กรณี Christine Blasey Ford VS Brett Kavanaugh จากความรุนแรงทางเพศสู่สิทธิพลเมือง
Posted: 24 Oct 2018 08:34 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-10-25 10:34
วัจนา เสริมสาธนสวัสดิ์
กรณี Christine Blasey Ford VS Brett Kavanaugh จากความรุนแรงทางเพศสู่สิทธิพลเมือง
จากประเด็นข่าวที่กำลังเป็นประเด็นทางการเมืองที่สนใจ และมีการสืบสวน สอบสวนอย่างโปร่งใสสู่สาธารณะผ่านสื่อโทรทัศน์ อันเป็นประเด็นทางการเมืองเรื่องเพศที่สำคัญอย่างนัยยะสำคัญอีกครั้งหนึ่งของสหรัฐฯ กรณีที่ Kavanaugh ปัจจุบันทำงานสอนที่ ม.สแตนฟอร์ด, แคลิฟอร์เนีย ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งในศาลสูงอันทรงเกียรติแห่งสหรัฐฯถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางเพศกว่าทศวรรษที่ผ่านมาต่อ Dr.Ford ปัจจุบันเป็นอ.ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาคลินิค ที่ ม.พาโล อัลโต, แคลิฟอร์เนีย
การนำเสนอข่าว และการเผยแพร่การไต่สวนสู่สาธารณชน มีผู้หญิงเข้ามาแสดงความคิดเห็นถึงประเด็น civil right อย่างมากมาย ทำให้ฉันได้ย้อนนึกไปถึงประเด็น "civil right" ที่ได้เรียนในวิชาปรัชญาสตรีนิยมในระดับ ป.เอก มธ. กับ อ.สองท่าน ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา เราได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็น civil right ในบ้านเรา โดยที่ อ.ผู้ชาย ได้ยกตัวอย่างกรณีของห้องน้ำ ที่ควรเป็นห้องน้ำที่ทุกเพศสามารถเข้ามาใช้ได้ ในขณะที่ อ.ผู้หญิง กล่าวว่า civil right ของท่านคือ สิทธิที่จะเดินไปไหนมาไหนในยามค่ำคืนได้อย่างปลอดภัย ควาเห็นนี้ได้จากการตกผลึกมาจากประสบการณ์ของ อ.เองในการเดินกลับเข้าซอยบ้านยามวิกาล ซึ่งหากเข้าทางหลังซอยจะย่นระยะทางการเดินให้สั้นกว่ามาก แต่มืดมากกว่านัก ในขณะที่ด้านหน้าซอยสว่างไสวกว่า แต่ต้องเดินไกลกว่า แต่ไม่ว่ามืดหรือสว่าง กลางวันหรือกลางคืน ผู้หญิงก็ควรมีหลักประกันในการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ฉันได้แต่รับฟังไว้......
เมื่อฉันได้ติดตามข่าวของ Dr.Ford ทำให้คำว่า "civil right" กลับเข้ามาสู่ห้วงความคิดอีกครั้งหนึ่ง พร้อมๆกับการเชื่อมโยงไปสู่ความสัมพันธ์ที่ใหญ่กว่าในทางการเมือง ด้วยศัพท์แสงที่เป็นทางการของคำว่า "democracy" ในขณะที่สัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับเรื่องราวของปัจเจก "auto-biography" ที่เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในทางสังคม การเมือง ทั้ง 3 สิ่งนี้สัมพันธ์กันอย่างไรจากการเรียนรู้กรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ในสหรัฐฯสู่ประเทศไทย?
"ประชาธิปไตย" (democracy) เป็นศัพท์แสงทางการเมือง การปกครองที่เราคุ้นเคยกันมานานแสนนาน ซึ่งมักสื่อให้เห็นถึง สิทธิของปัจเจกในด้านต่างๆ และสำหรับบ้านเรา สิทธิพลเมือง (civil right) คืออะไร? สิทธิการเลือกตั้ง, สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา, สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ฯลฯ สิทธิที่เราในฐานะพลเมืองยังคงดิ้นรนกันอย่างสาหัสกับการทำความเข้าใจระบบรัฐสวัสดิการและการพยายามสร้างนโยบายระบบรัฐสวัสดิการ ที่วางอยู่บนพื้นฐานของการเข้าถึงการบริการ อำนวยความสะดวกอย่างเท่าเทียมโดยรัฐ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างแห่งเพศ วัย ชนชั้น หรือชาติพันธุ์ อันเป็นสิทธิพื้นฐานที่พลเมืองแห่งรัฐสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีเงื่อนไข
กรณีของ Dr.Ford พิสูจน์ให้เราได้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประชาธิปไตย ที่มีรากฐานของการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมแห่งความเป็นมนุษย์นั้น ควรต้องกลับมาพิจารณากันใหม่? เมื่อความแตกต่างแห่งความเป็นเพศ (sexuated difference แนวความคิดของนักปรัชญาฝรั่งเศส Luce Irigaray) คือ ปราการด่านแรกที่ทำให้ สิทธิพลเมืองของผู้หญิงแตกต่างและห่างไกล ไปจากสิทธิพลเมืองในทางการเมือง (รัฐศาสตร์) ความแตกต่างแห่งเพศ หรือร่างกายแห่งความเป็นหญิงที่แตกต่างจากชายเป็นเป้าหมาย หรือจุดกำเนิดของความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศที่เราพบเห็นอย่างดาษดื่นในสังคม ดังนั้น กรณีล่วงละเมิดทางเพศของ Dr.Ford จึงเป็นก้าวหนึ่งของการต่อสู้ สิทธิพลเมือง ของผู้หญิง กล่าวคือ การตระหนักถึงการมีสิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย และใช้ชีวิตได้โดยปราศจากความกลัว (เธอดำรงอยู่กับมันด้วยความเงียบมากว่า 36 ปี)
เมื่อกรณีความรุนแรงทางเพศถูกผลักให้เป็นคดีอาญา เป็นอาชญากรรมหรือเป็นคดีสะเทือนขวัญ ในกรณีที่เหยื่อถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยม ทารุณจนเสียชีวิต มิพักต้องกล่าวถึงมิติเชิงประเพณี วัฒนธรรมที่กดทับเหยื่อ ให้ต้องปิดปากเงียบ เนื่องจากเหยื่อมีราคาที่ต้องจ่ายอย่างประเมินค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้ ทั้งชีวิตส่วนตัว เวลา และทรัพย์สินหากเหยื่อเลือกที่จะสู้ อีกทั้งมิติเชิงกฎหมายที่ไม่เอื้อให้กับเหยื่อ เนื่องจาก ผู้ถูกกล่าวหามีกฎหมายคุ้มครองจนกว่าผู้กล่าวหา (ผู้หญิง) ต้องรวบรวมหลักฐานต่างๆมาเพื่อพิสูจน์ตนเองว่าถูกกระทำ หรือถูกละเมิดทางเพศ เช่น ร่องรอยการต่อสู้ การไม่สมยอม ซึ่งในหลายกรณีเหยื่อจำต้องยินยอม เพื่อรักษาชีวิต รักษาหน้าที่การงาน รักษาชื่อเสียง ฯลฯ จากที่กล่าวมาทำให้เห็นว่ากฎหมายได้ละเลยมิติความสัมพันธ์แห่งอำนาจระหว่างเพศ ชนชั้น อายุ อาชีพ การศึกษา ในสถานการณ์จริง ทำให้การเข้าถึงความช่วยเหลือในเชิงกฎหมายเป็นไปได้ยาก ดังนั้นบันทึกการแจ้งความหรืออัตราการเกิดความรุนแรงทางเพศในสังคมจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
ประชาธิปไตย (democracy) ที่มุ่งเน้นความเท่าเทียมบนความเหมือนกันของมนุษย์ ทำให้มืดบอดต่อประเด็นความรุนแรงและการล่วงละเมิดของผู้หญิง อีกทั้งยังผลักให้ประเด็นสำคัญนี้กลายเป็นเพียงประเด็นส่วนตัว หรือความรุนแรงทางเพศระหว่างหญิง-ชายเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงสิทธิพลเมืองลงไปสู่ระดับปัจเจกได้เลย
สิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักอย่างมากคือ ความแตกต่างแห่งเพศที่เป็นเบ้าหลอมหนึ่งแห่งความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ (sexuated difference) ที่เราจำเป็นต้องยกระดับความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศจากความรุนแรงในมิติเชิงวัฒนธรรม และความรุนแรงในมิติกฎหมาย ไปสู่การตระหนักถึงสิทธิพลเมืองของผู้หญิงในเชิงประชาธิปไตย
แนวความคิดของอิริกาเรย์เริ่มพิจารณาจากเบ้าหลอมความแตกต่างแห่งเพศ ที่ร้อยรัดกับประสบการณ์ เรื่องเล่าความรุนแรง การล่วงละเมิดของผู้หญิงเข้าไปด้วย (กรณี Dr.Ford) ทำให้เราสามารถเขยิบวิธีคิดในประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ ไปสู่ ประเด็นสิทธิพลเมือง อันจะเป็นการวางรากฐานแห่งสิทธิพลเมืองในการมีชีวิต ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย และเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงในสังคมประชาธิปไตย
จากคำให้การของ Dr.Ford ในการนำประสบการณ์การล่วงละเมิดทางเพศของตนเองที่เก็บงำมาเกือบครึ่งชีวิต มาสู่การเปิดเผยเรื่องราวแห่งความเจ็บปวด อับอายต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการนี้ (สำหรับฉัน Kavanaugh คือคนที่ต้องอายมากกว่า) ทำให้ฉันต้องกลับมานั่งทบทวนอย่างหนักในเรื่องราวของเธอ สิ่งที่ Dr.Ford กระทำนั้นเป็นมากกว่าความกล้าหาญ แต่เป็นก้าวสำคัญของการนำประสบการณ์ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับเธอมาขับเคลื่อนสู่ความเป็นประชาธิปไตยทางการเมืองในการผลักให้ประเด็นความรุนแรงและการละเมิดทางเพศกลายเป็นประเด็นสิทธิพลเมือง (สำหรับทุกเพศ)
ฉันได้เรียนรู้จากความกล้าหาญของผู้หญิงคนหนึ่งผ่านการเขียนชีวิตของเธอ auto-biography ด้วยคำให้การแห่งความเจ็บปวด ความกลัว และด้วยราคามหาศาลที่เธอต้องจ่าย แต่เธอก็ “ยืนหยัด” ที่จะกระทำ เพื่อต่อสู้ เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเธอเอง (และคนอื่นๆ) จากจุดยืนของเธอ เราเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์การความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศของเธอ เราควรต้องหันกลับมาปรับโหมด “การฟัง” ของเรา เพื่อค่อยๆเรียนรู้ว่าเรา “ได้ยิน” สิ่งที่เธอต้องการสื่อสารกับเราและโลกใบนี้หรือไม่ อย่างไร รวมถึงการปรับวิธีคิดในการรับฟังเรื่องราว หรือประสบการณ์ส่วนตัว (ที่บ่อยครั้งรุนแรงและเป็นเรื่องต้องห้าม) ของผู้หญิง จูนคลื่นการฟังให้ลึกและชัดเจนมากไปกว่าความอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวของคนๆหนึ่งอย่างผิวเผิน หรือการตั้งคำถามอย่างตื้นเขินว่า เรื่องที่เธอเล่านี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่
Dr.Ford ทำให้เห็นว่า คำให้การจากประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศของเธอ (auto-biography) ก่อให้เกิดการตระหนักรู้และต่อสู้ร่วมกัน (consciousness raising) ทางการเมืองในสิทธิพลเมืองของผู้หญิง (เริ่มต้นจากกรณีการล่วงละเมิดของเธอ) เพื่อเคลื่อนไปสู่การต่อสู้ในระดับการเมืองเรื่องส่วนตัว ที่มีสิทธิพลเมืองเป็นเดิมพัน โดยการทำให้ทุกเพศตระหนักถึงความรุนแรงในการใช้ชีวิตอย่างทั่วถึง และจุดประกายความคิดของหน้าที่พลเมืองที่เริ่มจากเลือดเนื้อและชีวิตของเรามากกว่าหน้าที่พลเมืองที่ไกลตัว ในทางรัฐศาสตร์เท่านั้น (ทว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าจำต้องดำเนินควบคู่กันไป) และนี่คือพลังของการเมืองเรื่องส่วนตัว (personal is political) ที่เขยิบมาสู่ความก้าวหน้าทางความคิดต่อสิทธิพลเมืองของเพศอื่นๆ (civil right) ในการมีชีวิต และใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย อันเป็นสิทธิพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย (democracy) ที่เรายังคงติดกับดับแห่งความรุนแรงทางเพศระหว่างชาย-หญิงเท่านั้น
แสดงความคิดเห็น