ขบวนผู้คนพร้อมธงทีมฟุตบอลฮอนดูรัส(ซ้าย) และธงที่คาดว่าเป็นธงชาติฮอนดูรัสที่อยู่แถวที่สอง (ที่มา: Facebook: Honduras NO TE Rindas)

Posted: 24 Oct 2018 01:03 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-10-24 15:03


ผู้อพยพชาวฮอนดูรัสหลายพันคนเคลื่อนขบวนเป็นคาราวานอพยพจากฮอนดูรัส มุ่งหน้าสู่สหรัฐฯ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศ จะสกัดกั้นผู้อพยพเหล่านี้ ทางผู้อพยพรวมตัวกันอีกครั้งที่ชายแดนกัวเตมาลา-เม็กซิโก ข้อมูลปี 2559 ระบุ ผู้อพยพมีจำนวนร้อยละ 13.5 ของประชากรสหรัฐฯ เอเชียมากเป็นอันดับหนึ่ง

23 ต.ค. 2561 สื่อเอ็นดีทีวีรายงานว่ามีขบวนคาราวานผู้อพยพจากฮอนดูรัส ประเทศในภูมิภาคอเมริกากลางเดินขบวนทางไกลและกำลังต่อแพเพื่อข้ามฝั่งแม่น้ำไปยังเม็กซิโก คลื่นมนุษย์ดังกล่าวกระตุ้นให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ โต้ตอบเรื่องนี้โดยบอกว่าจะมีการใช้ "ความพยายามอย่างเต็มที่" ในการสกัดกั้นฝูงชนที่จะข้ามแดนเข้ามาทางตอนใต้ของสหรัฐฯ

ทางการเม็กซิโกทำการปิดกั้นสะพานข้ามฝั่งระหว่างกัวเตมาลากับเม็กซิโก ทำให้ผู้อพยพแก้ปัญหาด้วยการต่อแพชั่วคราวเพื่อข้ามฝั่งแทนและรวมตัวกันอีกครั้งในเม็กซิโกเมื่อ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ข้อมูลของผู้บัญชาการตำรวจเม็กซิโกซึ่งเฝ้าจับตามองกลุ่มผู้อพยพอย่างใกล้ชิดระบุว่า ยังมีผู้อพยพราว 3,000 คน ที่ยังคงเดินขบวนเป็นคาราวานภายในเม็กซิโก ขณะที่ผู้อพยพรวมถึงผู้หญิงและเด็กจำนวนมากยังคงติดอยู่ที่ชายแดนตรงสะพานโดยหวังว่าจะสามารถเข้าสู่เม็กซิโกได้อย่างถูกกฎหมาย โดยทางการเม็กซิโกยืนกรานว่าคนที่รออยู่ที่สะพานควรจะยื่นเรื่องขอลี้ภัยเป็นรายบุคคลถึงจะเข้าสู่ประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ผู้อพยพแสดงความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการที่จะข้ามเขตแดนจากเม็กซิโกเป็นระยะทางอย่างน้อย 3,000 กม. ไปจนถึงชายแดนสหรัฐฯ

มีผู้อพยพรายหนึ่งชื่ออาร์รอน ฮัวเรซ อายุ 21 ปี ที่มาพร้อมกับลูกและเมียเดินทางด้วยความยากลำบากเพราะกำลังบาดเจ็บ แต่เขาก็บอกว่า "ไม่มีใครจะหยุดพวกเราได้ หลังจากสิ่งที่พวกเราต้องฟันฝ่ามา" ผู้อพยพอีกรายหนึ่งชื่อ เอ็ดวิน จีโอวานนี เอนาโมราโด เป็นชาวนาผู้ที่ถูกคุกคามจากกลุ่มแกงค์อาชญากรขู่กรรโชกทรัพย์ เขาบอกว่าถึงจะเหนื่อยแต่ก็มีความสุขพวกเขาได้ผนึกกำลังร่วมกันและมีความเข้มแข็ง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกลุ่มคาราวานชาวฮอนดูรัสเริ่มเดินขบวนออกจากเมืองซานเปโดรซูลาไปทางตอนใต้ 700 กม. ตามคำเรียกร้องบนโซเชียลเน็ตเวิร์คของนักการเมืองฝ่ายซ้ายและนักกิจกรรมของฮอนดูรัส บาร์โตโล ฟูเอนเตส ผู้ที่อยู่พรรคการเมืองเดียวกับอดีตประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ที่ถูกรัฐประหารโค่นล้มไปเมื่อหลายปีก่อน

ทั้งนี้ ทางฟูเอนเตสระบุว่า เขาเพียงเอาโปสเตอร์ทางโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ชวนให้ผู้คนออกมา "เดินขบวนอพยพ" พร้อมทั้งคำขวัญที่ว่า "พวกเราไม่ได้ออกมาเพราะพวกเราต้องการ แต่เพราะพวกเราถูกขับไล่โดยความรุนแรงและความยากจน" มาโพสท์ใหม่บนเพจเฟสบุ๊กเท่านั้น เขาระบุกับซีเอ็นเอ็นว่าเขาถูกรัฐบาลกล่าวหาเป็นแพะรับบาปกรณีคาราวานใหญ่ครั้งนี้ แต่รัฐบาลกลับมองข้ามความย่ำแย่ของชีวิตที่ความจนและความรุนแรงคร่าชีวิตคนเป็นแสนในฮอนดูรัส

ผู้เดินขบวนอพยพราว 3,000-5,000 รายพากันยกขบวนไปที่กัวเตมาลาซึ่งผู้นำกัวเตมาลาเปิดเผยว่ามีชาวฮอนดูรัสอพยพเข้าเมืองมากกว่า 5,000 ราย แต่ยังคงมีอีกราว 2,000 รายที่ไม่กลับบ้าน

ในวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ทางการเม็กซิโกได้เปิดพรมแดนให้กับผู้หญิงและเด็กเข้าประเทศได้หลังจากที่พวกเขาออกันอยู่บนสะพานแออัดที่ไปด้วยฝูงชน ทางการเม็กซิโกเปิดให้ผู้อพยพเข้าไปอยู่ในที่พักพิงของเมืองทาปาชูลาผู้อพยพบางส่วนทนรอไม่ไหวเริ่มต่อแพข้ามมาสู่ตลิ่งโคลนฝั่งเม็กซิโกด้วยตัวเองโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปขัดขวางพวกเขา แต่ผู้นำกัวเตมาลาและฮอนดูรัสต่างก็วิจารณ์ในเรื่องนี้หลังประชุมร่วมกันว่าเป็นการ "ละเมิดพรมแดนและความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ"

ทั้งนี้ผู้นำฮอนดูรัสยอมรับว่าปัญหาทางสังคมมีส่วนทำให้มีผู้อพยพจำนวนมากจริง และผู้อพยพเองก็บอกว่าการเดินขบวนอพยพใหญ่ในครั้งนี้ไม่ได้มีแรงจูงใจทางการเมือง เอ็ดการ์ อะกีลาร์ บอกว่าแรงจูงใจในการเดินขบวนใหญ่มาจากเรื่อง "ความอดอยาก ปัญหาภัยแล้ง มันเป็นเรื่องการทำเพื่อความกินดีอยู่ดี เพื่อชีวิตที่ดีกว่า มันไม่ใช่เรื่องการเมือง" ผู้อพยพอีกคนหนึ่งชื่อจาเล็ดบอกว่าเพราะในฮอนดูรัสไม่มีงานทำ ไม่มีการศึกษา ไม่มีอะไรดี และข้าวของก็มีแต่แพงขึ้น

สื่อเอ็นดีทีวีระบุอีกว่าปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ชาวฮอนดูรัสแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในที่อื่นคือปัญหาจากแกงค์อาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง การวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮอนดูรัสระบุว่ามีอัตราการฆาตกรรมเกิดขึ้นกับชาวฮอนดูรัส 43 คนต่อ 100,000 คน ทำให้ฮอนดูรัสกลายเป็นประเทศที่มีความรุนแรงสูงที่สุดในโลก
ผู้อพยพมีจำนวนร้อยละ 13.5 ของประชากรสหรัฐฯ เอเชียมากเป็นอันดับหนึ่ง

ข้อมูลเมื่อปี 2561 ของศูนย์วิจัย Pew Research Center ให้ข้อมูลว่า มีผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ เฉลี่ยปีละมากกว่าหนึ่งล้านคน ข้อมูลในปี 2559 พบว่าอัตราส่วนของผู้อพยพมีสัดสว่นเป็นร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับประชากรสหรัฐฯ ทั้งประเทศ โดยทั่วประเทศมีผู้อพยพที่เข้ามาอย่างไม่ถูกกฎหมายราว 11 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 24.5 องจำนวนผู้อพยพทั้งหมดที่มีทั้งสิ้น 44.7 ล้านคน

ข้อมูลจากที่เดียวกันแสดงให้เห็นว่า ในปี 2559 ผู้อพยพส่วนใหญ่ (ร้อยละ 26) กำเนิดที่ประเทศเม็กซิโก รองลงมาคือจีนที่นับรวมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวันและฮ่องกง (ร้อยละ 6) และอินเดียในสัดส่วนเท่ากัน แต่หากประเมินตามภูมิภาคจะพบว่า ผู้อพยพส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก (ร้อยละ 27) ส่วนอเมริกากลางและใต้อยู่ที่ร้อยละ 8 และ 7 ตามลำดับ

ในทางเชื้อชาติ ผู้อพยพที่เป็นชาวเอเชียมีจำนวนแซงหน้าชาวฮิสแปนิกตั้งแต่ปี 2553 ทาง PEW Research Center คาดการณ์ว่าในปี 2598 ชาวเอเชียนจะเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38 ตามาด้วยชาวฮิสแปนิกที่ร้อยละ 31 คนขาวร้อยละ 20 และคนดำร้อยละ 9

เรียบเรียงจาก

Thousands Of Migrants March At Least 3,000 Kilometres To Reach US, NDTV, Oct. 22, 2018

Key findings about U.S. immigrants, PEW Research Center, Sep. 14, 2018

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.