Posted: 20 Feb 2018 08:58 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ชัยพงษ์ สำเนียง
ม.เชียงใหม่
การถกเถียงเพื่ออธิบายว่าคนที่ออกมาเรียกร้องให้เลือกตั้งทำถูกหรือไม่ ยุทธศาสตร์ยุทธวิถีผิดพลาดหรือไม่ จะนำพาเราไปสู่การเมืองแบบเดิมหรือเปล่า มันคุ้มไหม มันเสี่ยงไหม ซึ่งนั้นเป็นคำถามที่ถามได้
แต่สำหรับผมการเมือง ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อครองอำนาจ เเพ้ชนะในวันเดียว แต่มันคือ การสะสม ถากถางหนทางหนทางให้คนอื่น ๆ ถ้าไม่มีการสะสมเราก็อาจไม่มีการเคลื่อนไหวเลย คนที่ออกมาคนแรกอาจเสี่ยง เจ็บแต่นั้นหมายถึงเขาได้ตัดสินใจแล้ว เพื่อเป็นบันไดแรก ๆ ให้คนอื่นได้สู้ต่อไป
"การเมืองจึงเป็นเรื่องของความหวัง" อยู่ที่ว่าจะเป็นหวัง/ฝันของคนกลุ่มเดียว หรือเป็นความหวังความฝันร่วมกันของหลายคน บางกลุ่มบางคนเช่นรัฐประหารของ "คน(ที่คิดว่า)ดี" ก็บอกว่าตนเองทำนั้นทำนี้ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าโดยที่ละเลยว่าคนอื่นคิดอย่างไร แม้เกิดจากความปรารถนาดีหรือไม่ก็ตาม แต่คนทั่วไปเขาไม่ได้ฝันอย่างที่พวกตนมุ่งหวัง ความฝันนั้นจึงไม่อาจแทรกซึมสร้างแนวร่วมกับคนกลุ่มอื่นได้ ฝันนั้นจึงเป็นเเต่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ยิ่งได้/ใช้อำนาจแบบเผด็จการครอบงำ ปิดกั้นไม่ให้ความฝันอื่น ๆ มีที่ยืน ฝันนั้น ๆ ก็เป็นแต่เพียงฝันเปียกทางการเมืองเท่านั้น
ความฝันทางการเมืองจึงเป็นความฝันที่คนทุกคนฝันร่วมกัน ทุกคนมีพื้นที่ในฝันนั้น แม้ว่าความฝันนั้นอาจนำมาซึ่งความตาย หรือไม่โสภานักสำหรับอนาคตของปัจเจกบุคคล เช่น ความฝันในเรื่องประชาธิปไตย ความเท่าเทียมของนักศึกษาในช่วง 14 ต.ค. 16 /6 ต.ค. 19 ขบวนการชาวนาชาวไร่ การต่อสู้เพื่อเอกราชและเปลี่ยนแปลงสังคมของนักศึกษาอินโด ฯ 1945-1947 นักศึกษาประชาชนพม่า 8/8/88 การรบเพื่อเอกราชของเวียดมินห์ ล้วนแต่เป็นความฝันที่เหนือความเป็นปัจเจกบุคคล แต่เป็นความหวาดหวังที่จะให้ประเทศชาติ "ดีขึ้น" ในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งล้วนให้เกิดการสะสมและการเคลื่อนไหวในอนาคตต่อมา
ความหวาดหวังใฝ่ฝันในท่วงทำนองนี้จึงเป็นความฝันร่วม ที่ต่างจากความฝันของเผด็จการที่หวังให้ทุกคน "ฝันเหมือนตน" โดยมิให้ความฝันของคนอื่นมีที่ยืนในฝันตน และมักคิดว่าสิ่งที่ตนทำคือความฝันร่วม ซึ่งเป็นไปไม่ได้หรอกครับ เพราะผมกับคุณอยู่บนผืนดินเดียวกัน แต่เราฝันถึงโลกคนละใบครับ
บางคนต้องการให้การเมืองมีเสถียรภาพ โดยไร้เสรีภาพ แต่หลายคน (รวมทั้งผม) ยอมให้การเมืองขาดเสถียรภาพ แต่มีเสรีภาพ ถ้าเราขาดเสรีภาพ เราก็ไม่อาจบอกว่าเราเป็น "คน" ได้
ท้ายที่สุด การเมืองเป็น 'กระบวนการ' เพราะปลายทางเราไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่ถ้าระหว่างทางเราคำนึงถึงความชอบธรรม แนวร่วม การสร้างความเข้าใจ ฯลฯ แม้ท้ายที่สุดไม่บรรลุเป้าหมาย เราก็คิดว่าคุ้มแล้วที่ได้ทำ เพราะมันหมายถึงการถักทอ แผ้วทางให้คนอื่น ๆ ต่อไป จะเป็นการเมืองในชีวิตหรือการเมืองในกระบวนการเคลื่อนไหวก็ตาม
อ่านเพิ่มใน: Anderson, Benedict. 1972. Java in a Time of Revolution: Occupation and Resistance, 1944-1946. Ithaca and London: Cornell University Press.
[full-post]
แสดงความคิดเห็น