Posted: 25 Feb 2018 08:57 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
งานนี้ ทักกี้อยู่เบื้องหลังอีกแล้ว!! (กับการ) ล็อบบี้นักการเมืองและคนอเมริกันให้หันมาโจมตีต่อรัฐบาลเผด็จการทหารของไทย (คสช.) 555??
แต่คราวนี้ดูเหมือนการล็อบบี้ที่ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นจริง (ล่ะมั้ง?) เพราะในช่วงหลายเดือนมานี้ ไม่มีนักการเมืองอเมริกันหน้าไหน ออกมาพูดให้สัมภาษณ์ขย่มรัฐบาลคสช. แม้สักคนเลย ถ้าทักกี้และเครือข่ายฯ จ่ายเงินผ่านล้อบบี้ยีสต์ที่วอชิงตันดีซีจริงป่านนี้คงได้เห็นนักการเมืองอเมริกันออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยกันให้ขรมแล้ว
อย่างที่ทราบกัน หากกลับไปตรวจสอบสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่ออเมริกันจนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏท่าทีของฝ่ายการเมืองของอเมริกันต่อการเมืองไทยบนสื่อใดๆ เลย
ทั้งนี้ทั้งนั้น มิใช่ว่าการตั้งข้อสงสัยเชิงหวาดระแวงของสลิ่มชน(ไทย) จะไม่มีมูลความจริง เพราะก่อนหน้านี้ การล็อบบี้เชิงการเมืองระหว่างประเทศได้บังเกิดขึ้นจริงที่แคปปิตัล ฮิลล์ และมันส่งผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่างเมียนมาร์ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศเดียวกันนี้ คือ เปลี่ยนจากรัฐบาลสล็อคของนายพลตานฉ่วย เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของนางอองซานซูจี
แม้ว่าในที่สุดแล้ว ผู้นำหญิงของเมียนมาร์นางนี้ จะไม่ประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศ ด้วยเหตุแห่งปัญหาโรฮิงญาก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองของเมียนมาร์ครั้งสำคัญ คือพลิกจากรัฐบาลทหารเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐบาลสล็อค (SLORC) ของเมียนมาร์ จะยึดกุมอำนาจในประเทศนี้มายาวนานหลายปีก็ตาม
ถ้าไล่ไทม์ไลน์ดูแล้วก็จะเห็นว่า การเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองของเมียนมาร์ แรกเริ่มเดิมทีเกิดจากการกดดันของประชาคมโลก โดยมีสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหอก เมื่อรัฐสภาอเมริกันมีท่าทีรอมชอมกับรัฐบาลตานฉ่วยมากขึ้น เนื่องจากผลประโยชน์ของบรรษัทอเมริกันที่เข้าไป และจะเข้าไปทำหากินในเมียนมาร์ ซึ่งในตอนนั้นสามารถเห็นได้จากท่าทีของสมาชิกสภาสูง (ซีเนเตอร์) จิม เวบบ์ (Jim Webb) แห่งเวอร์จิเนีย ที่เดินทางไปเมียนมาร์บ่อยครั้ง จนกระทั่งทั้งสองประเทศ สามารถเปิดความสัมพันธ์ฉันท์ปกติ ได้ดังเดิม
นั่นก็หมายความว่า รัฐสภาอเมริกันได้ถอดสลักของข้อกฎหมายกดดันต่อรัฐบาลเมียนมาร์ทิ้งไป ทั้งรัฐบาลและเอกชนอเมริกันของทั้งสองประเทศสามารถติดต่อทำมาค้าขายกันอย่างปกติดังที่เห็นกันในปัจจุบัน
ไทม์ไลน์ก่อนหน้าที่สหรัฐอเมริกาจะฟื้นความสัมพันธ์กับรัฐบาลกรุงเนย์ปิดอว์นั้น จะเห็นว่า เริ่มจากสมาชิกรัฐสภาอเมริกันก่อน โดยเกิดจากการนำเสนอวิสัยทัศน์ทางการค้าและการลงทุนของเอกชนอเมริกันที่กำลังเข้าไปและจะเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ต่อสมาชิกคองเกรส และซีเนตบางท่าน ดังมีสว. จิม เวบบ์ และสส. แนนซี่ เปลอสซี่ (Nancy Pelosi) ของเดโมแครต เป็นต้น ก่อนที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่จะลงมติยกเลิกร่างกฎหมายคว่ำบาตรทางการค้าต่อรัฐบาลเมียนมาร์ในที่สุด จนมาถึงวันที่ บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีอเมริกัน เดินทางไปพบนางอองซานซูจีที่ประเทศของเธอ อันเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่สุดในแง่การเมืองระหว่างประเทศในขณะนั้น โอบามากล่าวว่า สหรัฐฯจะให้การสนับสนุนรัฐบาลและประชาชนชาวเมียนมาร์ทุกทางตราบเท่าที่เมียนมาร์รักษาแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยเอาไว้
นั่นแสดงให้เห็นว่า กว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาและอยู่ในรูปแบบเช่นปัจจุบัน ต้องผ่านการล็อบบี้ทางการเมืองมาอย่างหนัก โดยเฉพาะในกรรมาธิการต่างประเทศทั้งสองสภาในรัฐสภาอเมริกัน
เมื่อเทียบกับกรณีการกล่าวหาของสลิ่มต่อทักกี้ว่า เขามีส่วนในการใช้เงินล็อบบี้สมาชิกคองเกรสหรือซีเนต ให้กดดันรัฐบาลเผด็จการทหารของไทย ทำให้เห็นว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวไร้สาระเพียงใด เพราะในความเป็นจริงแล้ว ในตอนนี้ ยังไม่ปรากฏว่ามีข่าวสารหรือถ้อยคำให้สัมภาษณ์ใดๆ เชิงลบต่อรัฐบาลเผด็จการทหาร ออกมาจากปากสมาชิกอเมริกันคองเกรส หรือซีเนตเลย
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ลองสถานการณ์มาถึงขั้นนี้แล้ว (เช่น มีม็อบต่อต้าน คสช.เกิดขึ้นในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา- MBK 39) ง่ายมากที่ข่าวสารจะไปถึงวอชิงตันดีซีหรือแคปปิตัล ฮิลล์ สมาชิกรัฐสภาอเมริกัน น่าจะออกมาพูดอะไรในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้าง ทว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้น ฝ่ายการเมืองอเมริกันนั้นเงียบกริบ ดูเหมือนไม่มีสมาชิกรัฐสภาอเมริกันคนใดสนใจ ซึ่งก็ไม่ทราบแน่ชัดว่า เป็นเพราะเหตุอะไร?
ที่แน่ใจได้ส่วนหนึ่งก็คือ มันสำแดงให้เห็นว่า ทักกี้และเครือข่ายฯ ไม่ได้ทำงานด้านล็อบบี้ในอเมริกา เพราะหากเขาทำหรือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังจริง สมาชิกคองเกรส หรือซีเนตก็ต้องออกมาพูดวิจารณ์การเมืองไทยบ้างแล้ว (แน่นอนว่ามีข้อให้สงสัยได้ว่าการทำงานล็อบบี้ ถ้าทำจริง ก็ถือว่าประสบความล้มเหลวสุดๆ)
อย่างน้อยก็มีข้อเท็จจริงอยู่ประการสำคัญยืนยันอยู่ คือ ข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลอเมริกันนั้นยังเห็นว่าไทยเป็นพันธมิตรในภูมิภาคทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลประโยชน์ร่วมทางด้านเศรษฐกิจ
และก็อย่างที่ทราบกัน ตามการวิเคราะห์ของดิอีโคโนมิสต์ ฉบับเมื่อไม่นานมานี้ สื่ออเมริกันเจ้านี้มองว่า สถานการณ์การเมืองของไทยเที่ยวนี้ จะเปลี่ยนไปจากเดิมชนิดไม่มีวันหวนกลับ เพราะเหตุปัจจัยเปลี่ยนไปทั้งบุคคลและสถานการณ์แวดล้อม สถานการณ์ความขัดแย้งยังเป็นแบบเดิมๆ เหมือนเมื่อปี 2557 ก็จริง แต่ผลที่ออกมาจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
ผู้ที่คิดว่าทักกี้อยู่เบื้องหลังการกดดันรัฐบาลทหารของไทย ผ่านสหรัฐอเมริกา จึงน่าควรเลิกคิดได้แล้วว่า ทักกี้กำลังทำอย่างนั้นเพื่อบ่อนทำลายรัฐบาลไทย เพราะสื่อในอเมริกาหรือสื่อประเทศตะวันตกอื่นๆ ไม่มีการให้สัมภาษณ์และแสดงท่าที (วิพากษ์วิจารณ์) ต่อรัฐบาลไทยของนักการเมืองฟากตะวันตกสักแอะ ถ้าทักกี้และเครือข่ายอยู่เบื้องหลังจริงก็คงมีแอะออกมาจากฝั่งสื่อตะวันตกบ้างแล้ว
อย่างน้อยถ้าดูจากท่าทีของ Dana Rohrabacher สส.รีพับลิกัน แคลิฟอร์เนีย (เขต 48) ทั้งๆ ที่เขาเองสนใจประเทศอาเซียนมาก Rohrabacher กลับไม่ชัดเจนในท่าทีที่แสดงออกกรณีประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งหากใช้ตรรกะเดียวกันกับการล็อบบี้ของทักกี้ ผมว่า คงไม่มีใครหรือเครือข่ายของทักกี้ไปล็อบบี้ สส. Rohrabacher ในฐานะที่เขาเป็นหนึ่งในกรรมาธิการต่างประเทศของสภาคองเกรสเป็นแน่แท้ เพราะหากมีคนวิ่งล็อบบี้ล่ะก็... มีหรือ ที่ คองเกรสแมนของแคลิฟอร์เนียหลายสมัยผู้นี้จะไม่กระโตกกระตากออกมาทางสื่อสารมวลชนอเมริกันบ้าง
สำหรับ Dana Rohrabacher ผู้ที่ติดตามข่าวสารการเมืองของอเมริกันคงพอทราบกันดีแล้วว่า เขาเป็นแคนดิแดทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ รัฐบาลทรัมป์ ก่อนหน้าที่ทรัมป์จะแต่งตั้ง Rex Tillerson เป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศคนปัจจุบัน Rohrabacher จึงเป็นผู้มีอิทธิพลในคองเกรสมากที่สุดผู้หนึ่งของรีพับลิกัน เขาเองเป็น สส.แคลิฟอร์เนีย เขตออเร้นจ์ เคาน์ตี้ มาหลายสมัย
ตอนผมพบเขาที่สำนักงาน ฮันติงตัน บีช Rohrabacher ให้ความเป็นมิตรและต้อนรับดีมาก
ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของ สส. Rohrabacher ก็คือ เขาสนใจชาติอาเซียนอย่างมาก ในมือของ สส.อเมริกันผู้นี้ เต็มไปด้วยข้อมูลของเมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชาและไทย เป็นข้อมูลที่เขาได้มาด้วยตัวของเขาเอง จากการส่งทีมของเขาเองเข้าไปในพื้นที่ของสองสามประเทศดังกล่าว (แน่นอนว่า สถานทูตอเมริกันอุปถัมภ์) โดยหนึ่งในสมาชิกของทีมของเขา ได้แก่ Al Santoli ขณะนี้ทำงานอยู่ในกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์
ในกรณีข้อกล่าวหาต่อทักกี้เกี่ยวกับกระแสข่าวการล็อบบี้หรือใช้ล็อบบี้ยีสต์อเมริกัน จึงพอสรุปในเบื้องต้นได้ว่า ไม่มีมูล เพราะจนถึงตอนนี้ยังไม่มีแม้แต่ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในเมืองไทยแม้สักแอะแพลมออกมาให้เห็นบนหน้าสื่ออเมริกัน ทั้งๆ ที่น่าจะมีคอมเมนต์จากปากของนักการเมืองอเมริกันบ้างแล้วด้วยซ้ำ...!
แสดงความคิดเห็น