอร์รัปชัน ขณะที่ทั้งนักข่าวและนักกิจกรรมต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อเปิดโปงทุจริต
แผนที่แสดงคะแนนจากรายงานชี้วัดภาพลักษณ์ดัชนีคอร์รัปชันโลกปี 2017 โดยสีแดงได้คะแนนน้อยที่สุด ไปจนถึงสีเหลืองที่ได้คะแนนมากที่สุด สะท้อนการคอร์รัปชันต่ำ (ที่มา: Transparency International) (คลิกเพื่อชมภาพขยาย)
แผนที่และตารางคะแนนจากรายงานชี้วัดภาพลักษณ์ดัชนีคอร์รัปชันโลกปี 2017 (ที่มา: Transparency International) (คลิกเพื่อชมภาพขยาย)
21 ก.พ. 2561 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เปิดรายงานชี้วัดภาพลักษณ์ดัชนีคอร์รัปชันโลกปี 2017 จัดอันดับ 180 ประเทศทั่วโลก โดยปีนี้นิวซีแลนด์ได้อันดับที่ 1 ติดต่อกัน โดยได้ 89 คะแนน คะแนนลดลง 1 คะแนน ส่วนอันดับที่ 2 คือ เดนมาร์ก ได้ 88 คะแนน คะแนนลดลง 1 คะแนน โดยเดนมาร์กเคยได้อันดับ 1 ร่วมกับนิวซีแลนด์เมื่อปีก่อน
ส่วนประเทศไทย ได้อันดับ 96 โดยได้คะแนน 37 คะแนน เพิ่มขึ้น 2 คะแนนเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเมื่อเทียบ 6 ปีย้อนหลัง ประเทศไทยได้อันดับและคะแนนดังนี้
ปี 2017 ได้ 37 คะแนน อันดับ 96
ปี 2016 ได้ 35 คะแนน อันดับ 101
ปี 2015 ได้ 38 คะแนน อันดับ 76
ปี 2014 ได้ 38 คะแนน อันดับ 85
ปี 2013 ได้ 35 คะแนน อันดับ 102
ปี 2012 ได้ 37 คะแนน อันดับ 88
ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายงานชี้วัดภาพลักษณ์ดัชนีคอร์รัปชันโลกปี 2017 รายประเทศ กรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียงลำดับประเทศที่มีคะแนนคอร์รัปชันดีที่สุด จนถึงเลวร้ายที่สุดได้ดังนี้
สิงคโปร์ 84 คะแนน อันดับที่ 6
มาเลเซีย 47 คะแนน อันดับที่ 62
ติมอร์เลสเต 38 คะแนน อันดับที่ 91
ไทย 37 คะแนน อันดับที่ 96
อินโดนีเซีย 37 คะแนน อันดับที่ 96
เวียดนาม 35 คะแนน อันดับที่ 107
ฟิลิปปินส์ 34 คะแนน อันดับที่ 111
พม่า 30 คะแนน อันดับที่ 130
ลาว 29 คะแนน อันดับที่ 135
กัมพูชา 21 คะแนน อันดับที่ 161
ส่วนประเทศและดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เมื่อเรียงลำดับประเทศที่มีคะแนนคอร์รัปชันดีที่สุด จนถึงเลวร้ายที่สุดแล้วได้ดังนี้
ญี่ปุ่น 73 คะแนน อันดับที่ 20
ฮ่องกง 77 คะแนน อันดับ 13
ไต้หวัน 63 คะแนน อันดับที่ 29
เกาหลีใต้ 54 คะแนน อันดับที่ 51
จีน 41 คะแนน อันดับที่ 77
มองโกเลีย 36 คะแนน อันดับที่ 103
เกาหลีเหนือ 17 คะแนน อันดับที่ 171
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติระบุว่า ดัชนีคอร์รัปชันโลกปีนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศส่วนใหญ่มีการแก้ไขปรับปรุงน้อยมากเพื่อยุติการคอร์รัปชัน ในขณะที่ผลการวิเคราะห์ยังพบว่านักข่าวและนักกิจกรรมในประเทศที่มีการคอร์รัปชันต้องเสี่ยงชีวิตในแต่ละวันเพื่อที่จะเปิดโปงเรื่องเหล่านี้
จากข้อมูลของคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชนโลกหรือ CPJ พบว่าระหว่างปี 2012-2017 นักข่าวทั่วโลกถูกฆ่า 368 ราย ในจำนวนนี้ 16 รายเป็นนักข่าวในประเทศที่คะแนนดัชนีคอร์รัปชันอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย และ 352 ราย เป็นนักข่าวในประเทศที่คะแนนดัชนีคอร์รัปชันอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
โดยปีนี้มีการจัดอันดับประเทศและดินแดนต่างๆ ในโลก 180 แห่ง ให้คะแนนจากมากที่สุดคือ 100 ซึ่งหมายถึงใสสะอาด และน้อยที่สุดคือ 0 ซึ่งหมายถึงคอร์รัปชั่นมาก โดยผลสำรวจในปีนี้พบว่ามากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศในโลกได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน ในขณะที่คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 43 คะแนน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีอะไรใหม่ เพราะเมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยแล้วเท่ากับปีก่อน
เอเชีย-แปซิฟิกมีสัญญาณก้าวหน้าเล็กน้อย
อัฟกานิสถาน-อินโดนีเซียมีการปรับปรุง
กรณีของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รายงาน CPI2017 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติระบุว่า ไม่มีประเทศไหนในเอเชีย-แปซิฟิก ที่ได้เต็ม 100 คะแนน แม้แต่นิวซีแลนด์ (ซึ่งอยู่อันดับ 1 ได้ 89 คะแนน) หรือสิงคโปร์ (ซึ่งอยู่อันดับ 6 ได้ 84 คะแนน) ต่างก็ประสบกับกรณีอื้อฉาวเมื่อปีก่อนเช่นกัน โดยการวิเคราะห์ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติพบว่ามีความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยในภูมิภาค โดยในรอบ 6 ปีมานี้ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าสถานการณ์คอร์รัปชันได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น
โดยกรณีของอัฟกานิสถาน ซึ่งยังคงได้คะแนนดัชนีชี้วัดคอร์รัปชันต่ำคือได้ 15 คะแนน อยู่อันดับที่ 177 แต่ก็ได้คะแนนเพิ่มขึ้น 7 คะแนน จากที่เคยได้เพียง 8 คะแนนในปี 2012 ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 15 คะแนนมาตั้งแต่ปี 2016 และ 2017 ซึ่งเป็นผลมาจากการริเริ่มในระดับชาติเพื่อปรับปรุงนโยบายที่สำคัญ รวมไปถึงปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ
เช่นเดียวกับ อินโดนีเซีย ที่แม้จะมีหนทางอีกยาวไกลในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน แต่อินโดนีเซียก็กำลังไต่อันดับ โดยได้คะแนนเพิ่มจาก 32 คะแนนเมื่อ 5 ปีก่อน ปัจจุบันได้ 37 คะแนน อยู่อันดับที่ 96 การปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ นี้เกิดจากการทำงานของหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันที่มีมาตรการต่อต้านการทุจริตของบุคคล นอกจากนี้ยังมีฝ่ายค้านที่เข็มแข็งทั้งในระดับรัฐบาลและรัฐสภา
ขณะที่ประเทศอื่น อย่างเกาหลีใต้ (อันดับ 51 ได้ 54 คะแนน) โดยในรอบ 6 ปีมานี้คะแนนอยู่ในระดับคงที่ ทั้งนี้เมื่อปีที่ผ่านมาเกาหลีใต้มีกรณีคอร์รัปชันอื้อฉาวที่นำไปสู่การชุมนุมประท้วงใหญ่ และจบด้วยการลงมติถอดถอนและดำเนินคดีต่ออดีตประธานาธิบดี
จับตาประเทศถดถอย 'ฟิลิปปินส์-อินเดีย-มัลดีฟส์'
คอร์รัปชันสูง-เสรีภาพสื่อต่ำ-แถมมีเหตุลอบสังหารสื่อ
อย่างไรก็ตามมีประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกหลายประเทศที่คะแนนถดถอย ดัชนีในปี 2017 ชี้ให้เห็นว่าหลายประเทศการคอร์รัปชันยังเข้มข้น เมื่อมีปัจเจกบุคคลออกมาท้าทายภาวะเหล่านั้น พวกเขาก็จะได้รับผลกระทบ ในบางประเทศ ผู้สื่อข่าว นักเคลื่อนไหว ผู้นำฝ่ายค้าน หรือแม้แต่ผู้บังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานเฝ้าระวังต่างถูกข่มขู่คุกคาม และในกรณีเลวร้ายที่สุด พวกเขาถูกสังหาร
กรณีของฟิลิปปินส์ อินเดีย และมัลดีฟส์ เป็นประเทศในภูมิภาคที่มีสถานการณ์เช่นว่าเลวร้ายที่สุด ประเทศเหล่านี้มีการคอร์รัปชันที่สูง มีเสรีภาพสื่อต่ำ และมีการสังหารผู้สื่อข่าวในอัตราที่สูง จากข้อมูลของคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชน (CPJ) พบว่า 3 ประเทศนี้ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา มีนักข่าว 15 คนที่ทำงานเกี่ยวกับการเปิดโปงคอร์รัปชันถูกสังหาร กรณีของมัลดีฟส์เมื่อก่อน ยามีน ราชีด บล็อกเกอร์ผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลมัลดีฟส์ถูกลอบสังหาร หลังจากที่เขาพยายามที่จะเปิดโปงการหายตัวไปของนักข่าวอีกรายที่ชื่อ อาเหม็ด ริลวัน
ขณะเดียวกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ก็ถูกโจมตีทั่วไปในภูมิภาค พื้นที่พลเมืองก็หดหาย องค์กรภาคประชาสังคมในกัมพูชา ปาปัวนิวกินี และจีน ก็ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐตลอดเวลา กรณีของกัมพูชา รัฐบาลเองเพิ่งปราบปรามองค์กรภาคประชาสังคม ด้วยการออกกฎหมายที่เข้มงวดต่อเอ็นจีโอมากขึ้น โดยกัมพูชาเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคที่คะแนนคอร์รัปชันต่ำที่สุดในรายงานของ CPI (21 คะแนน อันดับที่ 161)
ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายงานชี้วัดภาพลักษณ์ดัชนีคอร์รัปชันโลกปี 2017 รายประเทศ กรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียงลำดับประเทศที่มีคะแนนคอร์รัปชันดีที่สุด จนถึงเลวร้ายที่สุดได้ดังนี้
สิงคโปร์ 84 คะแนน อันดับที่ 6
มาเลเซีย 47 คะแนน อันดับที่ 62
ติมอร์เลสเต 38 คะแนน อันดับที่ 91
ไทย 37 คะแนน อันดับที่ 96
อินโดนีเซีย 37 คะแนน อันดับที่ 96
เวียดนาม 35 คะแนน อันดับที่ 107
ฟิลิปปินส์ 34 คะแนน อันดับที่ 111
พม่า 30 คะแนน อันดับที่ 130
ลาว 29 คะแนน อันดับที่ 135
กัมพูชา 21 คะแนน อันดับที่ 161
ส่วนประเทศและดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เมื่อเรียงลำดับประเทศที่มีคะแนนคอร์รัปชันดีที่สุด จนถึงเลวร้ายที่สุดแล้วได้ดังนี้
ญี่ปุ่น 73 คะแนน อันดับที่ 20
ฮ่องกง 77 คะแนน อันดับ 13
ไต้หวัน 63 คะแนน อันดับที่ 29
เกาหลีใต้ 54 คะแนน อันดับที่ 51
จีน 41 คะแนน อันดับที่ 77
มองโกเลีย 36 คะแนน อันดับที่ 103
เกาหลีเหนือ 17 คะแนน อันดับที่ 171
แสดงความคิดเห็น