Posted: 26 Oct 2018 09:57 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-10-26 23:57


กัปตันปาร์ค ชาตง



“หากอยากรู้ว่าประชากรของประเทศไหนมีคุณภาพอย่างไร ให้ศึกษาจากสิ่งที่พวกเขาอ่าน”

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่สื่อออนไลน์เจ้าหนึ่งนำเสนอข่าวผู้โดยสารร้องเรียนกัปตันที่ระบุว่าเป็นต้นเหตุให้เที่ยวบินดีเลย์กว่า 2 ชม. จนตนเองต้องเสียสละที่นั่งให้แก่นักบินเพื่อให้เที่ยวบินนี้เดินทางได้ กระแสสังคมที่โหมกระหน่ำโจมตีนักบินในโลกออนไลน์ ประกอบการช่วงชิงข้อมูลข่าวสารที่เน้น ‘ความไว’จนแทบไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและค้นหาต้นสายปลายเหตุของเรื่องราวที่แท้จริงนั้น ส่งผลให้นักบินได้กลายเป็น 'จำเลย' ของสังคมไปโดยปริยาย

แต่นั้นแหละไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาพติดลบในสายตาของคนในสังคมทั่วไปเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งเหมือนการเติมเชื้อไฟให้แก่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะมีการชี้แจงจากนักบินหลายท่านในโลกออนไลน์ แต่ดูเหมือนว่าไม่อาจทัดทานกระแสสที่สังคมได้พิพากษาความผิดนี้ให้แก่กลุ่มนักบินไปเรียบร้อยแล้ว

และเมื่อวันพุธที่ผ่านมาไทยรัฐออนไลน์นำเสนอข่าวเกี่ยวกับรายได้ของนักบินและลูกเรือ ยิ่งเป็นไฟที่โหมกระหน่ำเข้าไปอีก โดยไทยรัฐระบุว่า


ในปี 2560 รายได้เฉลี่ยของนักบินอยู่ที่ 6.01 ล้านบาทต่อปี เมื่อหารเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาทลูกเรือมีรายได้เฉลี่ยในปี 2560 อยู่ที่ 3.05 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 2.54 แสนบาท


ข่าวนี้เท่ากับเป็นการสาดน้ำมันลงไปในกองเพลิงที่กำลังโหมกระหน่ำนักบินอยู่ในกระแสความสนใจของชาวเน็ตไทยอีก

“แล้วผมจะชี้แจงภรรยาที่บ้านยังไง ต้องถูกข้อหาซุกเงินอีกเท่าตัว” กัปตันณเดช ใจเพชร

“สรรพากรด้วย ต้องตามมาถึงบ้านแน่ๆ มันเท่ากับว่าเรายื่นแบบเสียภาษีเท็จอ่ะพี่” นักบินเสือ ใจเสาะ

“สรรพากรกูไม่กลัว กูกลัวเมียมากกว่า” กัปตันณเดช แจง

“อยากมีรายได้เข้าซองเงินเดือนอย่างที่ไทยรัฐนำเสนอจังค่ะ ดิฉันจะเอาไปใช้หนี้สินที่กู้ยืมจากธนาคารมาให้หมด” แอร์โฮสเตสหน้าใสคนหนึ่ง

“เพื่อนคนนอกโทรมาเมื่อกี้ ดูอิจฉาตาร้อนมากค่ะ สะใจๆ ว่าแต่จะมีคนมายืมเงินไหมคะ” ป้าแอร์คนนึงดูมีอารมณ์ขัน

คลื่นกระแทกจากข่าวนี้ ดูเหมือนทีท่าทางฝั่งนักบินจะกลัวความสับสนของทางบ้านมากกว่า ในขณะที่ลูกเรือกลับอยากให้มีรายได้แบบที่ไทยรัฐออนไลน์เสนอ เพราะเอาเข้าจริงๆแล้ว ในส่วนของลูกเรือรายได้ต่ำกว่าที่ไทยรัฐออนไลน์เสนอเกินกว่าครึ่ง!!! โดยเฉพาะฐานเงินเดือนที่อยู่ในระดับไม่กี่หมื่น ในขณะที่รายได้หลักผูกติดกับเบี้ยเลี้ยง นั่นหมายถึง “ไม่บิน ก็ไม่ได้”

โดยเฉลี่ยลูกเรือมีรายได้เพียงหลักหมื่นปลายๆ รวมต่อหัวต่อปี มีรายได้ประมาณเฉียดล้านบาท (แล้วแต่อายุงาน) นั่นหมายถึงรายได้ในส่วนลูกเรือต่ำกว่าที่ไทยรัฐออนไลน์เสนอถึง 60-70%

มาดูรายได้ของนักบินตัวเป็นๆ กันครับ

นักบินในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

1. กลุ่มนักบินผู้ช่วย หรือ Co-pilot

1.1 นักบินผู้ช่วยใหม่ รายได้เฉลี่ยประมาณ 100,000 บาท/เดือน

1.2 นักบินผู้ช่วยอายุงาน 5-10 ปี รายได้เฉลี่ยประมาณ 150,000 บาท/เดือน

2. กลุ่มกัปตัน

2.1 กัปตันทั่วไป อายุงานต่ำกว่า 10 ปี รายได้เฉลี่ยประมาณ 2-250,000 บาท/เดือน

2.2 กัปตันทั่วไป อายุงานมากกว่า 10 ปี รายได้เฉลี่ยประมาณ 2.5-350,000 บาท/เดือน

2.3 กัปตันนักบริหารมากประสบการณ์ รายได้เฉลี่ยประมาณ ???,???,??? บาท/เดือน

เราลองมาคำนวนกันเล่นๆนะครับ

ตามที่ไทยรัฐออนไลน์รายงานตัวเลขรายได้ในครั้งแรกจากสายข่าวภายใน ระบุว่า

ปี 2560 ผลตอบแทนพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 18,551 ล้านบาท ซึ่งมีพนักงานทั้งหมด 6,081 คน ไทยรัฐออนไลน์เฉลี่ยให้ พนักงานต้อนรับมีรายได้ต่อหัวต่อปีอยู่ที่ 3.05 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 254,000 คนต่อเดือน


แต่ในความเป็นจริงปัดให้เป็นเลขกลมๆคิดง่ายๆ ให้พนักงานต้อนรับมีรายได้เฉลี่ยที่เดือนละ 1 แสนบาทต่อเดือน ดังนั้นพนักงานต้อนรับจะมีรายได้เพียงแค่ 1,200,000 บาท/คน/ปี คูณกับจำนวนพนักงานต้อนรับ 6,081 คน เป็นงบประมาณในปี 2560 เท่ากับ 7,298 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น!!!

ต่างจากตัวเลขที่ไทยรัฐออนไลน์นำเสนอครั้งแรกถึง 11,000 ล้านบาทต่อปี

ภายหลังไทยรัฐออนไลน์ได้แก้ไขข่าวของตัวเอง โดยการปรับลดตัวเลขของพนักงานต้อนรับเหลือ 8,250 ล้านบาทต่อปี


ในส่วนของนักบิน ไทยรัฐออนไลน์เสนอข่าวในครั้งแรกว่า ผลตอบแทนนักบินในปี 2560 อยู่ที่ 8,250 ล้านบาทต่อปี ต่อจำนวนนักบินทั้งหมด 1,371 คน จึงทำให้นักบินมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว / ปีตามที่ไทยรัฐรายงานที่ 6.01 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยต่อเดือนที่ 5 แสนบาทต่อเดือนนั้น

หากเราเจาะลงไปที่รายละเอียดตามที่แจกแจงข้างต้นว่า นักบินแยกออกเป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีรายได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งงานและอายุงาน เราลองไปดูจำนวนนักบินต่อกลุ่มโดยสังเขปกันนะครับ

นักบินตามที่ไทยรัฐรายงานมีจำนวนทั้งหมด 1,371 คน แยกเป็น นักบินผู้ช่วยหรือ Co-pilot จำนวน 685 คน กัปตัน 686 คน แยกเป็น

- นักบินผู้ช่วยใหม่ที่มีอายุงานต่ำกว่า 10 ปี จำนวน 342 คน มีรายได้ต่อปีประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อปีต่อคน รวม 410,400,000 บาทต่อปี

- นักบินผู้ช่วย ที่มีอายุงานมากกว่า 5 ปี จำนวน 343 คน มีรายได้ต่อปีประมาณ 1.8 ล้านบาทต่อปีต่อคน รวม 617,400,000 บาทต่อปี

- กัปตันใหม่ อายุงานน้อยกว่า 10 ปี จำนวน 320 คน (คิดที่สูงสุด 250,000 บาทต่อเดือน) มีรายได้ต่อปีประมาณ 3 ล้านบาท รวม 960 ล้านบาทต่อปี

- กัปตันอาวุโส อายุงานมากกว่า 10 ปี จำนวน 320 คน (350,000 บาทต่อเดือน) มีรายได้ต่อปี 4.2 ล้านบาท รวม 1,344 ล้านบาทต่อปี

- กัปตันนักบริหารมากประสบการณ์ เป็นจำนวนที่เหลือ

รวมรายได้ต่อปีของนักบินโดยประมาณ 3,331.8 ล้านบาทต่อปี ต่างจากที่ไทยรัฐนำเสนอครั้งแรกถึง 4,918.2 ล้านบาท!!! (ครั้งแรกไทยรัฐนำเสนอที่ 8,250 ล้านบาท)

ในขณะที่ไทยรัฐออนไลน์ได้ทำการแก้ไข ผลตอบแทนนักบินในปี 2560 ใหม่ภายหลังเป็น 6,319 ล้านบาท ซึ่งก็แตกต่างจากจำนวนที่คำนวนแบบแยกหมวดหมู่โดยประมาณถึง 3 พันล้านบาท!!!

ตัวเลขและที่มาของรายได้นักบินข้างต้น ถูกแก้ไขถึง 2 ครั้ง ไทยรัฐควรจะออกมาชี้แจงอย่างโปร่งใสถึงที่มาของตัวเลขเหล่านี้เพื่อป้องกันความสับสนของสังคม และหากที่มาของรายได้นักบินจากแหล่งข่าวของไทยรัฐถูกต้อง จะเกิดประเด็นใหม่ว่า งบประมาณผลตอบแทนด้านรายได้นักบิน/ลูกเรือของบริษัท หักลบกับรายรับโดยประมาณการ ส่วนต่างหลักหลายพันล้านหายไปอยู่ที่ใด ใครอมเงินที่ควรจะเป็นรายได้นี้




อนึ่ง เราลองไปดูเงินเดือนของสายการบินต่างๆที่จ่ายให้นักบิน (ตัวเลขนี้ไม่อัพเดท น่าจะหลายปีที่ผ่านมา แต่อันดับล่างๆไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก)

1. สายการบินหางฟ้าบูติก 490,000 ต่อเดือน

2. สายการบินหางแดงน้องใหม่มาแรง 483,000 ต่อเดือน

3. สายการบินหัวสิงห์ 478,080 ต่อเดือน

4. สายการบินหางแดง 460,000 ต่อเดือน

5. สายการบินยิ้มได้ 400,000 ต่อเดือน

6. สายการบินสีเหลือง 379,000 ต่อเดือน

7. สายการบินหางม่วง 365,000 ต่อเดือน

มีข้อเท็จจริงบางอย่างที่ไทยรัฐอาจจะไม่ทราบว่า เหตุใดสายการบินอันดับสุดท้ายไม่ปรับรายได้นักบินมานานนับสิบปี ในขณะที่สายการบินอื่นทั้ง 6 สายการบินปรับรายได้นักบินตลอดเวลาตามการแข่งขันของตลาดศึกชิงตัวนักบิน จึงทำให้รายได้ของนักบินของสายการบินโลว์คอสท์อื่นๆถีบตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด?

คำตอบ คือสัญญาผูกมัดนักบินที่ถูกเรียกว่าสัญญาทาส!!! นักบินผู้ช่วยมีสัญญาผูกพันกับสายการบิน 8 ปี หากออกก่อนต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงินสูงถึง 8 ล้านบาท โดยมีการลดหย่อนตามจำนวนปี (การลงทุนอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท ++) ปัจจุบันมีการขยายสัญญาจาก 8 ปี เป็น 10 ปี โดยไม่มีเหตุผล

ส่วนกัปตันมีสัญญาหนี้ผูกพัน 8 ปี คิดค่าปรับเป็นจำนวนเงินสูงถึง 12 ล้านบาท โดยมีการลดหย่อนเป็นขั้นบันได (การลงทุนมีเพียงค่าฝึกอบรมในชั้นเรียน, ฝึกใน Simulator และค่าครูฝึกบิน คิดเป็นจำนวนเงินน้อยกว่าฝึกนักบินใหม่มาก)

นี่คือสัญญาทาสที่ทำให้นักบินใหม่และกัปตันใหม่ไม่สามารถลาออกหรือเปลี่ยนงาน (ตามที่ชาวเน็ตไทยชอบพูดประชดว่า “ไม่พอใจก็ลาออกไป”) นักบินเหล่านี้ติดสัญญาทาสคิดเป็นจำนวนปีได้สูงถึง 16-18 ปี!!!!

ดังนั้น กลไกตลาด (ตลาดนักบิน) จึงทำงานเฉพาะ 6 สายการบินข้างต้น ในขณะที่สายการบินอันดับสุดท้ายมีการปรับรายได้น้อยมากหรือแทบไม่ต้องปรับเลยก็สามารถที่จะ Oprerate ได้ตามปกติ

ดังนั้น การนำเสนอข่าวสารของไทยรัฐออนไลน์จึงอาจเกิดจากข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน หรือมีแหล่งข่าวภายในที่จงใจให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเพื่อหวังผลบางประการจากสังคมที่กำลังมีอคติกับกลุ่มนักบิน และลูกเรือ

กระแสข่าวช่วงที่ผ่านมาทำให้เราควรหันมาตั้งคำถามกับการทำงานของสื่อไทยในปัจจุบันว่า การให้คุณค่าของการทำงานข่าว พวกเขายึดถืออะไรเป็นหลัก ระหว่างการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาทั้งสองด้านเพื่อให้สังคมรับรู้ กับการนำเสนอเพื่อเรียกยอดไลค์และคอมเมนต์จากสังคมเท่านั้น

ย้อนเวลากลับไปในยุคแรกของนักหนังสื่อพิมพ์ข่าวสารไทย นักหนังสือพิมพ์รุ่นแรกๆของสยามประเทศอย่างก.ศ.ร.กุหลาบ, เทียนวรรณ, กุหลาบ สายประดิษฐ์, กรุณา กุศลาสัยเหล่านี้ล้วนเป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่กล้าจะนำเสนอข้อเท็จจริง วิพากษ์สังคมเพื่อให้สังคมมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับโลกตะวันตก ต่างกับในปัจจุับนที่สื่อกลายมาเป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่ม หรือกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ของกลุ่มนายทุนด้วยการนำเสนอข่าวที่เพื่อให้เป็นกระแสสังคมเรีกยยอดไลค์และโฆษณาแทนการนำเสนอความจริงอย่างรอบด้าน เพื่อให้สังคมเข้าใจและรับรู้ข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ

อดคิดไม่ได้ว่าหากเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุค ก.ศ.ร.กุหลาบ ยุคเทียนวรรณ หรือยุคกุหลาบ สายประดิษฐ์ ระหว่างรายได้ของกัปตันเรือกลไฟฝรั่งเศสที่เทียบท่าราชวรดิษฐ์ กับการแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ของรัฐไทยที่กระจุกตัวในหมู่ชนชั้นนำกับประชาชนทั้งประเทศ ผมเชื่อว่าปรมาจารย์ของนักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยกย่องในอดีต น่าเลือกที่จะสนใจวิพากษ์วิจารณ์การกระจายรายได้ของรัฐไทยที่มีปัญหามากกว่า คงจะไม่มีนักเขียนปากคมคนไหนไปสนใจว่ากัปตันเรือกลไฟฝรั่งเศสหรืออังกฤษ คนไหนรายได้ดีกว่ากัน เพราะมันคงไม่ได้ทำให้ปากท้องของคนไทยดีขึ้นหรอครับ

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.