Posted: 23 Oct 2018 03:26 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-10-23 17:26


ศิลปินฮิปฮอปกลุ่ม Rap Against Dictatorship เปิดมิวสิควิดีโอ 'ประเทศกูมี' กับไรม์คมๆ บาดลึกสังคมการเมือง โดยมีฉากหลังเป็นภาพเหตุการณ์จำลอง 6 ตุลา 19

23 ต.ค.2561 ภายหลังจาก เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมายูทูบบัญชีชื่อ "Rap Against Dictatorship" เผยแพร่เพลง 'ประเทศกูมี' โดย ศิลปินฮิปฮอปกลุ่ม RAD หรือ Rap Against Dictatorship


ล่าสุดวันนี้ (23 ต.ค.61) ยูทูบบัญชีดังกล่าวเผยแพร่มิวสิควิดีโอประกอบเพลงแล้ว โดยมีฉากหลังเป็นการจำลองภาพการแขวนคอในเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519

นอกจากนี้ มิวสิควิดีโอดังกล่าวยังขึ้นข้อความตอนท้ายด้วยว่า "การแบ่งแยกประชาชนออกเป็นฝักเป็นฝ่าย คือไม้ตายของอำนาจรัฐที่ฝักใฝ่เผด็จการ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น อำนาจทั้งหมดของประชาชนจะถูกพรากจากไป ด้วยความระลึกถึง ทุกชีวิตที่ตกเป็นเหยื่อจากอาชญากรรมโดยรัฐทุกเหตุการณ์ All people unite"

สำหรับศิลปินใน RAD นั้นประกอบด้วย - Lady Thanom - Gentle Prapas - HomeBoy Scout - Kitti Lamar Wuttoe - Kra-Ting Clan - G Saiyud - Samak Da Kreator - Snoop Dusit - Thanin Scott - Sa-lang Shady - Sa-ngad Shady

ส่วนภาพที่เป็นฉากหลังจำลองในมิวสิควิดีโอนี้ เป็นภาพที่ถูกถ่ายโดย นีล ยูเลวิช (Neal Ulevich) ช่างภาพ AP ซึ่งภาพดังกล่าวได้รางวัลพูลิตเซอร์ปี 1977 หรือ พ.ศ.2520 ด้วย ผู้ถูกแขวนขอนั้น คาดว่าหนีออกมาจากการล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

'ประเทศกูมี' อะไรบ้าง ฟังแร็ปสะท้อนสังคมการเมือง กลุ่ม RAD
40 ปีผ่าน เจอข้อมูลใหม่ 6 ตุลา! คนถูกแขวนคอสนามหลวงมีมากกว่า 2 คน


'โครงการบันทึก 6 ตุลา' พิพิธภัณฑ์ออนไลน์ที่จะพูดถึง 6 ตุลาทุกเดือน

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ระบุว่า เช้าวันนั้นมีคนถูกแขวนคอที่สนามหลวงอย่างน้อย 5 คน และเมื่อต้นปีนี้ รศ.ดร.พวงทอง ได้เขียนบทความเพื่อตามหาชายที่ถือเก้าอี้ฟาดใส่ร่างของเหยื่อที่ถูกแขวนคอ เนื่องจากตรวจสอบภาพแล้วเขายังเกี่ยวข้องให้เหตุการณ์สำคัญๆ ช่วงเช้าวันนั้นหลายเหตุการณ์ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : พวงทอง ภวัครพันธ์ุ: บันทึกการตามหา The Chair Man)


สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้น สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เขียนตอนหนึ่งไว้ใน เว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา (https://doct6.com/learn-about/how) ว่า

"วันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น เป็นวันที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า ได้เกิดกรณีนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่มร่วมมือกันก่อการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใจกลางพระนคร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตฝ่ายประชาชนอย่างน้อย 41 คน และบาดเจ็บ 145 คน การก่อการสังหารครั้งนี้ได้กลายเป็นข่าวแพร่ไปทั่วโลก แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ การก่อกรณีนองเลือดครั้งนี้ ไม่มีการจับกุมฆาตกรผู้ก่อการสังหารเลยแม้แต่คนเดียว ในทางตรงข้ามนักศึกษาประชาชนที่เหลือรอดจากการถูกสังหารจำนวน 3,094 คน กลับถูกจับกุมทั้งหมดภายในวันนั้นเอง และถึงแม้ว่าในระยะต่อมา ผู้ถูกจับกุมจะได้รับการประกันตัวออกมาเป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายก็ยังมีเหลืออีก 27 คน ถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดี เป็นชาย 23 คน และหญิง 4 คน จนท้ายที่สุด จะเหลือ 19 คน ซึ่งตกเป็นจำเลย ถูกคุมขังและดำเนินคดีอยู่เกือบ 2 ปีจึงจะได้รับการปล่อยตัว ส่วนผู้ก่อการสังหารซึ่งควรจะเป็นจำเลยตัวจริงนั้นไม่มีรัฐบาลหรือผู้กุมอำนาจครั้งไหนกล่าวถึงอีกเลย แม้กระทั่ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีสมัยที่ปล่อยผู้ต้องหา 6 ตุลาฯ ทั้ง 19 คนนี้ก็ได้กล่าวว่า แล้วก็ให้แล้วกันไป ลืมมันเสียเถิดนะ เหมือนกับว่าจะให้ลืมกรณีฆาตกรรมดังกล่าวเสีย มิให้กล่าวถึงคนร้ายในกรณีนี้อีก

จริงอยู่ประเทศด้อยพัฒนาเช่นประเทศไทย มีคดีอิทธิพลจำนวนมากที่ทางการไม่กล้าแตะต้อง และจับคนร้ายไม่ได้ แต่คดีอิทธิพลเหล่านั้นแตกต่างจากคดี 6 ตุลาฯ เพราะการก่ออาชญากรรมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเหตุการณ์กลางเมืองที่เปิดเผยจนได้รับรู้กันทั่วโลก รวมทั้งผู้ต้องหาที่เปิดเผยโจ่งแจ้งก็มีอยู่มาก แต่คนเหล่านี้นอกจากจะไม่ถูกจับกุมตามกฎหมายแล้ว ยังได้ความดีความชอบในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อีกด้วย ปัญหาในกรณีนี้ก็คือ อิทธิพลอะไรที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มฆาตกรซึ่งผลักดันให้ผู้ก่ออาชญากรรมลอยนวลอยู่ได้เช่นนี้? และนักศึกษาผู้ตกเป็นเหยื่อของการฆาตกรรมได้ก่อความผิดร้ายแรงเพียงใดหรือ จึงต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรงเช่นนี้?

เงื่อนงำของการสังหารโหดนี้ได้รับการคลี่คลายในตัวเองขั้นหนึ่งในเย็นวันนั้นเอง เมื่อคณะทหารกลุ่มหนึ่งในนามของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจล้มเลิกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ล้มรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางรัฐสภาและฟื้นระบอบเผด็จการขวาจัดขึ้นมาปกครองประเทศแทน ถ้าหากว่าการสังหารหมู่เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม คือการก่ออาชญากรรมต่อนักศึกษาผู้รักความเป็นธรรมแล้ว การรัฐประหารเมื่อเย็นวันที่ 6 ตุลาคม คือ การก่ออาชญากรรมต่อประเทศชาติ เพราะเป็นการทำลายสิทธิประชาธิปไตยของประชาชนทั้งชาติ ที่ได้มาจากการเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตของวีรชน 14 ตุลาคม 2516 เมื่อโยงการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ครั้งนี้เข้ากับการสังหารโหดที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน จะทำให้มองเห็นภาพการเคลื่อนไหวของพลังปฏิกิริยาที่ร่วมมือกันก่ออาชญากรรมได้ชัดเจนขึ้น"


หมายเหตุ ประชาไท ดำเนินการแก้ไขเนื้อหาบ้างส่วนไปเมื่อ 20.40 น. ของวันที่ 23 ต.ค.61

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.