ภาพจาก Realframe
Posted: 20 Oct 2018 11:41 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-10-21 13:41
นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ สัมภาษณ์
บทสัมภาษณ์สั้นกับ ธิติ มีแต้ม และ ปฏิภัทร จันทร์ทอง กลุ่มช่างภาพ Realframe ผู้ทำหนังสือรวมความเรียงและบทสัมภาษณ์พร้อมชุดภาพถ่าย ‘Promised Land ประเทศเทา’ ด้วยสายตาของ photojournalism ผู้เห็นสภาวะความไม่คลี่คลายทั้งในและนอกประเทศ ในยามประชาธิปไตยสลัว
หนังสือปกแข็งหนาเกือบนิ้วครึ่ง รูปขาวดำเสี้ยวหน้าของทหารหนุ่มจ้องมองผ่านแนวกั้นด้วยดวงตาดำสนิทพร้อมประกายเล็กสว่างวาบที่นัยน์ตาคือหน้าปกของหนังสือเล่มนี้
‘Promised Land ประเทศเทา’ คือหนังสือรวมความเรียงและบทสัมภาษณ์พร้อมชุดภาพถ่าย ของ ธิติ มีแต้ม ร่วมแจมภาพและบรรณาธิการภาพโดย ปฏิภัทร จันทร์ทอง ในฐานะสมาชิก ‘Realframe’ ที่พวกเขาให้คำจำกัดความว่า คือหนังสือ “ภาพถ่ายและบทสนทนายามประชาธิปไตยสลัว” รวม 15 เรื่อง โดยมีภาพถ่าย 178 หน้า จากทั้งหมด 432 หน้า
เนื้อหาไล่เรียงตั้งแต่เรื่องชาวทิเบตอพยพ / หนึ่งปีหลังแผ่นดินไหวเนปาล / รัฐประหารอียิปต์ / ชีวิตผู้ลี้ภัยชาวพม่าและการมาเยือนไทยของ ‘เดอะ เลดี้’ / คนหนุ่มแห่งปาตานี / ในนามแม่เหยื่อกระสุนในเขตอภัยทาน / ชีวิตรักของภรรยาชายขับแท็กซี่ที่พุ่งชนรถถัง / กัญชาทางการแพทย์ / บันทึกการบาดเจ็บล้มตายและการหยัดยืนของสามัญชนตั้งแต่บนถนนถึงเรือนจำฯ / ปิดท้ายด้วยเรื่อง “อำลา มหากาฬ” โดยบรรณาธิการภาพ
ประชาไทชวนคุยกับ ธิติ มีแต้ม และ ปฏิภัทร จันทร์ทอง ถึงที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ รวมทั้งแนวคิดเบื้องหลังวิธีการเลือกและร้อย 15 เรื่องราวรวมทั้งรูปภาพเข้ามาอยู่ในเล่ม
ธิติ มีแต้ม: ประเทศเทา สภาวะไม่คลี่คลาย วาทกรรมที่ครอบงำในสังคมที่ขาดการค้นคว้าข้อมูลความจริง
ธิติ มีแต้ม (แฟ้มภาพ)
จุดเริ่มต้นอาจตั้งแต่ตอนเราทำข่าวรายวัน มีโอกาสได้เดินทางไปอียิปต์ตอนช่วงหลังรัฐประหาร หลังจราจลใหม่ๆ ไม่ได้เห็นสภาวะตอนจราจลแต่เห็นสภาวะที่บ้านเมืองไม่ปกติ มีรถถังจอดทุกมุมเมือง นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่จุดประกายความเป็นสื่อที่มองออกไปนอกบ้านตัวเอง ซึ่งเกิดหลังการสลายชุมนุมปี 53 แต่เหตุการณ์ในปี 53 ก็อยู่ในใจเรามานาน เรามีภาพที่บันทึกไว้แล้ว มีเรื่องที่สะสมมาจากในกระบวนการค้นหาความจริง
เมื่อเรากลับไปดูงานทั้งหมดที่ทำ เราก็เห็นว่าที่ยังไม่คลี่คลายไม่ได้มีแค่ไทยแต่มีที่อื่นด้วย เราเลยคิดว่าถ้าพูดถึงประเทศเทา มันคือความไม่คลี่คลาย ความย้อนแย้งของสังคม ไมใช่แค่ประเทศไทย ประเทศอื่นเองก็ประสบปัญหาไม่ต่างกัน บ้านเมืองถูกกระทำอะไรบางอย่างโดยผู้มีอำนาจ ผู้คนลุกขึ้นต่อสู้ ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย
คำว่า Promised Land ในมุมมองของผู้มีอำนาจก็อาจหมายถึงคำสัญญาว่าจะปกครองบ้านนี้เมืองนี้ แต่ในสายตาของประชาชนชนที่อยู่ใต้อำนาจก็หมายถึงคำสัญญาที่จะมีชีวิตอยู่ เพื่อต่อสู้ เพื่อทำสิ่งที่มุ่งมั่นตั้งใจให้สำเร็จอย่างกรณีแม่น้องเกดเขาก็สัญญาว่าจะต้องทวงความเป็นธรรมให้กับลูกสาว
นอกจากนี้เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้านเราตั้งแต่ 6 ตุลา 19, พฤษภา 35, หรือการสลายการชุมนุม นปช. ในปี 53 แม้จะมีการจัดงานรำลึก แต่เรามองว่ามันคือแค่การจัดงานรำลึกแล้วก็ผ่านไป เราเลยชื่นชม อ.ธงชัย และอ. พวงทอง ที่ลุกขึ้นมาบอกว่าเหยื่อในเหตุการณ์ 6 ตุลา เขามีชื่อ มีตัวตนอยู่จริงๆ และสิ่งนี้จะนำไปสู่จุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรม เพียงแต่กระบวนการยุติธรรมในเชิงโครงสร้างก็ยังเป็นสิ่งที่เราต้องรอต่อไป และเราก็ยังอยากให้มันมีความหวังเมื่อมองถึงอนาคต
เช่นเดียวกับลุงนวมทอง ซึ่งกลายเป็นฮีโร่ของฝ่ายประชาธิปไตย แต่สำหรับเราเขาไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ เราอยากทำความรู้จักเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีคนรักมีครอบครัว และเมื่อเราได้ทำความรู้จักพวกเขาเหล่านี้จริงๆ ทั้งลุงนวมทอง หรือทั้งเหยื่อในเหตุการณ์ความรุนแรงหรือจากความอยุติธรรมของรัฐ มันอาจจะทำให้ความรู้สึกขมขื่นนั้นหายไป และแทนที่ด้วยการมีสายตาที่สามารถมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
หรืออย่างเรื่องกัญชา แม้อาจจะดูโดดกว่าเรื่องอื่นในแง่ที่มันไม่ใช่การเมืองบนท้องถนน แต่เราคิดว่ามันคือภาพสะท้อนของสิทธิในการเข้าถึงการรักษาของประชาชน ที่แม้ว่าวิทยาศาสตร์จะพิสูจน์ว่ากัญชาสามารถรักษาโรคได้แต่ทำไมประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึง มันเต็มไปด้วยวาทกรรมทางศีลธรรมว่ามันคือยาเสพติด ซึ่งสังคมไทยไปไม่พ้นจากเรื่องนี้ สื่อเองก็เช่นกันที่ผลิตซ้ำวาทกรรมแบบเดิมทั้งที่ประเทศที่เจริญแล้วเปลี่ยนกฎหมายให้กัญชากลายเป็นของที่สามารถใช้ได้ เพื่อการรักษา เพื่อสันทนาการในไทยความรู้เกี่ยวกับกัญชาก็หาได้ง่ายนิดเดียว แต่คนก็ยังถูกวาทกรรมครอบงำไว้ มันสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยขาดการค้นคว้าหาข้อมูลและความจริง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องกัญชา แต่คือเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองทั้งหมดที่ผ่านมาด้วย
ปฏิภัทร จันทร์ทอง: ใม่ใช่แค่ภาพผู้หญิงร้องไห้ แต่คือคนที่เรารู้ว่าเขาเผชิญความลำบากอะไรในชีวิตมาบ้าง
ปฏิภัทร จันทร์ทอง (แฟ้มภาพ)
ในฐานะเป็นบรรณาธิการภาพ วิธีทำงานคือจะเริ่มจากการอ่านงานของป่าน (ธิติ มีแต้ม) ก่อน จะมีชุดรูปซึ่งป่านโยนมาให้เราเป็นคนเลือก ส่วนใหญ่ก็จะจัดวางลำดับรูปตามการเล่าเรื่อง และเรียงตามจังหวะอารมณ์ หรือรูปไหนต้องเอามาอยู่ในหน้าคู่กัน อย่างเรื่อง ‘เบื้องหน้าเราๆ ท่านๆ’ ซึ่งพูดถึงสถานการณ์การเมือง การชุมนุม นปช., กปปส. การชุมนุมต้านรัฐประหาร ส่วนใหญ่เราจะเลือกรูปเรียงตามไทม์ไลน์ แต่จะมีบ้างที่ดึงเอารูปมาเทียบกัน เช่น วิธีที่ทหารปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมที่ต่อต้านและสนับสนุน ก็จะเห็นความต่างอยู่
มีเรื่องหนึ่งซึ่งเราสนใจก็เลยถ่ายรูปและเขียนสั้นๆ ด้วย คือเรื่อง ‘อำลา มหากาฬ’ ปกติเราเป็นช่างภาพข่าว ซึ่งวิธีการทำงานของช่างภาพข่าวนั้นจะไม่ได้ใช้เวลานานมากกับคนที่เราไปถ่าย และอาจจะไม่ได้คุยกับคนเหล่านั้น เพราะด้วยเงื่อนไขของความเป็นข่าวที่ต้องมีเดดไลน์ เป็นข่าววันนี้ พรุ่งนี้ก็อาจเปลี่ยนเป็นเรื่องอื่น แต่ในประเด็นนี้เราได้มีโอกาสลงไปพูดคุยกับคนที่ได้รับผลกระทบด้วย และไปอยู่หลายครั้ง บางครั้งก็ไปคุยแบบไม่ถ่ายรูปก็มี ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่ามันมีความแตกต่างระหว่างการไปถ่ายรูปเขาอย่างเดียว กับการไปคุยกับเขาด้วย
แน่นอนว่ารูปที่ออกมาเราบอกไม่ได้ชัดเจนว่ามันจะเป็นรูปที่ดีกว่า ลึกกว่า แต่มันทำให้เราอินกับเรื่องที่เขาเผชิญจริงๆ ในรูปที่เราถ่ายเขา มันอาจเป็นรูปของผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังร้องไห้ แต่จริงๆ เรารู้จักเขากว่านั้น เรารู้ว่าเขาเผชิญกับความยากลำบากอะไรในชีวิตมาบ้าง มันทำให้เราเห็นเขาเป็นมนุษย์ไม่ใช่เป็นแค่วัตถุของการถ่ายภาพ
5 พิกัด หนังสือ Promised Land ประเทศเทา ในงานหนังสือที่ศูนย์ฯสิริกิติ์ 17-28 ต.ค.นี้ ได้แก่...
.
E 02 P.S. Publishing - โซน Plenary Hall
O 29 สำนักพิมพ์คมบาง - โซน C1
N 02 Bookscape - โซน C1
S 39 ฟ้าเดียวกัน - โซน C2
S 39 Illuminations editions - โซน C2
.
สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกไปที่งาน สามารถสั่งซื้อได้ที่เพจ Realframe และ Thiti Driver View - Photography ราคาหนังสือ 500 บาท (ส่ง ems +50 บาท)
.
ดูรายละเอียดหนังสือที่นี่ www.facebook.com/314651441979641/posts/1747508912027213/
แสดงความคิดเห็น