Posted: 25 Feb 2018 08:47 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

นายกฯได้กล่าวพาดพิงถึงบทบาทอาจารย์มหา'ลัย ในทำนองเดียวกับการกล่าวเมื่อ 27 ต.ค.2558 ที่ได้สั่งให้ รมว.ศึกษาฯ ไปทบทวนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย

การพูด/คำพูด ของนายกรัฐมนตรีเช่นนี้ จะทำให้สาธารณะ/สังคมเกิดความเข้าใจผิดในการจัดการเรียนการสอนและบทบาทของนักวิชาการ/อาจารย์ในมหาวิทยาลัย

คำถามที่นายกรัฐมนตรีมีอยู่ในใจและสะท้อนมาลักษณะเดิมๆ นี้ ก็คือ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร เพื่อที่จะทำให้สังคมไทยก้าวหน้าไปได้

แต่นายกรัฐมนตรีคงไม่เข้าใจ “วิชาการ” เพียงพอ จึงขอตัดตอนบางส่วนของคำให้การของผู้ต้องหาคดี “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อ 2 ปีกว่ามาให้สังคมได้ทราบชัดเจนขึ้น

(ความต่อไปนี้ นำมาจากคำให้การที่พิมพ์เผยแพร่ใน “ประชาไท" 2015/12/24)

“ในฐานะของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหน้าที่สร้างการเรียนรู้ รวมถึงการแสวงหาความงอกงามทางปัญญาให้กับสังคม เห็นว่าความสำคัญของเสรีภาพเป็นหัวใจสำคัญอันเนื่องมาจากความรู้เป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง และสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไม่สิ้นสุด อันนำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ ที่เท่าทันกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากเดิม และเห็นว่าหลักการพื้นฐานของเสรีภาพมีความสำคัญต่อการสร้างความก้าวหน้าของสังคม ดังต่อไปนี้

ประการแรก “เสรีภาพ” เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้ การแสดงความเห็นจากมุมมอง หรือวิธีคิดที่แตกต่างบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง จะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์และสังคม มีความรู้และสติปัญญามากขึ้น สามารถจัดการปัญหา และเผชิญหน้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์จำนวนมากในมหาวิทยาลัย จึงไม่ได้เป็นการสอนให้ท่องจำและยึดมั่นในวิธีคิดและอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งโดยปราศจากการโต้แย้ง เพราะบทเรียนจากประวัติศาสตร์ทั้งในสังคมไทยและสังคมอื่นๆ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การปลูกฝังอุดมการณ์หรือ “ความเชื่อ” หนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมหมายถึง การทำให้คนในสังคมยอมรับโครงสร้างอำนาจแบบใดแบบหนึ่งที่คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และอาจส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรง หรือแม้กระทั่งการเข่นฆ่าผู้คนร่วมสังคมที่ปฏิเสธโครงสร้างอำนาจดังกล่าว

ดังนั้น คณาจารย์จำนวนมากจึงเห็นว่าการทำให้เกิดทัศนะวิพากษ์หรือมุมมองที่แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคม เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถคิดได้เอง และมีความเคารพตลอดจนความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจในผู้คนที่มีมุมมองแตกต่างจากตนเองอย่างแท้จริง

ประการที่ 2 ในสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์ที่ชีวิตและความคิดของผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย การใช้อำนาจบังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติไปในรูปแบบเดียวกัน อาจจะทำให้เกิดความสงบได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ภาวะแห่งสันติสุขได้อย่างแท้จริง

การสร้างความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องต่างๆ รวมทั้งความชอบธรรมในการใช้อำนาจ จำเป็นต้องมีรากฐานอยู่บนการถกเถียงกันด้วยความรู้ เหตุผล และข้อเท็จจริง ในบรรยากาศของความเสมอภาคและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย

การแสดงความคิดเห็นต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นในทางวิชาการ เสรีภาพในกระบวนการจัดการเรียนการสอน เสรีภาพในการถกเถียง และแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผลระหว่างฝ่ายๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกัน อันนับเป็นหลักการพื้นฐาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในโลกปัจจุบันและในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อความงอกงามทางปัญญา

การยืนยันถึงเสรีภาพของเหล่าคณาจารย์จึงเป็นการยืนยันถึงความชอบธรรมพื้นฐานที่ดำรงอยู่โดยทั่วไป ซึ่งได้รับการเคารพและยอมรับให้เป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนทุกกลุ่ม

การยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยและชี้แจงต่อสังคมถึงหลักการดังกล่าวข้างต้น อันเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการตามปกติ

ความเห็นทางวิชาการ ที่คนทั่วไปในสังคมจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญาณและความคิดความเชื่อของแต่ละบุคคล

การแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะไม่ใช่การมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นกิจกรรมทางวิชาการทั่วๆ ไป ที่ถือเป็นธรรมเนียมและเป็นภารกิจที่สำคัญของนักวิชาการในสังคมไทย ที่ต้องการสื่อสารต่อสังคม

หากกิจกรรมเช่นนี้ถูกตีความเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย ก็ย่อมส่งผลให้กิจกรรมทางวิชาการจำนวนมาก ที่มีขึ้นเพื่อความงอกงามทางปัญญา และเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม เช่น การเสวนาวิชาการ การประชุมวิชาการ การปาฐกถาทางวิชาการ การนำเสนองานวิจัย การอบรมให้ความรู้ต่อชุมชนในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และไม่อาจดำเนินการได้ด้วยเช่นกัน

หากเป็นเช่นนั้นย่อมสร้างความเสียหายต่อสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างไม่อาจประเมินค่าได้

การใช้เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แห่งสหประชาชาติ ที่ประเทศได้ลงนามเป็นภาคีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม

เสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 ที่ว่า สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว โดยประเทศไทยเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แห่งองค์การสหประชาชาติ นับแต่ปี พ.ศ. 2539 ทำให้ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศดังกล่าว

การแสดงออกทางของเสรีภาพทางวิชาการอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดสันติและความสงบสุขในสังคม เป็นการกระทำที่เป็นไปตามความมุ่งหมายของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตอันเป็นการส่งเสริมประบอบประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งของการลดสภาวะความตึงเครียดในสังคม ส่งเสริมบรรยากาศแห่งการปรองดอง”

เชื่อมั่นว่าความทั้งหมดของคำให้การนี้ เป็นความคิดพื้นฐานของการเรียนการสอนและความปรารถนาของอาจารย์มหาวิทยาลัย นายกรัฐมนตรีควรจะทำความเข้าใจด้วยครับ



ที่มา: เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.