Posted: 24 Oct 2018 12:54 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-10-24 14:54


บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม รายงาน (เผยแพร่ครั้งแรกใน voicelabour.org)

'อดีต ผอ.ฟรีดริค เอแบร์ท' ย้ำในระบอบ ปชต. พรรคการเมืองเป็นพลังสำคัญแต่ไม่เพียงพอ สหภาพแรงงานต้องเข้มแข็งด้วย 'แล' ชี้พรรคฯตอบโจทย์คนละส่วนกับขบวนการแรงาน 'ศักดินา' ย้ำงานใหญ่เรา คือ การจัดตั้ง 'นภาพร' ปักธงเป็นประชาธิปไตยแม้มีข้อจำกัดแต่ก็ดีกว่าเผด็จการ 'สุนี' ระบุขบวนแรงงานสู้ทางการเมืองมาตลอด แต่มีจังหวะสะดุดที่เผด็จการทำลายขบวน

เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ลานอาคารอเนกประสงค์ นิคมรถไฟ กม. 11 จตุจักร กรุงเทพมหานคร มีการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “การขับเคลื่อนนโยบายแรงงานในวิถีทางการเมือง : บทเรียนจากประวัติศาสตร์ ประสบการณ์จากเยอรมนี” ในงานเฉลิมฉลอง 25 ปี แห่งการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมเสวนาโดย ดร.สเตฟาน โครบอท อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงาน รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุนี ไชยรส อาจารย์จากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมี อรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
'อรพิน' ตั้งโจทย์แรงงานอยู่ตรงไหนในเลือกตั้ง ก.พ.62

อรพิน กล่าวว่า หากย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว อาจารย์นภาพรได้พูดในงานเสวนา “แรงงานไม่มีประวัติศาสตร์” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใหญ่ที่สุดของภาคแรงงานว่า ขบวนการแรงงานได้เข้าไปร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ไม่ได้เป็นผู้กำหนดทิศทางหลัก อีกทั้งขบวนการแรงงานก็ยังถูกตั้งคำถามว่ามีความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนนโยบายแรงงานแค่ไหน เพราะขบวนการแรงงานยังขาดจุดร่วมในเชิงเอกภาพเหมือนในอดีต

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในกุมภาพันธ์ 2562 ในปีหน้า เราเห็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองออกมาเรื่อยๆ ขณะเดียวกันนโยบายแรงงานมีแค่ไหน ขบวนการแรงงานไปอยู่ที่พรรคไหนบ้าง เหล่านี้ถือเป็นความท้าทายในปัจจุบัน ท่ามกลางที่ภาคแรงงานทั่วโลกถูกเร่งรัดผ่านการจ้างงานใหม่ๆ บทบาทการต่อรอง อำนาจทางการเมืองจะมีมากน้อยเพียงใด

วันนี้เราจะสนทนากันในเรื่องนี้ โดยเริ่มจากอดีตก่อน คือ บทเรียนจากเยอรมัน จากในต่างประเทศที่เป็นต้นแบบรัฐสวัสดิการ เป็นต้นแบบสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง และต่อมาจะเป็นการมองไปข้างหน้ากับบริบทปัจจุบันในประเทศไทย มองการเลือกตั้งที่จะมาถึง โยงกับการขับเคลื่อนนโยบายแรงงานในวิถีการเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร
'อดีต ผอ.ฟรีดริค เอแบร์ท' ย้ำในระบอบ ปชต. พรรคการเมืองเป็นพลังสำคัญแต่ไม่เพียงพอ สหภาพแรงงานต้องเข้มแข็งด้วย

ดร.สเตฟาน โครบอท กล่าวว่า สถานะผมเป็นทั้งสมาชิกพรรคการเมือง เป็นทั้งนักสหภาพแรงงาน แต่ผมจะใช้จุดยืนความเป็นนักสหภาพแรงงาน ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมืองมามีอิทธิพลสำหรับการตอบคำถามนี้หากถามว่าอะไรคือบทเรียนของขบวนการแรงงานเยอรมัน

คำตอบที่ชัดเจน คือ เหตุผลเพราะพรรคการเมืองมาแล้วก็ไป บางครั้งเข้มแข็งบางครั้งอ่อนแอ บางครั้งก็เป็นรัฐบาล บางครั้งก็เป็นฝ่ายค้าน แต่ที่ต้องมั่นคง คือ สหภาพแรงงานต้องดูแลผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าพรรคไหนจะมาหรือจะไป จุดยืนเรา คือ ต้องดูแลผู้ใช้แรงงาน จะเป็นรัฐบาลหรือจะไม่เป็น กระทั่งพรรคการเมืองอาจสนับสนุนนโยบายสหภาพแรงงานหรือไม่สนับสนุนก็ตาม แต่ในฐานะที่เป็นสหภาพแรงงาน เราต้องไม่ผูกติดกับพรรคการเมือง นี้เป็นประสบการณ์ที่สำคัญมาก

ผมเห็นว่าพรรคการเมืองไม่ควรเข้ามาควบคุมสหภาพแรงงาน แต่หากว่าสหภาพแรงงานจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในพรรคใดพรรคหนึ่ง นี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี ในระบอบประชาธิปไตยพรรคการเมืองเป็นพลังสำคัญแต่ไม่เพียงพอ ซึ่งต้องการสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งด้วย ทั้ง 2 องค์กร ถือเป็นกลุ่มหรือสถาบันที่สำคัญ แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะเราไม่ใช่สังคมเดิมอีกแล้ว สังคมเดิมอาจเป็นคนที่ทำงานในภาคเกษตรหรือโรงงาน ไม่ใช่มีอิสระเสรี ในอดีตคนทำงานไม่มีอิสระเสรี การยกระดับความเป็นอยู่ คือ ต้องมองหาว่าใครจะเข้ามาอุปถัมภ์หรือช่วยเหลือตนเองได้ คนๆนี้ก็อาจช่วยบางคนได้แต่ช่วยทุกคนไม่ได้ เช่นเดียวกับเรื่องสหภาพแรงงาน ก็ไม่ควรมองหาคนมาช่วยเหลือเรา อาจช่วยแค่ครั้งคราวได้แต่ไม่ใช่ระยะยาวที่สำคัญเราต้องเข้าใจว่าเราอยู่ในสังคมยุคใหม่แล้ว ไม่ใช่ผู้อุปถัมภ์ เราต้องช่วยตนเอง ต้องพึ่งพาตนเองได้ เราต้องเข้มแข็งต้องมีสมาชิก ต้องมีองค์กรที่เข้มแข็งในสถานประกอบการในโรงงาน อันนี้คือความท้าทายหลักพวกเรามีตัวอย่างในเยอรมันที่ผลิตรถยนต์ BMW โรงงานนี้อยู่ที่เยอรมันก็ยังผลิตโดยใช้เครื่องจักรแบบเดิม และคนงาน 80 % เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อาจไม่มีสหภาพแรงงาน แต่คนยังเป็นคนเดิมที่ไปซื้อของห้างสรรพสินค้า แต่ในปัจจุบันคนซื้อสินค้าออนไลน์ มาส่งสินค้าถึงบ้าน สถานการณ์นี้เกิดขึ้นแทบทุกประเทศทั่วโลก ทางออก คือ เราต้องมีสหภาพแรงงานในกิจการต่างๆในยุคใหม่นี้ที่สำคัญที่สุด
'แล' ชี้พรรคการเมืองตอบโจทย์คนละส่วนกับขบวนการแรงาน

ศาสตราภิชานแล กล่าวว่า จริงๆ แล้วต้องเข้าใจว่าพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางสังคมชนิดหนึ่ง บทบาทของพรรคการเมืองก็ย่อมแตกต่างกัน เยอรมันมีประสบการณ์ประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศไทยยังล้มลุกคลุกคลานมาแต่ปี 2475 ยังมั่นคงไม่ได้ อย่างที่คุณโครบอทบอก นอกจากพรรคการเมืองกับสหภาพแรงงานจะแตกต่างกัน พรรคการเมืองกับขบวนการแรงงานก็ตอบโจทย์คนละโจทย์ เอาง่ายๆ เรามีผู้นำแรงงานไปทำงานพรรคการเมืองเยอะ แต่ไม่มีซักคนเดียวที่ประสบความสำเร็จไปจากแรงงาน เพราะคู่ปรับเราคือทุน แต่พอไปอยู่ในพรรคการเมือง ทุนคือระบบอุมถัมภ์ จึงไม่สามารถไปสร้างความนิยมได้ ถ้าคุณเก่งสู้กับทุนในพรรคการเมือง คุณจะไม่มีความหมายเลย เพราะคุณยังต้องพึ่งทุน มันตอบโจทย์คนละโจทย์ ถ้าถามว่าประสบการณ์เยอรมันกับไทย ก็จะพบว่าห่างไกลกันมาก เราจึงต้องสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันที่สำคัญ เราไม่สามารถเอาพรรคการเมืองไปสร้างความเข้มแข็งให้ขบวนการแรงงานได้ ขบวนการแรงงานก็ยังไม่สามารถสร้างพรรคการเมืองได้

ทุกครั้งที่เราได้อะไรมา เราจะได้ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง เช่น การออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ที่เป็นที่มาของกฎหมายแรงงาน หรือการออกกฎหมายประกันสังคม ก็ออกยุคพลเอกชาติชาย ก็ไปหาความนิยมจากผู้นำแรงงาน เพราะอำนาจทางการเมืองไม่เข้มแข็ง ทำให้การกำหนดอิทธิพลทางการเมือง ขึ้นอยู่กับจังหวะทางการเมือง เมื่อประวัติศาสตร์คือแบบนี้ เราจะเรียนรู้จากเยอรมันได้มากแค่ไหน จึงต้องเรียนรู้มากกว่านี้ คนงานมักได้อะไรเกิดขึ้นมาในช่วงล้มลุกคลุกคลาน เมื่อรัฐเผด็จการออกตัวเต็มที่ ดังนั้นก็ต้องทำให้สอดคล้องกับประชาคมโลกต่างๆ ที่ ILO ออกกฎมา ประกาศคณะปฏิวัติ 103 หรือการออกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ก็เกิดขึ้นช่วงปี 2515 เป็นช่วงยุคปลายเผด็จการที่ง่อยเปลี้ย กฎหมายประกันสังคมก็เกิดตอนเปรมหลุดตำแหน่ง ชาติชายกลัวคุมไม่ได้ก็เข้าหาสายแรงงาน เผด็จการมีหลายยุคในการเปลี่ยนผ่าน ผมว่าจังหวะพวกนี้มันสำคัญ

ช่วงนี้เผด็จการกำลังลอกคาบ หรือช่วงยิ่งลักษณ์ 300 บาท ก็เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ซื้อใจแรงงาน ผมมองว่าถ้าคนงานฉวยโอกาสก็จะได้โอกาสอะไรบ้าง แต่ก็ต้องถามความเป็นเอกภาพ และเราจะแลกเปลี่ยนอะไรกับพรรคการเมือง เพราะนี้คือคำถามที่พรรคการเมืองจะถามเราแน่ และผู้นำแรงงานที่ไปร่วม นั่งฟัง หรือแค่เอาไปเป็นสัญลักษณ์

ประสบการณ์ที่ผ่านมา คือ พรรคการเมืองตอบโจทย์คนละส่วนกับขบวนการแรงาน ตราบใดที่เรายังไม่เป็นเอกภาพ โครงสร้างการเมืองยังพึ่งทรัพยากรอื่นๆไม่ใช่ทรัพยากรจำนวนคน โอกาสที่คนงานจะได้อะไรก็มีน้อย แต่หลังจากเลือกตั้งแล้วจะจริงจังแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง หากเราไม่เป็นเอกภาพ การเมืองก็อาจไม่ตอบสนองเรา และประชาคมระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญต่างๆ เกิดจากการกดดันจากภายนอก ปัญหาคือ ภายนอกจะฟังเราแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความเป็นเอกภาพของคนงานไทยที่จะดึงความสนใจจากพรรคการเมืองและประชาคมระหว่างประเทศ นี้คือเงื่อนไขแรกที่ทำให้ปรากฎก่อนในเรื่องอื่น หากลองทบทวนย้อนไปก่อนปี 2516 มาวันนี้เรามีอะไรเกิดขึ้นมาก เช่น ประกันสังคม ถามว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นถือเป็นนโยบายที่เป็นแก่นกลางของพรรคใดพรรคหนึ่งหรือไม่ เพราะที่เราได้มา ไม่ได้มาจากอุดมการณ์พรรคการเมืองใดๆ การเข้าไปมีส่วนร่วมทางกระบวนการเมืองสำคัญแต่ไม่ใช่พรรคการเมือง

ผมเห็นว่าสิ่งที่ทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอ คือ สหภาพแรงงานแบบสถานประกอบการ สหภาพที่ต้องเป็นเฉพาะคนในเท่านั้น ที่เป็นกับดักทำให้สหภาพแรงงานเติบโตไม่ได้ เพราะเน้นความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเป็นหลักประกัน การทำงานสหภาพแรงงานจึงต้องกล้อมแกล้มไป ไปสุดลิ่มทิ่มประตูไม่ได้ โครงสร้างสหภาพแรงงานแบบชนชั้นจึงเกิดไม่ได้ กฎหมายแรงงานกำหนดให้กรรมการสหภาพแรงงานต้องเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ อำนาจการต่อรองสัมพันธ์กับการขึ้นเงินเดือนและเลื่อนขั้นที่เป็นข้อจำกัดอย่างมาก ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการแรงงานไทย
ศักดินา : งานใหญ่เรา คือ การจัดตั้ง

ศักดินา กล่าวว่า ถ้าถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการแรงงานกับการเมือง ต้องมาดูก่อนว่าขบวนการแรงงานมีหลายประเภท ตอนนี้เราสนใจทางการเมืองมากพอหรือไม่ ทางเยอรมันมีเป้าหมายชัดเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่สหภาพแรงงานไทยทำเรื่องค่าจ้างเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่ในอดีตก็มีความสนใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำนโยบายออกมา แต่ก็ต้องดูว่าขบวนการแรงงานช่วงนั้นนำด้วยแนวคิดใด อย่างเยอรมันเป็นอิสระ อังกฤษขึ้นกับพรรคการเมือง แต่ในไทย ไม่ว่าจะตั้งพรรคโดยตรงหรือมีอิทธิพลกับพรรคการเมืองต่างๆ แต่ก็มีเงื่อนไขว่า สหภาพแรงงานต้องเข้มแข็ง มีสมาชิกเยอะ พรรคแรงงานมาจากสมาชิก แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าต้องมีพรรคตนเอง อย่างในเยอรมันก็ผลักดันผ่านพรรรคการเมืองอื่นและคนงานก็เลือก แต่ขบวนการแรงงานต้องเข้มแข็งก่อน หากถามว่าในอดีตเป็นอย่างไร หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราสร้างองค์กรใต้ดิน สหอาชีวะกรรมกร มีสมาชิกเยอะ เป็นฐานสำคัญของพรรคสหชีพ ที่สนับสนุนอาจารย์ปรีดี นี้คือพรรคคนงานในการบริหารประเทศ แต่ขบวนการแรงงานจะไปได้ในสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น การผลักดันในยุคสมัยอื่นๆก็ยาก

ในยุค 14 ตลา คือ ยุคทองของขบวนการแรงงาน มีพรรคสังคมนิยมต่างๆ พรรคพลังใหม่ แต่ไม่ใช่พรรคที่ตั้งโดยคนงาน แต่ตอบสนองเพื่อผู้ใช้แรงงาน แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นกับบรรยากาศบ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย แต่ขบวนการแรงงานต้องชัดเจนก่อน แค่ปากท้องหรืออยากเปลี่ยนแปลงประเทศ

วันนี้มี 2 พรรค ที่ประกาศว่าอยากทำประเด็นแรงงาน คือ พรรคพี่สมศักดิ์ สังคมประชาธิปไตยไทย และอนาคตใหม่ ที่ดึงคนงานไป ยิ่งพรรคไหนประกาศนโยบายแรงงานมาก ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะสนใจประเด็นแรงงาน การเลือกตั้งในปีหน้า 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่รัฐธรรมนูญยังอัปลักษณ์ ซึ่งไม่คิดว่าจะมี เพราะที่ผ่านมามีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ดีที่สุด แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับดึงประเทศถอยหลัง

รัฐธรรมนูญแบบนี้ทำให้ 2 พรรคนี้ไปต่อได้ยากมาก เพราะออกแบบระบบแบบใหม่ที่ไม่เอื้อ เดิมมีปาร์ตี้ลิสต์กับเขต ที่ส่งเสริมนโยบาย แต่พอรวมในบัตรเดียว เรื่องนโยบายจะหายไป ไปเน้นที่ตัวบุคคลแทน พูดง่ายๆ คือ ดูดเอาคนที่จะได้เสียงไป โอกาสที่พรรคจะมีนโยบายดีๆจึงยาก ต้องส่ง สส.ให้ครบทุกเขตเพื่อปาร์ตี้ลิสต์ มันยากมากที่พรรคแรงงานจะผ่านขวากหนาม แต่หลายครั้งการขับเคี่ยวอยากได้เสียงก็เป็นโอกาสของเรา ขบวนการแรงงานต้องเสนอนโยบายที่ชัดเจน บอกเลยว่าทำแบบนี้จะได้เสียงจากแรงงาน แต่แบบนี้ก็ไม่ยั่งยืนเป็นประชานิยม ขบวนการแรงงานควรสร้างจิตสำนึกทางชนชั้นร่วมกัน สังคมที่ไม่มีสำนึกร่วมชนชั้นจะไม่มีพลัง เพราะไม่ได้เลือกนโยบายแรงงานเป็นหลัก และต้องเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะไปต่อไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตย

งานใหญ่เรา คือ การจัดตั้ง ตอนนี้แรงงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแค่ 1.5 % จาก 40 ล้านคน เพื่อสร้างพลังจึงต้องหาทางจัดตั้งที่เหมาะสม เอาพี่น้องมาอยู่ในขบวนแรงงาน ต่อมาคือสำนึกคนงาน เช่น สังคมประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการ ความเสมอภาค เท่าเทียม ทำตรงนี้ให้ชัดเจน ให้คนงานทุกคนเห็นตรงกัน พรรคการเมืองเอาทุน คนงานต้องเสนอชุดความคิดตนเองออกมาให้ได้

ผมมีความหวังและเชื่อมั่นในขบวนการแรงงาน ที่ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อชัยชนะข้างหน้าต่อจากนี้
นภาพร : เป็นประชาธิปไตยแม้มีข้อจำกัดแต่ก็ดีกว่าเผด็จการ

รศ.ดร.นภาพร กล่าวว่า คุณโครบอทพูดในฐานะสมาชิกพรรคการเมืองและสหภาพแรงงาน ดิฉันขอพูดในฐานะที่เห็นขบวนการแรงงานไทยมา 30 ปี 10 ปีแรกเป็น NGOs ที่ทำงานด้านแรงงาน 20 ปีหลังเป็นนักวิชาการ แต่ยังคลุกคลีกับขบวนการแรงงาน ถามว่าเห็นอะไรบ้างจากประวัติศาสตร์ที่เราเฝ้าดูมา

บทเรียนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบาย คือ ไม่มีกลไกทางการเมืองในการขับเคลื่อน อย่างข้าราชการมีกระทรวง มีกรม คนงานไม่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับชนชั้นนำ ไม่เหมือนนายจ้างหรือนายทุน แต่สิ่งที่คนงานมี คือพลัง ถ้ารวมกันได้ แต่รวมไม่ได้ก็กระจัดกระจาย จริงๆคนงานมีเครือข่ายสนับสนุน เช่น สื่อมวลชน นักศึกษา คนจนที่ไม่ใช่คนงาน นักวิชาการ ข้าราชการที่ดี มีองค์กรพัฒนาเอกชน แต่อาจจะไม่ใช่การสนับสนุนในช่วงเดียวกัน มาเป็นระยะๆ กระทั่ง ILO ออกกฎหมายให้เราขับเคลื่อนได้ การรวมพลังคนงานก็จะมีความสัมพันธ์แต่ละยุคขึ้นอยู่กับวิถีทางการเมือง

อย่างที่อาจารย์ศักดินาพูดเรื่องยุคประวัติศาสตร์ 2499-2500 คนงานรวมกันได้ มีพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับแรก แต่พอวิถีการเมืองเปลี่ยน การรวมพลังไม่ง่าย แต่เรามีข้าราชการ มี ILO ทำให้ช่วงเผด็จการ ยังสามารถผลักดันให้รัฐบาลออกประกาศคณะปฏิวัติ 103 มีกองทุนเงินทดแทน มีสมาคมลูกจ้าง

แต่ยุคที่คนงานแสดงพลังค่อนข้างมาก คือ ยุคทอง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 มาถึงปัจจุบัน หลังช่วง 2519 เป็นทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการ เช่น 2521-2534 เป็นประชาธิปไตย 2535-2549 เป็นประชาธิปไตย 2550-2557 เป็นประชาธิปไตย เผด็จการช่วงสั้นๆ เช่น 6 ตุลาคม 2519 19 กันยายน 2549 จนกระทั่งหลังปี 2557 ยาวเลย ยังไม่กลับสู่ประชาธิปไตย

ในช่วงประชาธิปไตย เราผลักดันสำเร็จหลายอย่าง เช่น ประกันสังคม 2533 ลาคลอด 2536 หลัง 2536 ขับเคลื่อนสุขภาพความปลอดภัย หลังจากนั้นขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ ขยายไปยังกลุ่มแรงงานข้ามชาติ กระทั่งยุคยิ่งลักษณ์ค่าจ้าง 300 บาท

ถ้าถามว่ายุคปัจจุบันเป็นอย่างไร เราพยายามทำให้วิถีการเมืองเป็นประชาธิปไตยให้ได้ก่อน ไม่อย่างนั้นจะทำอะไรลำบาก ไม่ว่าอย่างไรระบอบประชาธิปไตยที่มีข้อจำกัดยังเอื้อมากกว่าเผด็จการที่ดูดี ซึ่งมองว่าแย่กว่า เอาตรงนี้ให้ได้ก่อน ส่วนอื่นค่อยว่ากัน

สำหรับในประเด็นร่วม รัฐวิสาหกิจมีประเด็นร่วม คือ แปรรูป และรัฐวิสาหกิจก็ช่วงชิงเรื่องนี้นำเสนอออกมาก่อน ปี 2557 ก็ไปร่วมกับกปปส. ที่ไปทำวิจัยมา พบว่า ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ล้มรัฐบาล แต่อยากเผยแพร่ประเด็นรัฐวิสาหกิจ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ ไม่ถูกสื่อสารมายังสาธารณะเลย

มองว่ารัฐวิสาหกิจมีประเด็นที่จะผลัก แต่ทางเอกชนยังไม่เห็น อาจมีบางกลุ่ม ความไม่มั่นคงในการจ้างงานจากไทยแลนด์ 4.0 การใช้เทคโนโลยี การลดสภาวะโลกร้อนจากสภาวะการผลิต ในส่วนเอกชนต้องหาประเด็นก่อน

ส่วนพรรคการเมืองที่จะช่วยแรงงานก็มีน้อย เสียงเป็นกลุ่มก้อนก็ไม่ง่าย สำหรับตนเองยังไม่เห็นว่ามีพรรคไหนที่ชัดเจนพอที่ทางแรงงานจะเลือกหรือสนับสนุนพรรคนี้ ยังไม่เห็น สิ่งที่ควรทำ คือ ยึดประเด็นเราและไปผลักดัน แต่อย่าไปปักใจ เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยมีที่จะเห็นตรงนั้น

ต่อมาคือสำนึกความเป็นชนชั้นแรงงานก็ต้องสร้างขึ้นมา และทำอย่างไรเราถึงทำให้สาธารณชนมาสนับสนุนแรงงานด้วย เพราะตัวเราเองก็มีข้อจำกัด อย่างกลุ่มแรงงานที่ขึ้นเวที กปปส. จะพูดประเด็นแรงงาน คนมาชุมนุมก็ไม่อยากฟัง เบื่อหน่าย นอกจากเราจะรวมกันเองแล้ว ทำอย่างไรให้ประเด็นแรงงานเป็นประเด็นสาธารณะ อาศัยหลายๆฝ่าย

หากเราพึ่งพรรคไหนไม่ได้ เป็นไปได้ไหมที่จะสร้างพรรคแรงงานขึ้นมา สร้างได้แต่ต้องใช้เวลา เพราะต้องสร้างฐานมวลชนก่อน หากยังไม่ลงเลือกตั้งก็สร้างฐานให้แน่นก่อน หาจุดศูนย์กลางในการรวมขบวนก่อน เพื่อพัฒนาไปสู่พรรคการเมืองของแรงงานจริงๆ

ต้องฝากความหวังไว้ที่รุ่นกลาง รุ่นใหม่ ส่วนรุ่นเก่าก็เป็นพี่เลี้ยง ยังมีพลัง เป็นพลังบริสุทธิ์กับคนงานอยู่ ขบวนการแรงงานรอดไม่รอดจะขึ้นอยู่กับคนรุ่นนี้ แต่เป็นห่วงว่าผู้นำรุ่นกลางใหม่จะอยู่ได้นานขนาดไหน ขาดความมั่นคงในการทำงาน มีโอกาสถูกเลิกจ้าง

ส่วนองค์กรที่จะสนับสนุนขบวนการแรงงาน ที่เห็นอยู่ คือ พิพิธภัณฑ์แรงงานที่เป็น NGOs ที่จัดเวทีมาแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ และดึงนักวิชาการ สื่อมวลชนมาสนับสนุนได้ แต่ก็ไม่รู้จะอยู่ได้นานขนาดไหน ยึดโยงกับแรงงาน เหมือนรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่ยึดโยงประชาชน ว่าแรงงานจะสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ขนาดไหน

ส่วนการเลือกตั้งมีความสำคัญแน่นอน เพราะเป็นประชาธิปไตยแม้มีข้อจำกัดแต่ก็ดีกว่าเผด็จการ แต่ยึดโยงประชาชน เผด็จการไม่ยึดโยงประชาชนเพราะไม่ผ่านการเลือกตั้งมา
สุนี : ขบวนแรงงานสู้ทางการเมืองมาตลอด แต่มีจังหวะสะดุดที่เผด็จการทำลายขบวน

สุนี กล่าวว่า คุณโครบอทตั้งคำถามว่า จะเป็นพรรคการเมืองก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ แต่ต้องขึ้นกับความเข้มแข็งของแต่ละขบวนแรงงาน เพราะขบวนแรงงานได้ต่อสู้ทางการเมืองมาตลอด แต่เราสะดุดเป็นช่วงๆ แต่ช่วงประชาธิปไตยยาวอยู่ แต่ก็มีจังหวะสะดุดที่เผด็จการได้ทำลายขบวนการแรงงาน

ในช่วง 2475 พรรคเสรีไทย พรรคสหชีพ แรงงานไทยมีบทบาทตลอด เราไม่ใช่กลุ่มผลประโยชน์แค่ค่าจ้าง แต่โดนขบวนการเผด็จการสกัด ก่อนเกิด 14 ตุลาคม 2516 ป้าน้อยก็เป็นผู้นำสหภาพแรงงานยุค 14 ตุลา เผด็จการได้สะสมปัญหาและเกิดการลุกขึ้นสู้ และขบวนการแรงงานก็ใช้โอกาสนี้พัฒนาขบวนการตนเอง ที่พิสูจน์ตนเองมาตลอด ต่อสู้มากกว่าเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ เข้าร่วมขบวนชาวนา นักศึกษา แต่ไม่ได้ยกระดับไปสู่พรรคการเมืองจริงจัง

อาจารย์บุญสนองถูกฆ่า กรรมกรถูกจับ สิ่งที่อยากให้เห็น คือ เราคือใคร เราตรวจสอบตัวเราเอง สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แค่สหภาพแรงงาน วันนี้เราได้สู้ ชนะไม่ชนะว่ากันไป 3 ประสานไม่เต็มรูป ขบวนการแรงงานก็เข้าไปเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม สถานการณ์ทางชนชั้นแรงงานกับทุนดำรงอยู่ ไม่ว่าอย่างไรคนงานก็ไม่จำนนแค่ค่าจ้างแรงงานอยู่แล้ว มีกฎหมายไม่เป็นธรรมจำนวนมาก ขบวนการแรงงานเติบโตขึ้นมา ทั้งในรูปพรรคแรงงานและไม่ใช่พรรคแรงงาน หากไม่สะดุด ถูกจับ จะเติบโตมากกว่านี้

สิ่งที่เราเรียนรู้ คือ เราจำเป็นต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ทั้งเรื่องดีและล้มลุกคลุกคลาน เราต้องมีพลังกับพรรคการเมือง ไม่ใช่ให้การเมืองมาเป็นพลังหรือกดดันเรา จริงๆแล้วเราไม่ควรหมดหวัง พลังขบวนการแรงงาน คือ พลังความหวังที่สู้มายาวนาน ตอน 14 ตุลาพิสูจน์มาแล้ว เราไม่ได้แค่ต้องการเลือกตั้งหรือมีรัฐธรรมนูญ แต่เราเรียกร้องสิทธิเสรีภาพความเป็นธรรม

มาถึงโจทย์วันนี้ ไม่เอาเลือกตั้งก็ได้ ก็กลับตาลปัตร เราจำเป็นอย่างยิ่งต้องปกป้องให้มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่รังเกียจ เพราะหากเราไม่เอาเลือกตั้งก็เข้าทางเผด็จการ ใครพร้อมเข้าพรรคการเมืองที่ชอบ ใครไม่พร้อมก็มาผลักดันนโยบาย นี้คือการสร้างฐานอนาคต ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ การปล่อยให้ใครเล่นไปแบบนี้จะเป็นผลลบ

ประการต่อมา เราคือองค์กรภาคประชาชน ขบวนการแรงงานไม่สามารถหลีกหนีจากสถานการณ์การพัฒนาต่างๆได้ ทั้งชนบท นักเรียนนักศึกษา ขบวนแรงงานต้องไปกับสังคม แม้ไม่เป็นกองหน้าแต่ต้องเป็นกำลังหลัก เช่น ต่อสู้เรื่องที่ดิน ทิศทางการพัฒนาทำให้ผู้คนมารวมหัวกันมากขึ้น เช่น โครงการขนาดใหญ่ EEC ทำให้ขบวนการแรงงานมาสุมหัวมากขึ้นกับกลุ่มที่ทำเรื่องที่ดิน ต่อรองกับพรรคการเมือง ให้การศึกษากับสังคม ใครพร้อมจะเข้าพรรคการเมืองไหนก็ไปเถอะ เราสู้ตามลำพังไม่ได้

หากเราคิดว่า เราคือการเมืองภาคประชาชน คือภาคประชาสังคมที่ตรวจสอบรัฐบาล จะอิสระไม่อิสระ ไม่ดีก็ออกมา พร้อมจะสร้างฐานขบวนการแรงงาน จิตสำนึกจะมาพร้อมกับขบวนการต่อสู้ สรุปบทเรียนเป็นระยะๆ บทเรียนสำคัญ คือ วิเคราะห์สถานการณ์แต่ละช่วงตามความเป็นจริง การเลือกตั้งไม่มีสูตรสำเร็จ ใช้พลังพี่น้องไปสร้างอำนาจต่อรองให้มีการเลือกตั้งโดยไว

โจทย์ร่วมกัน คือ รัฐบาลคุกคามทุกกลุ่ม ขบวนการแรงงานต้องสร้างพลัง ขบวนการสหภาพแรงงานไม่สามารถรองรับได้ภายในเพียงขบวนแรงงานกันเอง วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลง มีการจ้างงานรูปแบบอื่นๆ การแย่งชิงทรัพยากร การเอาเปรียบแรงงาน ขบวนการแรงงานจำเป็นต้องสร้างรูปแบบและการเคลื่อนไหวในการรับมือ สร้างแนวร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ต้องสู้ในประเด็นเร่งด่วนที่ถูกคุกคาม หลายสหภาพถูกเลิกจ้าง ไม่ฝากความหวังกับพรรค และเปิดตนเองสร้างฐานการเมืองภาคประชาชนที่ใหญ่ขึ้น

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.