Posted: 25 Oct 2018 06:46 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-10-25 20:46


นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์

คุยกับ ‘Rap Against Dictatorship’ ที่บอกว่า การเมืองสำหรับพวกเขาคือการตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน การสนใจการเมืองคือวิธีที่จะเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ชอบให้ดีขึ้น และเผด็จการไม่ใช่แค่เผด็จการทหาร แต่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นก็ยังมีวิธีแบบเผด็จการ ร่วมคุยกับ ‘ธีระวัฒน์ รุจินธรรม’ ผู้กำกับเอ็มวี ผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยหลายกลุ่ม

หลังเพลงแร็ป ‘ประเทศกูมี’ ของกลุ่มแร็ปเปอร์ ‘Rap Against Dictatorship’ (แร็ปต้านเผด็จการ) ปล่อยมิวสิควิดีโอออกมา ยอดวิวในยูทูบก็พุ่งทะลุเกิน 600,000 ภายใน 2 วัน ด้วยเนื้อหาของเพลงที่หยิบจับสถานการณ์ทางการเมืองมาร้อยเรียงให้เข้าใจง่าย ดึงอารมณ์ร่วมของคนฟังได้ทันที พร้อมกับมิวสิควิดีโอที่นำเอาหนึ่งในภาพจำของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ถูกถ่ายโดย Neal Ulevich อย่างภาพคนฟาดเก้าอี้ใส่ศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นไม้และมีคนกลุ่มใหญ่มุงดู พร้อมรอยยิ้มที่ปรากฎบนหน้าของเด็กชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพที่ได้รางวัลพูลิตเซอร์ปี 1977 มาเป็นฉากประกอบตลอดทั้งมิวสิควิดีโอ

ประชาไทสัมภาษณ์ตัวแทนของกลุ่ม Rap Against Dictatorship ถึงจุดเริ่มต้น แนวคิดหลักของโปรเจ็กต์ วิธีการทำเพลง จนถึงความหมายของการเมือง ที่เขาบอกว่า การเมืองสำหรับเขาคือการตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน การสนใจการเมืองคือการหาวิธีที่จะเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ชอบให้ดีขึ้น รวมทั้งความหมายของเผด็จการไม่ใช่แค่เผด็จการทหาร แต่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นก็ยังมีวิธีแบบเผด็จการอยู่ดี

ร่วมด้วยการสัมภาษณ์ ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับภาพแถวหน้าของไทยที่เป็นผู้กำกับมิวสิควิดีโอเพลงนี้ ผู้ริเริ่มไอเดียนำภาพจำของ 6 ตุลาเข้ามาประกอบมิวสิควิดีโอ ที่สำหรับเขาแล้วนี่คือการเปิดเผยชื่อจริงครั้งแรกหลังการทำเบื้องหลังให้กับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มพลเมืองโต้กลับ จนมาถึง Rap Against Dictatorship พร้อมตอบคำถามว่า ภาพศพและการฟาดเก้าอี้ที่ชัดเจนในช่วงสุดท้ายของมิวสิควิดีโอ เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงหรือไม่?


จุดเริ่มต้นของ RAD


เพลงประเทศกูมี เป็นอินโทรของ Liberate P ปล่อยมาตั้งแต่ปี 2016 แล้ว ซึ่งตอนนั้นเขาเริ่มทำเพลงการเมือง ตั้งแต่เพลง Oc(t)ygen เพลง Capitalism เพลงประเทศกูไม่มี แล้วเพลงประเทศกูมีก็ทำต่อมาเป็นอินโทร 8 บาร์ไว้ ด้วยขั้นตอนทางดนตรีมันยังไม่ลงตัวก็เลยพักโปรเจคไว้ก่อน

ปลายปี 2017 ก็มีการคุยกันระหว่างพวกเรา 4 คนคือ Liberate P, Jacoboi, ET, Hockhacker ก่อนเกี่ยวกับโปรเจค Rap Against Dictatorship แล้วก็ไปชวนคนอื่นที่สนใจมาร่วมทำ แต่โดยหลักแล้วก็จะมี 4 คน ที่เป็นคนคุมไอเดีย ทิศทางของเพลง วิธีการโปรโมต


คนที่มาร้องมีจุดร่วมคือต้านเผด็จการ แต่แนวคิดอื่นอาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ตอนทำงานมีขัดแย้งกันทางแนวคิดบ้างไหม


ความขัดแย้งไม่มี เพราะเรารู้ว่าแต่ละคนมีแนวทางที่ไม่ตรงกันอยู่แล้ว แต่ก่อนเริ่มทำเพลง เรามีการเวิร์คช็อปภายใน เอาแร็ปเปอร์ทั้งหมดมานั่งคุยกัน แล้วทางกลุ่มก็เล่าสิ่งที่เราอยากพูด วิธีการ เนื้อหาทั้งหมด เพื่อเป็นการปรับฐานความเข้าใจทางการเมืองของแต่ละคนที่อาจจะรู้ไม่เท่ากัน เพราะในกลุ่มก็จะมีคนที่เข้าใจการเมืองอย่างลึกลงไปถึงเรื่องโครงสร้าง ไปจนถึงคนที่ไม่พอใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่อาจจะยังไม่ได้มองไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งพอเล่าแล้วเขาก็เก็ทกันมากขึ้น หลังจบเวิร์คช็อปเราก็ให้เวลาเขาตัดสินใจว่าจะเอาด้วยไหม ปรากฎว่าทุกคนก็เอาด้วยหมด เพียงแต่เนื้อหาในเพลงของแต่ละคนก็ต่างไปตามที่เขาสนใจ


เนื้อหาตั้งใจให้คนกลุ่มไหนฟัง


ชนชั้นกลาง คือเราตั้งใจทำเพลงกระแสหลัก อาจจะไม่ได้กระแสหลักขนาดนั้น แต่เราทำเพลงที่มีเนื้อหาให้คนทั่วไปที่อาจไม่มีพื้นเรื่องการเมืองมาก่อนฟังแล้วเก็ท โดยที่ไม่ต้องตีความ หรือไม่ใช่วิธีการเปรียบเทียบจนเข้าถึงยาก ก็เลยออกมาเป็นเพลงที่มีเนื้อหาที่คนฟังแล้วรู้สึกว่า เออ ตรงนี้ก็โดน ตรงนี้ก็โดน ทำให้เขารู้สึกไม่พอใจได้เลย เราทำการบ้านกันมาประมาณหนึ่งเลยว่าเนื้อหานี้ลึกไปไหม ยากไปไหม เปรียบเทียบเยอะไปไหม อะไรที่ฟังแล้วคนจะอินกับเราได้เลย เราก็จะเลือกตรงส่วนนั้นมา และจุดประสงค์เราไม่ได้ต้องการโจมตีประชาชน หรือไปด่าเขาว่าทำไมไม่ออกมาต่อต้านล่ะ แต่เรากำลังโจมตีรัฐ โจมตีระบอบเผด็จการ


ทำไมต้องเป็นชนชั้นกลาง


เพราะเราพยายามพูดกับคนที่มีอำนาจและมีเสียงที่ดังในทางการเมือง กลุ่มเราเองก็ได้ฟังมุมมองจากนักวิชาการที่เขาอธิบายว่าจริงๆ แล้วฐานเสียงที่สำคัญก็คือชนชั้นกลางด้วย เพราะคนชนชั้นกลางนี่แหละที่มีพลังในโลกออนไลน์ และเป็นตัวแปรสำคัญของคะแนนเสียง


แสดงว่าแม้ในทีมจะคุยกันลึกลงไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างแต่พอทำจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ตั้งใจให้เพลงออกมาลึกแบบนั้น แต่ให้ฟังง่ายมากกว่า


ใช่ แต่เราก็แอบใส่อะไรบางอย่างที่ ถ้าคนที่เข้าใจลึกๆ ก็อาจจะจับจุดได้บ้าง เพราะบางอย่างเรารู้นะ แต่เราพูดไม่ได้จริงๆ หรือเราไม่จำเป็นต้องพูดในเพลงนี้เราก็จะไม่พูด เนื้อหาในเพลงถ้าเราลองไล่ฟังก็จะพบว่ามันมีความหนักเบาไม่เท่ากัน


เวลาแต่งเพลงนี้ได้มีการตกผลึกทางความคิดกับตัวเองก่อนไหม หรือคือการเอาสิ่งที่คนในสังคมเขาวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่แล้วเข้ามาใส่ในเพลง


โดยส่วนตัว ถ้าเป็นเพลงปาร์ตี้หรือเพลงพรีเซ้นท์ตัวเองทั่วๆ ไป มันก็จะไม่ยากเท่า เพราะมันคือเรื่องที่เรารู้สึกแล้วสามารถเล่าออกมาได้เลย แต่ถ้ามันเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์การเมือง สังคม มันต้องมีการตกผลึกหรือทำความเข้าใจกับประเด็นประมาณหนึ่ง เราทำการบ้านกันค่อนข้างหนัก บางคนก็ใช้เวลากับเนื้อเพลงนานกว่าคนอื่น บางคนก็แต่งได้เลยจากสิ่งที่ตัวเองประสบ เพราะฐานการรับรู้ การประสบเรื่องทางการเมืองของแต่ละคนไม่เท่ากัน

จริงๆ มันก็เป็นเรื่องทั่วไปที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว อย่างเนื้อท่อนหนึ่งที่บอกว่า “ปลายกระบอกจ่อที่ปลายกระเดือก” มันเป็นการเล่นคำในภาษาเพลงแร็ปนี่แหละ ซึ่งมันก็แฝงสัญลักษณ์คือ ปลายกระบอกคือปืน ส่วนปลายกระเดือกก็คือคางหรือปากเรา มันก็คือการบอกว่าเราอยู่ในยุคของการปกครองด้วยระบอบที่มีปืน มันคือเรื่องทั่วไปที่ทุกคนรับรู้ แต่การเลือกคำมาใช้ของแร็ปเปอร์ทำให้พลังของเพลงมันเยอะขึ้น และความสำคัญคือสิ่งที่ทุกคนเล่าเขาอินจริง แล้วเขาก็เชื่อในแนวคิดต่อต้านเผด็จการจริงๆ มันเลยมีพลังมากขึ้น ซึ่งเป็นข้อดีของเพลงแร็ปด้วยที่หากเราเล่าเรื่องที่เราประสบจริงๆ มันจะส่งพลังออกมาได้เยอะกว่า


แล้วการเมืองสำหรับกลุ่มคุณที่ประสบมาคืออะไร


การเมืองสำหรับเรามันคงเป็นเรื่องการตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทำไมเราถึงแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วสุดท้ายมันก็กลับไปที่การเมือง อำนาจทุกอย่างก็มาจากการเมือง ถ้าเราไม่สนใจการเมือง เราก็คงไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การสนใจการเมืองมันก็คือการหาวิธีที่จะเปลี่ยนอะไรที่เราไม่ชอบให้มันดีขึ้น เช่น เราไม่ชอบรถติด ถ้าเราไม่สนใจการเมืองเราอาจจะมองว่าปัญหารถติดเพราะตำรวจเปิดสัญญาณไฟ หรือถ้าเรามองลึกกว่านั้นรถติดเพราะผังเมืองประเทศเป็นแบบนี้ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณเจอปัญหาแล้วคุณคิดกับปัญหานั้นแค่ไหน คุณได้แค่บ่นไป หรือพยายามหาทางออก แก้ไขปรับปรุงให้มันดียิ่งขึ้นไป

การเมืองมันอยู่รอบตัวเรา ทำไม 20 กว่าปีที่เราเดินบนฟุตปาธริมถนนแล้วฟุตปาธมันไม่ดีขึ้นสักที อิฐบนฟุตปาธก็ยังแตกอยู่ มันคือเรื่องการบริหารจัดการการเมืองหมดเลย การเมืองมันไม่ใช่แค่การออกไปชุมนุมบนถนน หรือการแบ่งฝ่ายแบ่งสี มันคือเรื่องความเป็นอยู่ เรื่องที่เราประสบอยู่ ไม่ใช่แค่นักการเมืองด้วย ในโรงเรียน ในหน่วยงาน ในบริษัท มันก็มีการเมืองภายใน ทุกคนรู้อยู่แล้ว การเข้าหาคนอื่นเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง อันนั้นก็คือการเมือง


แต่สุดท้ายแล้วพอเราเริ่มมองปัญหาจากเรื่องใกล้ตัว คำตอบมันก็นำเราไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเมืองอยู่ดี


ใช่ครับ จุดร่วมของเราคือการต่อต้านระบบเผด็จการ ซึ่งมันไม่ได้หมายถึงเผด็จการจากทหารอย่างเดียวด้วย ทหารอาจจะชัดเจนที่สุดที่เอาอำนาจ เอาอาวุธปืน เอาความกลัวเข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตของคนปกติ แต่เราก็ยังมีเผด็จการการปกครองส่วนท้องถิ่น เผด็จการรัฐสภา ที่คนที่อยู่ในสภาเป็นพวกเดียวกันหมด ไม่มีใครค้านใคร


คนที่มองว่าการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อ จะรัฐบาลเลือกตั้งหรือรัฐบาลเผด็จการชีวิตไม่ได้ดีไปกว่าเดิม คิดว่าเพลงเราจะสื่อสารกับเขาได้ไหม


ในกลุ่มก็เชื่อว่าเราสามารถสื่อสารและทำให้พวกเขารับรู้ได้ แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าคุณฟังเพลงนี้แล้วจะต้องมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เพราะมันต้องใช้เวลาในการเชื่ออะไรบางอย่างแล้วเปลี่ยนพฤติกรรม แต่เราทำให้คนจำนวนมากรับรู้ และพอมันเป็นกระแส มันจะเปิดความคิดพวกเขาว่าเราสามารถพูดเรื่องนี้ได้ คนที่ฟังเพลงประเทศกูมีแล้วคอมเมนต์หรือแชร์ เราก็คิดว่ามันคือการตื่นตัวแล้ว หรือถ้าเขาจะเบื่อ ไม่สนใจ อันนั้นก็เป็นสิทธิของเขา เพราะเขาอาจจะประสบอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาไม่อยากยุ่งแล้วก็ได้ แต่บางคนที่อยู่กับความกลัวหรือไม่กล้าแล้วออกมาด่าเราที่ทำเพลงนี้ออกมา เราก็ถือว่าเขาตื่นตัวทางการเมืองแล้ว เพราะอย่างน้อยเขาก็ลุกขึ้นมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่ก็คือการเคลื่อนไหวทางความคิดแล้วในยุคนี้


ความรู้สึกที่แต่งเพลงนี้มันคือความรู้สึกโกรธ ไม่ยอมจำนน


ทุกคนมีความโกรธ ความเบื่ออยู่แล้ว แต่เราจะถ่ายทอดยังไงให้มันมีสุนทรียะทางเพลงด้วย ให้เขาอินไปกับเรา ผมคิดว่ามันเป็นเพลงในยุคสมัย ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ฟังแล้วมีอารมณ์ร่วมไปกับเนื้อหา คนรุ่นใหม่สำหรับเราไม่ได้หมายถึงอายุ แต่คือคนที่อยู่ร่วมกับยุคสมัย ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เราเข้าใจอะไรได้เพิ่มขึ้น เราตามทันสิ่งที่เกิดขึ้นแค่ไหน เราปรับตัวเองเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอย่างไรบ้าง นั้นแหละคือคนรุ่นใหม่


ถ้ามีการเลือกตั้งแล้ว RAD จะยังทำอะไรต่อไหม หรือในระหว่างที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง นอกจากวิจารณ์เผด็จการแล้ว จะมีอะไรอีกไหม


การเลือกตั้งมันอาจหมายถึงการเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่จริงๆ การเลือกตั้งครั้งนี้เราก็รู้จากข่าว เช่น เรื่อง สว. สรรหา ที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งมันก็คือวิธีการแบบเผด็จการอยู่ดี จริงๆ ก็จะมีเพลงออกมาอีก และหลังจากนี้หากมีการเลือกตั้งแล้วเราก็คงต้องคุยกันอีกทีว่ารูปแบบของกลุ่มจะเป็นยังไงต่อไป



000000




ธีระวัฒน์ รุจินธรรม (กลาง)


ไอเดีย 6 ตุลาในเอ็มวีมาได้ยังไง


ไอเดีย 6 ตุลามาจากความสงสัยของเรา เราถ่ายหนังเรื่องแรกคือเรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน ในบทจะมีฉากหนึ่งเขียนถึงฉาก 6 ตุลา มีการเตรียมว่าจะถ่ายฉากนี้ยังไง แต่สุดท้ายผู้กำกับคือพี่บัณฑิต (ฤทธิ์ถกล) ตัดสินใจตัดออก เพราะไม่รู้จะนำเสนอยังไง ตอนนั้นแกบอกว่าถ้านำเสนอไม่ดีจะกลายเป็นการเอาศพมาประจาน เราก็ไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลของแกเท่าไหร่ในตอนนั้น

พอช่วงปีที่แล้วมีโอกาสไปช่วยในโครงการบันทึก 6 ตุลา ช่วยกำกับหนังเรื่องสองพี่น้อง ได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ 6 ตุลามากขึ้น ล่าสุดเขาอยากให้เราช่วยหาจุดของต้นไม้แขวนคอต้นนั้น แล้วช่วงนั้นมีโจทย์ของเพลงนี้พอดี เราก็คิดวนๆ ในหัว ผสมกันไปมา สุดท้ายก็เลยออกมาเป็นฉากศพแขวนใต้ต้นไม้ มีคนอยู่รอบๆ เชียร์การทารุณศพ ปกติเราดูแต่ภาพถ่าย แต่ถ้าเราเอากล้องไปอยู่ตรงใจกลางของเหตุการณ์นั้น คนดูน่าจะมีความรู้สึกอะไรบางอย่าง ซึ่งแล้วเราคิดว่า 6 ตุลามันคืออาการทางกายภาพของความเจ็บป่วยของประเทศนี้ที่ปัจจุบันมันก็ยังไม่ล้าสมัย

ไอเดียเรื่องกล้องคืออยากเล่นเทคยาว ให้แร็ปเปอร์ผลัดมาแร็ปคนละท่อน เดินวนไปรอบๆ และเราคิดว่าการออกแบบการเคลื่อนกล้องที่วนไปรอบๆ มันคือเหตุการณ์เมืองไทยที่ไม่ไปไหน วนเป็นวงกลม คนไม่มีการเรียนรู้ ผู้มีอำนาจไม่มีการเรียนรู้ ประวัติศาสตร์จึงซ้ำรอย โดยเป็นคอนเซปต์เฉพาะคนทำ คนดูไม่จำเป็นต้องเก็ทก็ได้

และด้วยความยาว 5 นาที เราจึงต้องออกแบบให้เริ่มจากการมีแร็ปเปอร์ออกมาแร็ป โดยมีฉากหลังเป็นคนตบมือซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าคือการตบมืออะไร อาจจะนึกว่าแค่มาสนุกกับนักร้องที่มาร้องเพลง แต่สุดท้ายพอเห็น Chair Man คนที่เอาเก้าอี้มาฟาดศพ คนดูก็จะรู้ว่ามันคือเหตุการณ์อะไร และเป็นไฮไลท์ในตอนสุดท้าย




ภาพเบื้องหลังการถ่ายทำมิวสิควิดีโอ 'ประเทศกูมี'

ภาพศพและการฟาดเก้าอี้ที่ชัดเจนในตอนสุดท้าย เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงรึเปล่า


อันนี้เป็นประเด็นที่ถกเถียงในใจตัวเอง แล้วเราก็เล่าคอนเซปต์นี้ให้เพื่อนที่เป็นนักวิจัยในโครงการบันทึก 6 ตุลา ว่าคิดยังไงที่เราเอาภาพความรุนแรงของ 6 ตุลากลับมาทำใหม่ มันจะเหมือนเราเอาภาพมาข่มขืนคนดูซ้ำรึเปล่า เขาก็บอกว่าบางทีภาพเหตุการณ์ความรุนแรงเราปฏิเสธไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีสองปีที่แล้วเราเพิ่งรู้ว่าคนที่ถูกแขวนคอในเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้มีแค่ 2 คนตามที่เคยเข้าใจกัน แต่มีถึง 5 คนเป็นอย่างต่ำ และบางคนยังไม่รู้ชื่อด้วยซ้ำ

เราก็ตกใจว่าเรื่องแบบนี้ปล่อยผ่านมาได้ยังไงตั้ง 40 กว่าปี และจากที่ฟังหลายๆ คนมา คนในยุคนั้นคิดว่ามันคือภาพความรุนแรงโหดร้ายและเขาไม่กล้ามองมันตรงๆ เราเข้าใจว่าเพราะการไม่กล้ามองตรงๆ นี่แหละที่ไปสร้างความเข้าใจผิดขึ้นมา อีกตัวอย่างคือ รูปคนถูกแขวนคอและถูกฟาดด้วยเก้าอี้ คนคิดว่าเป็น วิชิตชัย อมรกุล แต่อันที่จริงคือยังไม่รู้ว่าเขาชื่ออะไร ส่วนวิชิตชัยนั้นถูกแขวนคอในอีกภาพหนึ่ง

ประเด็นก็คือบางทีเราต้องมาเพ่งมองมันตรงๆ ว่าอะไรมันเกิดขึ้นข้างหน้า เราเลยมีความรู้สึกว่าเมื่อชั่งตวงแล้ว ประเด็นที่บอกว่าเอาความรุนแรงมาผลิตซ้ำจึงถูกตีตกไป บางทีเราก็ต้องนำเสนอความรุนแรงด้วยวิธีการที่ตรงไปตรงมาเหมือนกัน คนถึงจะรู้สึกได้ และเห็นความจริงบางอย่าง




ภาพเบื้องหลังการออกแบบการถ่ายทำ

สุดท้ายอยากฝากอะไร


อยากขอบคุณเพื่อนและน้องๆ ที่มาช่วยงานนี้ บางคนก็ไม่ประสงค์ที่จะออกนาม ถ้าไม่มีพวกเขาเหล่านี้เอ็มวีนี้ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ปกติแล้วเราทำงานพาร์ทหนึ่งในอุตสาหกรรมบันเทิง แต่หลังมีการแบ่งสีเสื้อ เราก็ทำงานเคลื่อนไหวเบื้องหลังมาตลอด เราอยู่เบื้องหลังการทำงานของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ซึ่งเราปิดบังชื่อมาตลอด และครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่จะเปิดชื่อจริง เพราะมาถึงวันนี้ความกลัวทั้งหลายของเรามันหายไปแล้ว เรารู้สึกว่าถ้าคุณทำอะไรหลบๆ ซ่อนๆ ทั้งที่คุณมีความคิดหรือไอเดียเรื่องของคนเท่ากัน ประชาธิปไตยควรเป็นทางออกของประเทศนี้ เราก็ไม่มีอะไรจะต้องกลัวอีกต่อไป เลยอยากเรียกร้องศิลปินคนอื่นให้กล้าออกหน้ากันด้วย สังคมที่อยู่ภายใต้ความหวาดกลัวหรือการเซ็นเซอร์ตัวเองมันไม่เวิร์คหรอก ถ้าเราเชื่อในอะไรเราต้องกล้าต่อสู้และยืนยันในสิ่งนั้น



ทั้งนี้ Rap Against Dictatorship ยังเปิดให้คนทั่วไปสามารถรวมกิจกรรมคนละ 8 บาร์ ว่าด้วย ประเทศกูมี จนล่าสุดมีผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนมากจนเกินสายตาที่เราจะมองเห็นแล้วด้วย

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.