Posted: 28 Oct 2018 02:40 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-10-28 16:40


คาดสงครามการค้า 'สหรัฐอเมริกา-จีน' ลุกลามสู่การแข่งขันลดค่าเงินมากขึ้น กระทบเศรษฐกิจการค้าโลกและภาคส่งออกไทยปี 2562 ความรุนแรงของสงครามทางการค้าถูกยกระดับขึ้น

28 ต.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวถึงผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐอเมริกากับจีนได้ลุกลามสู่การแข่งขันการลดค่าเงินว่ากระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาเปิดเผยรายงานนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (International Economic and Exchange Rate Policy) ล่าสุดระบุว่า จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ถูกจับตามองนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนยังขาดความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน การที่เงินหยวนอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมากว่า 7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2561 สร้างความกังวลให้กับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการอ่อนค่าของสกุลเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ที่ถูกจับตาจะส่งผลให้สงครามการค้าถูกยกระดับให้รุนแรงขึ้น เกิดความไม่สมดุลต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก อาจจะเกิดการแข่งขันการลดค่าเงินมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการส่งออกภายในประเทศ หลังจากผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของหลายประเทศชัดเจนขึ้น

ประเทศต่างๆ หันไปใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศโดยการรักษาค่าเงินอ่อนค่า จีนมีแนวโน้มหันมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นหลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า หากประเทศต่างๆ แข่งขันกันลดค่าเงินโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อกระตุ้นส่งออกและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศย่อมนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดสงครามค่าเงินและยกระดับปัญหาสงครามการค้าให้ซับซ้อนขึ้น จากการศึกษาของ Levy-Yeyati, Sturzenegger and Gluzmann พบว่าปริมาณการถือทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากแสดงให้เห็นถึงความพยายามของประเทศต่างๆที่ต้องการรักษาค่าเงินของตนให้อยู่ในระดับต่ำ ตลาดการเงินระหว่างประเทศโดยเฉพาะตลาดสินทรัพย์เสี่ยงจะมีมูลค่าลดลง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากกีดกันทางการค้าแต่จะกดดันด้วยการชะลอตัวลงจากอุปสงค์ของตลาดโลก

"หากจีนเลือกตอบโต้สหรัฐฯโดยเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะส่งผลต่อความผันผวนปั่นป่วนในตลาดการเงินโลกไม่น้อยโดยเฉพาะตลาดปริวรรตเงินตราจะมีความผันผัวนสูง ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่า 1.17 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยที่ผ่านมาตัวเลขการถือครองมีการเคลื่อนไหวขึ้นๆ ลงๆ แต่นับจนถึงเดือน ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา สัดส่วนการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ โดยรัฐบาลจีนล่าสุดยังคงลดลงต่อเนื่องจีนสามารถเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์ในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีขึ้นไป หรือควบคุมค่าเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่าความเป็นจริงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งออก" ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ในฐานะอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงข้อเสนอเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงสงครามค่าเงิน ว่าเมื่อเกิดสงครามค่าเงินแล้วไทยไม่ควรเข้าร่วมสงครามค่าเงินด้วยกระโจมเข้าสู่การแข่งขันการลดค่าเงินเพราะไม่ได้ช่วยให้แก้ปัญหาผลกระทบได้ หากจะบริหารจัดการค่าเงินให้อ่อนค่าเพื่อกระตุ้นส่งออกและการเติบโตต้องทำก่อนที่ประเทศอื่นจะดำเนินการและก่อนเกิดสงครามค่าเงิน คาดว่า สงครามค่าเงินเกิดขึ้นแน่และน่าจะทำให้ภาคส่งออกไทยขยายตัวได้ไม่เกิน 3-5% ในปีหน้า (2562) โดยที่ยอดส่งออกและนำเข้าผ่านการสั่งซื้อออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยและมักจะมีการสำแดงราคาต่ำเพื่อเลี่ยงภาษีกระทบต่อรายได้ของภาครัฐ นอกจากนี้สงครามค่าเงินจะส่งผลทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลกชะลอตัวลงไม่เป็นไปตามการคาดการณ์ล่าสุด

ระบบ Global Supply Chain เครือข่ายการผลิตและการบริหารห่วงโซ่อุปทานแบบโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดนจะถูกสั่นคลอนโดยแบ่งแยกออกเป็นสองเครือข่ายใหญ่แทนที่จะเป็นโลกาภิวัตน์หนึ่งเดียว จะแบ่งออกเป็นสองค่าย คือ ค่ายจีนและเครือข่าย กับค่ายสหรัฐฯ และเครือข่าย ไทยต้องวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศให้ดีระหว่างสองเครือข่ายนี้ และควรรักษาดุลยภาพความสัมพันธ์ให้ดีระหว่างสองเครือข่ายด้วย เพราะการตอบโต้ทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยต้องลดผลกระทบด้วยการทำให้เศรษฐกิจภายในมีความเข้มแข็งด้วยการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะในส่วนที่จะไปเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับผลิตภาพให้สูงขึ้น เพิ่มรายได้ประชาชนกระตุ้นภาคการบริโภคภายในประเทศ ไม่มีความจำเป็นในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้ และควรเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน รวมทั้งต้องทำให้เกิดความมั่นใจต่อกระบวนการเลือกตั้งในประเทศไทยว่าสามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างแท้จริงและเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ทิ้งท้ายว่าสงครามการค้าจะก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจการค้าโลกโดยรวม ในระดับประเทศยังไม่มีผลวิจัยที่สรุปได้ชัดเจนว่าการบริหารจัดการให้ค่าเงินอ่อนค่ามากๆจะส่งผลบวกต่อการเติบโตภายในประเทศในระยะยาว การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนและการควบคุมการไหลเข้าไหลออกของเงินทุนจะเป็นมาตรการที่มักใช้ในสงครามค่าเงิน และ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนนักว่าวิธีการดังกล่าวจะทำให้เกิดผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่งานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่า การลดลงของรายจ่ายภาครัฐ การเพิ่มขึ้นของระดับการออมและการลดลงของอัตราเงินเฟ้อช่วยทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลงและเป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ผลดีที่เกิดขึ้นนี้มีขนาดเล็กกว่าผลดีของนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐและการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.