Posted: 24 Oct 2018 05:25 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-10-24 19:25


นักวิชาการระบุการแต่งงานข้ามชาติก่อเกิดชนชั้นใหม่ที่ท้าทายต่อชนชั้นเดิมในสังคม ผู้หญิงถูกคาดหวังให้เลี้ยงลูกและกตัญญูต่อพ่อแม่ ส่วนกฎหมายไทยที่อ้างว่าปกป้องคุ้มครองผู้หญิงแท้จริงคือการลดทอนสิทธิผู้หญิงหรือไม่? พร้อมด้วยวิเคราะห์เปรียบเทียบกับหญิงลาวที่มาแต่งงานกับชายไทย บางส่วนกลายเป็นกำลังสำคัญทำงานเกษตรเคมี

เมื่อวาน (23 ต.ค. 61) ในงานขอนแก่นเมนิเฟสโต้ ได้จัดงานฉายหนังสารคดีเรื่อง “Heartbound - A Different Kind of Love Story” / "เมืองแห่งหัวใจ - รักที่แตกต่าง" (2018) พร้อมฟังเสวนาในหัวข้อ “อีสานโพ้นทะเล : การย้ายถิ่นและการแต่งงานข้ามแดนในทัศนะใหม่” โดยมีวิทยากรคือ ศิริจิต สุนันต๊ะ ประธานหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาพหุวัฒนธรรม (นานาชาติ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล พัชรินทร์ ลาภานันท์ ประธานหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาสาขาวิชาสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.ขอนแก่น ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ประธานเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์ และผู้ประสานงานมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (EMPOWER) และ คชษิณ สุวิชา สาขาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มรภ.ร้อยเอ็ด ดําเนินการเสวนาโดย ศิวกร ราชชมภู นศ.คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.ขอนแก่น


จากซ้ายไปขวา คชษิณ สุวิชา, ทันตา เลาวิลาวัณยกุล, ศิวกร ราชชมภู, ศิริจิต สุนันต๊ะ และ พัชรินทร์ ลาภานันท์

การแต่งงานข้ามชาติเพื่อยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของทั้งครอบครัว


ศิริจิต สุนันต๊ะ ประธานหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาพหุวัฒนธรรม (นานาชาติ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล อธิบายว่า การเคลื่อนย้ายของผู้หญิงจากภาคอีสานผ่านการแต่งงานกับชาวต่างชาติ ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมข้ามพรมแดม ในมุมของวิชาการเรียกว่าเป็นการข้ามชาติ โดยผู้ปฏิบัติการคือกลุ่มผู้เสียเปรียบที่ไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง ผ่านกระบวนการข้ามชาติโดยการแต่งงานซึ่งมีลักษณะเฉพาะทางเพศภาวะและชนชั้น และผู้หญิงเหล่านี้ก็ไม่ได้ข้ามชาติเพียงคนเดียวแต่พาเอาครอบครัว ชุมชุน ของเขาข้ามชาติไปด้วย เพราะเขายังมีพันธะ ภาระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลูก พ่อแม่ หรือญาติคนอื่นๆ และอย่างที่ทราบว่ารัฐไทยยังไม่มีประสิทธิภาพในการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง

ในหนังเองนำเสนอพื้นที่พัทยา ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งโอกาส และเป็นพื้นที่ข้ามชาติที่ผู้หญิงอีสานสามารถข้ามชาติได้โดยไม่ต้องข้ามพรมแดน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสำเร็จ

พัชรินทร์ ลาภานันท์ ประธานหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาสาขาวิชาสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.ขอนแก่น เสนอว่า การแต่งงานข้ามชาติในช่วงหลัง ค.ศ. 2000 เป็นต้นมามีข้อถกเถียงว่า พื้นที่ข้ามชาติแบบพัทยา ไม่ใช่พื้นที่ที่หลายคนไปเพื่อจะไปขายบริการอีกต่อไป แต่ไปเพื่อใช้พื้นที่นี้เป็นโอกาสในการสร้างสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และในที่สุดถ้ากลายเป็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนยาวนาน ชีวิตเขาและครอบครัวก็จะเปลี่ยนไป

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ประธานเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์ และผู้ประสานงานมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (EMPOWER) กล่าวว่า ในบริบทของไทยผู้หญิงถูกคาดหวังจากสังคม จากวัฒนธรรม ว่าต้องเป็นคนอ่อนหวาน ทำงานบ้านได้ ดูแลคนอื่นเป็น จากการที่ตนทำงานกับพนักงานบริการมากว่า 20 ปี พบว่า 80% เป็นแม่และเป็นผู้นำครอบครัว หลายคนทำอาชีพนี้เพื่อต้องการยกสถานะตัวเอง

"เราต้องยอมรับว่าเมืองไทยมีชนชั้น การเป็นชนชั้นล่างจะทำงานให้ตายยังไงก็ยังอยู่ในชนชั้นเดิม และคนชนชั้นนี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้เท่ากับคนชนชั้นกลาง เช่น สิทธิการศึกษา สิทธิด้านสุขภาพ สิทธิความรู้ข้อมูลต่างๆ เพราะฉะนั้นทำอย่างไรจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งครอบครัวได้ หลายคนจึงตัดสินใจเข้าสู่อาชีพนี้ เพราะอาชีพนี้ให้โอกาสกับชีวิตเขา ทำให้เขายังมีเวลาตอนกลางวันที่จะดูแลลูกได้ หรือหาข้อมูลการศึกษาได้ มีกำลังทรัพย์มากพอจะยกฐานะตัวเองและครอบครัวได้ วันหนึ่งถ้าเขาได้แต่งงานไปอยู่ต่างประเทศ เขาก็จะได้เป็นแรงงานต่างประเทศที่ถูกกฎหมาย ไม่ต้องเป็นแรงงานเถื่อน ไม่ต้องหลบหนี ค่าเงินที่เยอะกว่าก็สามารถเอากลับมาดูแลครอบครัวได้อีก” ทันตาอธิบาย


การแต่งงานข้ามชาติก่อเกิดชนชั้นใหม่ที่ท้าทายต่อชนชั้นเดิมในสังคม


พัชรินทร์ กล่าวถึงการแต่งงานข้ามชาติว่าโยงกับประเด็นชนชั้นได้อย่างไร โดยเธออธิบายว่า งานที่ทำพยายามเสนอว่าผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับฝรั่ง ไม่ว่าเขาจะใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยหรือต่างประเทศ ผู้หญิงเหล่านี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์การก่อตัวของชนชั้นใหม่ในสังคมไทย ข้อสรุปนี้มาจากการมองว่าผู้หญิงเหล่านี้มีวิถีชีวิตอย่างไร มีรูปแบบการบริโภคอย่างไร ประสบการณ์ชีวิตเป็นอย่างไร

"หากเป็นสมัยก่อนที่คนอีสานนิยมไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านเห็นบ้านหลังใหญ่เราก็จะรู้ว่าหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านซาอุฯ คือมีแรงงานชายไปทำงานที่ซาอุฯ แล้วเอาเงินกลับมาสร้างบ้าน แต่ตอนนี้เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านแล้วเห็นบ้านสวยๆ เราก็จะบอกว่า อันนี้คือบ้านเมียฝรั่ง หรือเป็นหมู่บ้านเขยฝรั่ง

“ลักษณะบ้านที่เขาอยู่ก็จะเหมือนหมู่บ้านจัดสรรในเมือง มีข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่เหมือนหมู่บ้านในชนบท แต่ขณะเดียวกันคนเหล่านี้ก็ไม่ได้มีประสบการณ์ชีวิตเหมือนชนชั้นกลางในเมือง เขามีโอกาสหลายอย่างที่ชนชั้นกลางในเมืองไม่มี เช่น การไปซัมเมอร์ที่ประเทศตะวันตก อันนี้คือข้อเสนอที่เราวิเคราะห์ว่าปรากฎการณ์นี้ทำให้เกิดชนชั้นใหม่ในไทยที่ท้าทายต่อชนชั้นในหมู่บ้านและในสังคมไทยด้วย” พัชรินทร์กล่าว



ภาพบรรยากาศการฉายหนังสารคดี Heartbound - A Different Kind of Love Story

แต่งงานข้ามชาติมองพ้นเรื่องเงินและความรัก แต่บทบาทแม่ที่ดี-ลูกกตัญญูคือสิ่งที่สังคมคาดหวังกับผู้หญิง


พัชรินทร์ กล่าวต่อว่า เมื่อพูดเรื่องการแต่งงานของหญิงไทยกับฝรั่ง จะเกิดคำถามว่าทำไมถึงเกิดความสัมพันธ์แบบนี้ คำตอบมักจะอยู่ที่เรื่องเงินไม่ก็ความรัก แต่หากเราลองคิดถึงการแต่งงานในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน เช่น คนไทยด้วยกัน การแต่งงานอาจจะมีเงื่อนไขหลายอย่างมาก เรามักรีบด่วนสรุปว่าที่แต่งงานเพราะอยากได้เงิน แต่เราไม่มองให้ก้าวพ้นกรอบคิดอันนี้ที่ครอบงำความคิดเราอยู่ หากตั้งคำถามต่อ เงินเหล่านี้ผู้หญิงเอาไปทำอะไร นั่นคือเลี้ยงลูก แล้วพ่อของลูกไปไหน ทำไมผู้หญิงที่แต่งงานแล้วชีวิตแต่งงานไม่ประสบความสำเร็จ ภาระการเลี้ยงลูกจึงตกเป็นของผู้หญิง อันนี้คือเรื่องบทบาทหน้าที่ที่สังคมคาดหวังต่อผู้หญิง

“ดิฉันศึกษาหมู่บ้านที่อุดร เวลาถามน้องๆ ที่แต่งงานไปแล้วเขาจะพูดอยู่สองเรื่องคือ เรื่องเลี้ยงลูก กับอยากเป็นลูกกตัญญูเลี้ยงพ่อแม่ คำถามคือผู้หญิงต้องเลี้ยงพ่อแม่ถึงกตัญญูหรือ แล้วผู้ชายล่ะ คำถามนี้โยงไปถึงเรื่องของ Gender norms ว่าบทบาททางเพศในสังคมไทยเป็นอย่างไรบ้าง อยากชวนคิดให้ไกลไปกว่าสิ่งที่เรารับรู้กันว่าไม่เงินก็ความรัก ความสัมพันธ์เรื่องการแต่งงานนี้ซับซ้อนกว่านั้น” พัชรินทร์กล่าว

ประเด็นที่สองที่พัชรินทร์เสนอคือ อยากชวนคิดว่าในที่สุดแล้ว บทบาทความสัมพันธ์หญิงชายในสังคมไทยเป็นอย่างไร ทำไมถึงทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ เนื่องจากมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งหลังจากคุยกับผู้ชายในหมู่บ้าน ลึกๆ แล้วเขารู้สึกว่าเขาถูกท้าทายความเป็นชาย แต่เขาจะมีชุดคำอธิบายที่บอกว่าเพราะอะไรเขาถึงยอมรับว่าผู้หญิงที่ไปแต่งงานข้ามชาติแบบนี้ต้องการชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจที่จะศึกษาต่อ เพื่อทำความเข้าใจปรากฎการณ์การแต่งงานข้ามชาติแบบนี้แล้วย้อนกลับมามองสังคมไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเพศภาวะ และ บทบาททางเพศ (Gender norms)

พัชรินทร์สรุปว่า ดังนั้นเราจะสรุปได้อย่างไรว่าการที่ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายที่อยู่ในประเทศที่พัฒนากว่านั้นเป็นเพียงแค่ปัญหาทางเศรษฐกิจ การมองโดยรัฐ โดยมิติทางสังคม วัฒนธรรม หรือเงื่อนไขอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกันและเป็นตัวอธิบายปรากฏการณ์ ถ้าเราลืมกรอบคิดเรื่องพวกนี้เราก็จะไม่สามารถทำความเข้าใจปรากฏการณ์ได้


กฎหมายไทยปกป้องคุ้มครองหรือลดทอนสิทธิของผู้หญิง?


ทันตา ผู้ประสานงานมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง กล่าวถึงประเด็นด้านกฎหมายของเมืองไทยนั้นปกป้องและคุ้มครองผู้หญิงจริงอย่างที่ถูกเขียนไว้หรือไม่ ให้สิทธิในเนื้อตัวร่างกายแก่ผู้หญิงจริงรึเปล่า

ทันตากล่าวว่า ในสังคมไทยผู้หญิงมักถูกคาดหวังเสมอให้เป็นลูกที่ดี แต่งงานกับคนที่ดี มีลูก เป็นแม่ที่ดี ในขณะเดียวกันหากมีการหย่า ผู้หญิงต้องรอ 300 กว่าวันเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ท้องแล้วจึงแต่งงานใหม่ได้ ในขณะที่ผู้ชายหย่าแล้วแต่งใหม่ได้เลย หรือผู้หญิงไม่สามารถทำหมันเองได้ถ้าสามีไม่ได้เซ็นอนุญาต ถ้าผู้หญิงทำนิติกรรมต้องมีสามีเซ็น แต่ถ้าสามีทำนิติกรรมสามีเซ็นเองได้เลย แปลว่าผู้หญิงเป็นเจ้าของตัวเองหรือไม่

“กฎหมายบอกว่าปกป้องผู้หญิง แต่กฎหมายกำลังมีมุมมองต่อผู้หญิงว่าเราเป็นเพศที่อ่อนแอ จนกระทั่งไม่รู้เรื่อง ตัดสินใจเองไม่ได้รึเปล่า อันนื้คือความล้าหลังอย่างหนึ่งที่บีบคั้นบทบาทผู้หญิงในสังคมที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ แรงงานหญิง 1 ใน 3 เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการรองรับ งานวิจัยจากจุฬาบอกว่าหากคุณเกษียณคุณต้องมีเงินอย่างน้อย 1 ล้านบาทมารองรับ ถ้าคุณเป็นชนชั้นแรงงานคุณจะเอาเงินที่ไหนมาเก็บ เงินเดือนชนดือน แถมยังเป็นหนี้ด้วย คุณอายุ 60 ปีคุณก็ยังต้องทำงาน อันนี้คือสิ่งที่สังคมบีบคั้นผู้หญิงในประเทศตัวเอง” ทันตากล่าว

ทันตาระบุว่า จึงไม่แปลกใจที่ทำไมผู้หญิงถึงพยายามยกสถานะตัวเอง แต่เมื่อผู้หญิงเหล่านี้ออกนอกกรอบ คนที่ว่าผู้หญิงเหล่านี้ก็คือผู้หญิงด้วยกันในสังคม จึงอยากให้ผู้หญิงในสังคมเห็นใจและเข้าใจกันมากขึ้นกว่านี้ ไม่ต้องบอกว่าใครเป็นผู้หญิงดีหรือไม่ดี ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะมีเซ็กส์เพื่ออะไรก็แล้ว มันเป็นสิทธิของเขา ไม่ควรมีกฎหมายมากำหนดเซ็กส์ของผู้ใหญ่ว่าเซ็กส์แบบนี้ถูก แบบนี้ผิด ตราบใดยังมีกฎหมายแบบนี้อยู่ ผู้หญิงก็จะไม่มีสิทธิในเนื้อตัวของตัวเอง

ทันตากล่าวอีกว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นเรื่องปกติ มนุษย์แสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิตตัวเองอยู่แล้ว เราพยายามมองหาความก้าวหน้าในชีวิต แต่วิถีที่จะแสวงหาความก้าวหน้าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน โอกาสของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

“กลุ่มเราพยายามเรียกร้องที่จะล้มกฎหมายการค้าประเวณี (พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี) เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่ให้ประโยชน์ใดๆ กับใครเลย นอกจากมีไว้เอื้อให้เจ้าหน้าที่คอร์รัปชั่นเท่านั้นเอง มีกฎหมายอาญา กฎหมายสถานบริการ กฎหมายคุ้มครองเด็ก คุ้มครองผู้หญิงดูแลอยู่แล้ว ถ้ายังมีกฎหมายนี้อยู่ผู้หญิงสถานบริการก็ไม่สามารถเข้าสู่กฎหมายแรงงานได้ ไม่สามารถเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย หนีไม่พ้นการถูกหาประโยชน์จากการขายบริการทางเพศ สถานบริการก็ไม่ควรได้ผลประโยชน์หรือฉกฉวยโอกาสจากผู้หญิงเหล่านี้ ดังนั้นกฎหมายการค้าประเวณีต้องเอาออก เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์” ทันตากล่าวทิ้งท้าย


สถิติผู้หญิงการศึกษาสูงแต่งงานข้ามชาติสูงขึ้น จากคุณสมบัติการเข้าเมืองที่มากขึ้น


พัชรินทร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันการเป็นพลเมืองผ่านการแต่งงานในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปเริ่มมีปัญหามาก เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป มีเงื่อนไขมากมาย หลายประเทศเริ่มทำนโยบายสร้างเงื่อนไขข้อกำหนดว่ากว่าจะได้วีซ่าแต่งงานต้องทำอะไรบ้าง เช่น สอบภาษาผ่าน ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากนโยบายสมัยก่อนที่สามารถแต่งงานก่อนแล้วค่อยไปเรียนภาษา เรียนวัฒนธรรม ดังนั้นช่วงหลังนี้เราอาจต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น

ศิริจิต กล่าวว่าจากการสังเกตของตน การแต่งงานข้ามชาติน่าจะเลยจุดที่พีคที่สุดมาแล้ว สิ่งที่ต้องจับตามองคือจะพัฒนาไปอย่างไรในอนาคต คนที่แต่งงานไปแล้ว อายุมากขึ้น จะเป็นอย่างไร หากอยากกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่ไทย ทำได้ไหม อีกอันคือกลุ่มของลูกที่เกิดเมืองไทย โตเมืองไทย ติดตามแม่ไปตอนยังไม่โตมาก หรือลูกที่เกิดที่นั่น มีความสัมพันธ์อย่างไร สื่อสารกับลูกได้มากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้มีการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของผู้หญิงไทยไทย ซึ่งเรามักติดภาพว่าเป็นผู้หญิงอีสาน แต่ปรากฏว่าผู้หญิงที่แต่งงานไปก็ศึกษาสูงขึ้น เนื่องจากเกณฑ์การเข้าเมืองมีข้อจำกัดเรื่องคุณสมบัติมากขึ้น อีกส่วนคือผู้หญิงที่จบปริญญาตรีไม่ใช่ว่าอยู่เมืองไทยแล้วสบาย โอกาสในความก้าวหน้าก็ไม่ได้มีอยู่จริง หลายคนจึงมองว่าต่างประเทศเป็นโอกาสที่ดี


เปรียบเทียบแต่งงานข้ามชาติ เมื่อหญิงลาวมาแต่งกับชายไทยในพื้นที่ชายแดนอีสาน


คชษิณ สุวิชา สาขาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มรภ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ไม่ได้ทำงานโดยตรงเรื่องผู้หญิงที่ไปแต่งงานกับชายยุโรป แต่งานตนเกี่ยวกับประเด็นคนลาวที่ข้ามมาอยู่ในพื้นที่ชายแดนอีสาน ผู้หญิงจากลาวเข้ามาแต่งงานกับคนไทยในพื้นที่ชายแดนตำบลละไม่ต่ำกว่า 70-80 คน สิ่งที่เหมือนกันคือสังคมไทยมองว่าการแต่งงานข้ามชาตินั้น ผู้หญิงส่วนใหญ่จะถูกมองว่าผ่านการเป็นพนักงานบริการมาก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วมีผู้หญิงหลายคนที่ไม่ได้ทำงานนี้

คชษิณ อธิบายว่า ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่าการเข้ามาของคนลาวในพื้นที่ประเทศไทย แบ่งหลักๆ คือ ก่อนจะเกิดสงครามในลาว ซึ่งเข้ามาไทยทั้งหญิงชายผ่านระบบเครือญาติ เช่น การมาเยี่ยมญาติ พบเจอหนุ่มหรือสาวที่ถูกใจก็แต่งงาน กลุ่มที่สองคือช่วงลี้ภัยสงครามในลาว กลุ่มนี้คาดหวังว่าจะได้ลี้ภัยในประเทศไทย หรือให้ UNHCR (ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) ส่งไปที่ประเทศอื่น สองกลุ่มนี้รวมๆ แล้วจะอายุประมาณ 50 ปลายๆ ถึง 70 ปี มีทั้งที่ได้สัญชาติและไม่ได้สัญชาติ จึงเข้าไม่ถึงบริการต่างๆ กลุ่มต่อมาเข้ามาในช่วงเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ‘เปลี่ยนสนามรบให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ’ จะมีกลุ่มผู้หญิงเข้ามาค่อนข้างมาก ชายแดนเปลี่ยนเป็นพื้นที่พัฒนาด้านการเกษตร ผู้หญิงเข้ามาเป็นภาคบริการ มีการแต่งงานกับชายไทย ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า ผู้หญิงลาวที่มาแต่งงานกับชายไทยนั้นไม่ได้ผ่านเพียงอาชีพพนักงานบริการ แต่ในภาคการเกษตร หรืออาชีพต่างๆ ก็มีหลากหลายเช่นกัน

คชษิณกล่าวถึงประเด็นที่สองที่มีความเหมือนคือ คนแถวชายแดนส่วนใหญ่มองว่าผู้หญิงลาวแต่งงานมาเกาะผู้ชายกิน เป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นเรื่องนั้นเสียทีเดียว ผสมเรื่องความรักด้วยก็มี บางคนอาจจะมีคนรวยมาจีบ แต่เขาก็ตัดสินใจแต่งงานกับคนที่ไม่ได้รวยเพราะรัก หรือผสมกับเรื่องการอยากออกจากพื้นที่ตรงนั้นก็มาก เพราะมองว่าพื้นที่ตรงนั้นตัวเองโดนคุกคาม

เมื่อพูดถึงบทบาทและความคาดหวังของผู้หญิงของสังคมไทยที่มีต่อผู้หญิงลาวที่มาแต่งงาน คชษิณอธิบายว่า คือความคาดหวังว่าอยากได้ลูกสะใภ้ดี มีการงานทำ ไม่มาเกาะผู้ชายกิน ซึ่งตอนลงพื้นที่กลับกลายเป็นคนละเรื่อง โดยพบว่าบทบาทของผู้หญิงลาวที่แต่งงานกับชายไทยคือการลุกขึ้นมาจัดการเศรษฐกิจในครอบครัว ภายใต้การทำหน้าที่ภรรยา ดูแล ช่วยเหลือสามีคนไทย ดูแลพ่อแม่ และญาติสามี ขณะที่ฝั่งญาติสามีก็มักจะมองว่าเธอไม่ใช่ผู้หญิงที่ดีมาก่อนแต่จะมาแสวงหาผลประโยชน์

ปัญหาที่พบ คชษิณเล่าว่า ส่วนใหญ่แล้วหญิงลาวเหล่านี้เข้าเมืองผิดกฎหมาย เมื่อท้องแล้วจึงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการฝากครรภ์ ท้ายสุดก็มีเด็กที่ไม่โตตามมาตรฐาน หรือเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคปากแหว่ง และหญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะทำงานที่ยากลำบาก สกปรก อันตราย เพราะพวกเขาไม่ได้จบสูง ไม่มีทักษะ กลุ่มผู้หญิงกลุ่มนี้กลายเป็นกำลังสำคัญของชุมชนเรื่องภาคเกษตร เช่น ไปทำงานในภาคเกษตรที่มีสารเคมีอันตราย

“อาทิตย์ก่อนผมทำประเด็นเรื่องตรวจสารเคมีในร่างกายของกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ 30 กว่าคน ครึ่งต่อครึ่งเลือกปะปนสารเคมี ดังนั้นถ้าจะบอกว่าเขามาเกาะผู้ชายกิน เขามาแล้วไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้เขตพื้นที่แถวชายแดนก็จะทำเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจ และกลุ่มนี้ต่างหากที่เป็นกลุ่มเสียสละมาทำงานพัฒนาประเทศของเรา และบางครั้งสามีเองต่างหากที่ไม่ได้ทำอะไร และผู้หญิงลาวเหล่านี้คือคนที่กลับไปเอาเงินเอาข้าวจากลาวมาสนับสนุน” คชษิณกล่าว

คชษิณได้เสนอว่า นโยบายของรัฐเรื่องการจัดการกับคนที่ไม่ใช่สัญชาติไทย โดยเฉพาะลาว พม่า กัมพูชา เรื่องการจับกุม จำกัด ส่งกลับ หรือติดคุกติดตาราง อยากให้รัฐลองทบทวน และน่าจะให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัย เชิญชวนให้เขาได้ทำกิจกรรม ออกมาสู่พื้นที่สาธารณะ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพสังคมไทย ถ้าทุกคนที่อยู่ชายแดนได้พัฒนาตัวเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงสวัสดิการ มีความเข้มแข็ง ถ้าทุกคนเข้มแข็ง นั่นหมายถึงความเข้มแข็งของสังคมไทยด้วย

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.