Posted: 28 Oct 2018 01:57 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-10-28 15:57


เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ

ระบบจัดสรรปันส่วนผสมของไทยที่จะใช้เลือกตั้งปี 2562 นี้ ที่จริง คือ ระบบผสมของเยอรมนีตามกฎหมายเลือกตั้งปี 1949 คือ ใช้คะแนน ส.ส.เขตคำนวณจำนวนเก้าอี้ ส.ส.รวมและ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่ไม่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์โดยตรง และให้มีบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขตเพียงใบเดียว ส่วนที่ต่างกันมีเพียงไทยไม่ได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ 5% แก่พรรคการเมืองที่จะได้เก้าอี้ ส.ส. แต่ทั้งนี้ควรระลึกไว้ด้วยว่ากฎหมายเลือกตั้งปี 1949 นี้เป็นกฎหมายเลือกตั้งชั่วคราวเท่านั้น (หลังจากนั้นเมื่อปี 1953 และ 1956 เยอรมนีก็เปลี่ยนกฎหมายเลือกตั้งเป็นฉบับถาวรและใช้มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน)

ระบบจัดสรรปันส่วนผสมของไทยมีจุดอ่อนที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง จุดอ่อนจากการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว และให้ผู้เลือกตั้งเลือกได้เฉพาะ ส.ส.เขต แต่ไม่ให้เลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ใช้วิธีคำนวณแทน ปัญหาที่จะเกิดจากกรณีนี้ ได้แก่

(1) ส.ส.เขตมีความสำคัญมาก เพราะเป็นตัวชี้ขาดการเลือกตั้ง ทั้งจำนวน ส.ส.เขตที่พรรคการเมืองจะได้ และจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งเกิดจากการนำคะแนน ส.ส.เขตไปคิดคำนวณ ดังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ คือ ผู้สมัครต่างต้องการลงสมัคร ส.ส.เขต ทำให้พรรคมีปัญหาในการคัดผู้สมัคร เพราะมีผู้สมัคร ส.ส.เขตมากจนล้น

(2) การแข่งขัน ส.ส.เขตจะรุนแรงมาก สืบเนื่องจาก ส.ส.เขตมีความสำคัญมาก ดังนั้น พรรคการเมืองจะทุ่มทุนและทรัพยากรทุกอย่างเข้าสู่สนามการแข่งขัน ส.ส.เขต เช่น ต้องส่งสมัครให้ครบ 350 เขต ต้องคัดคนที่มีความนิยมในพื้นที่ หรือใช้วิธีลัดดึงเอาคนที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วเข้าพรรค รวมทั้งวิธีการอื่นๆ ทั้งใต้ดินและบนดิน

(3) วิธีการแข่งขันจะเปลี่ยนไป เนื่องจากการแข่งขัน ส.ส.เขตจะขึ้นอยู่กับความเป็นพรรคพวก (partisanship) สายสัมพันธ์ส่วนตัว และผลงานของผู้สมัคร ส.ส.เขตในพื้นที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลงานและนโยบายของพรรคน้อย เพราะไม่ได้เลือกพรรคโดยตรงแบบการเลือกด้วยบัตรสองใบ ผลงานกับนโยบายของพรรคจึงมีผลทางอ้อมหรือเท่ากับลดความสำคัญลง เพื่อแก้ปัญหานี้พรรคการเมืองจะเปลี่ยนไปใช้วิธีการสื่อสารมวลชน เพื่อสร้างการรับรู้แนวกว้างแทน โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ข่าวผ่านทางสื่อ และการสร้าง “จุดต่าง” หรือ “จุดแตกหัก” กับพรรคอื่นหรือฝ่ายตรงกันข้าม

(4) ผู้เลือกตั้งไม่สามารถใช้วิธีการเลือกตั้งเชิงกลยุทธ์ (strategic vote) ได้ วิธีการเลือกตั้งเชิงกลยุทธ์มีหลายแบบ สำหรับกรณีบัตรเลือกตั้งสองใบ ผู้เลือกตั้งสามารถเลือกผู้สมัครพรรคหนึ่ง และเลือกเบอร์พรรคอีกพรรคหนึ่งได้ แต่เมื่อมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ผู้เลือกตั้งจะถูกบังคับให้เลือก ส.ส.เขตอย่างเดียว หรือที่ทางวิชาการเรียกว่า “sincere vote”

(5) ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลดความสำคัญลง เนื่องจากผู้เลือกตั้งไม่ได้ไปออกเสียงลงคะแนนเลือกพรรค โดยเอาประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ว่าพรรคใดจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กี่ที่นั่งเหมือนเมื่อก่อน นอกจากนั้น ยังมีเหตุผลมาจากวิธีการคำนวณแบบใหม่ซึ่งยอกย้อน และคาดคะเนได้ยากว่าแต่ละพรรคจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กี่คน

(6) พรรคควบคุม ส.ส.ได้น้อยลง เนื่องจาก ส.ส.เขตจะเน้นตัวบุคคล เมื่อตัวบุคคลในแต่ละเขตมีความสำคัญ พรรคหรือผู้นำพรรคก็ย่อมมีความสำคัญลดลง และกระบวนการสรรหาผู้สมัคร ซึ่งพรรคเคยใช้ควบคุมปาร์ตี้ลิสต์อย่างได้ผลนั้น จะใช้ได้น้อยลง เพราะผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ในระบบใหม่เป็น “พวกเสี่ยง” ไม่ใช่ “พวกชัวร์” ที่จะได้เก้าอี้เหมือนเมื่อก่อน

ประการที่สอง จุดอ่อนที่เกิดจากวิธีการคำนวณหาเก้าอี้ ส.ส. ระบบจัดสรรปันส่วนใช้วิธีการคำนวณหาเก้าอี้ ส.ส.ใหม่ โดยมีสูตร 3 สูตร และจะเกิดผลที่ตามมา คือ

สูตรที่ 1
เก้าอี้ ส.ส.รวมของพรรค ก. – เก้าอี้ ส.ส.เขตของพรรค ก. = เก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค


สูตรที่ 2


คะแนนเสียงต่อหนึ่งเก้าอี้ ส.ส. = คะแนนเสียงทั้งหมด / 500


สูตรที่ 3
จำนวนเก้าอี้ ส.ส.รวมของพรรค ก. = คะแนนเสียงของพรรค ก./คะแนนเสียงต่อหนึ่งเก้าอี้ ส.ส.



(1) ความเป็นสัดส่วน (proportionality) หายไป ความเป็นสัดส่วนเป็นเกณฑ์อันหนึ่งของระบบการเลือกตั้งที่มีคุณภาพ เพราะเป็นตัวสะท้อนถึงการกระจายคะแนนไปทั่วทุกกลุ่มมากกว่ากระจุกตัว โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสคนกลุ่มน้อย

นักรัฐศาสตร์สาขาการเลือกตั้งนิยมใช้ดัชนีวัดความไม่เป็นสัดส่วน เพื่อสะท้อนถึง “ความไม่ยุติธรรม” (unfair) ในการเลือกตั้ง เช่น Gallagher Index เป็นต้น ปัญหาที่จะเกิด คือ ระบบจัดสรรปันส่วนของไทยจะสร้างความไม่ยุติธรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถคงความเป็นสัดส่วนได้เฉพาะตอนเป็นจำนวน ส.ส.รวมของพรรค แต่เมื่อเอา ส.ส.เขตไปหักออก และที่เหลือเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แล้ว ความเป็นสัดส่วนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในระบบเดิมจะหายไป เนื่องจาก ส.ส.เขตมาจากระบบเสียงข้างมาก ไม่ใช่ระบบสัดส่วน ดังนั้น พรรคที่ได้คะแนนเสียงมาก อาจได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อยก็เป็นไปได้

(2)เก้าอี้ ส.ส.เขตมีแนวโน้มที่จะผกผันกับเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะเก้าอี้ ส.ส.เขตเป็นตัวหักออกจากเก้าอี้ ส.ส.รวมของพรรค (ดูสูตรที่หนึ่ง) ยิ่งพรรคได้ ส.ส.เขตมาก ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเหลือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแปรปรวนภายในระหว่างพรรคต่างๆ คือ คะแนนเสียงของพรรคเรากับพรรคอื่นด้วย ถ้าคะแนนเสียงของพรรคเราทิ้งขาดจากพรรคอื่นมากๆ เราก็อาจได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากด้วย แต่ถ้าพรรคเรากับพรรคอื่นๆ คะแนนไม่ทิ้งกันมาก พรรคอื่นจะเข้ามาเฉลี่ยเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาก วิธีการแก้ปัญหานี้จึงมีทางเดียว คือ การสร้างความนิยมถล่มทลายให้เกิดกับพรรคเราให้ได้

(3)จูงใจให้พรรคเกิดใหม่เข้าสู่การเลือกตั้งมาก เมื่อเก้าอี้ ส.ส.คำนวณยาก เพราะจะยังคำนวณไม่ได้จนกว่าจะรู้ตัวแปรอย่างน้อย 3 ตัว คือ (1) คะแนนของพรรคเรา (2) คะแนนของพรรคอื่นๆ ที่เหลือ และ

(3) จำนวนประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง การเอาคะแนนเก่ามาคำนวณ เช่น ปี 2554 คำนวณได้ 7 หมื่นคะแนนต่อหนึ่งเก้าอี้ ส.ส. จึงสร้างความ “ฝันหวาน” ให้กับพรรคการเมืองใหม่ๆ เพราะถ้าได้แค่เขตละ 200 คะแนน คูณด้วย 350 เขต ก็ได้ 7 หมื่นคะแนนแล้ว

(4)สร้างความสับสนให้กับผู้เลือกตั้ง เมื่อมีพรรคใหม่เข้าสู่เลือกตั้งมาก เป้าหมายการแบ่งคะแนนและเก้าอี้จะมีมาก การหาเสียงจะซ้ำซ้อนและปนเปกัน จนผู้เลือกตั้งอาจมึนงงไปหมด เช่น คนอาจรู้จักพรรคหรือหัวหน้าพรรคไม่ครบทุกพรรค เว้นแต่พรรคที่เด่นจริงๆ หรือพรรคที่มีผู้เลือกตั้งเป็นกลุ่มแฟนพันธุ์แท้จริงๆ

ประการที่สาม จุดอ่อนจากการหาพันธมิตร (alliance) และการเกิดรัฐบาลผสม (coalition government) ถ้าไม่มีพรรคหนึ่งพรรคใดได้คะแนนเสียงถล่มทลาย ระบบจัดสันปันส่วนนี้จะเป็นเหตุให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก ทำให้เกิดการหาพันธมิตรและการต่อรองกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และในที่สุดจะได้ “รัฐบาลผสม”

ปัญหาตามมา คือ คนไทย (หรือใครบางคน) จะทนกับการต่อรองและการเป็นรัฐบาลผสมได้นานแค่ไหน!!!!

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.