Posted: 26 Oct 2018 04:10 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-10-26 18:10
แฮชแท็ก ‘ประเทศกูมี’ ติดที่หนึ่งเทรนด์ทวิตเตอร์ ยอดวิวพุ่งเกินล้าน คนดังแห่ให้กำลังใจ คนส. เรียกร้องเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ยุติการข่มขู่หรือเรียกสอบปากคำ ฝ่ายรัฐบาลและคนไม่เห็นด้วยชี้ ประเทศเสียหาย เพลงล้างสมอง ด้านปอท. ระบุอาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. คอมฯ นำเข้าข้อมูลเท็จ เตรียมแจ้งผู้เสียหาย-เชิญศิลปินมาให้ข้อมูล
วันนี้ (26 ต.ค 61) มิวสิควิดีโอเพลง 'ประเทศกูมี' ของกลุ่มแร็ปเปอร์ 'Rap Against Dictatorship' ปล่อยได้ 3 วัน ยอดวิวในยูทูบแตะ 1,300,000 วิวและมีท่าทีว่าจะพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เช้าวันนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ระบุว่ามิวสิควิดีโอนั้นเสี่ยงขัดคำสั่ง คสช. โดยจะให้ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบเนื้อหา เชิญคนที่ปรากฎในคลิปมาให้ปากคำ พร้อมเตือนคนทำเพลงอย่าทำสุ่มเสี่ยงจะไม่เป็นผลดีต่อตัวเองและครอบครัว
แฮชแท็ก ‘ประเทศกูมี’ ติดที่หนึ่งเทรนด์ทวิตเตอร์ คนดังแห่แสดงกำลังใจ
ท่าทีดังกล่าวได้นำไปสู่การถกเถียงในโลกโซเชียลอย่างเผ็ดร้อนจากทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเพลง แฮชแท็กคำว่า 'ประเทศกูมี' ติดเทรนด์อันดับหนึ่งในไทยของทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว และมีนักการเมือง นักวิชาการ และคนดังออกมาทวีตถึงเพลงนี้ เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า ชอบเพลง “ประเทศกูมี” ครับ เพลง “ประเทศกูมี” ไม่ดียังไง ทำไมถึงว่าขัดคสช. น่าสนใจ แต่ถึงยังไงผมก็ยังชอบเพลงนี้ ร้องเป็นแต่เพลงแหล่ แร็ปไม่เป็น ไม่งั้นจะหัดร้องบ้าง"
ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทวีตว่า เพลง #ประเทศกูมี สะท้อนความหวังและความสิ้นหวังของคน ‘รุ่นใหม่’ ในสังคมไทย ที่ต่างไปจากระเบียบสังคมที่คนรุ่นก่อนคุ้นเคย เข้าใจได้ที่หลายคนจะตื่นตระหนก แต่อย่าตกใจจนพาลปิดหูคนอื่นในสังคมที่พร้อมจะฟังเสียงเช่นนี้ละกัน
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ทวีตว่า คงไม่ใช่ขัดคำสั่ง คสช แต่แมร่งขัดใจ ฟังแล้วจี๊ด #ประเทศกูมี
วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับหนังรุ่นเก๋า ออกมาทวีตว่า น้องๆชาวแร็ปเปอร์เขายังกล้าทำ Rap Against Dictatorship แต่พวกเราชาวคนทำหนังยังไม่มีใครกล้าทำ Film Against Dictatorship กันบ้างเลย #ประเทศกูมี
คนส. เรียกร้องเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ยุติการข่มขู่หรือเรียกให้มาสอบปากคำ
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมรับในหลักการว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังไม่เป็นผลดีต่อการสร้างบรรยากาศเพื่อนำสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 และเห็นว่าเพลงและภาพประกอบของกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship เป็นการใช้ศิลปะเพื่อกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดตามหน้าที่ของศิลปินในอารยะประเทศ และประเด็นที่พวกเขาหยิบยกขึ้นมาเปรียบเปรยล้วนเป็นประเด็นที่สังคมติดตามให้ความสนใจมาโดยตลอด
คนส. ได้เรียกร้องให้ พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือพยายามเรียกตัวกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship มาให้ข้อมูล ปากคำ ตลอดจนการคุกคามในรูปแบบอื่นๆ พร้อมกับเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามกฎหมาย มากกว่าปฏิบัติตามลมปากของผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ พร้อมกันนี้ คนส. ระบุว่า จะร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship ทั้งในแง่มุมกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างถึงที่สุด
ฝ่ายรัฐบาลและคนไม่เห็นด้วยชี้ ประเทศเสียหาย เพลงล้างสมอง
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า รัฐบาลรู้สึกเสียใจในเรื่องนี้ เพราะคิดว่าเยาวชนน่าจะใช้ความรู้ความสามารถด้านดนตรีในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ต่อแผ่นดินเกิดของตัวเองมากกว่านี้ รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เยาวชนคนอื่น ไม่อยากให้คนคิดว่าทำแบบนี้แล้วเท่ เป็นเรื่องดี หรือเป็นเรื่องสนุก .ไม่แน่ใจว่าเยาวชนที่ทำคลิปดังกล่าว ทำเพราะความตั้งใจของตัวเองหรือมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ และขอฝากเตือนไปว่า คนที่เสียหายที่สุดไม่ใช่รัฐบาล แต่คือประเทศไทย
ศศิวิมล อยู่คงแก้ว ภรรยา พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือ ผบ.หน่วยซีล ที่เดินทางไปร่วมภารกิจช่วยเหลือน้องทีมหมูป่าที่ถ้ำหลวง และยังเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก Thai NavySEAL ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงช่วยเหลือทีมหมูป่า โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก “Sasivimon Youkongkaew” ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 พันคน ตั้งค่าเข้าถึงเป็นสาธารณะ พูดถึงเพลง ประเทศกูมี ว่า “ประเทศกูมี” เรื่องราวดีๆมากมาย ทำไมไม่เอามาพูดว่ะ ฟังแล้วเดือด มันล้างสมองด้วยเสียงเพลง เกมการเมืองยุค 4.0
หลังโพสต์นี้ถูกเผยแพร่ออกไป มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยเชื่อมโยงกับกลุ่มคนเสียผลประโยชน์ ทั้งยังวิจารณ์ว่าคนรุ่นใหม่ คิดว่าเป็นขบถแล้วเท่
โดยศศิวิมล ได้ตอบกลับผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วยว่า “วิธีสื่อสารแบบนี้มัน impact มากค่ะ ใช้นักร้องแร๊พ ดึงกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่รู้อดีตของประเทศชาติ พอฟังแล้วก็คล้อยตามไปด้วย และ “เวลาเห็นคนรุ่นใหม่คิดสร้างสรรค์สิ่งดีๆเพื่อสังคมและประเทศชาติ พี่ดีใจทุกครั้ง มันก็อยู่ที่คนรุ่นเราด้วยที่จะใส่อะไรเข้าไปในสมองเขา”
อย่างไรก็ตามล่าสุด โพสต์ดังกล่าวถูกลบออกไปจากเฟซบุ๊กของ ศศิวิมล แล้ว
ปอท. ชี้อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. คอมฯ นำเข้าข้อมูลเท็จ เตรียมแจ้งผู้เสียหาย-เชิญศิลปินมาให้ข้อมูล
เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 ต.ค. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท. กล่าวถึงกรณีการแพร่คลิปเพลงแร็พ ‘ประเทศกูมี’ ว่า เบื้องต้น พ.ต.อ.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รักษาการแทนผู้บังคับการ ปอท. ได้สั่งการให้ฝ่ายสอบสวนประชุมพิจารณาว่าเข้าข่ายข้อกฎหมายใด และให้ฝ่ายสืบสวนตรวจสอบว่าผู้ปรากฎในคลิปเป็นใคร เพราะว่าเนื้อหาค่อนข้างให้ร้ายประเทศไทย ทำให้ประเทศเสียหายอยู่หลายเรื่อง
จากการตรวจสอบน่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” เพราะความเสียหายที่ปรากฎในเนื้อเพลงอาจกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจ อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ส่วนจะเข้าข้อกฎหมายอื่นใดขอให้ฝ่ายสอบสวนพิจารณา
“หากพิจารณาแล้วเข้าความผิดตามมาตรา 14 (2) ในเรื่องการร้องทุกข์กล่าวโทษก็จะแจ้งให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษ และจะต้องเชิญกลุ่มศิลปินที่อยู่ในคลิปเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินการเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยค่อนข้างมาก และผู้บังคับบัญชาสั่งการลงมา” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าว
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้แม้กลุ่มศิลปิน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าเนื้อหาของเพลงเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วไม่ได้พาดพิงถึงบุคคลใดนั้น หากมีการดำเนินคดี ก็เป็นสิทธิของพวกเขาที่จะให้การว่ารู้สึกอย่างไร ข้อเท็จจริงในส่วนของเขาเป็นอย่างไร แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานว่าผิดหรือไม่
สำหรับภาพที่ปรากฎในมิวสิควิดีโอในบางส่วนที่มีการฟาดหุ่นซึ่งแขวนอยู่บนต้นไม้ ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงโดยรัฐบาลในขณะนั้นจะเข้าข่ายเรื่องการก่อความรุนแรงหรือไม่ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ แต่จากภาพรวม อาจเข้าข่ายความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่ส่งต่อโพสต์ก็อาจเข้าข่ายความผิด มาตรา 14 (5) ซึ่งจะมีโทษอัตราเดียวกันกับผู้โพสต์ คือ จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ได้เช่นกัน โดยหลังการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเข้มงวดก็มีจำนวนผู้กระทำผิดที่ลดลง
แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
เรื่อง “การคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมือง กรณีกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship”
ตามที่มีการเสนอข่าวว่า พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล จะเรียกกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. ตรวจสอบว่าเพลงดังกล่าวเนื้อหาเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. หรือไม่ และจะเชิญตัวมาให้ปากคำว่ามีเจตนาที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดคำสั่ง คสช. ด้วยหรือไม่นั้น รวมถึงการห้ามแชร์คลิปเพลงดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมรับในหลักการว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อีกทั้งยังไม่เป็นผลดีต่อการสร้างบรรยากาศเพื่อนำสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562
คนส. เห็นว่าการสื่อความเห็นของกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship ในบทเพลงและภาพประกอบนั้น เป็นการใช้ศิลปะเพื่อกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดตามหน้าที่ของศิลปินในอารยประเทศ และประเด็นที่พวกเขาหยิบยกขึ้นมาเปรียบเปรยล้วนเป็นประเด็นที่สังคมติดตามให้ความสนใจมาโดยตลอด ไม่สมควรที่ พล.ต.อ. ศรีวราห์ จะก้าวล่วงใช้อำนาจอย่างครอบจักรวาลเพียงเพราะเป็นความเห็นส่วนตัว ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็ควรจะได้พิจารณาด้วยว่าคำสั่งการนั้นเป็นคำสั่งที่เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แล้ว ไม่ควรจะมีอำนาจอื่นใดเหนือบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
คนส. ขอเรียกร้องให้ พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือพยายามเรียกตัวกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship มาให้ข้อมูล ปากคำ ตลอดจนการคุกคามในรูปแบบอื่นๆ พร้อมกับเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ได้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสุจริต มากกว่าปฏิบัติตามลมปากของผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ
พร้อมกันนี้ คนส. จะร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship ทั้งในแง่มุมกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างถึงที่สุด
ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
26 ตุลาคม 2561
อ้างอิงจาก ข่าวสด1, ข่าวสด2, มติชน
แสดงความคิดเห็น