Posted: 20 Feb 2018 12:01 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ผลจากการที่รัฐบาลกัมพูชาลิดรอนเสรีภาพประชาชนทำให้ทางการเยอรมนีวางแผนออกมาตรการเริ่มจากการระงับวีซาเดินทางส่วนตัวของ ฮุนเซน นายกฯ และเจ้าหน้าที่ทหาร-ผู้พิพากษาระดับสูง และอาจจะมีการพิจารณามาตรการอื่นๆ ร่วมกับสหภาพยุโรปอีกหลังจากนี้

19 ก.พ. 2561 หลังจากที่มีการตั้งกระทู้ถามโดยรัฐสภา รัฐบาลเยอรมนีได้ออกมาตรการที่จะกดดันรัฐบาลกัมพูชาในกรณีที่รัฐบาลกัมพูชาทำการลิดรอนเสรีภาพสื่อ เอ็นจีโอ และผ่ายตรงข้ามทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา มาตรการดังกล่าวมีการพิจารณามาแล้วเป็นเวลาหลายเดือนก่อนหน้านี้และออกมาโดยไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็มีการเปิดเผยต่อสื่อในเรื่องนี้

พนมเปญโพสต์รายงานเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลกัมพูชามีแผนการระงับวีซาแบบพิเศษของสมาชิกรัฐบาลกัมพูชาที่ใช้ในการเดินทางส่วนตัว รวมถึงวีซาของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ครอบครัวของเขา เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง รวมถึงประธานศาลสูงสุดของกัมพูชา นอกจากนี้ทางการเยอรมนียังเสนอให้สมาชิกสหภาพยุโรปวางมาตรการแบบเดียวกันด้วย

ผู้ที่เสนอตั้งกระทู้ถามรัฐสภาเยอรมนีในเรื่องนี้คือ ฟริธจอฟ ชมิทธ์ ตัวแทนของนักการเมืองพรรคกรีนของเยอรมนี กระทู้ดังกล่าวต้องการยกประเด็นเรื่องที่เยอรมนีควรจะโต้ตอบ "การรื้อทำลายประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา"

สก ไอศาน โฆษกพรรครัฐบาลของกัมพูชากล่าวว่าการถูกยกเลิกวีซาพิเศษของพวกเขา "ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นการประหยัดเงิน" เพราะไม่ต้องจ่ายเงินไปเที่ยวในเยอรมนี โฆษกรัฐบาลบอกอีกว่าต่อให้มีคนเสนอให้เขาไปเที่ยวเขาก็จะไม่ไปเยอรมนี

นอกจากเรื่องวีซาแล้วเยอรมนียังเคยสั่งเลื่อนการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับ "การให้คำปรึกษาทางการเมืองตามปกติ" เพื่อเป็นการโต้ตอบกรณีที่รัฐบาลกัมพูชาจับกุมเข็ม โสกา หัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน และสั่งยุบพรรค อีกทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาอนุญาตให้ทางการเยอรมนีและยุโรปเข้าเยี่ยมเข็ม โสกา ด้วย

อีกมาตรการหนึ่งที่กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีใช้โต้ตอบการลิดรอนสิทธิฝ่ายตรงข้ามของกัมพูชาคือยกเลิกการให้ซาร์ เก็ง รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเข้าเยือนเยอรมนี โดยบอกว่าเยอรมนีมีจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตย

สื่อพนมเปญโพสต์ระบุว่าหลังการโต้ตอบดังกล่าวแล้วตัวแทนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจากกัมพูชาก้เข้าพบกับทางการเยอมนีหลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือ มู โสเจือ รองหัวหน้าพรค CNRP ผู้ลี้ภัยหลังกรณีการปราบปรามหนักในช่วงปี 2560 ที่พบปะหารือเรื่องความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน เรียกร้องการปล่อยตัวเข็ม โสกา และการคว่ำบาตรจากอียู นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากพรรค CNRP รายอื่นๆ กับลูกสาวของเข็ม โสกา เข้าพบฝ่ายการต่างประเทศของเยอรมนีด้วย

ท่าทีเช่นนี้ของเยอรมนียังมองได้ว่าทางการเยอรมนีกำลังพิจารณากลับมาสนับสนุนเงินทุนเพื่อโครงการเกี่ยวกับระบบธรรมาภิบาลในกัมพูชาอีกครั้ง ซึ่งถ้าหากเยอรมนีไม่สนับสนุนโครงการนี้ต่อก็จะเป็นการละเมิดข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีสที่ให้ช่วยฟื้นฟูและพัฒนากัมพูชาหลังเกิดเหตุสังหารหมู่

ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาโต้ตอบในเรื่องนี้ด้วยการเผยแพร่เอกสารแสดงความคิดเห็นของตัวเองเป็นจำนวน 11 หน้า โดยอ้างว่ากัมพูชายังต้องการเวลา การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพในการไปถึงเป้าหมาย "ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในอุดมคติ" ซึ่ง "ชาติตะวันตกใช้เวลาสองถึงสามศตวรรษในการบรรลุเป้าหมาย"

"ประชาธิปไตยแบบรัฐในฝันนั้นยั้งไว้ก่อน!" ทางการกัมพูชาระบุถึงเรื่องนี้ในเอกสารแสดงความคิดเห็น พวกเขายังเรียกร้องให้ชาติตะวันตก "กลับมามีสติ" และไม่ทำการคว่ำบาตรพวกเขา

นอกจากเยอรมนีแล้วประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาครง ก็เคยพูดถึงกัมพูชาไว้ว่ามีสถานการณ์น่าเป็นห่วงและเรียกร้องให้เคารพประชาธิปไตย ส่วนคณะกรรมาธิการยุโรปจะมีการประชุมกันในเรื่องนี้วันที่ 26 ก.พ. ที่จะถึงนี้เพื่อหาว่าจะมีปฏิบัติการอย่างไรเกี่ยวกับกัมพูชา


เรียบเรียงจาก

Germany puts pressure on Cambodia, ending preferential visa treatment for Hun family and high-ranking officials, The Phnom Penh Post, 19-02-2018
http://phnompenhpost.com/national-politics/germany-puts-pressure-cambodia-ending-preferential-visa-treatment-hun-family-and

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
รัฐสภากัมพูชา ผ่านกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นักสิทธิฯ หวั่นถูกใช้เหมือนไทย
สหรัฐฯวิจารณ์ไทย ปมส่งกลับ ‘มือขว้างรองเท้า’ ใส่ป้าย ‘ฮุน เซน’ ทั้งที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัย
วิวาห์ล่มเพราะ 'เผด็จการ' ชายกัมพูชาถูกจับในวันแต่งงานหลังวิจารณ์รัฐบาลทางเฟสบุ๊ค

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.