Posted: 28 Oct 2018 05:03 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-10-28 19:03


มหกรรมสหบาทาที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน คงไม่ได้จำกัดเฉพาะในโลกออนไลน์เท่านั้น ทว่าสหภาพแรงงานเองก็กลัวตกขบวนด้วย หากจะไม่ยื่นเท้าสักเท้าเข้ามาร่วมวงกระทืบนักบินสักป้าบ ก่อนที่จะหมดกระแสไป

การให้สัมภาษณ์ของคุณดำรง ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานฯ ดูเหมือนจะแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นโล้เป็นพายขององค์ความรู้ง่ายๆแบบ Airline 101 และ Labour 101 ซึ่งอาจจะต้องจับเข้าคอร์สเรียนกันใหม่หมด แต่ที่เป็นปัญหามากคือคือสิ่งที่สหภาพแรงงานฯ ควรทำหรือไม่ควรทำ จึงดูเหมือนประธานสหภาพฯ จะแยกบทบาทของตนเองไม่ออก เลยทำให้บทสัมภาษณ์ออกมาราวกับเป็นประธานสมาคมนายจ้างเสียเอง!!!


สหภาพจวกการบินไทยปมที่นั่งนักบิน ลั่นหากต้องการนอนพัก มีห้องแยกแต่ไม่ใช้

ปธ.สหภาพการบินไทย ย้ำจิตสำนึกกัปตันควรสละที่นั่ง

แถลงการณ์ของสหภาพ เมื่อต้นสัปดาห์ที่บอกว่า


“ถ้าเป็นผมจะเสียสละ ถอยให้ผู้โดยสาร เราได้รับเงินเดือนค่าจ้าง ทุกบาททุกสตางค์จากผู้โดยสาร ไม่ได้บอกว่าเขาทำผิด เขาทำถูกตามระเบียบและสิทธิ์ แต่เขาต้องคิดได้ ต้องมีจิตสำนึกในความเป็นกัปตัน”

อ่านการให้สัมภาษณ์แล้ว ทำให้เกิดคำถามกับประธานสหภาพอยู่ 2 ข้อ

ข้อแรก ท่านกำลังดำรงแหน่งอะไร ระหว่าง นายกสมาคมนายจ้าง หรือ ประธานสหภาพแรงงาน

ข้อสอง ท่านทราบไหมครับว่า “สหภาพแรงงานควรมีบทบาทอย่างไร”




ข้อแรกนั้น ต่อให้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือของนายจ้างอย่างฝ่ายประชาสัมพันธ์หรือฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ ก็ยังไม่สามารถตอบคำถามผ่านสื่อในแบบที่ประธานสหภาพฯ ทำได้เลยครับ เพราะสิ่งที่ประธานสหภาพตอบมันหมายถึงความแตกแยกในองค์กรที่สะท้อนว่าแทบจะหาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ได้

ข้อที่สอง ประธานสหภาพอาจจะหลงลืมไปว่า สหภาพแรงงานเป็น “องค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มกรรมกร คนงาน หรือพนักงาน (แล้วแต่จะเรียกกันให้สบายใจ แต่สุดท้ายก็คือผู้ใช้แรงงานแลกค่าจ้างจากนายจ้างทั้งหมด) ตามกฎหมายแรงงาน โดยมีการดำเนินการที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ อำนาจนายจ้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครอง แสวงหาผลประโยชน์ของลูกจ้างทุกคนที่เแป็นสมาชิก ในเรื่องสภาพการจ้าง เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ สิทธิ ความสะดวกสบาย และความปลอดภัยในการทำงาน อีกทั้งยังมีสิทธิและสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการร่วมกับนายจ้างเพื่อปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดีขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนงาน” นี่คือหัวใจของสหภาพแรงงาน

หน้าที่ของสหภาพแรงงานคือ การกระตุ้นให้พวกเรา (ลูกจ้าง) หันมาช่วยกันปกป้องข้อตกลงตามสภาพการจ้าง รวมไปถึงสิทธิของแรงงานด้วยกันไม่ใช่หรือครับ เพราะไม่ว่าจะเป็นนักบิน ลูกเรือ ช่าง กราวนด์ หรือลูกจ้างแผนกอื่นๆ พวกเราก็ต่างอยู่ในฐานะเดียวกันคือ ‘การเป็นลูกจ้าง / แรงงาน’ ให้กับนายจ้างเหมือนกันไม่ใช่หรือครับ

ครั้งหนึ่งสหภาพแห่งนี้ เคยขึ้นชื่อว่าเป็นกลุ่มสหภาพที่แข็งแกร่งที่สุดไม่ใช่เหรอครับ เคยมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างเพื่อกิจกรรมของลูกจ้าง อีกทั้งยังเคยร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองการ สิทธิการรวมตัว สิทธิการเจรจาต่อรอง ตามอนุสัญญาว่าด้วงแรงงานสากลข้อที่ 78, 98 ด้วย ไม่ใช่เหรอครับ

วันนี้เกิดอะไรขึ้นกับสหภาพแรงงานแห่งนี้ครับ การให้สัมภาษณ์ของประธานสหภาพครั้งล่าสุด นอกจากไม่แตะจิตวิญญาณของการจัดตั้งองค์กรลูกจ้างเพื่อลูกจ้างแล้ว ยังแทบไม่มีความใกล้เคียงหรือสอดคล้องตามนิยามความหมาย และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสหภาพแรงงานเลย อีกทั้งมันยังสะท้อนว่าประธานสหภาพทำตัวเสมือนเป็นตัวแทนของนายจ้างเสียเองอีกด้วย ผมพูดได้ไหมครับว่า การกระทำครั้งนี้ นอกจากหลงทางแล้ว มันดูเหมือนจะหาทางกลับไปที่หลักเดิมไม่เจออีกด้วย

หรือโดยสภาพแล้ว สหภาพฯ หมดสภาพทางอำนาจที่จะต่อรองกับนายจ้างตามกฎหมายได้ จึงทำให้การสัมภาษณ์ดูออกมาอิหลักอิเหลื่อ โดดออกมายืนยันสิทธิให้ลูกจ้างได้ไม่เต็มตัว หรือแม้กระทั่งการปกป้องสิทธิตามสภาพการจ้างที่กำหนดไว้ในคู่มือของนายจ้างเอง!!! ใช่ไหมครับ

ถ้าเป็นเช่นนั้น แปลว่าเราต้องจำยอมให้ถูกริดรอนสิทธิในการทำงาน ถูกลดสิทธิตามสภาพการจ้างของพวกเราลงไปเรื่อยๆอย่างนั้น ใช่ไหมครับ? ทั้งๆที่ประธานสหภาพก็ทราบดีว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันกับลูกจ้างที่ต่างมีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

มันควรจะเป็นหน้าที่ของสหภาพแรงงานไม่ใช่เหรอครับที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตามสภาพการจ้าง มันเป็นหน้าที่ของประธานสหภาพฯ ไม่ใช่เหรอครับว่า “ทุกคนคือลูกจ้างที่สหภาพจะต้องปกป้องสิทธิตามสภาพการจ้างของพวกเขา” พวกเราลูกจ้างทั้งหมด ไม่ว่าจะต่างสาขาอาชีพกันอย่างไร เราก็ควรมีสำนึกของความเป็นลูกจ้างเช่นเดียวกันไม่ใช่เหรอครับ จริงอยู่วันนี้คุณยังไม่ใช่เหยื่อ แต่ในวันหน้าไม่มีอะไรรับรองได้ว่าคุณจะไม่ใช่เหยื่อรายต่อไป หากลูกจ้างไม่สามัคคีกันในวันนี้ หรือองค์กรลูกจ้างทำตัวเป็นนายจ้างเสียเอง ความแตกแยกนี้คงจะทำให้ปัจฉิมบทมาถึงในไม่ช้า

หันกลับมามองบทบาทสหภาพแรงงานไทยทุกวันนี้ ครั้งหนึ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางแรงงานมีบทบาทที่สำคัญมาก โดยเฉพาะนายทนง โพธิอ่าน เป็นผู้นำแรงงานที่ได้รับการยอมรับทั้งภายในและระหว่างประเทศเป็นกรรมการสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (ICFTU) ดังนั้น การเคลื่อนไหวต่างๆของทนงจึงได้รับการตอบรับจากขบวนการแรงงานสากลอย่างกว้างขวาง ในบทบาทฐานะที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างขบวนการแรงงานไทยกับขบวนการแรงงานสากล

การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานในยุคนั้น สร้างแรงกดดันต่อรัฐบาล รสช.มาก จนพลเอกสุจินดาคิดที่จะซื้อใจกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้หันมาสนับสนุนคณะรัฐประหารของตน จึงได้กล่าวว่า


"ทุกข์ของกรรมกรถือเป็นทุกข์ของทหาร"

ด้วยอุดมการณ์ ทนง ในฐานะผู้นำทางแรงงานตอบกลับอย่างไม่ไยดีว่า


“เป็นเพียงลมปากที่ไม่อาจเชื่อถือได้”

เมื่อความพยายามของคณะ รสช.ล้มเหลวที่จะดึงมวลชนผู้ใช้แรงงานมาเป็นพวก รัฐบาล รสช. จึงวางแผนที่จะแยกพนักงานรัฐวิสาหกิจออกจากผู้ใช้แรงงานเอกชนเพื่อสร้างความแยกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ใช้แรงงาน โดยการออกกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2534 ใหม่ ให้หนึ่งองค์กรมีหนึ่งสหภาพเท่านั้น และออกกฎหมายห้ามผู้ใช้แรงงานรัฐวิสาหกิจให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานเอกชน ซึ่งมีผลทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางแรงงานในประเทศไทยอ่อนแอมาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เอาแค่การทำลายจากอำนาจรัฐ ก็แย่พออยู่แล้วครับ


ประชาไท: 23 ปี ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน ที่หายไป หลังต้านรัฐประหาร รสช.

ซึ่งแน่นอนทนงได้คัดค้านมาตรการดังกล่าว เพราะเขาเห็นว่า รสช. ต้องการแยกสลายพลังขบวนการแรงงานภาคเอกชนและกับแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากกัน ทนงได้ตอบโต้ว่า


"ถ้าคณะ รสช.ยังยืนยันจะดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่เฉพาะคนงานในสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้นที่จะเคลื่อนไหว แต่ผู้ใช้แรงงานทุกระดับคงคัดค้านแน่"

นั้นคือความกล้าหาญของผู้นำขบวนการแรงงานเมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้ว ที่อาจหาญท้าทายอำนาจรัฐเผด็จการด้วยนะครับ แน่นอนว่าการท้าทายอำนาจรัฐของคุณทนงไม่นำผลดีมาสู่ตัวเขาเอง แม้เขาจะถูกสังหารอย่างทารุณโหดร้าย แต่คุณทนงยังไม่เคยตายไปจากหัวใจผู้ใช้แรงงานทุกคน ทุกวันนี้วีรกรรมของคุณทนงยังถูกพูดถึงเสนอๆ แต่มา มันน่าเสียใจแทนคุณทนง โพธิอ่านไหมครับ ที่ผู้นำแรงงานไทยไม่ปกป้องและยืนยันสิทธิของลูกจ้าง?

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.