ภาพประกอบ: ญี่ปุ่นมอบหีบบัตรเลือกตั้งให้กัมพูชา


Posted: 22 Feb 2018 02:59 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

เห็นมีคนต่อต้านการเลือกตั้งเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วให้มีความรู้สึกแปลกๆ ว่ากันตามตรงประชาชนทั่วไปน่าจะอยากเลือกตั้งเพราะอย่างน้อยที่สุดเขาได้มีส่วนร่วมทางการเมืองและคัดเลือกคนที่จะบริหารประเทศด้วยตัวเอง

อีกอย่างหนึ่งเอาเข้าจริงแล้วการเลือกตั้งนี่แหละเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองที่อยู่ในอำนาจปัจจุบันต้องการมากด้วย เพราะมันเป็นความชอบธรรมอย่างเดียวที่พอจะอ้างได้ว่า มาจากประชาชน ประเทศที่ปกครองด้วยอำนาจนิยมก็ต้องการเลือกตั้้ง คนที่ต่อต้านการเลือกตั้งดูเป็นสิ่งที่แปลกพิกล

ในภูมิภาคของเราหลายประเทศก็กำลังขมีขมันในการจัดการเลือกตั้ง เลยอยากจะร่วมเสนอมุมมองดูบ้าง ว่าจริงๆ แล้วการเลือกตั้งอาจจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง ประชาธิปไตยหรืออำนาจนิยม ?

ฮุนเซนแห่งกัมพูชาและพลเอกประยุทธ์ของไทย ทำเหมือนๆกันคือ ออกแบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อรองรับการกลับมาหลังการเลือกตั้ง (หรืออีกนัยหนึ่งคือ สืบทอดอำนาจ)

กัมพูชากำหนดการเลือกตั้งในเดือนกรกฏาคม ฮุนเซนได้ใช้กฎหมายทุกชนิดที่มีอยู่ในมือหรือเขียนขึ้นมาใหม่ เพื่อกำจัด CNRP ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมือง หัวหน้าพรรคคือ เข็ม สุขา ถูกจับกุมฐานกบฎในเดือนกันยายนปีที่แล้วและยุบพรรคในเดือนพฤศจิกายน หลังจากได้แก้กฎหมายพรรคการเมืองตอนเดือนกรกฏาคมปีที่แล้ว เพื่อระบุให้ การพบปะกันระหว่างสมาชิกพรรคกับอดีตผู้นำพรรคที่ต้องคดี (สม รังสี) นั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (คล้ายๆกับกรณีของไทยด้วยเช่นที่มีการขู่ยุบพรรคไทยรักไทยเพราะสมาชิกพรรคส่วนหนึ่งไปพบกับทักษิณ)

ปัจจุบันถือได้ว่าฮุนเซนและพรรคซีพีพีของกัมพูชานั้นไม่มีคู่แข่งเลย เพราะพรรคที่เคยเป็นคู่แข่งอย่างเช่น ฟุนซินเปกของเจ้ารณฤทธิ์นั้นอ่อนแอมากทั้งในแง่การจัดตั้ง การบริหารและ platform ทางการเมืองไม่มีทางที่พรรคการเมืองนี้จะเติบโตขึ้นมาได้ในระดับการเลือกตั้งปี 1993 อีกต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้

ประเทศไทยนั้นการเลือกตั้งอาจจะล่วงเลยไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2019 หรือนานกว่านั้น ซึ่งเป็นปีที่ไทยมีกำหนดจะเป็นประธานอาเซียนพอดี ถ้าเป็นไปได้คงอาจจะพอเป็นข้ออ้างให้อยู่ในอำนาจได้ต่อไปอีก 1 ปี

ในมาเลเซียนั้น แมนเดทของนาจิ๊ปจะหมดภายในกลางปีนี้ ตามกำหนดควรจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนสิงหาคม แต่มีความเป็นไปได้ว่า พรรคอัมโนและแนวร่วม Barisan Nasional น่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในเร็ววันนี้เพื่อชิงความได้เปรียบ

พรรคอัมโนนั้นปกครองมาเลเซียมานานกว่าครึ่งศตวรรษนับแต่ได้เอกราชจากอังกฤษในปี 1957 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นในระดับตัวบุคคลและกลุ่มต่างๆในพรรคอัมโนมากกว่า นาจิ๊บ ผู้นำคนปัจจุบันและเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย มีเรื่องอื้อฉาวมากมาย เช่น MBD1 แต่ดูเหมือนนักสังเกตุการณ์ในมาเลเซียส่วนใหญ่ให้ความเห็นตรงกันว่า ไม่ทำให้นาจิ๊ปมีความสะทกสะท้านอะไรมากนัก

การเมืองในมาเลเซียนั้นมีองค์ประกอบของเชื้อชาติและศาสนาอยู่มาก สิ่งที่พรรคอัมโนพยายามทำคือเอาชนะใจทั้งคนเชื้อสายมาเลย์ที่นับถือศาสนาอิสลามไม่ว่าพวกสายกลางหรือพวกที่ค่อนข้างเคร่ง และคนเชื้อชาติอื่นให้มาสนับสนุนพรรค การได้พรรคปาสซึ่งนิยมอิสลามเข้ามาอยู่ใน BN เมื่อเร็วๆนี้ อาจจะทำให้กลุ่มมุสลิมที่ค่อนข้างเคร่งครัดเทคะแนนให้พรรคพันธมิตรรัฐบาล แต่การที่สมาคมคนจีนแยกตัวออกไป และการเกิดขึ้นมาของพันธมิตรฝ่ายค้านใหม่อย่างมหาเธร์ โมฮัมหมัดอดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้อัมโนและบีเอ็นต้องทำงานหนักขึ้นในหมู่คนจีนและมาเลย์ส่วนหนึ่งที่นิยมในตัวอดีตนายกและอดีตศิษย์ก้นกุฎิอันวาอิบราฮิมที่เคยห้ำหั่นกันมาตั้งปีปลายทศวรรษ 1990s หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง นั้นอาจจะพอทำให้พันธมิตรฝ่ายค้านเข้มแข็งขึ้นมาบ้าง

แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังลงความเห็นค่อนข้างตรงกันว่า โอกาสที่พันธมิตรฝ่ายค้านจะชนะเลือกตั้งพอจะจัดตั้งรัฐบาลได้คงมีไม่มากนัก แม้ว่าไม่ได้เป็นศูนย์เหมือนกับกัมพูชาเสียเลยทีเดียว

จากทั้งหมดที่กล่าวมา หลังการเลือกตั้ง อำนาจนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่จะแข็งแกร่งมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ไม่นับประเทศที่มีระดับความเป็นเผด็จการรวมศูนย์อยู่สูงเช่น ลาว หรือ เวียดนาม ซึ่งใช้อำนาจกับประชาชนหนักข้อขึ้นทุกวัน

หรือแม้แต่ในพม่า อองซานซูจี ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ได้เข้มแข็งไปกว่า Tatmadaw เลยแม้จะปรากฎว่ามี popular support มากเพียงใดก็ตาม ปรากฏว่าอองซานซูจีกลับติดกับดักอันนั้นเสียเอง เธอไม่กล้า address ปัญหาโรฮิงญาอย่างถึงรากถึงแก่นเพราะเกรงว่าจะเสียคะแนนนิยมจากชนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวพุทธเชื้อสายพม่า การละเมิดสิทธิทางการเมือง สิทธิในการแสดงออก และสิทธิสื่อมวลชนยังคงเป็นไปอย่างกว้างขวางในพม่าใต้จมูกของอองซานซูจีเองหรือในหลายกรณีก็รู้เห็นเป็นใจ ให้ท้าย หรือละเลยไม่เอาใจใส่

ความเปลี่ยนแปลงในสหรัฐและยุโรป ทำให้ระบอบอำนาจนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้อเล่นกับท่าทีของประเทศที่เคยเป็นเจ้าแห่งประชาธิปไตยและสิทธิมนุษย์ได้อย่างสะดวกสบาย นาจิ๊ปและประยุทธ์ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทำเนียบขาวเมื่อปลายปีที่แล้ว ไม่นานหลังจากนั้น สหภาพยุโรปมีมติที่จะติดต่อกับประเทศไทยในทุกระดับ

ฮุนเซนเย้ยหยันทั้งสหรัฐและอียู ต่อท่าทีและการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดการกับฝ่ายค้านของเขา เพราะมีจีนคอยให้ท้าย เขาไม่ยี่หระต่อความช่วยเหลืออันน้อยนิดของอียูในเมือจีนทุ่มเททรัพยากรและแรงอุดหนุนทางการเมืองให้เขาอย่างไม่เคยมีมาก่อนจากประเทศที่เคยส่งตัวแทนไปรบกันในป่ามาเป็นเวลาถึง 1 ทศวรรษ เมื่อจีนสมคบกับไทยสนับสนุนเขมรแดงบ่อนเซาะรัฐบาลในพนมเปญก่อนการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในปี 1993 นี่ยังไม่นับญี่ปุ่นที่ต้องแข่งขันทางอำนาจกับจีนด้วย กลายเป็นว่าใครๆ ก็ต้องการ friendly dictatorship กันทั้งนั้น

กลุ่มพลังประชาธิปไตยในทางสากลนั้นเหลืออยู่แต่เพียงเอ็นจีโอและขบวนการประชาชนในแต่ละประเทศก็ค่อนข้างอ่อนแอ ในประเทศไทยนั้นคนที่ยืนอยู่แถวหน้าของประชาธิปไตยก็มีแต่ รังสิมัน โรม จ่านิว โบว์ ณัฎฐา และคณะเท่านั้น

ในขณะที่พรรคการเมืองและชนชั้นสูงสนุกสนานกับการเมืองแนวสัจจะนิยมที่ไร้อุดมการณ์ ไม่มีมิตรและศัตรูทางการเมืองที่ถาวร การเลือกตั้งที่มีคนเรียกร้องให้เกิดขึ้นเร็ววันกลับกลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับพวกเขา ตราบเท่าที่การวางรากฐานกลับคืนสู่อำนาจยังไม่พร้อม การเลือกตั้งในสภาพที่เป็นอยู่ในหลายประเทศคงไม่นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม dilemma สำหรับไทยคือว่า การรออยู่ต่อไป ก็ไม่มีประชาธิปไตยอีกเช่นกัน แต่ทว่าการเลือกตั้งก็อาจจะเป็นสิ่งที่พอเป็นไปได้ที่สุดสำหรับการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างสันติ



หมายเหตุ: ปรับปรุงจากคำอภิปราย การเมืองที่ (ไม่) เป็นประชาธิปไตย มหาวิทยาลัย วลัยลักษณ์ 22 กุมภาพันธ์ 2018
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.