Posted: 22 Feb 2018 12:44 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศาลจังหวัดกำแพงเพชรยกฟ้อง 2 จำเลยในคดี ม.112 'แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ' เหตุไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยอ้างและแสดงตัวเป็นหม่อมหลวง รวมทั้งก็ยังมีเหตุสงสัยตามสมควรเช่นกัน ปล่อยตัวจากเรือนจำในช่วงเย็นวันนี้

22 ก.พ.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดฟังคำพิพากษาในคดี “แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ” ซึ่งมีจำเลยที่ต่อสู้คดีสองราย ได้แก่ อัษฎาภรณ์ และนพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) ทั้งสองคนถูกกล่าวหาในสามข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามมาตรา 112, ข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการ และข้อหาฉ้อโกงประชาชน

ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า สำหรับจำเลยที่ 2 แม้พยานหลักฐานของโจทก์จะระบุว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปร่วมทำบุญในวันที่ 26 เม.ย. 2558 และได้ไปร่วมจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แต่ก็เป็นไปเพราะได้มีผู้จัดงานทำการเชิญและผายมือเชิญให้ขึ้นไป ไม่ปรากฏว่าได้มีการแสดงตัวว่าเป็นหม่อมหลวงแต่อย่างใด และแม้ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปร่วมงานพร้อมกับ กิตติภพและ วิเศษ ซึ่งให้การรับสารภาพในคดีก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 ได้อ้างและแสดงตัวเป็นหม่อมหลวง สำหรับจำเลยที่ 1 ก็ยังมีเหตุสงสัยตามสมควรเช่นกัน ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า การอ่านคำพิพากษาเป็นไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ก่อนช่วงเวลา 9.00 น. ทำให้ทนายความและผู้สังเกตการณ์ในคดีไปไม่ทันรับฟัง โดยจำเลยทั้งสองคนจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในช่วงเย็นวันนี้

กฤษฎีกาไม่ส่งเอกสารความเห็นเรื่องสถานะสมเด็จพระเทพฯ ตามหมายเรียกศาล
ศาลไม่ให้ประกันครั้งที่ 4 สองจำเลยคดี 112 แอบอ้าง ‘พระเทพฯ’
ศาลพิพากษา 2 จำเลยคดี 112 แอบอ้าง 'พระเทพ' สารภาพลดโทษเหลือคุก 3 ปี 8 เดือน

สำหรับคดีนี้ ทั้งสองคนถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือราชการของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้นำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร และยังมีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการกล่าวอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย คดีมีการสืบพยานโจทก์และจำเลยระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2560

คดีนี้ในตอนแรก อัยการมีการสั่งฟ้องจำเลยรวมทั้งสี่ราย เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 โดยมีสองรายได้แก่ กิตติภพและวิเศษให้การรับสารภาพ ศาลได้พิพากษาลงโทษตามความผิดมาตรา 112 ให้จำคุก 4 ปี ความผิดข้อหาสวมเครื่องแบบของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ ให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน และความผิดข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการ ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี รวมโทษจำคุก 7 ปี 4 เดือน ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุกคนละ 3 ปี 8 เดือน

ต่อมา อัยการโจทก์มีการฟ้องร้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชนต่อทั้งสี่คนเข้ามาอีก โดยที่กิตติภพและวิเศษได้ให้การรับสารภาพ และศาลได้พิพากษาให้ยกฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าเป็นความผิดจากการกระทำเดียวกันกับคดีมาตรา 112 ก่อนหน้านี้ และศาลได้พิพากษาลงโทษตามมาตรา 112 ที่มีโทษหนักที่สุดแก่จำเลยไปแล้ว จึงไม่ควรให้จำเลยต้องรับโทษอีก ต่อมาวิเศษได้รับการปล่อยตัวหลังได้รับการลดหย่อนโทษแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2560 ส่วนกิตติภพได้รับโทษในคดีอื่นต่อ

สำหรับนพฤทธิ์ ปัจจุบันอายุ 31 ปี เป็นคน จ.อุบลราชธานี เป็นอดีตนักมวยสากลและพนักงานขายของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เขายืนยันตลอดมาว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาและไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ เพียงแต่ถูกอดีตรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยชวนไปทำบุญที่จังหวัดกำแพงเพชรเพียงครั้งเดียว โดยตั้งแต่ถูกจับกุมและคุมขัง ญาติเคยยื่นขอประกันตัว 5 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต ทำให้เขาถูกคุมขังในเรือนจำมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน

ข้อต่อสู้ของนพฤทธิ์ในชั้นศาล นอกจากยืนยันว่าไม่ได้ร่วมกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา โดยไม่ได้มีพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ยืนยันได้แล้ว ยังรวมถึงข้อต่อสู้ทางกฎหมาย เรื่องสมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลตามองค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นการฟ้องซ้อนกับคดีก่อนที่ได้ฟ้องในศาลจังหวัดกำแพงเพชรเช่นกัน

สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.