Posted: 22 Feb 2018 10:17 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
ที่ประชุม สนช.มีมติไม่เห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต) ทั้ง 7 คน ประธาน สนช. ยังไม่รู้สาเหตุ ยันไม่กระทบโรดแมปการเลือกตั้ง พร้อมเตรียมเริ่มดำเนินการสรรหาใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน สมชัย ชี้ สนช.ควรมีคำอธิบาย
22 ก.พ.2561 รายงานข่าวระบุว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (22 ก.พ.) ใช้เวลาในการประชุมลับ ประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อพิจารณาผู้ได้รับการสรรหาเป็น กกต.ทั้ง 7 คน โดยได้มีการซักถามรายละเอียดจากคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมี พล.อ.อู๊ด เบื้องบน เป็นประธาน
จากนั้นที่ประชุมได้ลงคะแนนลับในคูหา ปรากฎว่าไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ 248 คน คือ 124 คะแนน เท่ากับผู้ที่ได้รับการสรรหาทั้ง 7 คนไม่ได้รับการเลือกเป็น กกต. คือ 1. ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้คะแนนเห็นชอบ 27 คะแนน ไม่เห็นชอบ 156 คะแนน งดออกเสียง 18 คะแนน 2. ประชา เตรัตน์ ได้คะแนนเห็นชอบ 57 คะแนน ไม่เห็นชอบ 125 คะแนน งดออกเสียง 19 คะแนน 3. เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ ได้คะแนนเห็นชอบ 10 คะแนน ไม่เห็นชอบ 175 คะแนน งดออกเสียง 15 คะแนน 4. ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ได้คะแนนเห็นชอบ 16 คะแนน ไม่เห็นชอบ 168 คะแนน งดออกเสียง 17 คะแนน 5. อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ เห็นชอบ 30 คะแนน ไม่เห็นชอบ 149 คะแนน งดออกเสียง 22 คะแนน 6. ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ได้คะแนนเห็นชอบ 46 คะแนน ไม่เห็นชอบ 128 คะแนน งดออกสียง 27 คะแนน และ 7. ปกรณ์ มหรรณพ ได้คะแนนเห็นชอบ 41 คะแนน ไม่เห็นชอบ 130 คะแนน งดออกเสียง 30 คะแนน
ประธาน สนช.ไม่รู้สาเหตุ สนช. มีมติไม่เห็นชอบว่าที่ กกต.ชุดใหม่
ขณะที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. แถลงภายหลังที่ประชุม สนช.มีมติไม่เห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต) ทั้ง 7 คน ว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ สนช.ไม่เห็นชอบ ซึ่งการลงคะแนนเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกแต่ละคน พร้อมยืนยันว่า จะไม่มีผลกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพราะ กกต. ชุดปัจจุบัน ยังคงรักษาการสามารถทำหน้าที่ต่อได้ ทั้งนี้ไม่มีการส่งสัญญาณใด ๆ จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อการลงมติดังกล่าว โดยหลังจากนี้ เลขาธิการวุฒิสภา จะทำหนังสือเชิญประธานศาลฎีกา มาดำเนินการสรรหาใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับจากนี้ โดยใช้คณะกรรมการสรรหาชุดเดิม
ประธานสภา สนช. กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาฯ ยืนยันว่า ได้พิจารณาอย่างดีที่สุดภายใต้กรอบของบุคคลที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ยังรู้สึกหนักใจ เพราะอยากให้ผู้ที่มีจริยธรรมที่ดี มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดมาสมัครกันให้มาก ดังนั้นจึงอาจมีการเสนอต่อคณะกรรมการสรรหาที่จะทำการสรรหาใหม่ขยายระยะเวลาการรับสมัครให้มากขึ้น และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์คุณลักษณะที่เหมาะสมต่อการเป็น กกต.ให้ผู้สนใจอื่น ๆ ได้รับทราบ เพราะจากการสมัครที่ผ่านมาเห็นได้ว่า มีเพียงข้าราชการ และอดีตข้าราชการที่มาสมัครเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เจอหลักเกณฑ์คุณสมบัติที่ค่อนข้างเข้มข้น อาทิ ต้องเป็นอธิบดี 5 ปีขึ้นไป หรือเป็นศาสตราจารย์ 5 ปีขึ้นไป ทำให้ผู้ที่มีคุณสมบัติหลักที่จะเข้ารับการสรรหาถูกตัดสิทธิ์ เพราะขาดคุณสมบัติดังกล่าวเป็นจำนวนมาก แต่รัฐธรรมนูญก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้มีคุณสมบัติอื่นๆ อย่างผู้ประกอบวิชาชีพอิสระสามารถสมัครเข้าเป็น กกต.ได้ เพียงแต่ต้องมีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น จึงได้มอบนโยบายให้กับเลขาธิการวุฒิสภาไปดำเนินการเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม ต่อข้อถามว่าการรสรรหาครั้งหน้าคณะกรรมการสรรหาฯ จะใช้วิธีการเชิญบุคคลที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายมาสมัครหรือไม่ ประธาน สนช.ยอมรับว่า ยังไม่กล้าดำเนินการเช่นนั้น แต่จะเน้นเป็นการเชิญชวนให้ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมาเข้ารับสรรหามากกว่า และจะต้องปรับปรุงวิธีการสรรหาบุคคลที่ดีมาให้ได้
สมชัย ย้ำไม่มี กกต.ใหม่ ไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง
สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. (ชุดปัจจุบัน) กล่าวถึงมติ ดังกล่าวว่า สนช.ควรมีคำอธิบายว่าผู้สมัครทั้ง 7 คน มีปัญหาเรื่องใด จะได้เป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่จะต้องดำเนินกระบวนการสรรหาใหม่ เพื่อที่จะได้รู้ว่ามีจุดอ่อนใด เพราะถ้าไม่มีเหตุผลเลย ก็จะเป็นปัญหาต่อกระบวรการสรรหาในครั้งหน้าได้
สมชัย กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การสรรหาใหม่คงต้องใช้เวลา 5-6 เดือนกว่าจะมี กกต.ใหม่ แต่ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบใดต่อโรดแมปการเลือกตั้ง เพราะ กกต.ชุดปัจจุบันยังคงทำหน้าที่ต่อไป ยกเว้นว่าจะมี กกต.ลาออก 2 คน ซึ่งจะทำให้เหลือองค์ประชุมแค่ 3 คน ซึ่งจะไม่สามารถพิจารณเรื่องสำคัญต่าง ๆ ได้ ประกอบกับในเดือนกรกฎาคมนี้ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.จะมีอายุครบ 70 ปี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญจะต้องพ้นจากตำแหน่งทันที เว้นแต่มีคำสั่ง คสช.ให้อยู่ปฎิบัติหน้าที่ต่อไป เหมือนที่ คสช.มีคำสั่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดที่ครบวาระไปแล้ว อยู่ดำรงตำแหน่งต่อไปจนว่าจะมีชุดใหม่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่า คสช.จะมีความเห็นอย่างไร และไม่สามาถยืนยันได้ว่าจะมี กกต.คนใดลาออกหรือไม่
“ถ้านับไป 6 เดือนจากนี้ ก็จะเป็นช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งก็จะล้ำเข้าไปในโซนของการเลือกตั้งท้องถิ่น ถ้ามีจริงอย่างที่รัฐบาลตั้งใจจะให้มีขึ้น ซึ่งก็จะค่อนข้างมีปัญหา เพราะการรับมอบงานอาจไม่ราบรื่น ขณะเดียวกัน กกต.ชุดปัจจุบันก็อาจจะต้องคิดหนักว่าการที่ตัวเองต้องเข้าไปรับผิดชอบการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเหมาะสมหรือไม่ เพราะไมได้เป็นตัวจริง แล้วถ้าพิจารณาเรื่องร้องเรียนไปจนเกิดเป็นปัญหาคดีความที่ต้องไปขึ้นศาลในฐานะส่วนบุคคล เมื่อพ้นจากตำแหน่ง จะรับไหวหรือไม่ เพราะไม่ใช่เรื่องสนุกของคนทำงาน ที่เมื่อออกจากงานแล้วต้องไปขึ้นศาลในนามของบุคคล” สมชัย กล่าว
สมชัย กล่าวอีกว่า งานของ กกต.ที่จะต้องดำเนินต่อไป แม้จะยังไม่มี กกต.ใหม่ ก็ต้องดำเนินการ ซึ่งมีจำนวนมาก เช่น ในเดือนมีนาคม ต้องมีการเตรียมการสำหรับการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เดือนเมษายนก็เป็นการดำเนินการของพรรคกาเรมืองเก่า และยังจะต้องเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่น ถ้าจะเกิดขึ้นจะต้องมีการแบ่งเขต
“จริง ๆ ไม่ได้คิดเลยว่าผลการลงมติจะเป็นเช่นนี้ ส่วนตัวผมอยากให้ได้ กกต.ใหม่เร็ว ๆ เพื่อที่จะได้มีเวลาในการเตรียมการต่าง ๆ ให้มากที่สุด เพราะอย่างไรเราก็ต้องไปอยู่แล้ว การที่เขามาช้า จะทำให้เขามีเวลาในการเตรียมการไม่มาก แล้วต้องมาจัดการเลือกตั้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีจริง ๆ วันนี้จึงอยากให้ได้ กกต.ใหม่ เพราะงานของ กกต.ไม่ใช่เรื่อง่าย ๆ อย่างที่หลายคนคิดว่าให้สำนักงานทำงาน แล้ว กกต.เป็นเพียงผู้กำกับดูแล ถ้า กกต.ไม่รอบคอบ ไม่รู้เรื่อง แล้วปล่อยให้สำนักงานทำ ก็จะเสียหายหลายเรื่อง ซึ่ง 4 ปีที่ผมอยู่ ไม่ใช่เข้ามาแล้วทำงานได้ทันที ผมยังต้องเข้ามาเรียนรู้อยู่หลายปี ถึงวันนี้เรียนมา 4 ปีก็ยังรู้ไม่หมดเลย” สมัชย กล่าว
ที่มา เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา และสำนักข่าวไทย [full-post]
แสดงความคิดเห็น