Posted: 21 Oct 2018 02:00 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-10-21 16:00


รวมพลังทีมเผือกคึกคักกว่า 100 ชีวิต กิจกรรมทีมเผือก “Self Defense Lab ปฏิบัติการเผือก เพื่อเพื่อนรอด เราปลอดภัย” ฝึกป้องกันตัวเอง-ช่วยเหลือผู้อื่นหากถูกคุกคามทางเพศ พร้อมเปิด 5 วิธีเผือกช่วยเพื่อนรอดจากการถูกคุกคามทางเพศ ด้านภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เล็ง จัดทำชุดความรู้เผยแพร่ในโรงเรียน หลังพบนักเรียนมัธยมตกเป็นเป้าหมาย พร้อมเตรียมจัดทำวีดีโอ ให้ความรู้ประชาชนบนรถ บขส. เปิดตัวเลข 1 ปีก่อตั้งทีมเผือกมีสมาชิกเพิ่มกว่า 500 คน ระบุสร้างพลังให้คนกล้าพูด-กล้าช่วยผู้ถูกคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ด้าน 'ซินดี้' วอนทุกฝ่ายในสังคมเข้าร่วมเป็นทีมเผือกเป็นหูเป็นตายับยั้งภัยคุกคามทางเพศ

21 ต.ค. 2561 ที่ Crossover Gym ภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ประกอบด้วย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย, แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ภายใต้สมาคมเพศวิถี, มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายสลัมสี่ภาคร่วมกับโครงการ “Don’t tell me how to dress” จัดกิจกรรมทีมเผือก “Self Defense Lab ปฏิบัติการเผือก เพื่อเพื่อนรอด เราปลอดภัย” เพื่อร่วมเรียนรู้แนวทางในการช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือบุคคลอื่นจากการถูกคุกคามทางเพศ และการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นการแสดงพลังของทีมเผือก ที่จะไม่เงียบ ไม่นิ่งเฉย เพราะการถูกคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องไกลตัว นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวทีมเผือกจากประชาชนทั่วประเทศกว่า 100 คนด้วย

นางสาวรุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์และความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศบนรถโดยสารสาธารณะว่าที่ผ่านมาเรามักจะเห็นว่าสถานการณ์การถูกคุกคามทางเพศบนรถสาธารณะ คนที่ถูกคุกคามไม่กล้าที่จะตอบโต้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งในหลายเหตุการณ์คนที่อยู่รอบข้างสามารถช่วยเหลือการคุกคามเหล่านั้นได้ จึงตั้งทีมเผือกขึ้นมา เพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้โดยสารรถขนส่งสาธารณะ ให้มีความตื่นตัวกับการถูกคุกคามทางเพศ และ ยังสามารถหยุดการคุกคามทางเพศ หรือ ช่วยเหลือ คนที่ถูกคุกคามทางเพศได้ รวมถึงการสอดล่องดูแลพฤติกรรมการคุกคามทางเพศในระบบสาธารณะ โดยหลังจากมีการจัดตั้งทีมเผือกเห็นได้ชัดว่าประเด็นเหล่านี้มีการนำเสนอผ่านสื่อมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ที่ถูกคุกคามก็กล้าพูดมากขึ้น กล้าตอบโต้ และไม่นิ่งเฉยอย่างน้อยทำให้ผู้คนเห็นว่าเรื่องการถูกคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องน่าอาย

“ยังมีตัวชี้วัดที่ดี หรือเป็นสัญญาณบวก เพราะเพจเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงของเราเปิดมาได้หนึ่งปีมีผู้ติดตามมากกว่า 5,000 คน และในจำนวนนี้มีคนเข้าร่วมสมัครเป็นสมาชิกกรุ๊ปทีมเผือกเพื่อร่วมกิจกรรมต่างๆ ในการป้องกันการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะมากกว่า 500 คนเลยทีเดียว รวมไปถึงเรายังได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ อย่างแคมเปญ “Don’t tell me how to dress” ของคุณซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซึ่งการได้ร่วมทำงานกับกลุ่มอื่นๆที่ประเด็นคล้ายๆ กัน ทำให้เสียงของทีมเผือกของพวกเราดังขึ้น และสามารถที่จะขยายผลเพื่อสร้างความตระหนักของคนในสังคม ชักชวนสังคมให้เป็นหูเป็นตาไม่นิ่งดูดาย” น.ส.รุ่งทิพย์ กล่าว

น.ส.รุ่งทิพย์ กล่าวว่ากิจกรรมต่อจากนี้จะนำเรื่องนี้เข้าไปขยายต่อที่โรงเรียน เพราะต้องการให้เด็กนักเรียนโดยเฉพาะระดับมัธยมที่ถือว่าตกเป็นเป้าของการคุกคามมากได้เข้าใจว่าการคุกคามทางเพศคืออะไร เพราะเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศในแฟนเพจเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงของเราที่สมาชิกส่งเข้ามาจำนวนหนึ่งจะเกิดกับเด็กวัยรุ่นเด็กนักเรียนที่ต้องใช้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยเด็กๆหลายคนที่ถูกคุกคามไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าสิ่งนั้นคือการคุกคามทางเพศ เราจึงอยากให้คนรุ่นใหม่ในสังคมมีความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องนี้ หรือถ้าเจอเหตุการณ์สามารถเข้าไปแทรกแซงได้อย่างไรและในระดับไหนที่เราสามารถทำได้ป้องกันตนเองได้หรือช่วยเหลือคนอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นได้

ด้านนางสาววราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่ากิจกรรมในวันนี้มุ่งจัดขึ้นสำหรับผู้ติดตามเพจ “เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง” และเป็นสมาชิก “ทีมเผือก” ของเครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ โดยสมาชิกทีมเผือกคือกลุ่มคนสมัครเข้ามาเป็นจิตอาสา ที่จะช่วยกันสอดส่องป้องกันปัญหาการคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะ เราจึงชักชวนคนเหล่านี้มาเรียนรู้วิธีเผือก หรือการเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกคุกคามที่ได้ผล ไฮไลท์ของกิจกรรม คือ การเรียนรู้เทคนิคและวิธีการสังเกตสถานการณ์รอบตัวว่ามีภัยคุกคามทางเพศหรือไม่ ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับคนอื่น เราจะเข้าไปแทรกแซงได้อย่างไร และถ้าเกิดขึ้นกับตัวเราเอง เราจะจัดการอย่างไร

“ที่สำคัญ นอกจากเผยแพร่วิธีการป้องกันตัวเองหรือช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว เป้าหมายในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ของเครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ คือ กระตุ้นให้คนในสังคมตระหนักว่าการคุกคามทางเพศเป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายและสังคมไม่ยอมรับ ผู้ที่ถูกคุกคามไม่ต้องจำยอม มันมีวิธีการที่เราจะปกป้องตัวเองหรือขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างได้ ขณะที่คนรอบข้างก็ต้องไม่นิ่งเฉย ต้องช่วยกันสอดส่องและเข้าแทรกแซงถ้าทำได้ ที่สำคัญ ผู้ที่คิดจะฉวยโอกาสคุกคามทางเพศคนอื่น คนเหล่านี้ต้องรับรู้ว่าสังคมไม่ยอมรับพฤติกรรมของเขา และสังคมจะไม่นิ่งเฉย เราจะทำให้คนที่คิดจะคุกคามผู้อื่นต้องยั้งคิดและเลิกพฤติกรรมดังกล่าว”

น.ส.วราภรณ์ กล่าวว่า นอกจากการรณรงค์กับผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะแล้ว เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงยังผลักดันให้หน่วยงานที่กำกับดูแลและจัดบริการขนส่งสาธารณะมีนโยบายและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศด้วย โดยมีหลายหน่วยงานตอบรับว่าจะร่วมมือกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่จะเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายฯ เข้าไปอบรมพนักงานประจำรถทัวร์เรื่องการสอดส่องดูแลและช่วยเหลือผู้โดยสารที่ถูกคุกคาม โดยเครือข่ายฯ กำลังจัดทำคู่มือหยุดการคุกคามทางเพศ ทั้งที่เป็นเล่มและแบบออนไลน์ เพื่อให้พนักงานสามารถเรียนรู้เทคนิควิธีการต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ ทางเครือข่ายฯ กำลังผลิตสื่อรณรงค์สำหรับผู้โดยสาร ในรูปแบบวิดีโอสำหรับฉายบนรถโดยสารของ บขส. โดยวิดีโอชุดนี้มุ่งสร้างความเข้าใจปัญหาการคุกคามทางเพศรูปแบบต่าง ๆ และสื่อว่าผู้ประสบเหตุไม่ควรนิ่งเฉย สามารถป้องกันตนเอง ตลอดจนแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือจากพนักงาน และร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้

ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ยังกล่าวถึงกฎหมายที่เอาผิดกับผู้คุกคามทางเพศด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายดำเนินการกับผู้คุกคามทางเพศอย่างชัดเจน แต่ขณะนี้เรามีตัวอย่างของประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีความก้าวหน้า มีการออกกฎหมายเรื่องการคุกคามทางเพศโดยเฉพาะ ที่ระบุถึงพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การผิวปากแซว การพูดแซว การแต๊ะอั๋ง การสะกดรอยตาหรือตามตื้อ ทำให้ผู้ที่ตกเป็นเป้าการคุกคามรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งกฎหมายของฟิลิปปินส์มีบทลงโทษที่ชัดเจน จากตัวอย่างนี้ เครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ จึงจะผลักดันเรื่องกฎหมายเรื่องการคุกคามทางเพศในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมด้วยเช่นกัน


ขณะที่ น.ส.สิรินยา บิชอพ หรือ ซินดี้ นักแสดงและนางแบบชื่อดัง กล่าวถึงการทำงานร่วมกันทีมเผือกว่า ตนได้รับเชิญให้เข้ามาเป็นส่วนร่วมหนึ่งของทีมเผือกและเป็นอีกหนึ่งส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ ตนเชื่อว่ากิจกรรมการสอนวิธีป้องกันตัวเองให้กับผู้หญิงหากถูกคุกคามทางเพศจะทำให้ผู้หญิงอยู่ในสังคมไทยได้ปลอดภัยมากขึ้น และการนำทีมเผือกกว่า 100 คนมาร่วมฝึกด้วยในวันนี้ก็จะยิ่งเป็นการติดอาวุธให้ทีมเผือกกลายเป็นทีมสนับสนุนในการเข้าไปช่วยเหลือผู้คนที่ถูกคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเข้มเข็งมากยิ่งขึ้น

“ซินดี้คิดว่าเราจะต้องทำให้คนตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น ทำให้คนที่จะทำพฤติกรรมคุกคามทางเพศหยุดความคิดและการกระทำของเขาให้ได้ และทำให้ผู้หญิงที่อยู่ในสถานการณ์ที่ตัวเองรู้สึกอึดอัด หรือกลัวสามารถมั่นใจที่จะขอความช่วยเหลือได้ และชอบมีคำกล่าวที่ซินดี้ได้ยินมาตลอดคือ ก็แต่งตัวแบบนั้นจึงทำให้เขาคุกคามทางเพศ ซึ่งซินดี้มองว่าปัญหาของการคุกคามทางเพศมันไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้หญิงจะแต่งตัวอย่างไร แต่ปัญหาเกิดจากผู้ชายที่คิดว่าจะฉวยโอกาสคุกคามทางเพศในรถสาธารณะอย่างไรมากกว่า นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของมายาคติ ในเรื่องอำนาจที่ผู้ชายที่คิดว่ามีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง ดังนั้นจึงต้องแก้ไขที่ความคิดด้วย ทำอย่างไรให้เกิดเท่าเทียมกันในสังคม” นักแสดงและนางแบบชื่อดังกล่าว

น.ส.สิรินยา ยังกล่าวถึงทางออกของปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ว่า จะต้องมาจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทุกคนในสังคมต้องมีส่วนร่วมในการที่จะแก้ไข และต้องคิด หรือ วางแผน ไว้ล่วงหน้าว่าถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นกับเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร พนักงานในระบบขนส่งก็เช่นกันที่จะต้องให้ความร่วมมือตรงนี้แต่ที่ง่ายที่สุดตอนนี้อยากชวนให้ทุกคนร่วมเป็นทีมเผือกกันเยอะๆ มาช่วยกันสอดส่องและส่งเสียงและแสดงพลังในการแก้ปัญหานี้ร่วมกันให้เยอะๆ

ด้านนายกิตติเชษฐ์ มายะการ ครูฝึกจาก ทีม JDT Defensive ผู้เชี่ยวชาญการระวังป้องกันภัยและการป้องกันตัว กล่าวว่า วิธีการป้องกันตัวเองที่ง่ายที่สุด ถ้าถูกคุกคามทางเพศคือต้องรู้จักวิธีการขอความช่วยเหลือที่ได้ผล เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศ มักจะไม่กล้าขอความช่วยเหลือ ทำให้ผู้ลงมือได้ใจและคุกคามอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เห็นว่าทุกสถานที่ทุกเวลามีโอกาสมีความเสี่ยงในการถูกคุกคามทางเพศได้หมด ทั้งรถเมล์ รถตู้ รถไฟฟ้า ดังนั้นเราควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมคนรอบๆตัวด้วยว่ามีพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือไม่ เช่น ลอบมองเราบ่อยๆ มีการเข้ามากระชิดตัว มาเบียด หรือ นำอวัยวะมาถูไถเราหรือไม่ ซึ่งหากเกิดเหตุแบบนี้เกิดขึ้น ควรมีท่าทีแสดงออกถึงความไม่ยินยอม และขอความช่วยเหลือทันที

ครูฝึกจาก ทีม JDT Defensive ผู้เชี่ยวชาญการระวังป้องกันภัยและการป้องกันตัวกล่าวเพิ่มเติมว่า และสำหรับประชาชนทั่วไปหากเราสังเกตเห็นผู้หญิงที่กำลังถูกคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะแล้วไม่กล้าร้องขอความช่วยเหลือก็อยากให้พวกเราแสดงตัวเป็นทีมเผือกเพื่อช่วยหยุดเหตุการณ์การคุกคามที่เกิดขึ้นได้โดยมี 5 วิธีในการเผือกง่ายๆ ดังนี้ 1.ตะโกนส่งเสียงเมื่อเราเห็นพฤติกรรมการคุกคามที่เกิดขึ้นตรงหน้าถ้าเราตะโกนเสียงดังๆ จะทำให้ผู้ที่กำลังก่อเหตุตกใจและหยุดพฤติกรรมการคุกคามได้ 2.หยิบมือถือขึ้นมาถ่าย เมื่อผู้ที่กำลังก่อเหตุรู้ว่าตนเองกำลังถูกถ่ายคลิปจะเกิดความกลัวและหยุดพฤติกรรมได้ ซึ่งการถ่ายคลิปวีดีโอยังสามารถใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้ก่อเหตุได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย 3.แจ้งพนักงานรถโดยสาร ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีเผือกสำหรับพลเมืองดีที่อยากช่วย แต่ไม่มั่นใจในการเข้าไปแทรกแซงด้วยตัวเองเราก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ไปจัดการแทนเราได้ 4.ทำเป็นเนียนว่ารู้จักผู้ถูกกระทำ การแกล้งทำเป็นเนียนว่ารู้จักกับผู้ที่ถูกกระทำจะสามารถเบี่ยงเบนความสนใจจากผู้กระทำและเรายังสามารถดึงเอาผู้ถูกกระทำออกมาจากสถานการณ์นั้นได้อย่างแนบเนียนด้วย 5.เอาตัวเข้าแทรก ถ้าหากเรามั่นใจว่าสามารถรับมือกับผู้กระทำได้เราก็สามารถนำตัวเข้าแทรกเพื่อขู่ให้กับผู้กระทำหวาดกลัวและหยุดพฤติกรรมการคุกคามได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย

“นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับเล็กๆ สำหรับการป้องกันตนเองของผู้หญิงที่เสียเปรียบในเรื่องของขนาดตัว และ แรงที่สู้กับผู้ชายนั้น เรา สามารถพกอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเองได้ ในกรณีที่ต้องเดินทางไปยังสถานที่เปลี่ยวๆ เพราะอุปกรณ์ป้องกันตัวเองบางอย่าง เช่น ปากกาหรือไฟฉายที่เป็นอุปกรณ์ที่ไม่ผิดกฎหมายสามารถพกติดตัวได้ และสามารถใช้งานตามปกติได้จริง เพียงแต่วัสดุถูกออกแบบมาให้แข็งแรงสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวเองได้ โดยในกรณีของไฟฉาย สามารถใช้ส่องไปที่ตาคนร้ายเพื่อให้ตาพร่ามัว ทำให้เราสามารถวิ่งหนีได้และหากจวนตัวจริงๆเราก็สามารถนำปากกาทิ่มไปที่จุดสำคัญของคนร้ายและเรารีบวิ่งหนีจากคนร้ายเพื่อไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้” นายกิตติเชษฐ์กล่าว

ด้าน น.ส.ปิยะมาศ แซ่ปัง หนึ่งในสมาชิกทีมเผือก เล่าถึงประสบการณ์ในการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกคุกคามทางเพศว่า ส่วนตัวไม่เคยเข้าไปช่วยโดยตรงแบบเปิดเผย แต่จะใช้สายตาทำให้อีกฝ่ายรู้ตัวว่า เรารู้นะคุณทำอะไรอยู่ เรามองคุณอยู่นะ แต่ไม่ถึงขั้นปะทะหรืออะไร ซึ่งเหตุการณ์หนึ่งที่จำได้ คือ นั่งอยู่บนรถเมลแล้วสังเกตว่ามีนักศึกษาผู้หญิงคนหนึ่ง ทำสีหน้าไม่ค่อยดี เหมือนคนไม่สบายใจจะร้องไห้ แต่ผู้ชายที่ยืนอยู่ข้างหลังทำหน้าปกติ เลยตัดสินใจลุกให้ผู้หญิงคนนั้นนั่ง เพราะคาดการณ์ว่าจะต้องมีอะไรเกิดขึ้นแน่ จากนั้นผู้ชายคนนั้นก็ลงรถเมล์ในป้ายต่อไปทันที ซึ่งสาเหตุที่ตัดสินใจช่วย เพราะไม่ให้เขาถูกลวนลามไปมากกว่านี้

“เห็นว่าแคมเปญของทีมเผือกดี และควรมี สังคมไทยไม่ควรเฉยกับเรื่องนี้ แต่ต้องตื่นตัว และจริงจัง อย่าคิดว่าผู้หญิงโดนลวนลามก็แค่นั้น อย่ากลัวที่จะพูด อย่ากลัวที่จะช่วย หรือ เผือกช่วยเขา เพราะตอนเราโดนเราก็ไม่กล้าพูด เรื่องพวกนี้ เชื่อว่ามีเกิดขึ้นมาตลอด ซึ่งการจัดกิจกรรมแบบวันนี้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันว่าเจออะไร มีรูปแบบไหนบ้าง วิธีการป้องกันเป็นแบบไหน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นเวลาที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ ว่าควรจะทำอย่างไร”สมาชิกทีมเผือกกล่าว

น.ส.ปิยะมาศ กล่าวว่า หลังจากนี้ ตนจะใช้วีธีการถ่ายคลิป หากพบเจอเหตุการณ์คุกคามทางเพศเกิดขึ้น เพื่อที่จะได้มีหลักฐานชัดเจน เพราะนอกจากเป็นการป้องกันตัวเราแล้วว่าเราไม่ได้กล่าวหาใคร ยังสามารถใช้เป็นหลักฐานในการแจ้งความได้ด้วย เพราะไม่อยากให้เรื่องจบตรงที่ไล่คนที่ลวนลามลงจากรถแล้วจากไป ซึ่งรู้สึกว่าไม่แฟร์กับคนถูกกระทำ แต่อยากให้มีการดำเนินคดีทางกฎหมายกับคนเหล่านี้ด้วย




ทั้งนี้ในงานดังกล่าวยังมีการฝึกเทคนิคการ “เผือก” และการป้องกันตัวเบื้องต้น การใช้อาวุธในร่างกาย การหนีออกจากสถานการณ์ และเทคนิคการแก้สถานการณ์ เช่น การถูกลวนลามแบบยืน การโดนฉุดแขน การโดนจี้ จากครูฝึกทีม JDT Defensive ผู้เชี่ยวชาญการระวังป้องกันภัยและการป้องกันตัวระดับประเทศ ให้กับทีมเผือกกว่า 100 คนที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.