Posted: 24 Oct 2018 08:58 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-10-25 10:58


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ไม่ว่าจะพยายามที่จะเป็นประชาธิปไตยแบบฉบับไทยๆ กันมากเพียงใดก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไทย เป็นประเทศหนึ่งในจำนวนประเทศจำนวนมากทั่วโลก และเรามีสมบัติของความเป็นมนุษย์เหมือนกับคนทั้งโลก มีเลือดเนื้อ มีความรู้สึกทุกข์ รู้สึกสุข ร้อนหนาวเหมือนมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้

นี่คือความเป็นสากลของความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกัน ซึ่งก็คงพิสูจน์ได้ในที่สุดว่า ความพยายามใดๆ ในการยึดกุมอำนาจประชาชน ท้ายที่สุดก็คงจะไม่เป็นผล อย่างเช่น การกระทำหรือความพยายามของคสช. ณ เวลานี้ ท้ายที่สุดก็จะประสบกับความล้มเหลวและปลาสนาการไป ประวัติศาสตร์โลก ได้บอกกล่าวเราไว้มากกมายหากจะย้อนกลับไปดู


อำนาจนิยมมิอาจอยู่ทนทาน การปรองดอง สมัครสมานสามัคคีอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คือ สิ่งที่มนุษย์คาดหวัง มนุษย์ได้พยายามค้นหาแนวทางปรองดองดังกล่าว จนกลายเป็นฉันทามติของสังคม อย่างแรก คือกติกาประชาธิปไตย อย่างที่สอง คือการเคารพต่อความแตกต่างหลากหลาย ท่ามกลางกระแสทุนนิยม

ท้ายที่สุดมันได้พิสูจน์ให้เห็นว่า นวัตกรรมหรือธุรกิจต่างๆ จะอยู่ได้ ก็ด้วยความแตกต่างจากคนอื่น โลกยุคดิจิตัล 4.0 จึงเต็มไปด้วยความหลากหลาย เปิดโอกาสให้ผู้คนเป็นตัวของตัวเอง วิถีชีวิตและหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นวัตรปฏิบัติของมนุษย์กำลังเปลี่ยนไป อย่างไม่มีวันหวนคืน ความหลากหลายและเสรีภาพนี้เองเป็นตัวสร้างนวัตกรรม

การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมตามแบบวิถีประชาธิปไตยคือแนวทางหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและพิสูจน์แล้วว่า เป็นวิธีการที่ทำให้คนในสังคมอยู่ด้วยกันอย่างสันติ ความขัดแย้งที่รุนแรงมีน้อย

ในโลกสมัยใหม่นี้ อเมริกาเป็นผู้นำทางด้านแนวทางเสรีประชาธิปไตย และอเมริกายังคงเดินหน้า โปรโมททุนนิยมเสรีประชาธิปไตยเหมือนเมื่อยุคหลายสิบปีมาแล้ว

รัฐบาลอเมริกันซึ่งนิยมประชาธิปไตย จึงรู้ไส้รู้พุงรัฐบาลไทยเป็นอย่างดีตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร หรือมาจากการเลือกตั้ง

การรัฐประหารที่นำประเทศเดินย้อนยุคได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นการนำประเทศเดินย้อนยุคและค่อนข้างไร้ค่าในสายตาของตะวันตก ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะไปหาผู้นำประเทศ (หรือคือผู้นำรัฐประหาร) ของไทย นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย จึงเลือกเข้าพบผู้บริหารและแกนนำพรรคเพื่อไทยในโอกาสพ้นตำแหน่ง โดยเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย พร้อมกับระบุว่า ได้เน้นย้ำความสำคัฐของการที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย หวังว่าจะนำไปสู่การเลือกตั้งในเร็ววัน และหวังว่าคนไทยจะได้เลือกรัฐบาลอย่างเสรี (https://voicetv.co.th/read/S17FwgFt7)

หมายความว่ารัฐบาลอเมริกันรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น อะไรเป็นอะไรในเมืองไทย รัฐบาลอเมริกันไม่ทิ้งเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่มีประเทศไทยเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาค การณ์นี้มิใช่ไทยเป็นบัพเฟอร์โซนระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แต่ไทยยังเป็นพันธมิตรประชาธิปไตยและเป็นแนวร่วมเชิงสิทธิมนุษยชนของภาคีเครือข่ายประเทศโลกตะวันตก อาการตีสองหน้ามิใช่เรื่องแปลกของฝ่ายอเมริกันที่เคยทำพฤติกรรมที่ว่านี้ในพม่ามาก่อน ก่อนหน้าพม่าจะเปลี่ยนประเทศเป็นประชาธิปไตยดังปัจจุบัน

เป็นวิธีการเดียวกันกับ “จิม เวบบ์โมเดล” นั่นเอง (จิม เวบบ์ เป็นสว.อเมริกัน รัฐเวอร์จิเนีย) โดยต้องไม่ลืมว่าในช่วงสองทศวรรษมานี้ สหรัฐฯ มีการแทรกแซงการเมืองประเทศกลุ่มละตินอเมริกาน้อยลงไปมาก อาจเป็นด้วยปัญหาเศรษฐกิจรัดตัว outsource คู่สัญญาต่างๆ ที่เคยรับงานรัฐบาลอเมริกันในละตินอเมริกาหรืออเมริกากลางต่างเพิกถอนดีลธุรกิจในภูมิภาคนี้ไปหากินยังประเทศตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออกเสียมากกว่าแล้ว

เครือข่ายดังกล่าวเชื่อมโยงธุรกิจล็อบบี้ยีสต์ในสหรัฐโดยตรง จึงกระทบต่อธุรกิจล็อบบี้โดยตรง ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง ก็นับว่าธุรกิจล็อบบี้ของอเมริกันได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะจากสถานการณ์ในเวียดนาม กัมพูชา หรือแม้แต่พม่า นี้เท่ากับปลดเส้นทางทำมาหากินของนักล็อบบี้ที่ตามปกติแล้วมักเข้าหานักการเมืองฝ่ายรัฐบาลหรือแม้แต่ฝ่ายค้าน โดยรวมก็คือ ผ่านนักการเมือง นั่นเอง

ธุรกิจล็อบบี้เป็นงานที่ถูกต้องตามกฎหมายอเมริกัน สำหรับประเทศไทย ช่วงการครองอำนาจของ คสช. เป็นยุคทมิฬมืดของล็อบบี้ยีสต์อเมริกัน ดีลการซื้อขายยุทโธปกรณ์ของอเมริกันไม่ค่อยได้เกิดขึ้นมากนัก บริษัทยุทโธปกรณ์อเมริกันแทบไม่เคยมีโอกาสแข่งขันตามแนวตลาดเสรีจากกฎกติกาแบบแฟร์ๆ ของไทย หากแต่ผู้ที่ได้ดีลไป กลับเป็นดีลลักษณะคอนเนกชั่นส่วนตัวของ“ขาใหญ่” ของทั้งสองประเทศคือไทยและสหรัฐฯ

ประจวบกับช่วงหลังที่ไทยหันหน้าไปหาจีน จึงทำให้แทบไม่เกิดดีลใดๆ ในธุรกิจค้ายุทธภัณฑ์ระหว่างไทยกับบริษัทอเมริกันเลย นี้ยังรวมถึงดีลสินค้าเชิงโครงการขนาดใหญ่ของรัฐด้วย บริษัทอเมริกันตกอยู่ในสภาพสูญเสีย วงการล็อบบี้ยิสต์ที่แคปิตัลฮิลล์ชะงักไปพักใหญ่ๆ แล้ว

ธุรกิจล็อบบี้ เป็นงานปกติของเอกชนอเมริกัน ในช่วงนักการเมืองไทยเรืองอำนาจ พวกเขายังได้รับอานิสงส์กันอยู่บ้างจากนักการเมืองและนักธุรกิจไทยที่เข้าใจกลเกมของงานล็อบบี้ อันนี้ไม่ใช่ความผิดของนักการเมืองไทยหรือพวกอเมริกันล็อบบี้ยีสต์แต่อย่างใด เพราะมันเป็นงานรูทีนที่แสนจะธรรมดาๆ หากแต่รัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่มีความเข้าใจเรื่องงานล็อบบี้ในสหรัฐฯ เอาเลยมากกว่า อาการหรือภาวะกดดันจากฝ่ายการเมืองอเมริกันจึงออกมาแบบโจ่งครึมแบบนี้ นั่นคือเป็นการกระทำอย่างอิสระของคนของรัฐบาลอเมริกันอย่างนายกลิน ที เดวีส์ เอกอัครชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย นั่นเอง

เพราะฝ่ายอเมริกันเชื่อว่า ดีลกับนักการเมืองไทยนั้นได้ใจกว่าคนของรัฐบาลคสช. ที่แทบไม่เข้าใจกระบวนงานล็อบบี้ในอเมริกาเอาเลย “จิม เว็บบ์โมเดล”จึงถูกนำมาใช้อีกครั้งหลังจากใช้โมเดลนี้ที่พม่าจนได้ผลสำเร็จมาแล้วก่อนหน้านี้

และก็น่าคิดว่า แนวทางของท่านเอกอัคราชทูต กลิน ที เดวีส์ (ที่บุกไปเจอแกนนำพรรคเพื่อไทย) เป็นเพียงบันใดขั้นแรกของการสร้างแรงกดดันของรัฐบาลอเมริกันต่อรัฐบาลเผด็จการทหารของไทย ถ้าตามขั้นตอนของ “จิม เว็บบ์โมเดล”แล้วหลังจากนี้ นักการเมืองอเมริกันหรืออเมริกันคองเกรสคนสำคัญๆ จะเริ่มทยอยเดินทางไปเหยียบแผ่นดินสยาม กันมากขึ้น เช่น ต่อไปอาจไปเจอกับทีมของพรรคอนาคตใหม่อย่างธนาทร เป็นต้น ขอให้จับตาดูดีๆ จนกว่าสยามประเทศจะเดินหน้าเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอีกครั้ง

ขอย้ำว่า ขั้นตอนหรือกระบวนการที่ว่านี้เป็นขั้นตอนหรือจารีตการเมืองอเมริกันตามปกติ งานล็อบบี้นั้นเดินตามจารีตทุนปกติของอเมริกันอยู่แล้ว เป็นพลังขับเคลื่อนในรูปแบบธรรมดา ไม่ใช่รูปแบบใหม่ๆ แต่อย่างใด ใครๆ ซึ่งเป็นกลุ่มผลประโยชน์ในไทยใดๆ ก็ตาม สามารถเข้าถึงได้

พลังผลักดันโดยทุนจารีตการเมืองอเมริกันแบบนี้ จึงอาจได้ชื่อว่า เป็นพลังสำคัญที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยในอนาคต กล่าวคือ ผลักดันเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแบบสากล (ที่ไม่ใช่รูปแบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่กลุ่มคสช.มักอ้างอยู่เสมอๆ)

ปฏิกิริยาในเบื้องแรกของ กลิน ที เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย จึงไม่ควรถูกมองข้าม หากแต่ต้องจับตาดูกันดีๆ นับแต่นี้...

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.