Posted: 20 Feb 2018 02:08 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ข้อถกเถียงหลังเหตุกราดยิงล่าสุดในโรงเรียนที่สหรัฐฯ เรื่องกฎหมายคุมอาวุธปืนอีกครั้ง นักวิจัยด้านวัยรุ่นและกระบวนการยุติธรรมตั้งข้อสังเกตจากสถิติตัวเลขว่าในรัฐที่อัตราการสังหารด้วยปืนลดลงมาก อาจจะมาจากปัจจัยอื่นนอกเหนือจากกฎหมายควบคุม เพราะแม้แต่เท็กซัสที่กฎหมายควบคุมอาวุธปืนไม่เข้มงวดเหตุสังหารด้วยปืนก็ลดลง

19 ก.พ. 2561 กลายเป็นประเด็นที่พูดถึงตามหน้าสื่อต่างประเทศอีกครั้ง หลังจากที่สหรัฐฯ เกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียนอีกครั้งเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงจากอาวุธปืนและการหาทางป้องกันเหตุกราดยิง ซึ่งในครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนไฮสคูลแห่งเมืองพาร์กแลนด์ รัฐฟลอริดา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย

มีการตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากนั้นบรรยากาศแบบเดิมๆ หลังเหตุกราดยิงก็กลับมาเช่นการแสดงความหดหู่สิ้นหวัง ความโกรธในประเด็นเรื่องการครอบครองอาวุธปืนในสหรัฐฯ และประเด็นแวดล้อมอื่นๆ เกี่ยวกับเหตุกราดยิงในโรงเรียนเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาหลายสิบครั้งแล้ว

ในระดับปฏิบัติการนักเรียนและนักการศึกษาในสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการเดินออกจากห้องเรียนเพื่อประท้วงพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 20 เม.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการครบรอบ 19 ปี การกราดยิงที่โรงเรียนโคลัมไบน์ เพื่อเป็นการประท้วงที่ทางการสหรัฐฯ ตลอด 19 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้เลย

ทั้งนี้ นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์เพื่อวัยรุ่นและกระบวนการยุติธรรมในซานฟรานซิสโก ไมค์ มาเลส์ ระบุถึงประเด็นนี้ในเชิงข้อมูลตัวเลขว่ามีสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 3 รัฐในสหรัฐฯ ที่มีจำนวนการฆาตกรรมจากอาวุธปืนลดลงมากทั้งที่มีกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนแตกต่างกันโดยสิ้งเชิงคือ นิวยอร์ก, แคลิฟอร์เนีย และเท็กซัส

มาเลส์ระบุว่าผู้คนถกเถียงกันในเรื่องความรุนแรงจากอาวุธปืนในสหรัฐฯ ด้วยอคติแบบเดิม ซึ่งถ้าหากไม่เป็นเรื่องข้ออ้างเกี่ยวกับ "คนดี" ควรถือปืนเพื่อต่อต้าน "คนไม่ดี" เช่นที่พวกฝ่ายขวาชอบใช้ ก็จะเป็นการกล่าวโทษวัยรุ่นหรือคนผิวสีในสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าตามสถิติของเอฟบีไอบ่งชี้ว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ก่อเหตุกราดยิงจะเป็นคนอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปและส่วนใหญ่เป็นคนขาวก็ตาม

ส่วนข้อถกเถียงจากฝ่ายเสรีนิยมในสหรัฐฯ ที่สนับสนุนการเช็คประวัติและการควบคุมอาวุธปืนนั้น มาเลส์ระบุว่าเป็นวิธีที่ส่งผลดีทางด้านการลดการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนและการใช้ปืนก่ออาชญากรรมในครัวเรือนก็จริง แต่ไม่ได้ส่งผลกับการฆาตกรรมนอกบ้านหรือการก่อเหตุกราดยิงเลย

มาเลส์ ชวนมองเรื่องเหตุกราดยิงในโรงเรียนของสหรัฐฯ ในมุมใหม่ๆ ด้วยการพิจารณารัฐที่มีอัตราการเกิดเหตุฆาตกรรมจากอาวุธปืนลดลงมากที่สุด 3 รัฐ ในปี 2557-2559 คือ นิวยอร์กลดลงร้อยละ 80 แคลิฟอร์เนียลดลงร้อยละ 61 และเท็กซัสลดลงร้อยละ 60 เทียบกับรัฐอื่นๆ ที่ลดลงร้อยละ 25 ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐที่มีเมืองใหญ่ๆ เหล่านี้มีอัตราการฆาตกรรมด้วยอาวุธปืนสูงมาก

จากสถิติในสหรัฐฯ ยังเผยให้เห็นอีกว่ามีอัตราการลดลงของเหตุฆาตกรรมด้วยอาวุธปืนในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี ในเมืองใหญ่ๆ ลดลงมากตั้งแต่ร้อยละ 74 ถึงร้อยละ 90 นอกจากนั้นแล้วในรัฐที่มีความรุนแรงลดลงเหล่านี้ยังมีการเติบโตด้านความหลากหลายทางเชื้อชาติโดยมีกลุ่มวัยรุ่นทั้งชาวลาติน ชาวเอเชีย และชาวแอฟริกัน

ในแง่ของความเข้มงวดด้านควบคุมอาวุธปืนนั้นขณะที่รับนิวยอร์กและแคลิฟอร์เนียมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่จริงจังและมีอัตราคนถือครองปืนต่ำ แต่ในเท็กซัสถือเป็นรัฐที่มีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนอ่อนที่สุดในประเทศสหรัฐฯ แต่ก็มีจำนวนอาชญากรรมจากอาวุธปืนน้อยลง สำหรับมาเลส์เรื่องนี้ชวนให้พิจารณาว่าการจำกัดจำนวนอาชญากรรมจากอาวุธปืนควรจะมองไปให้ไกลกว่าเรื่องกฎหมายควบคุมอาวุธปืนหรือไม่ และเหตุใดคนรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะในเท็กซัสถึงก่ออาชญากรรมจากอาวุธปืนน้อยลง มาเลส์บอกว่าน่าทำการศึกษาพลังที่ส่งผลถึงเรื่องนี้


เรียบเรียงจาก

Gun Violence Has Dropped Dramatically in 3 States With Very Different Gun Laws, Yes! Magazine, 16-02-2018
http://www.yesmagazine.org/people-power/gun-violence-has-dropped-dramatically-in-3-states-with-very-different-gun-laws-20180216

Because 'Nothing Has Changed Since Columbine,' Students, Teachers Call for Nationwide School Walkouts, Common Dreams, 17-02-2018
https://www.commondreams.org/news/2018/02/17/because-nothing-has-changed-columbine-students-teachers-call-nationwide-school

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.