Posted: 20 Feb 2018 06:31 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สุรพศ ทวีศักดิ์

ช่วงนี้ในโลกโซเชียลกำลังเกิดกระแสอยากให้เลิกใช้คำว่า “สลิ่ม” เช่นมีเฟสบุ๊คแฟนเพจสนับสนุนการเลิกใช้คำว่า "สลิ่ม" และ "ควายแดง"คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด ก็สนับสนุนการเลิกใช้คำว่าสลิ่ม ด้วยเหตุผลว่า


คำว่าสลิ่มได้เกินเลยกลายเป็นคำด่ากัน เชิงดูถูกกัน เนื่องจากมองว่าพวกนี้เป็นพวกอนุรักษ์นิยม แต่ใช้ชีวิตทุนนิยม ไม่มีหลักการ ขัดแย้งกันเอง ภายนอกดูดีแต่ภายในห่วยแตก ปีกฝ่ายทางการเมือง บางครั้งก็คลางแคลงใจ เราเห็นไม่ตรงกันมากขนาดนั้นเลยหรือ ทั้งที่จริงๆ อาจไม่ได้เห็นต่างกันมากขนาดนั้นก็ได้

อันที่จริงมีผู้เสนอให้เลิกใช้คำว่า “สลิ่ม” มาตั้งแต่ปี 2011 แล้วโดยนักวิจัยหมูหลุม ด้วยเหตุผลว่าสลิ่มเป็นคำดูถูกหรือประณามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง, คนไม่เลือกฝ่าย, ชนชั้นกลางกรุงเทพฯ แบบ “ตีขลุม” หรือ “เหมารวม” สลิ่มจึงเป็นคำที่สร้างความขัดแย้งและผลักฝ่ายกลางๆ ให้เป็นศัตรู

ดูเหมือนความหมายของสลิ่มดังกล่าว จะมุ่งไปที่ “กลุ่มคน” หรือฝักฝ่ายทางการเมืองซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเสื้อแดง หรือคำว่าสลิ่มคือคำที่ฝ่ายเสื้อแดงใช้เรียกเสื้อเหลืองหรือกลุ่มคนที่แสดงออกว่าเป็นกลาง ไม่เลือกฝ่าย แต่จริงๆ มีทัศนะทางการเมืองไปทางเหลือง ขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงเองก็ถูกฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า “ควายแดง” มาก่อนที่จะมีการเรียกอีกฝ่ายว่าสลิ่ม

อย่างไรก็ตาม มีนิยามของ “สลิ่ม” ที่สะท้อนทัศนะหรือวิธีคิดบางอย่างที่มีอยู่จริงหรือปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันว่า


“สลิ่มคือบุคคลที่หลงคิดว่าตนมีสติปัญญา คุณสมบัติ ความเชื่อ ค่านิยม หรือจริยธรรมเหนือกว่าผู้อื่น ทว่าแท้จริงกลับไม่มีความคิดเป็นของตนเอง ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่สามารถใช้ตรรกะหรือแสดงเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ จึงมักอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือมีความเชื่อที่ผิดอยู่เสมอ ทั้งยังปากว่าตาขยิบ มีอคติและความดัดจริตสูง เกลียดนักการเมือง และไม่ชอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน”

(https://th.wiktionary.org/wiki/สลิ่ม)

จะเห็นว่าสภาวะหรือปรากฏการณ์แบบสลิ่มคือ “ความย้อนแย้ง” ดังเช่นเรียกร้องอำนาจรัฐที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่กลับยอมรับและสนับสนุนอำนาจจากรัฐประหารที่ตรวจสอบไม่ได้ หลายคนแสดงออกว่าเป็นกลาง ไม่เลือกฝ่าย ไม่เลือกสี แต่เข้าไปรับตำแหน่งต่างๆ โดยการแต่งตั้งของรัฐบาลจากรัฐประหาร

ในแง่ “ศีลธรรมสาธารณะ” ของโลกสมัยใหม่ ย่อมหมายถึงการเคารพปกป้อง “ความชอบธรรม” ตามกระบวนการประชาธิปไตย และการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ อำนาจของประชาชน แต่สำหรับชาวสลิ่มกลับอ้าง “ศีลธรรม” ส่วนตัว เช่นความดี ความเป็นคนดีตามคำสอนทางศาสนาให้ความชอบธรรมและสนับสนุนการเข้าสู่อำนาจ การรับตำแหน่งผ่านกระบวนการรัฐประหาร ซึ่งขัดแย้งกับศีลธรรมสาธารณะอย่างสิ้นเชิง

สภาวะความย้อนแย้ง/ขัดแย้งในตัวเองแบบสลิ่มดังกล่าว ย่อมไปกันได้ดีหรือกลมกลืนกับความย้อนแย้ง/ขัดแย้งในตัวเองทั้งในเชิงระบบโครงสร้าง นโยบาย วิธีคิดและการกระทำระดับรัฐ เช่นในเชิงระบบ/โครงสร้าง มีรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน แต่กลับมีมาตราอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญนั้นเองที่ตีกรอบให้ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ เสรีภาพได้เต็มความหมายของหลักสิทธิ เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งยังมี ม.44 และคำสั่ง คสช.ฉบับต่างๆ ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญเสียเอง

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงนโยบาย วิธีคิด และการกระทำที่ขัดแย้งในตัวเองตลอดเวลา อย่างที่เห็นๆ กันคือ ขณะที่ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับตั้งข้อหา ดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพชุมนุมทางการเมืองตามหลักสิทธิมนุษยชน

อันที่จริง สภาวะย้อนแย้ง/ขัดแย้งในตัวเองแบบสลิ่มดังกล่าว ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจำเพาะกับคนกลุ่มไหนหรือสีใดสีหนึ่งเท่านั้น มันอาจเกิดขึ้นได้ในคนทุกสีทุกฝ่าย หรือทุกคน

ในทางสังคมจิตวิทยา สภาวะย้อนแย้งแบบสลิ่มย่อมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่มีสาเหตุจากกระบวนการหล่อหลอมหรือขัดเกลาทางสังคม เมื่อเราได้ยินพระเซเลบพูดว่า “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก เราควรส่งออกสันติภาพตามหลักคำสอนพุทธศาสนาสู่ชาวโลก” เราเข้าใจได้ว่านี่เป็นวิธีคิดแบบไทย และเมื่อนำไปเชื่อมโยงกับวิธีคิดแบบไทยที่ชนชั้นนำไทยตอกย้ำมาตลอดว่า “ประชาธิปไตยเป็นของตะวันตก เราจะเป็นประชาธิปไตยแบบเขาไม่ได้ ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไทย (นิยม) เท่านั้น” เราย่อมเห็น “ความย้อนแย้ง” ได้ชัดเจน

นั่นคือ เมื่อคุณบอกว่า “เราควรส่งออกสันติภาพตามหลักคำสอนพุทธสู่ชาวโลก” คุณกำลังยก “สิ่งเฉพาะ” ตามความเชื่อทางศาสนาพุทธไทยให้กลายเป็น “สิ่งสากล” สำหรับชาวโลก ขณะที่เมื่อคุณพูดว่า “ประชาธิปไตยเป็นของตะวันตก” คุณกำลังเบลอความหมายของหลักการประชาธิปไตยซึ่งมีความหมายในเชิงสากลสำหรับมนุษย์ทั่วไปที่มีสิทธิ์จะนำมาใช้ได้ให้กลายเป็นเพียง “สิ่งเฉพาะ” ของชาวตะวันตก เมื่อเป็นสิ่งเฉพาะของชาวตะวันตก เราไม่ใช่ชาวตะวันตกจึงมีประชาธิปไตยแบบเขาไม่ได้ ก็ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไทย ซึ่งย่อมไม่ใช่ประชาธิปไตยในความหมายของ “เสรีประชาธิปไตย” อย่างที่รับรู้กันในโลกสมัยใหม่

รากฐานของวิถีคิดแบบไทยคืออะไร? ผมอยากชวนดูภาพอุปมาการปกครองที่ดีและเลวของ Ambrogio Lorenzetti จิตรกรชาวอิตาลี ภาพแรกคือภาพอุปมาการปกครองที่ดี (Allegory of Good Government)


ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/The_Allegory_of_Good_and_Bad_Government

ภาพนี้แสดงบุคลาธิษฐานว่า ผู้ปกครองที่ทรงเกียรติ ต้องที่เป็นคนมีคุณธรรม เช่นความกล้าหาญ ความยุติธรรม ความใจกว้าง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสุขุมรอบคอบย่อมปกครองบ้านเมืองให้ผู้ใต้ปกครองทุกชนชั้นมีความสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง ส่วนภาพที่สองเป็นภาพอุปมาการปกครองที่เลว (Allegory of Bad Government)


ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/The_Allegory_of_Good_and_Bad_Government

แสดงอุปมาว่าเมื่อผู้ปกครองเลว ไร้คุณธรรม ผู้ใต้ปกครองย่อมแร้นแค้น เบียดเบียนทำร้ายกัน บ้านเมืองไร้ความสงบสุข

ผมชวนดูภาพดังกล่าวนี้ เพื่อที่จะบอกว่าเราสามารถเห็นความคิดเรื่องการปกครองที่ดีและเลวในยุคก่อนสมัยใหม่ย้อนไปถึงยุคโบราณแบบนี้ได้ทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก ในพระไตรปิฎก (เช่นจักกวัตติสูตร) ก็บรรยายภาพการปกครองที่ดีและเลวทำนองเดียวกันนี้ ต่างกันเพียงรายละเอียดบางอย่าง

แต่เมื่อตะวันตกเปลี่ยนแปลงสู่สภาวะสมัยใหม่ ก็เกิดปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ที่ไม่ถือว่าการปกครองที่ดีอยู่บนฐานคิดเรื่อง “คุณธรรมของผู้ปกครองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ” อีกต่อไป แต่เป็นการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยที่อยู่บนฐานคิดที่ว่ารัฐมีอำนาจจำกัดหรือมีอำนาจน้อยที่สุด เพื่อให้ปัจเจกบุคคลมีสิทธิ เสรีภาพมากที่สุดตราบที่การใช้สิทธิ เสรีภาพนั้นไม่ก่ออันตรายแก่คนอื่น รัฐต้องให้หลักประกันสิทธิ เสรีภาพของปัจเจกบุคคล เพราะนี่คือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชน คือการสร้างพื้นที่เพื่อการเติบโตเต็มตามศักยภาพของปัจเจกบุคคล และให้หลักประกันประโยชน์สุขของส่วนรวมหรือความก้าวหน้าของมนุษยชาติ

ปัญหาคือบนฐานคิด “ความเป็นไทย” ณ ศตวรรษที่ 21 ยังเป็นฐานคิดที่ยึดถือคุณธรรมของผู้ปกครองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ (ตามคำสอนพุทธไทย) อยู่เลย แต่ความขัดแย้งในสังคมเราก็ไม่ได้ต่างจากความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในโลกตะวันตก คือเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่ยึดติดกับฐานคิดเก่ากับฝ่ายที่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่ฐานคิดใหม่ หรือเป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างชนกลุ่มน้อยที่เป็นอภิสิทธิ์ชนที่พยายามรักษาสถานะ อำนาจที่ได้เปรียบ กับคนส่วนใหญ่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสู่ความเท่าเทียมมากขึ้น

ภายใต้ความขัดแย้งเช่นนี้ สภาวะย้อนแย้งแบบสลิ่ม ก็คือสภาวะย้อนแย้งระหว่างเก่ากับใหม่ที่ไม่ลงตัว กลายเป็นความขัดแย้งในตัวเองทั้งในวิธีคิด การกระทำของผู้คนในสังคม ไปจนถึงระบบโครงสร้าง นโยบาย และการใช้อำนาจรัฐ

ถึงเราเลิกใช้คำ “สลิ่ม” ก็ไม่ได้แปลว่าสภาวะย้อนแย้ง/ขัดแย้งในตัวเองแบบสลิ่มจะหายไป มันอาจจะยังทรงอิทธิพลในฐานะและบทบาทของอำนาจนำทางการเมืองและอำนาจนำทางวัฒนธรรม ที่แสดงออกภายในระบบและการใช้อำนาจแบบขัดแย้งในตัวเองของรัฐ อยู่ในวิธีคิดและการกระทำของผู้คนไม่ว่าฝ่ายใดๆ หรือแม้กระทั่งในตัวเราเอง

แน่นอนว่า อาจจะดีถ้าหากคนในสังคมรู้สึก “อ่อนไหว” และระมัดระวังที่จะไม่ใช้คำ “สลิ่ม” ดูถูกกัน แต่ถ้าผู้คนไม่รู้สึกรู้สาต่อสภาวะย้อนแย้ง/ขัดแย้งในตัวเองแบบสลิ่มที่ทรงอิทธิพลในทางเป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้งดังที่กล่าวมา การเลิกใช้คำว่าสลิ่มก็แค่การหลอกตัวเองว่าสังคมเราไม่สลิ่มนะจ๊ะ

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.