Posted: 24 Oct 2018 08:25 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-10-25 10:25

สมบัติ นพรัก

มีการวิพากษ์ว่าแนวคิดการมีหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี โดยการปรับหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี หรือเพิ่มให้มีหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ด้วย ไม่มีเหตุผล ผู้เขียนซึ่งเห็นด้วยกับหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี และไม่ปฏิเสธหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี จึงหาเหตุผลมาอธิบายประกอบความเห็นว่า ทำไมเห็นด้วยกับหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ดังนี้

1. กรอบมาตรฐานคุณวุฒิ (Quqlification Framework) ของหลักสูตร

ผู้เขียนได้เคยเขียนบทความเพื่อความเข้าใจ กรอบมาตรฐานคุณวุฒิ (Quqlification Framework) เรื่อง “ชำแหละ TQF :HEd” เพื่ออธิบาย NQF ต้นแบบ คือ กรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ (National Quatifications Framework :NQF) ที่เริ่มพัฒนาปี ค.ศ. 1990 ในกลุ่มประเทศสหราชอาณาจักร 3 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เวลล์ และไอร์แลนด์เหนือ เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศมีหลักสูตรการศึกษานับเป็นร้อยหลักสูตร แต่ไม่มีการเทียบระดับของหลักสูตรเหล่านั้น ดังนั้น จึงมีการกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ

1) เพื่อจัดกลุ่มของวุฒิการศึกษาเป็น 8 กลุ่ม หรือ 8 ระดับ (level)

2) เพื่อให้นายจ้าง (ผู้ใช้) รู้ว่าวุฒิการศึกษาใด มีความรู้ ความสามารถ และการยอมรับในระดับ (level) ใด

3) เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดสรรเงินสนับสนุนของรัฐ

4) เพื่อกำหนดจำนวนหน่วยกิตของกรอบวุฒิในแต่ละระดับ ( level)

NQF จึงเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่าง QCA ของอังกฤษ DCELLS ของเวลส์ และ CCEA ของไอร์แลนด์เหนือ

ส่วนกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ได้ร่วมกันจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งสหภาพยุโรป (European Qualification Framework :EQF) ในปี ค.ศ. 2008 โดยกำหนดคุณวุฒิให้มีจำนวน 8 ระดับ (level) เช่นเดียวกับ NQF โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ

1) เพื่อเอื้อประโยชน์ในการตีความวุฒิการศึกษา

2) เพื่อใช้อ้างอิงวุฒิหรือระดับของการศึกษา

3) เพื่อใช้เทียบโอนหน่วยกิตระหว่างหลักสูตรระหว่างสถาบันและระหว่างประเทศ ทั้งในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและสหภาพอาณาจักร

ปัจจุบันได้มีการกำหนดกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ในหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อาฟริกาใต้ สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ ฮ่องกง มาเลเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี ยูเครน สวิส ฯลฯ

กรอบคุณวุฒิจะอธิบายการเรียนรู้ในระบบ (Formal Learning) ในด้านระดับคุณวุฒิ (level) ผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning outcomes) หน่วยกิต (Credit) มาตรฐานหน่วยกิต (Unit Standard) รวมทั้งการรับรองการเรียนรู้จากนอกระบบ (Informal Learning) และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย (Non - formal Learning) ด้วย

วุฒิปริญญาตรี ของประเทศไทยถูกกำหนดไว้ในระดับ 6 จากการจัดระดับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ 1-8 ระดับ ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒินานาชาติ โดยการจัดระดับกรอบคุณวุฒินั้นไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรปริญญาตรี 3 ปี หรือ 4 ปี หรือ 5 ปี ต่างก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มระดับปริญญาตรี คือระดับ 6 ทั้งสิ้น

ดังนั้น ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรครูปริญญาตรีจากต่างประเทศ จึงสามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากคุรุสภาเพื่อประกอบวิชาชีพครูในประเทศไทยได้ ไม่ว่าจะจบหลักสูตรครูปริญญาตรี 3 ปี หรือ 4 ปี มีแต่คนไทยเท่านั้นที่ต้องเรียนหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี จึงจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูในประเทศไทย เท่ากับว่าหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี ของไทย เทียบได้แค่ หลักสูตรครูปริญญาตรี 3 หรือ 4 ปี ของต่างประเทศ เท่านั้น

2. โครงสร้างหลักสูตรและจำนวนหน่วยกิต หลักสูตรครูปริญญาตรีของประเทศกลุ่มยุโรปและหลักสูตรครูปริญญาตรีของไทย

ดร.ธนกร แก้ววิลาส ได้เขียน “การปรับระบบอุดมศึกษาสู่ความเป็นสากล: เรียนรู้จากการปฏิรูประบบอุดมศึกษาในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ตามปฏิญญาโบโลญญ่า (Bologna Declaration) ว่า เป้าหมายหลักของกระบวนการโบโลญญ่าได้แก่ ปรับระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ให้สอดคล้องกัน ทำให้การศึกษาของแต่ละประเทศสามารถเปรียบเทียบกันได้

1) สร้างระบบหน่วยกิตแบบยุโรปหรือที่เรียกว่า European Credit Transfer System (ECTS)

2) ขจัดปัญหาการโยกย้ายที่เรียนที่เกิดจากระบบการศึกษาที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ

รูปแบบและระยะเวลาการศึกษาที่ประมาณการไว้ในการศึกษาหลักสูตรนั้น ๆ ดังนี้

1) Bachelor Degree ระบบ 6 ภาคการศึกษา หรือ 8 ภาคการศึกษา หรือ 7 ภาคการศึกษา จำนวนหน่วยกิต ECTS - Bachelor: 180 - 240

2) Master Degree ระบบ 4 ภาคการศึกษา หรือ 3 ภาคการศึกษา หรือ 2 ภาคการศึกษาจำนวนหน่วยกิต ECTS Master: 90 - 140

ส่วนหลักสูตรครูในประเทศฟินแลนด์ กำหนดให้เรียนทั้งทฤษฎีและปฎิบัติไม่น้อยกว่า 60 หน่วยกิต(ECTS) จากจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรปริญญาโท ของหลักสูตรครูประจำชั้นและครูประจำวิชา (300 ECTS) และหลักสูตรปริญญาตรีครูอนุบาล (180 ECTS) ทั้งนี้การฝึกปฏิบัติในวิชาครูสำหรับหลักสูตรครูประจำชั้น และครูประจำวิชา จะเป็นการฝึกสอนจำนวน 20 ECTS และ 25 ECTS สำหรับหลักสูตรครูอนุบาล

การให้หน่วยกิตตามระบบ ECTS คำนวณจากค่าเฉลี่ยภาระงานของนักศึกษา (workload) ทั้งในและนอกชั้นเรียน โดย 1 หน่วยกิต หมายถึง ภาระงาน 25-30 ชั่วโมง

สรุป ใน 1 ปีการศึกษา ถ้านักศึกษาเรียนเต็มเวลา นักศึกษาจะได้หน่วยกิต 60 ECTS (30 ECTS ต่อภาคการศึกษา เวลาเรียน 1,500 - 1,800 ชั่วโมงต่อปี)

การกำหนดหน่วยกิตตามระบบการศึกษาไทย คือ 1 หน่วยกิต บรรยายในชั้นเรียน 1 ชั่วโมง และศึกษาด้วยตนเองนอกชั้นเรียน อีก 2 ชั่วโมง หากเป็นปฏิบัติ 1 หน่วยกิต ปฏิบัติในชั้นเรียน 2 ชั่วโมง และศึกษาด้วยตนเองนอกชั้นเรียน อีก 1 ชั่วโมง ดังนั้นไม่ว่าเป็นการเรียนบรรยายหรือปฏิบัติ 1 หน่วยกิต เทียบได้กับการเรียน 3 ชั่วโมง โดยมีเวลาเรียนภาคการศึกษาปกติไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์

การเทียบหน่วยกิต ECTS กับหน่วยกิตการศึกษาของไทย กมลชนก ใจดี ได้เขียนอธิบายใน “ประสบการณ์เรียนแลกเปลี่ยนที่สวีเดน” สรุปความว่า “หนึ่งเทอมจะแบ่งเป็นสองช่วง หนึ่งวิชาจะมี 15 ECTs หรือ 7.5 ECTs (7.5 ECTs = 5.25 หน่วยกิตบ้านเรา) หนึ่งเทอมลงได้ไม่เกิน 30 ECTs หรือ 21 หน่วยกิต ช่วงแรกเรียน 15 ECTs เรียนอาทิตย์ละ สองวัน หรือ สามวัน บางสัปดาห์วันเดียวก็ยังมีวันเรียนน้อยอย่างนี้ อย่าคิดว่าว่างนะ คือต้องอ่านหนังสือ T_T เวลาเรียนที่แท้จริงของเค้าคือ 40 ชม.ต่อสัปดาห์ เพราะถ้าเรียนครั้งหนึ่ง 3 ชม. ที่เหลือต้องอ่านหนังสือ ค้นคว้า วิจัย ฯลฯ”

ข้อสังเกตุจากบันทึกของ กมลชนก ใจดี คือ เรียนอาทิตย์ละ สองวัน สามวัน บางสัปดาห์ เรียนวันเดียวโดยกำหนดเวลาเรียนสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ต่อการเรียน 21 หน่วยกิต หมายถึง การคิดหน่วยกิต ECTS ของระบบการเรียนเน้นการเรียนนอกชั้นเรียนมากกว่าในชั้นเรียน

การเทียบเคียงหน่วยกิต สามารถเทียบเคียงหน่วยกิตของไทย TCTS (Thai Credit Transfer System) กับ ECTS ตามเกณฑ์การเทียบเคียง 7.25 ECTS = 5.25 TCTS โดยหลักสูตร Bachelor Degree 180 ECTS เทียบได้กับ 130.345 TCTS โดยหากหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี (จำนวน 4 ปี เท่ากับหลักสูตรครูปริญญาตรีของสิงคโปร์ ) จะลดหน่วยกิตลง 1/5 คือ 32 หน่วยกิต จากหน่วยกิตรวม 160 หน่วยกิต ของหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี ตามเกณฑ์คุรุสภา จะเหลือหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 128 หน่วยกิต (เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ที่กำหนด 120 หน่วยกิต)

ดังนั้น จึงไม่ยากที่กรอบมาตรฐานคุณวุฒิ (Thai Qualification Framework: TQF) หลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี จะกำหนดหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 131 หน่วยกิต เพื่อให้สอดคล้องและเทียบเคียงได้กับ 180 ECTS ตามมาตรฐานหลักสูตรกลุ่มประเทศยุโรป

3. การเปิดหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี เป็นหลักสูตรใหม่ ส่งผลกระทบต่อ คณบดีและอาจารย์ ที่สอนหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี หรือไม่

หลักสูตรผลิตครูปริญญาตรี 5 ปี เริ่มใช้ในประเทศไทยเมื่อปีการศึกษา 2547 ดังนั้น หากคำนวนจากการเรียนตามหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี นิสิตนักศึกษา จะสำเร็จการศึกษา ปี พ.ศ. 2552 หากศึกษาต่อเนื่องจะสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาโท 2 ปี และปริญญาเอก 3 ปี ซึ่งคงจะสำเร็จการศึกษาเร็วที่สุดใน ปี พ.ศ.2558 จึงเชื่อได้ว่า คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ รวมทั้งคณาจารย๋ในคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ในปัจจุบันทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ ล้วนเป็นผลผลิตของหลักสูตรครูปริญาตรี 4 ปี ทั้งสิ้น และหากหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ไม่มีคุณภาพ จะสะท้อนถึงคุณภาพของนิสิตนักศึกษาในคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ในปัจจุบันโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากรายงานของ Sir Michael แห่งบริษัท McKinsey & Company เรื่อง ระบบโรงเรียนคุณภาพระดับโลกขึ้นมาสู่ความเป็นโรงเรียนคุณภาพชั้นนำได้อย่างไร (How the World Best-Performing School Systems Come Out on Top) ได้รายงานผลการวิจัยสำคัญจากการเก็บข้อมูลในรัฐเทนเนสซี่ ซึ่งให้นักเรียนอายุ 8 ปี ที่เรียนอยู่ในระดับปานกลาง 2 คน โดยคนหนึ่งเรียนกับครูที่สอนเก่ง (high-performing teacher) ส่วนอีกคนเรียนกับครูที่สอนไม่เก่ง (low-performing teacher) พบว่าภายใน 3 ปี ผลการเรียนของนักเรียนทั้งสองคน มีความแตกต่างกันมากกว่า 50 เปอร์เซ็นไทล์

ดังนั้น หลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี จึงเชื่อได้ว่าจะมีคุณภาพ จากการบริหารของคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนโดยคณาจารย์ในคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ที่ผ่านการเรียนหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี เช่นกัน

4. การวิจัยเปรียบเทียบคุณภาพระหว่างครูที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี กับหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี จะมีผลวิจัยที่ไม่น่าเชื่อถือ (unbelievable)

จากการที่มีข้อเสนอให้มีการทำวิจัยเปรียบเทียบคุณภาพครูหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี กับครูหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี ผู้เขียนเชื่อว่านักวิจัยสามารถอธิบายได้ว่า แม้จะมีการทำการวิจัย เปรียบเทียบ ผลการวิจัยก็จะไม่น่าเชื่อถือ(unbelievable) ไม่ว่าผลวิจัยจะออกมาว่าครูหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี ดีกว่าครูหลักสูตรฯ 4 ปี หรือครูหลักสูตรฯ 4 ปี ดีกว่าครูหลักสูตรฯ 5 ปี เนื่องจากตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองหลักสูตร อาทิ โครงสร้างหลักสูตร จำนวนปีที่ใช้ในการศึกษา นิสิตนักศึกษา กระบวนการเรียนการสอน ระยะเวลาที่เปิดสอนคนละช่วงเวลา คุณภาพของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี คุณภาพของอาจารย์ผู้รับผิดชอบการสอน ล้วนเป็นตัวแปรที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่มีความสัมพนธ์กันแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงจากหลักสูตรการผลิตครูปริญญาตรี 4 ปี เป็นหลักสูตรการผลิตครูปริญญาตรี 5 ปี เมื่อ พ.ศ. 2547 ก็คงไม่มีผลการวิจัยสนับสนุนเช่นกัน ด้วยเหตุผลคือ ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี ด้วยตรรกะดังกล่าวจึงไม่สามารถทำการศึกษาเปรียบเทียบได้

จึงเชื่อได้ว่า การวิจัยเปรียบเทียบระหว่างหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี กับหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี กับหลักสูตรครูปริญญาตรีของต่างประเทศ ไม่สามารถทำได้ และการจะวิจัยเปรียบเทียบระหว่างหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี กับหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปีในประเทศไทย ผลวิจัยจะไม่น่าเชื่อถือ(unbelievable) ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้วเช่นกัน

5. วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่แตกต่างจากวิชาชีพชั้นสูงอื่น เพราะครูจะต้องมีสมรรถนะ(competency)ในการถ่ายทอดความรู้ เนื่องจากนักเรียนแต่ละคนต่างก็มีความแตกต่างกัน (individual difference)

การผลิตครูคุณภาพ อยู่ที่การจัดเนื้อหาและกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่นำไปสู่สมรรถนะของความเป็นครู มากกว่าการยัดเยียดเนื้อหาวิชาให้เรียนมากๆ เพราะคนในศตวรรษที่ 21 ต้องการคนที่มีทักษะ (skill) ไม่ใช่มีแต่ความรู้ (knowledge/content) แต่ทำไม่ได้ ต้องมีประสบการณ์ (experience) ด้วยการลงมือกระทำ ถ้าได้ทำบ่อยๆ จะเกิดความคิดในการแก้ปัญหา (solve problem) ทำให้มองกว้าง มองไกล มองลึก มองรอบ คือมีวิสัยทัศน์ (vision) และปัญญา (wisdom) ก่อให้เกิดความชำนาญคือทักษะ (skill) ระหว่างการทำบ่อยๆ จะเกิดการเรียนรู้ (learning) การเกิดปัญญา (wisdom) ต้องเกิดจากประสบการณ์ในการทำสิ่งใหม่ที่หลากหลาย แต่ไม่ใช่การกระทำซ้ำสิ่งเดิมๆ คนเป็นครูไม่ใช่แค่มีทักษะ (skill) แต่ต้องสามารถใช้ทักษะและปัญญาในการถ่ายทอดได้ด้วย ความสามารถนั้นเรียกว่า สมรรถนะ (competency) สถาบันผลิตครูจึงต้องมีเป้าหมายการสร้างครูที่มีสมรรถนะ (competency)

เบนจามิน แฟรงคลิ้นท์ (Benjamin Franklin) ได้กล่าวถึงการสอนของครูไว้ว่า “บอกฉัน ฉันจะลืม สอนฉัน ฉันจะจำ แต่ถ้าให้ฉันทำ ฉันจะเรียนรู้” (Tell me and I forgot. Teach me and I remember. Involve me and I learn.)

การผลิตครูคุณภาพในอนาคต จึงไม่น่าจะอยู่ที่จำนวนปีของหลักสูตร แต่อยู่ที่กระบวนการจัดการเรียนรู้ ในการสร้างทักษะให้นักเรียน ทั้ง ทักษะด้านความรู้ (Hard Skills) และทักษะด้านอารมณ์ (Soft Skills) ที่นำไปสู่การมีสมรรถนะ (competency)

นอกจากเหตุผล 5 ประการ ในการควรมีหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ข้างต้นแล้ว หลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี ยังมีความแตกต่างกับหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี และหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี สาขาอื่น 2 ประการ ดังนี้

1. ความแตกต่างของปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา ของหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี กับ หลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี ทั้งของผู้ปกครองและนิสิตนักศึกษา ในด้านค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ตอบแทน ดังนี้

ผลเสีย ของการมีหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี

- ด้านสถาบันผลิตครู การเปิดสอนหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี จะมีรายรับลดลงจากเดิมที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี จำนวน 1/5เท่า ของค่าลงทะเบียนหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี เฉลี่ยปีละ 20,000 บาท ต่อนิสิตนักศึกษา 1 คน สมมติหนึ่งรุ่นมีนิสิตนักศึกษา 100 คน รายรับจะลดลง 2,000,000 บาท ต่อปี

- ด้านนิสิตนักศึกษา ที่ได้รับการบรรจุเป็นครู หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี จะได้รับเงินเดือนๆละ 15,050 บาท ส่วนผู้ที่บรรจุเป็นครู หลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี จะได้รับเงินเดือนๆละ 15,800 บาท ทำให้มีรายได้ต่อเดือนลดลง 750 บาท รวมรายรับลดลงปีละ 9,000 บาท ต่อ 1 คน

ผลดี ของการมีหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี

- ด้านผู้ปกครอง การเรียนหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี จะลดค่าใช้จ่ายจากค่าลงทะเบียนเรียนเฉลี่ยอย่างต่ำปีละ 20,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายอื่น ค่าที่พัก อาหาร ค่าเดินทาง ฯลฯ เฉลี่ยอย่างต่ำเดือนละ 10,000 บาท รวมปีละ 120,000 บาท รวมลดค่าใช้จ่าย เฉลี่ยปีละ 140,000 บาท ต่อ 1 คน

- ด้านนิสิตนักศึกษา การเรียนหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี โดยไม่ต้องเรียนปีที่ 5 และได้เริ่มทำงานก่อน 1 ปี หากได้รับการบรรจุเป็นครูจะได้รับเงินเดือนๆละ 15,050 บาท รวมปีละ 180,600 บาท ต่อ 1 คน

จากการเปรียบเทียบผลดีและผลเสียข้างต้น การมีหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี และหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี จึงเป็นทางเลือกของผู้ผลิต (producer) คือสถาบัน และผู้บริโภค (consumer) คือนิสิตนักศึกษา และผู้ปกครอง

ส่วนคุณภาพบัณฑิตของปริญญาตรีทั้งสองหลักสูตร จะถูกกำกับมาตรฐานด้วยการทดสอบของคุรุสภา เพื่อการรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ด้วยข้อทดสอบมาตรฐานเดียวกัน

2. นิสิตนักศึกษาหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี จะเสียเปรียบนิสิตนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี สาขาอื่น ที่มีความประสงค์จะประกอบอาชีพครูภายหลังสำเร็จการศึกษาหลักสูตร 4 ปี สามารถเรียนหลักสูตรปริญญาโท 2 ปี รวมเวลาเรียน 6 ปี ในขณะที่ผู้เรียนหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี ถ้าเรียนหลักสูตรปริญญาโท 2 ปี จะต้องใช้เวลาเรียนรวม 7 ปี และหากผู้เรียนหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี ไม่สามารถเข้าสู่วิชาชีพครู ต้องเข้าสู่ตำแหน่งงานอื่น จะได้รับอัตราเงินเดือนเท่ากับ ปริญญาตรี 4 ปี คือ 15,050 บาท เท่านั้น

ส่วนความกังวลว่า จะทำหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ไม่ทันเปิดเรียนปีการศึกษา 2562 เนื่องจากยังไม่มีเกณฑ์รับรองปริญญาของคุรุสภาของคุรุสภา และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ ของ สกอ. นั้น ผู้เขียนพบข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ดังนี้

"ประกาศคุรุสภา เรื่อง การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพ (อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 (7) และมาตรา 20(1)) แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและ บุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546) ประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 13 กรกฎาคม 2549 เล่ม 123 ตอนที่ 66 ง" ได้ประกาศใช้ภายหลังจากที่มีหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี ที่เปิดสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 คือประกาศใช้หลังการเปิดสอนตามหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปีแล้ว 2 ปี ส่วนประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ (หลักสูตรห้าปี) ประกาศ ณ วันที่ 15 มีนาคม 2554 ได้ประกาศใช้ภายหลังที่มีหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี ที่เปิดสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 โดยประกาศใช้หลังการเปิดสอนตามหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี แล้ว 7 ปี

กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 ฉบับ ข้างต้น มีการประกาศใช้บังคับ ภายหลังการเปิดรับนิสิตนักศึกษาหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี แล้ว 2 ปี และ 7 ปี ตามลำดับ

ดังนั้น หากรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้เปิดหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ปีการศึกษา 2562 ก็สามารถทำได้ โดยจัดทำหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี คู่ขนานไปกับการออกกฎหมายทั้ง 2 ฉบับของคุรุสภา และ สกอ. ส่วนหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี ก็ใช้ กรอบมาตรฐานคุณวุฒิเดิม หรือหากต้องการจะปรับปรุงกรอบมาตรฐานคุณวุฒิใหม่ ก็สามารถทำได้คู่ขนานกันไปเช่นกัน

ส่วนการกำหนดโครงสร้างหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ก็ควรต้องครอบคลุมมิติของการผลิตครูคุณภาพ ด้านเนื้อหา (knowledge) ด้านความเป็นครู (pedagogy) ด้านการสอน (didactic) ด้านการวิจัย (research) ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี (innovation & technology) ด้านการฝึกประสบการณ์ในโรงเรียนแต่ละปีการศึกษา (schooling experience, teaching assistance, practicum 1 & 2) ด้านการรู้เรื่องทางภาษาอังกฤษ (english literacy) ด้านกิจกรรมการเรียนในรายวิชา และด้านกิจกรรมเสริมความเป็นครู เพื่อเพิ่มทักษะด้านความรู้ (Hard Skills) และทักษะด้านอารมณ์ (Soft Skills) สู่การมีสมรรถนะ (competency) วิชาชีพครู

ด้วยเหตุผล 5 ประการ ข้อดีข้อเสีย และความเห็นประกอบข้างต้น ผู้เขียนจึงสนับสนุนความคิด ให้มีทั้งหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี และหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี ส่วนสถาบันใดจะผลิตครูหลักสูตรแบบใดหรือผลิตครูหลักสูตรทั้งสองแบบ ตามความแตกต่างของวิชาเอกก็เป็นไปตามความเชื่อและปรัชญาการผลิตครูของสถาบันนั้นๆ โดยแต่ละฝ่ายไม่ควรปิดกั้นความเชื่อผู้อื่นด้วยความเชื่อของตนเอง



เกี่ยวกับผู้เขียน: รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก เป็นคณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.