Posted: 28 Oct 2018 05:51 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-10-28 19:51

ใจ อึ๊งภากรณ์

มันเป็นเรื่องดีมากๆ ที่พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่ออกมาวิจารณ์เผด็จการทหารปัจจุบันอย่างเป็นระบบ และเสนอว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่ใช่ของทหาร พร้อมกับรื้อถอนข้อบังคับต่างๆ ของเผด็จการประยุทธ์ที่จำกัดพื้นที่ประชาธิปไตย และเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคสามัญชน พรรคอนาคตใหม่พูดชัดเจนกว่าในเรื่องนี้

แต่เราก็ต้องตั้งคำถามว่าจะทำได้อย่างไร เพราะการมีเสียงส่วนใหญ่ในสภา ถ้าเกิดมีจริงในอนาคต จะไม่ทำให้ข้อเสนอเหล่านี้มีพลัง การรื้อถอนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี การรื้อถอนวุฒิสภาที่ทหารแต่งตั้ง และการรื้อถอนตุลาการที่อยู่ฝ่ายเผด็จการ ต้องอาศัยพลังมวลชนนอกรัฐสภา ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ลงมือสร้างแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการสังกัดหรือสนับสนุนพรรคไหน กรรมาชีพในขบวนการแรงงานควรพิจารณาเรื่องอื่นอีกด้วย เรื่องสำคัญคือเรื่องจุดยืนทางชนชั้น



ผมเคยเขียนเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่คือ ในรายการสดของ The Standard ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดชัดเจนว่าในอดีตเมื่อสหภาพแรงงานในโรงงานไทยซัมมิทเรียกร้องโบนัสเท่าเทียมกับสำนักงานใหญ่ ธนาธร และบริษัทซัมมิทตัดสินใจปิดโรงงานและไล่คนงานทุกคนออก เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการนัดหยุดงาน

นอกจากนี้เราทราบจากข่าว “ประชาไท” ว่าบริษัทไทยซัมมิทอีสเทิร์น ซีบอร์ด ออโต้พาร์ท อินดัสตรี ได้สั่งเลิกจ้างคนงาน 50 คนในวันที่ 26 ธันวาคม 2549 เพราะได้ไปสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทย และทางบริษัทเกรงว่าจะทำให้ลูกจ้างมีอำนาจต่อรองกับบริษัทมากขึ้นหากมีสหภาพแรงงานแบบนี้

ในรายการโทรทัศน์หลายครั้ง ธนาธร ออกมาสั่งสอนนักสหภาพแรงงานเหมือนเป็นครูใหญ่และพูดว่าธุรกิจ “ต้อง” ได้กำไรเพิ่มก่อนที่จะเพิ่มค่าจ้างหรือปรับสวัสดิการให้ดีขึ้น พูดง่ายๆ ผลประโยชน์ของนายทุน 1% ของประชากร สำคัญกว่าผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ 99% และเมื่อนายทุนกินอิ่มแล้ว เศษอาหารที่เหลือบนโต้จะเป็นของแรงงาน นอกจากนี้เมื่อไม่นานมานี้ ธนาธร พูดว่าจะ “ปกป้องทุนนิยม” และอ้างว่าทำเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ แต่ในรูปธรรมระบบทุนนิยมให้ประโยชน์กับนายทุนเป็นหลัก และระบบกลไกตลาดเสรีทำให้มีการกดค่าแรงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันเสมอ และการแข่งขันดังกล่าวนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเป็นประจำอีกด้วย

ถ้าคนส่วนใหญ่ถือครองปัจจัยการผลิต โดยไม่มีนายทุน มันไม่จำเป็นต้องมีกำไรที่ตกอยู่ในมือนายทุน แต่ส่วนเกินจากการผลิตจะนำมาลงทุนเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ โดยคนส่วนใหญ่ในสถานประกอบการและคนในสังคมจะร่วมกันตัดสินใจว่าจะลงทุนในอะไร นั้นคือตัวอย่างของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ แต่นั้นไม่ใช่เป้าหมายของพรรคอนาคตใหม่

ธนาธร และพรรคอนาคตใหม่พูดว่าอยากจะ “ให้โอกาส” กับทุกคน แต่การให้โอกาสกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมจะเกิดได้ต่อเมื่อทุกคนมีรายได้และทรัพย์สินเท่ากัน ซึ่งไม่ใช่ข้อเสนอของพรรค มีการเสนอแนวคิด Negative Income Tax หรือเงินคืนภาษีให้คนรายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี เพื่อ “แก้ปัญหาความยากจน” แต่การให้เงินคนจนแบบนี้เป็นข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายขวา เพราะเงินที่จะให้คนจนมาจากงบประมาณของรัฐ ซึ่งแปลว่ากลุ่มทุนหรือธุรกิจไม่ต้องเพิ่มค่าจ้าง และเงินนี้จะได้จากการเก็บภาษีจากคนทำงานที่รายได้มากกว่าหมื่นบาทต่อเดือน หรือจากภาษีมูลค่าเพิ่ม พูดง่ายๆ มันเป็นการสร้างภาพว่าช่วยคนจนโดยที่กลุ่มทุนไม่ต้องเสียผลประโยชน์เลย นอกจากนี้ในสังคมไทยคนที่จนที่สุดไม่มีงานประจำถาวรและไม่ได้เสียภาษี คำถามคือจะให้เงินกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร

ในขณะเดียวกันพรรคอนาคตใหม่ไม่มีข้อเสนอให้รื้อถอนกฏหมายแรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน และร่างกฏหมายแรงงานใหม่ที่ให้อำนาจกับสหภาพ ไม่มีข้อเสนอให้เก็บภาษีในอัตราสูงจากเศรษฐีหรือกลุ่มทุน ไม่มีข้อเสนอเป็นรูปธรรมว่าจะสร้างรัฐสวัสดิการ และไม่มีการรับข้อเสนอเรื่องการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในระดับเดียวกันกับคำเรียกร้องของสหภาพต่างๆ

นอกจากนี้ในปัญหาของสังคม พรรคอนาคตใหม่ไม่เสนอให้ยกเลิก 112 ไม่เสนอให้สตรีมีสิทธิทำแท้งเสรี และไม่เสนอให้ชาวปาตานีสามารถกำหนดอนาคตตนเองโดยไม่ต้องพิจารณาความมั่นคงของชาติ

ในแวดวงนักสหภาพแรงงานมักจะมีการตั้งคำถามกันว่า “จะอยู่อย่างเป็นทาส หรือจะร่วมกันต่อสู้?” การที่แรงงานไม่สร้างพรรคของกรรมาชีพเอง และคอยเดินตามก้นพรรคนายทุน ไม่ว่าจะเป็นพรรคนายทุนหน้าเก่าอย่างเพื่อไทย หรือพรรคนายทุนหน้าใหม่อย่างอนาคตใหม่ แปลว่ากรรมาชีพจะอยู่อย่างเป็นทาสและเป็นแค่ “กบเลือกนาย” แรงงานต้องมีศักดิ์ศรีมากกว่านั้น



เผยแพร่ครั้งแรกใน: Turnleft-Thailand

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.