ที่มา เฟสบุ๊ค Surachai Trongngam 


Posted: 21 Feb 2018 10:50 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศาลแพ่ง 'ยก' คำร้อง ตร.สน.นางเลิ้ง ขอให้ผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าเทพา ออกจากพื้นที่ หน้ายูเอ็น ระบุการชุมนุมเป็นไปตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ทนายย้ำต้องศึกษาบทเรียนการปิดกั้นการชุมนุม ของรัฐผ่าน กฎหมายนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขให้หนุนเสรีภาพการชุมนุมจริงต่อไป

เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลแพ่ง ยกคำร้อง พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ขอให้ผู้ชุมนุมคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าเทพา และ จ.กระบี่ ออกจากพื้นที่ บริเวณ ถ.ราชดำเนิน หน้า สำนักงานยูเอ็น ระบุ การชุมนุมเป็นไปตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และไม่ได้เป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการที่จะดูแลการชุมนุมสาธารณะและอำนวยความสะดวกประชาชนบริเวณดังกล่าวด้วย

หลังจากศาลยกคำร้องดังกล่าว สุรชัย ตรงงาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLaw โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค ส่วนตัว วิเคราะห์กรณีนี้ด้วยว่า นับเป็นการร่วมไต่สวนของศาลตามขั้นตอนกฎหมายชุมนุมสาธารณะ 2558 เป็นครั้งแรก ซึ่งมีข้อสังเกตุเบื้องต้นดังนี้


1. ศาลให้เหตุผลที่ยกคำร้องของสน.นางเลิ้งหลายเหตุผล แต่เหตุผลหลักน่าจะเป็น ผู้ชุมนุม ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ การชุมนุมทางเท้าหน้าสำนักงานยูเอ็น ไม่ได้ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกินไป ซึ่งน่าเสียดายที่ศาลไม่ได้วินิจฉัยถึง เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน. รวมถึงหนังสือของข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชน ของ UN ที่ชี้แจง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 21 เรื่องเสรีภาพการชุมนุม ที่อ้างส่งศาลที่ระบุรัฐควรหลีกเลี่ยงการแทรกแซงเสรีภาพการชุมนุมโดยการกำหนดสถานที่และเวลาให้กับผู้ชุมนุม ก็ไม่ปรากฎในคำวินิจฉัยนี้

2. คำสั่งศาลแพ่งกรณีนี้ วินิจฉัยสั้น เพียง ครึ่งหน้ากระดาษ ต่างจากคำสั่งให้ยกเลิกการชุมนุม กรณีเทพา ของศาลจังหวัดสงขลา ที่วินิจฉัยยาว กรณีนี้วินิจฉัยสั้นก็มีข้อดี. อำนวยความยุติธรรมด้วยความรวดเร็วกระชับเข้าใจง่าย. แต่การอำนวยความยุติธรรมเฉพาะเรื่อง เฉพาะกรณีแบบนี้ สิ่งที่ขาดไปคือการวางแนวทางปฎิบัติ เกี่ยวกับการชุมนุมของตำรวจให้ขัดเจน ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อไปในอนาคต เช่น เหตุที่ตำรวจสั่งให้แก้ไขการชุมนุม แต่หนังสือไม่ระบุสิทธิในการอุทธรณ์. ให้ชัดเจนถ้าชาวบ้านชุมนุมไม่มีที่ปรึกษา ก็จะเสียสิทธิไป หรือที่ตำรวจสั่งไม่รับอุทธรณ์ ของกลุ่มกระบี่เทพา แต่ไม่ให้เหตุผลที่ชัดเจน ว่า ไม่เชื่อสิ่งที่ผู้ชุมนุมโต้แย้งเพราะอะไรฯลฯ

3. การใช้อำนาจของตำรวจให้แก้ไขการชุมนุม ไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน ตามพรบ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 และมีแนวโน้มสั่งการในเชิงการปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุมได้ง่าย เช่นคดีนี้ อ้างว่าการชุมนุมรบกวนผู้ใช้ทางเท้า ทั้งๆที่มีทางเดินอื่นที่ใช้ได้โดยไม่ต้องผ่านผู้ชุมนุม . และไม่ได้รบกวนผู้ใช้ถนน ถ้าชุมนุมทางเท้าไม่ได้ สงสัยอยู่ว่าจะเหลือพื้นที่ไหนให้ชุมนุม. เป็นหน้าที่ตำรวจต้องจัดการจราจรให้เหมาะสมหรือไม่ การตีความจนเกินจำเป็นแบบนี้ของตำรวจ สร้างภาระทั้งศาลและผู้ชุมนุม ต้องมาเสียเวลาในการพิจารณาคดี และไม่เห็นว่า ตำรวจซึ่งออกคำสั่งผิดพลาด จะได้ถูกตรวจสอบว่าควรมีความรับผิดทางวินัยหรือแพ่ง อาญา ที่ชัดเจนอย่างไร การไม่มีหลักเกณฑ์ ตรวจสอบการใช้อำนาจ ควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ตำรวจที่ชัดเจนทั้งโดยกฎหมาย แนวทางปฎิบัติของตำรวจ และการควบคุมตรวจสอบในชั้นศาล ทำให้แนวปฎิบัติในการใช้อำนาจเรื่องชุมนุมของตำรวจหลายเรื่องยังคลุมเครือและไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน. เราอาจชนะคดีนี้แต่ถ้าไม่วางหลักการใช้อำนาจของตำรวจให้ชัด การใช้เสรีภาพการชุมนุมของประชาชนในคราวหน้าก็จะอยู่ในหุบเหวแห่งความเสี่ยงเช่นเดิม

"นอกจากความยินดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ เทพา ที่วางหมุดหมายการใช้สิทธิ เสรีภาพการชุมนุมด้วยสองเท้าและการนั่งอดอาหารโดยสงบแล้ว เราต้องตั้งคำถาม และศึกษาบทเรียนการปิดกั้นการชุมนุม ของรัฐผ่าน กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ 2558 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย เพื่อสนับสนุนเสรีภาพการชุมนุมให้ปรากฎเป็นจริงในสังคมไทยต่อไป" ทนายความ EnLaw ระบุตอนท้าย
ศาลปกครองคุ้มครองเดินมิตรภาพ

นอกจากกรณีนี้แล้ว ยังมีกรณีเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งของ ศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์กับพวกรวม 4 คน ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กับ พวกรวม 7 คน จากการร่วมชุมนุมและจัดกิจกรรม “We walk เดินมิตรภาพ” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มุ่งสู่จังหวัดข่อนแก่น โดยมีคำขอให้ สตช. และเจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการดำเนินการปิดกั้น ขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ การใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมายและให้ดูแล การชุมนุมสาธารณะ อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ชุมนุม กับให้ชดใช้ ค่าเสียหายจากการละเมิด ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยให้ สตช. โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมิให้กระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวางในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมภายใต้ ขอบเขตของกฎหมาย และใช้อำนาจหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะและรักษาความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยเคร่งครัด จนถึงวันที่ 17 ก.พ. 2561

ซึ่งศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง

โดยวินิจฉัยว่า เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิและเสรีภาพที่สำคัญ ประการหนึ่งของประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้แต่จะถูกจำกัดได้ เฉพาะแต่กรณีเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรม อันดีของประชาชน ซึ่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิ ชุมนุมสาธารณะไว้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ได้มีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับการสถานี ตำรวจภูธรคลองหลวงแล้ว ซึ่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวงไม่ได้มีคำสั่งให้แก้ไขหรือคำสั่งห้าม การชุมนุมแต่อย่างใด และจากพยานหลักฐานมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีการปิดกั้น ขัดขวาง และทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้เข้าร่วมชุมนุมรู้สึก หวาดกลัว ซึ่งอาจมีการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปในเหตุที่ถูกฟ้องร้อง อันกระทบต่อสาระสำคัญของ สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม การมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของ ศาลไม่ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคแก่การบริหารงานของ สตช. แต่อย่างใด แต่ระหว่างที่มีการชุมนุม หากเจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่ามีการกระทำใด ๆ อันนำไปสู่การชุมนุมสาธารณะ
ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจก็ชอบที่จะพิจารณากำหนดเงื่อนไข หรือมีคำสั่งหรือประกาศให้มีการแก้ไขหรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเลิกชุมนุมหรือสั่งให้ยุติการกระทำนั้น หรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะหรือกฎหมายอื่นได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ศาลปกครองสูงสุดยังคุ้มครองกิจกรรมเดินมิตรภาพต่อ
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.