Posted: 22 Oct 2018 08:21 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-10-23 10:21


ใบตองแห้ง

2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่าเพื่อไทยจะแยกพรรค จัดตั้งพรรคเครือข่าย โดยใช้คณิตศาสตร์เลือกตั้ง ทำให้ได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น ซึ่งมีคำถามมากมาย ทำได้จริงหรือ

คำตอบคือ ทำได้จริงครับ แม้ยังไม่แน่ว่าควรทำจริงไหม เพราะมีข้อเสียหลายอย่าง แต่ในทางทฤษฎี ทำได้


ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมของมีชัย อธิบายคร่าว ๆ ว่า หลังเลือกตั้ง ส.ส. 350 เขตแล้ว ให้นำคะแนนทั้งประเทศมารวมกัน คิดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงได้ สมมติมีผู้มาใช้สิทธิ 35 ล้านคน ก็เอา 500 หาร เป็นสัดส่วน 70,000 คะแนน ได้ ส.ส. 1 คน แล้วสมมติเพื่อไทยได้คะแนนทั้งประเทศ 14 ล้านเสียง ก็จะได้ ส.ส. 200 คน แต่ถ้าได้ ส.ส.เขตแล้ว 190 คน ก็จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มเพียง 10 คน

ความคิดแยกพรรคมาจากสมมติฐานที่ว่า ส.ส.เขตเพื่อไทยส่วนใหญ่จะได้คะแนนไม่ถึง 70,000 เพราะดูฐานคะแนนปี 2554 ส่วนใหญ่ได้คะแนนไล่เลี่ย 50,000 มีไม่กี่คนชนะล้นหลาม ประกอบสถานการณ์การเมือง 4 ปี ที่รัฐแย่งชิงมวลชนอย่างหนัก ก็ประเมินหยาบ ๆ ได้ว่า ส.ส.ส่วนใหญ่น่าจะชนะด้วยคะแนนประมาณนี้

ดังนั้น ถ้าตั้งตุ๊กตาว่าแยกอีกพรรค รวบรวมเฉพาะ ส.ส.เขตที่มั่นใจว่าชนะแน่ในภาคอีสาน ภาคเหนือตอนบน สมมติตัวเลขกลม ๆ 175 คน พวกมีความเสี่ยงไม่ต้องไป คุณก็จะเห็นพรรคการเมืองอีกพรรค ซึ่งชนะ 175 เขต แต่คะแนนรวมประเทศ อาจได้แค่ 10.5 ล้านเสียง เพราะชนะแค่คนละ 5-6 หมื่นคะแนน คำนวณตามระบบควรได้ ส.ส.แค่ 150 คน แต่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ได้ ส.ส.เขตเท่าไหร่ ก็ถือว่าได้ไปเลย 175 คน

ส่วนพรรคที่สอง รวบรวมคนที่มีลุ้น ได้ก็ดี แพ้ก็ไม่เป็นไร คนที่จะได้ที่ 2 ที่ 3 ทั่วประเทศ อาจชนะ ส.ส.เขตบ้าง ส่วนใหญ่ไม่ชนะ แต่คะแนนรวมประเทศ จะได้ราว 3.5 ล้านเสียง

ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณตามระบบจัดสรรปันส่วนผสม แม้การที่พรรคแรกมี ส.ส.เขตล้น จะทำให้ระบบคำนวณปั่นป่วน ต้องใช้ตัวหารสูงขึ้น จนพรรคที่สองได้ ส.ส.ไม่ถึง 50 คน แต่อย่างไรก็ได้มากกว่า 25 คน โดยอาจได้ถึง 40 คน จาก 200 ก็ขยายเป็น 215 ด้วยประการฉะนี้

แต่แน่ละ นี่เป็นทฤษฎีคณิตศาสตร์ล้วน ๆ ซึ่งความเป็นจริงทางการเมือง ไม่สามารถล็อกเป๊ะ ๆ ได้ เช่น ไม่สามารถแยกคะแนน 14 ล้านเป็น 10.5 และ 3.5 ล้านได้ดังใจ การแยกหลายพรรคลงสมัครจะทำให้มวลชนสับสนจนตัดคะแนนกันเองหรือไม่ ฯลฯ (แต่ความสับสนเรื่องเบอร์ ไม่เป็นไร เพราะระบบมีชัยต่างเขตต่างเบอร์ทำสับสนอยู่แล้ว)

ยิ่งกว่านี้ การแยกพรรคจะทำให้มีปัญหา “ธงนำ” การมีพรรคหนึ่งมุ่ง ส.ส.เขต อีกพรรคมุ่งกวาดปาร์ตี้ลิสต์ทั่วประเทศ (ซึ่งน่าจะเป็นเพื่อไทยเดิม เพราะหาเสียงง่ายกว่า) ในทางการตลาด ถามว่าพรรคไหนคือแบรนด์เนม พรรคไหนจะชูเป้าเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ชิงความชอบธรรมจัดตั้งรัฐบาล เพราะอย่าลืมว่าที่ประชาชนจะเลือกเพื่อไทย ไม่ใช่แค่ต้านเผด็จการ หากยังหวังให้เป็นรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แม้ครั้งนี้เป็นไปได้ยากมาก เพราะรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.แต่งตั้งร่วมเลือกนายกฯ ก็ไม่ควรยกธงขาวก่อน

การที่เพื่อไทยจะมีพรรคสำรองเพราะกลัวถูกยุบ เป็นที่เข้าใจได้ แต่ไปถึงแยกพรรค โดยอาจถึงขั้นทิ้งเพื่อไทยเป็นพรรครอง แม้เป็นไอเดียที่เซียนคณิตศาสตร์ยังทึ่ง ก็ต้องคำนึงถึงผลดีผลเสียทางการเมืองให้รอบด้านก่อน



เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.