จามาล คาชอกกี (ที่มา: วิกิพีเดีย)

Posted: 19 Oct 2018 07:53 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-10-19 21:53


หลังการหายตัวไปของจามาล คาชอกกี เป็นที่เชื่อว่ารัฐบาลซาอุดิอาระเบียคือผู้บงการหรือก่อเหตุสังหาร มีนักวิชาการสหรัฐฯ วิจารณ์เรื่องที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อซาอุฯ ไม่ยอมลดการค้าอาวุธให้กับประเทศนี้โดยอ้างว่าไม่อยากลดการจ้างงาน ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะภาคส่วนการทหารนั้นสร้างงานเพียงแค่น้อยนิดเมื่อเทียบกับภาคส่วนเศรษฐกิจอื่นๆ

จามาล คาชอกกี นักข่าวและบรรณาธิการของวอชิงตันโพสต์ผู้มีสัญชาติซาอุฯ และขอลี้ภัยในสหรัฐฯ หลังจากที่โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เจ้าชายวัย 33 ปีขึ้นมาเป็นพระราชาธิบดีพระองค์ใหม่ของซาอุฯ เขาหายตัวไปตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาหลังจากที่เดินทางไปที่สถานกงสุลซาอุฯ ประจำนครอิสตันบูล ในตุรกี โดยล่าสุดมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าเขาถูกสังหารภายในสถานกงสุลซาอุฯ

วิลเลียม ฮาร์ตุง ผู้อำนวยการ (ผอ.) โครงการศึกษาเรื่องอาวุธสงครามและความมั่นคงจากศูนย์เพื่อนโยบายนานาชาติ (CIP) ระบุว่าสหรัฐฯ ควรจะมีท่าทีโต้ตอบซาอุฯ ทั้งทางการเมือง, การทหาร, เศรษฐกิจ และในเรื่องชื่อเสียงหน้าตากรณีการสังหารจามาล คาชอกกี

ทว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ตอบคำถามเกี่ยวกับการตัดการขายอาวุธให้ซาอุฯ ในการให้สัมภาษณ์ต่อรายการ "60 นาที" ของช่องซีบีเอสว่าเขาจะไม่ตัดการค้าอาวุธกับซาอุฯ ที่น่าจะมีมูลค่า 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอ้างว่าเขาไม่ต้องการเสียออเดอร์สินค้าเหล่านี้ซึ่งจะทำให้ชาวอเมริกัน "สูญเสียตำแหน่งงาน"

"พวกเขาสั่งซื้อยุทโธปกรณ์ทางการทหาร ทุกคนในโลกนี้ต้องการคำสั่งซื้อสินค้าพวกนี้ รัสเซียต้องการมัน จีนต้องการมัน พวกเราต้องการมัน ...ผมจะบอกคุณว่าอะไรที่ผมไม่อยากจะทำ โบอิง, ล็อกฮีด, เรย์ธีออน บริษัทเหล่านี้... ผมไม่อยากจะทำให้ตำแหน่งงานลดลง ผมไม่ต้องการจะสูญเสียคำสั่งซื้อเช่นนั้น" ทรัมป์กล่าว และยังกล่าวว่ามีวิธีอื่นที่จะ "ลงโทษ" ซาอุฯ โดยไม่ต้องตัดการค้าอาวุธ

ฮาร์ตุงวิจารณ์ในเรื่องนี้ว่า การค้าอาวุธให้ซาอุฯ ในขณะที่ยังเกิดกรณีของคาชอกกีถือเป็นเรื่องผิดจริยธรรม การเพิ่มการจ้างงานไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างในการติดอาวุธให้กับรัฐบาลฆาตกรที่ไม่เพียงต้องสงสัยว่าเป็นผู้ฆาตกรรมคาชอกกีผู้ถือเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ทั้งยังเป็นนักวิจารณ์ที่น่านับถือ แต่ยังมีส่วนในการทำให้พลเรือนในเยเมนเสียชีวิตจำนวนมากจากการแทรกแซงทางการทหารที่ทำให้เกิดสงครามยาวนาน 3 ปีครึ่งแล้ว ซึ่งพลเรือนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ถูกสังหารโดยระเบิด เครื่องบินรบ และยุทโธปกรณ์อื่นที่สหรัฐฯ ขายให้

ฮาร์ตุงระบุถึงกรณีคาชอกกีว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความโหดเหี้ยมและขาดความยั้งคิดของรัฐบาลภายใต้ประมุขโมอัมเหม็ด บิน ซัลมาน

บทความของฮาร์ตุงในสื่อ FPIF ชี้ให้เห็นว่ามีนักการเมืองสหรัฐฯ ที่เริ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซาอุฯ หนึ่งในนั้นคือเท็ด ลิว ผู้แทนพรรคเดโมแครตจากแคลิฟอร์เนีย เขาวิจารณ์ว่าการแทรกแซงของแนวร่วมซาอุฯ-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) "มีลักษณะคล้ายอาชญากรรมสงคราม" มีทั้งเรื่องการโจมตีทางอากาศแบบไม่แยกแยะเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นการโจมตีโรงพยาบาล ตลาดของพลเรือน งานศพ งานแต่งงาน หรือกรณีที่เกิดขึ้นไม่นานนี้คือการโจมตีรถนักเรียนที่มีเด็ก 40 รายบนรถ

ลิวยังพูดถึงการกระทำของซาอุฯ และ UAE ที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนคือการปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ชาวเยเมนกำลังต้องการอย่างมาก ทำให้ประชาชนมากมายอยู่ในสภาพใกล้อดตาย มีการระบุถึงกรณีการทิ้งระเบิดใส่โรงบำบัดน้ำเสียและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของพลเรือนที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคอหิวาต์

ฮาร์ตุงยังวิจารณ์โต้แย้งข้ออ้างของทรัมป์ในเรื่อง "การสร้างงาน" โดยบอกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากการค้าอาวุธจริงๆ นั้นเล็กน้อยมาก วอชิงตันโพสต์ยังเคยระบุว่าสัญญาการค้าอาวุธระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุฯ ไม่ได้มีมูลค่าสูง 110,000 ล้านดอลลาร์อย่างที่ทรัมป์อ้าง มันเป็นข่าวปลอมที่รัฐบาลทรัมป์กุขึ้นโดยเอาไปรวมกับตัวเลขสมัยของโอบามา โดยที่มีการทำข้อตกลงใหม่น้อยมาก ในความเป็นจริง สัญญาระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุฯ มีมูลค่าอยู่ที่ 14.5 ล้านดอลลาร์ สัญญาที่ทรัมป์ทำร่วมกับซาอุฯ จะช่วยสร้างงานเพิ่มเพียงไม่กี่พันคนเมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจใหญ่ ที่มีการจ้างงานคนทั้งหมด 125 ล้านคน

บทความของฮาร์ตุงชี้ให้เห็นว่าการซื้อขายทางการทหารสร้างงานได้น้อยเมื่อเทียบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ นอกจากนี้ ฝ่ายที่นำเข้าอย่างซาอุฯ เป็นฝ่ายที่เพิ่มการจ้างงานในบ้านตัวเองมากกว่า โดยที่ซัลมานพูดถึงแผนการเศรษฐกิจซาอุฯ ว่าจะมีการเพิ่มการจ้างงานร้อยละ 50 ในภาคส่วนการนำเข้าอาวุธภายในปี 2573 นอกจากนี้ในเรื่องที่ทรัมป์อ้างว่าจีนกับรัสเซียจะเข้ามาเป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ให้ซาอุฯ แทนพวกเขาถ้าหวกเขาลดรับออเดอร์ก็เป็นไปได้ยากและต้องอาศัยระยะเวลายาวนานมากในการที่ซาอุฯ จะเบนเข็มไปหาอาวุธสองประเทศนี้เป็นหลักเพราะพวกเขาพึ่งพาอาวุธของสหรัฐฯ และอังกฤษมานาน

"มีวิธีการอื่นๆ หลายอย่างที่จะส่งเสริมการสร้างงานในสหรัฐฯ ที่ไม่จำเป็นต้องรับเงินเปื้อนเลือดจากรัฐบาลซาอุฯ สภาคองเกรสไม่ควรถูกชักจูงออกจากการทำในสิ่งที่ถูกต้องจากข้ออ้างผิดๆ ในเรื่องที่ว่าการค้าอาวุธระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุฯ จะเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ" ฮาร์ตุงระบุในบทความ

"คดีของจามาล คาชอกกี เป็นเพียงหนึ่งในเหตุผลจำนวนมากที่สหรัฐฯ ควรวางตัวเองออกห่างจากรัฐบาลซาอุฯ และควรจะทำมันในตอนนี้" ฮาร์ตุงระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก

‘Jobs’ Are No Excuse for Arming a Murderous Regime, FPIF, Oct. 16, 2018

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Jamal_Khashoggi

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.