Posted: 20 Oct 2018 06:44 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-10-20 20:44


200 ปี คาร์ล มาร์กซ์ ที่เชียงใหม่ 'เก่งกิจ กิติเรียงลาภ' นำเสนอหัวข้อ 'ชีวิต แรงงาน และความคิดเรื่องส่วนรวมใน Paris Manuscript' พร้อมแนะนำงานของ 'มาร์กาเร็ต เฟย์' ที่ชี้ว่าตลอดศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมานักทฤษฎีการเมืองอ่าน 'Paris Manuscript' แบบเรียงลำดับผิดไปจากต้นฉบับของมาร์กซ์ ซึ่งทำให้ประเด็น 'wage of labor' หายไปจากแกนหลักของเล่ม แล้วทำให้ธรรมชาติของมนุษย์และความแปลกแยกกลายเป็นประเด็นหลักแทน

26 กันยายน 2561 ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดเสวนาทางวิชาการ "200 ปี Karl Marx (1818-2018) Marx and Marxism ความท้าทาย หรือ สิ่งที่ตายแล้ว" 26 กันยายน 2561 ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยมีวิทยากรคือ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร. จามะรี เชียงทอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา


200 ปี คาร์ล มาร์กซ์

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: Karl Marx มายาหรือวิทยาศาสตร์? | 200 ปี คาร์ล มาร์กซ์, 10 ต.ค. 2561

จามะรี เชียงทอง: Marx’s Agrarian Studies | 200 ปี คาร์ล มาร์กซ์, 19 ต.ค. 2561


เก่งกิจ กิติเรียงลาภ: ชีวิต แรงงาน และความคิดเรื่องส่วนรวมใน Paris Manuscript



คลิปอภิปรายชีวิต แรงงาน และความคิดเรื่องส่วนรวมใน Paris Manuscripts โดยเก่งกิจ กิติเรียงลาภ



ช่วงถาม-ตอบ "200 ปี Karl Marx (1818-2018) Marx and Marxism ความท้าทาย หรือ สิ่งที่ตายแล้ว"

อยากเกริ่นว่า ที่มาของการอ่าน Paris Manuscripts คือ ผมเริ่มเรียนวิชามาร์กซิสม์ที่จุฬาฯ อ.สุชาย ตรีรัตน์ ในเวลาที่เรียนก็ทำรายงานเรื่อง Louis Althusser (หลุยส์ อัลธูแซร์) เรารู้กันว่าอัลธูแซร์เป็นมาร์กซิสม์โครงสร้างนิยม (Structuralism) ประเด็นสำคัญคือเขาไม่พอใจคำอธิบายของพวกที่เราเรียกรวมๆ ว่า Western Marxism เริ่มต้นตั้งแต่ György Lukács เขาบอกว่าพวกนี้มีความเป็น Humanism , Essentialism และเป็น Historicism ฉะนั้นงานของอัลธูแซร์เล่มหนึ่งพูดถึงเรื่องนี้โดยตรงชื่อ For Marx มีข้อเสนอก็คือ งานของมาร์กซ์ไม่สามารถถูกอ่านในฐานะที่เป็นองค์รวมทั้งหมดที่ต่อเนื่องได้ อัลธูแซร์บอกว่ามันมี epistemological break การแตกหักทางญาณวิทยา พูดง่ายๆ ว่า อัลธูแซร์บอกว่างานของมาร์กซ์สามารถแบ่งได้เป็นมาร์กซ์หนุ่มกับมาร์กซ์แก่ ซึ่งประเด็นนี้ผมจะอภิปรายต่อไป ฉะนั้น Paris Manuscripts ถูกมองโดยพวกโครงสร้างนิยมหรืออัลธูแซเรียนว่าเป็น “มาร์กซ์หนุ่ม” ซึ่งไม่ใช่มาร์กซ์จริงๆ เป็นมาร์กซ์ก่อนที่จะเป็นมาร์กซิสม์

ผ่านมาประมาณ 20 ปี ผมสนใจว่า ภายหลังจากอัลธูแซร์แล้วมีประเด็นอะไรบ้างที่พวกมาร์กซิสต์พยายามจะพัฒนาต่อไป ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ อะไรคือภาววิทยาในงานของมาร์กซ์ มาร์กซ์มอง ontology หรือ being ยังไง ซึ่งพูดถึงตรงนี้อาจพูดได้ว่า คนในแต่ละเจนเนอเรชันก็มีสิทธิจะตีความมาร์กซ์ตามแต่แต่ละยุคสมัย แต่โจทย์หนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ เราจะหาทางเปลี่ยนแปลงสังคมได้ยังไง
ผมเลือกอ่านงาน Paris Manuscripts ของมาร์กซ์ เพราะส่วนหนึ่งต้องใช้สอน ทุกปีที่จะต้องสอนก็จะอ่านใหม่ทุกครั้ง การอ่านใหม่ทุกครั้งก็ทำให้พบว่า สิ่งที่อัลธูแซร์คิดอาจจะไม่จริง ผมเกิดข้อสงสัย การบรรยายในครั้งนี้จึงจะเป็นการอภิปรายว่าทำไมผมจึงไม่เห็นด้วยกับอัลธูแซร์

ชื่อเต็มของ Paris Manuscripts ก็คือ Economic and Philosophic Manuscripts มันเป็นงานเขียนชิ้นหนึ่งของมาร์กซ์ที่เขียนตอนอยู่ปารีส เมื่อดูสารบัญของเล่มนี้แบ่งออกเป็นสมุด 3 เล่ม งานชิ้นนี้ไม่ได้เขียนจนเสร็จ เขาไม่เคยเขียนงานชิ้นนี้เลยตลอดชีวิต เดี๋ยวจะเล่าภายหลังว่าถูกพิมพ์โดยใคร งานของมาร์กซ์ชิ้นนี้ ไม่ว่าจะเป็น Western Marxism หรือ Structural Marxism ต่างก็ตีความคล้ายกันคือ มองว่ามาร์กซ์มีตอนหนุ่มกับตอนแก่ พวก Western Marxism นั้นสนใจ young Marx ความสนใจนี้ให้ความสำคัญกับการศึกษามาร์กซ์ในฐานะที่เป็นนักปรัชญา พวกนี้ได้ข้อสรุปว่า มาร์กซ์หนุ่มเป็นเฮเกลเลียน ยังไม่แตกหักออกจากความคิดจิตนิยมของเฮเกล จนกระทั่งมาร์กซ์ได้อ่านฟอยเออร์บาค ทำให้มาร์กซ์กระโดดหลุดออกจาก เฮเกลเลียน ไปสู่สิ่งที่เรียกว่า วัตถุนิยม งานที่เป็นมาร์กซ์หนุ่มถูกชื่นชมและโต้แย้งตลอดศตวรรษที่ 20 ถือว่าเป็นงานสำคัญมากๆ

ประวัติศาสตร์ของการพิมพ์ Paris Manuscripts งานชิ้นนี้เริ่มเขียน 1844 ใช้เวลาเขียนสามสี่เดือน อยู่ในฐานะที่เป็นร่าง มาร์กซ์ยังเขียนไม่จบและไม่ได้คิดจะพิมพ์ หลังจากที่มาร์กซ์ตาย Paris Manuscripts ก็หายไป ไม่มีใครรู้ว่าต้นฉบับอยู่ไหน สุดท้ายมีการไปค้นพบต้นฉบับนี้ในปี 1927 โดยรัฐบาลโซเวียต หลังจากนั้นก็มีการตีพิมพ์ในภาษาเยอรมันในปี 1932 และมีการแปลภาษาอังกฤษซึ่งตีพิมพ์ในปี 1959 พูดง่ายๆ ถ้ามองในแง่นี้ Paris Manuscripts ถูกอ่านตั้งแต่ทศวรรษ 1930 โดยนักวิชาการที่พูดภาษาเยอรมันก่อน จากนั้นตามมาโดยพวกที่พูดภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นก็มีการแปลและพิมพ์อีกหลายครั้ง

มาถึงประเด็นสำคัญที่จะพูด ผมอยากชี้ให้เห็นว่ามีงานศึกษา Paris Manuscripts อยู่หลายช่วงเวลา เพราะมันฮิตขึ้นมาหลายช่วง ช่วงแรก หลังจากที่มีการพิมพ์เป็นภาษาเยอรมันแล้ว ซึ่งมีอิทธิพลกับพวกมาร์กซิสต์จำนวนหนึ่ง ทั้งเยอรมัน ฝรั่งเศส หรือที่พูดภาษาอังกฤษ ช่วงต่อมาในทศวรรษ 1960-1970 การอ่าน Paris Manuscripts อยู่ภายใต้อิทธิพลของอัลธูแซร์คือคิดว่างานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Young Marx ฉะนั้นยังไม่ใช่มาร์กซ์จริงๆ มาร์กซ์จริงๆ ต้องเป็นมาร์กซ์ที่ mature แล้ว ถ้ายังเป็นเฮเกลเลี่ยนอยู่ยังไม่ใช่มาร์กซิสม์ หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาเกิดการรื้อฟื้นการอ่าน Paris Manuscripts ขึ้นมาใหม่อีก ผมเรียกว่าเป็นการอ่านแบบ hypertextual อ่านแบบนี้พิเศษมาก เพราะนับตั้งแต่มีการพิมพ์งานของมาร์กซ์ออกมาแล้ว ไม่มีใครเคยเห็นต้นฉบับลายมือของ Paris Manuscripts จริงๆ

มันมีความน่าสนใจในการอ่านแบบหลังสุดนี้ คือ ทศวรรษ 1980 มีนักวิชาการคนหนึ่งชื่อ Margaret Fay (มาร์กาเร็ต เฟย์) เขาอยากรู้ว่ามาร์กซ์เขียนอะไรจริงๆ ก็เลยบินไปเนเธอร์แลนด์ที่เก็บต้นฉบับ Paris Manuscripts เอาไว้ แล้วก็พบอะไรที่น่าประหลาดใจมากสำหรับการอ่านงานชิ้นนี้ หลังจากเฟย์เรียนจบปริญญาเอกแล้วเผอิญตายไป ทำให้ต้นฉบับลายมือของมาร์กซ์ไม่ได้รับการพูดถึงอีก คนที่มาพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้งคือ Gary Tedman (แกรี่ เท็ดแมน) ในศตวรรษที่ 21 เราจะมาวิเคราะห์ต้นฉบับลายมือของมาร์กซ์ว่าทำให้เราเห็นอะไรได้บ้าง

วิธีการของการตีความ Paris Manuscripts ที่มีอิทธิพลมากคือ งานเขียนของ György Lukács (จอร์จ ลูคัส) เขาเขียนหนังสือเล่มนี้โดยยังไม่ได้อ่าน Paris Manuscripts แต่เขาเป็นต้นธารของมาร์กซิสม์แบบมนุษย์นิยม ถ้าสรุปโดยย่อเขาบอกว่า ธรรมชาติมนุษย์ในที่นี้คือ แก่นที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์ซึ่งถ้าจะบรรลุแก่นอันนี้ต้องปลดปล่อยมนุษย์ออกจากสิ่งที่ผิดพลาดของสังคม พูดง่ายๆ สังคมทุนนิยมมันทำให้แก่นหรือรูปแบบที่แท้จริงของมนุษย์ผิดเพี้ยนไป งานของลูคัสมีอิทธิพลต่อศตวรรษที่ 20

ทีนี้งานของ Erich Fromm (อีริค ฟอร์มม์) บอกว่า แก่นของมนุษย์ในความคิดของมาร์กซ์เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบันก็ตาม แต่ทั้งหมดมันถูกลดทอนบิดเบือนไป การที่เราจะรื้อฟื้นมาร์กซิสม์แบบมนุษย์นิยมขึ้นมาในโลกภาษาอังกฤษเป็นเรื่องยากเย็น จากความเป็นจริงที่ว่า Paris Manuscripts เพิ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษทีหลังภาษาอื่น พูดง่ายๆ ว่า ฟอร์มม์เห็นความสำคัญของ Paris Manuscripts มาก และชี้ให้เห็นว่าถ้าไม่มีการแปลมันเป็นภาษาอังกฤษ การรื้อฟื้น Marxism ที่เป็น Humanism จริงๆ นั้นจะเกิดไม่ได้ อันนี้เป็นการตีความของพวก humanist

อัลธูแซร์ได้พูดประเด็นปัญหานี้ในหนังสือของเขา อย่างน้อย 2 เล่ม ประเด็นสำคัญก็คือ มาร์กซ์ที่เป็นมาร์กซ์หนุ่มที่พวกลูคัสและฟอร์มม์อ่านไม่ใช่มาร์กซ์จริงๆ เพราะมาร์กซ์จริงๆ ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้ายังเชื่อใน “แก่น” ของมนุษย์อันนี้เป็น metaphysic หรืออภิปรัชญา เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ มาร์กซ์จริงๆ ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ต้องพิสูจน์ได้ ทีนี้จุดร่วมสำคัญของพวก humanist และ structuralism ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานมีอยู่ 3 ประเด็น

1. พวกเขาเชื่อว่ามาร์กซ์แบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงเวลา คือ Young Marx กับ Old หรือ Mature Marx คราวนี้ทั้งสองกลุ่มเห็นพ้องต้องกันว่า Young Marx เป็น humanism อัลธูแซร์เกลียด humanism เลยบอกว่า Young Marx ไม่ใช่ Marx

2. พวก humanism บอกว่ามาร์กซ์ตัวจริงต้องเป็น Young Marx หรืออย่างน้อย Young Marx ก็เป็นฐานของ Old Marx

3.ทั้งสองพวกเห็นพ้องกันว่า แก่นแกนความคิดของมาร์กซ์ใน Young Marx ซ์คือ ธรรมชาติมนุษย์ และ ความแปลกแยก หรือ Human Nature and Alienation

การอภิปรายของผมจะโต้แย้งการตีความแบบนี้ การเขียนในสมุดโน้ตของมาร์กซ์แบ่งเป็น 3 คอลัมน์ บางพาร์ทแบ่งเป็น 2 คอลัมน์ การแบ่งเป็นคอลัมน์ต่างๆ เป็นการแบ่งตามหัวเรื่องของ Adam Smith (อดัม สมิธ) เขาแย่งระหว่างทุน แรงงาน เจ้าที่ดิน มาร์กซ์ก็แบ่งคอลัมน์ตามนี้เลย พาร์ทแรงของโน้ตนี้ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการโควท The Wealth of Nation ของสมิธ โดยโควทไปก็วิจารณ์ไป และมาร์กซ์ใช้ศัพท์บางส่วนของเฮเกลในการวิจารณ์สมิธ ส่วนที่เป็นสองคอลัมน์ มาร์กซ์ตัดเรื่องเจ้าที่ดินออก ตัดเรื่องค่าเช่าที่ดินออก เหลือแค่แรงงาน กับ ทุน เท่านั้น เดี๋ยวจะอภิปรายต่อว่ามีความหมายยังไง

เฟย์บอกว่า เวลาเราอ่านต้นฉบับจริงๆ แบ่งได้เป็น 3 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกคือ แกนหลักของสมุดบันทึก แกนหลักอันนี้จัดวางเนื้อหาของการเขียนเป็น 3 คอลัมน์โดยที่มีคอลัมน์หนึ่งที่ยืนพื้นตลอดตั้งแต่ต้นจนจบนั่นคือ ‘ค่าแรงของแรงงาน’ นอกนั้นมีการตัดออกเป็นช่วง ส่วนที่หลังคือส่วนเสริม ส่วนสำคัญของมันก็คือยังใช้วิธีการแบ่งคอลัมน์เหมือนกัน แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างออกไป

เท็ดแมนซึ่งทำงานต่อจากเฟย์ก็ไปตามหาต้นฉบับนี้จากเนเธอร์แลนด์ แล้วถอดแต่ละหน้าออกมาให้ดูเลย ต้นฉบับจริงจะแบ่งเป็น 3 คอลัมน์ คือ ค่าแรงของแรงงาน กำไรของทุน ค่าเช่าของที่ดิน หลังจากที่เหลือ 2 คอลัมน์ก็จะตัดเรื่องค่าเช่าออก วิธีการเขียนเนื้อหาของมาร์กซ์จะเป็นลักษณะนี้โดยตลอดทั้งเล่ม

ถ้าเราอ่านด้วยวิธีการแบบที่เฟย์และเท็ดแมนเสนอจะพบว่าประเด็นแกนกลางของมันคือ อดัม สมิธ ไม่ใช่ เฮเกล ส่วนชีทที่มาร์กซ์เขียนเพิ่มเข้าไปประกอบนั้นพูดประเด็นเรื่องเฮเกล ประเด็นธรรมชาติมนุษย์และการแปลกแยก ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ศึกษา Paris Manuscripts เรียกได้ว่ามาร์กซิสม์ทุกสำนักจะเห็นว่าส่วนสำคัญไม่ได้อยู่ที่ อดัม สมิธ ทุกคนล้วนสนใจเฮเกลและประเด็นธรรมชาติมนุษย์ ยกตัวอย่างหนังสือ The Marx and Engels reader โดย Robert Tucker คัดสรรงานของมาร์กซ์หลายชิ้นที่สำคัญมารวมเล่ม น่าสนใจว่าพอเปิด Paris Manuscripts ทักเกอร์ตัดแกนหลักออก เหลือแต่ส่วนเสริมที่พูดประเด็นเรื่องธรรมชาติมนุษย์และความแปลกแยก

กลับมาที่สารบัญของการพิมพ์ Paris Manuscripts พบว่า การเรียงพิมพ์เป็นการเรียงพิมพ์ที่ใช้วิธีการไม่ตรงกับต้นฉบับลายมือของมาร์กซ์ เพราะต้นฉบับแบ่งออกเป็น 3 คอลัมน์ และ 3 คอลัมน์นี้ต้องอยู่ในหน้าเดียวกันเสมอถึงจะอ่านรู้เรื่อง การเรียงพิมพ์อันใหม่ จะเริ่มต้นโดยเรื่องแรงงาน ไล่จากทุกหน้าจนจบเรื่องแรงงาน พอเริ่มบทกำไรของทุนก็ร่ายยาวไปจนจบ ค่าเช่าที่ดินก็ร่ายยาวไปจนจบ เฟย์ตั้งคำถามว่า คนที่เอามาพิมพ์ทำไมถึงไม่พิมพ์แบบที่มาร์กซ์ดีไซน์ไว้ เฟย์บอกว่า มาร์กซ์จงใจที่จะให้ 3 ส่วนนี้อยู่ด้วยกันในหน้าเดียวกันเพราะมันต้องอ่านไปด้วยกัน ไม่ใช่การอ่านเป็นก้อนๆ นั่นหมายความว่า ทั้งเล่มที่พิมพ์นั้นเรียงผิดหมดเลย การเรียงผิดทำให้การแบ่งหัวข้อและวิธีการอ่านผิดพลาด ถ้าพูดแบบแรงที่สุด ไม่ว่า Western Marxism อีริค, ฟอร์ม, อัลทูแซร์ หรือคนอื่นๆ ตลอดศตวรรษที่ 20 อ่าน Paris Manuscript ผิดหมด

ผลของการเรียงพิมพ์ที่ผิดไปจากต้นฉบับลายมือ 1. มีการไล่เรียงคอลัมน์ต่างๆ ลงมาเสมือนว่ามันต่อกันในแต่ละแผ่น ทั้งที่จริงๆ แผ่นหนึ่งต้องอ่านพร้อมกันสามคอลัมน์ 2.พอใช้วิธีการเรียงพิมพ์แบบนี้ทำให้หัวข้อหลักของเล่มนี้ที่ชื่อว่า wage of labor หายไปจากส่วนอื่นๆ ทั้งหมด เพราะถือว่ามันจบแล้วตั้งแต่สิบหน้าแรก ทั้งที่จริงแล้วหัวข้อ wage of labor คือแกนกลางของโน้ตบุ๊กทั้ง 3 เล่ม 3.มันทำให้หัวข้อที่เป็นเรื่องของความแปลกแยกของแรงงานเป็นหัวข้อเฉพาะที่แยกออกไป ทั้งที่จริงๆ มันเป็นหัวข้อที่ต่อกับ wage of labor 4.การพิมพ์ใหม่ตัดหัวข้อทั้งสามอันออกไป ทำให้การตีความ Paris Manuscripts ถูกมองว่าไม่ได้โจมตีอดัม สมิธ ทั้งที่จริงๆ มาร์กซ์จงใจใช้ category ของอดัม สมิธ เพื่อจะโจมตีอดัม สมิธ และเสนออะไรบางอย่าง กลายเป็นว่าการเรียงพิมพ์นี้ทำให้ประเด็นธรรมชาติของมนุษย์และความแปลกแยก กลายเป็นประเด็นหลักของหนังสือ

ข้อเสนอของเฟย์คืออะไร 1.ในปี 1844 มาร์กซ์หลุดออกจากเฮเกลไปแล้ว สิ่งที่มาร์กซ์พยายามทำคือ ข้ามให้พ้นอดัม สมิธ แต่มาร์กซ์ยังคงใช้ category ของอดัม สมิธ อันหนึ่งเรื่อง labor เข้ามาเพื่อพัฒนาทฤทษฎีของตัวเอง 2. เรื่อง Alienation และ Human Nature เป็นประเด็นย่อย 3.โจทย์ของงานเขียนชิ้นนี้จึงเป็น Political Economy ไม่ใช่เรื่องปรัชญา เพราะก่อนหน้านี้คนตีความว่าเป็นงานทางปรัชญาหมด 4.ใน Paris Manuscripts อธิบายคอนเซ็ปท์เรื่อง labor ในฐานะที่เป็น potentiality เป็นศักยภาพ มาร์กซ์ไม่ได้ใช้คำว่า essence หรือแก่นสาร แต่การตีความของพวก humanist Marxist ทั้งหมดรวมถึงอัลธูแซร์ด้วยมักเห็นว่า ลูคัส อีริคก็พูดเหมือนกันหมดว่าเป็น essence บอกว่า human nature คือ given หรือถูกให้มาแล้ว เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ฉะนั้น มาร์กซ์ไม่ได้พูดว่า human nature เป็นอะไรอย่างชัดเจน นอกจากการระบุว่า human nature คือ potentiality

เราเรียนรู้อะไรจาก Paris Manuscripts ของมาร์กซ์ ผมคิดว่า 1.มาร์กซ์ไม่ได้บอกว่าแกนกลางของทฤษฎีมาร์กซิสต์คือประเด็นเรื่อง Human Nature แต่มันคือประเด็นเรื่องศักยภาพ เพราะคอนเซ็ปท์เรื่อง labor คือการสร้างสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เราจะรู้ได้ยังไงว่าขอบเขตของ labor มันอยู่ตรงไหน ถ้ามันมีขอบเขตจริงๆ ต้อง create สิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวมัน แต่นี้เราไม่รู้ว่าขอบเขตมันอยู่ตรงไหน ไม่รู้ว่า ontology อยู่ตรงไหน มันครีเอทสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 2.มาร์กซ์นิยาม labor ได้น่าสนใจมาก มาร์กซ์บอกว่า communism is the process of becoming คือ กระบวนการของการที่เราจะกลายเป็นอย่างอื่น ซึ่งมาร์กซ์บอกว่าในนั้นรวมเอา potentiality และ sense ประสาทสัมผัสต่างๆ ของมนุษย์เข้าไปด้วย รวมเอา life หรือชีวิตทั้งหมด ไม่ใช่ชีวิตในฐานะที่ถูกลดทอนกลายเป็นเครื่องจักรหรือการผลิตมูลค่า 3. การปลดปล่อยหรือการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่คอมมิวนิสม์ จึงไม่ใช่การย้อนกลับไปเป็นมนุษย์หรือแกนกลางของมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่คอมมิวนิสม์ คือ การปลดปล่อยชีวิตทั้งหมด มาร์กซ์ใช้คำว่า expression of live การทำให้ชีวิตทั้งหมดมัน express ได้ หรือทำให้ศักยภาพทั้งหมดของชีวิตนั้น express ได้ 4.ในแง่นี้ทุนจึงไม่ได้หมายความถึงการควบคุมกระบวนการผลิตอย่างเดียว แต่ทุนเป็นกระบวนการของการดูดกลืนชีวิตทั้งหมดของมนุษย์เข้าไปอยู่ภายใต้ตัวมัน ชีวิตทั้งหมดจึงไม่ใช่เรื่องของความแปลกแยก เพราะความแปลกแยกเป็นเรื่องของ essence

แต่ถ้าอ่านจะพบว่ามาร์กซ์ใช้คำว่า existence หรือการดำรงอยู่ การดำรงอยู่แต่อาจไม่อยู่ในรูปของ essence ก็ได้ การปลดปล่อยจากทุนจะทำให้เรา exist หรือดำรงอยู่ในโลกได้ ครอบคลุมศักยภาพทั้งหมดที่ express ได้ที่เป็นไปได้ในโลก สิ่งที่พูดทั้งหมดคือ พาร์ทเกือบสุดท้ายของหนังสือ มาร์กซ์เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า communism เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมเรียนรู้จาก Paris Manuscripts ก็คือ คอนเซ็ปท์เรื่อง labor ไม่ใช่เรื่องของแก่น แต่เป็นเรื่องของศักยภาพที่มนุษย์ใช้ในการเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนโลก รวมถึงการปลดปล่อย life องค์รวมทั้งหมด เพื่อที่จะมุ่งไปสู่สภาวะของ communism ซึ่งผมแปลว่าสภาวะของส่วนรวม หมายความว่า life ของเราไม่สามารถ exist ได้ถ้าเราไม่อยู่ในโลกร่วมกับคนอื่น ฉะนั้น คอนเซ็ปท์ communism ในนี้มันจึงดูโรแมนติกมาก และมาร์กซ์ก็พูดหลายคำมากว่า เราต้องมี enjoyment ของการมีชีวิต ถ้าเราไม่ enjoy แสดงว่า potentiality ของ life ของเราไม่สามารถที่จะ express หรือแสดงออกในโลกได้ แสดงว่าเราถูกทำให้ไม่ exist

ผมแปลพาร์ทหนึ่งของมาร์กซ์มา เขาบอกว่า การยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลคือการปลดแอกอย่างสมบูรณ์ของประสาทสัมผัส การรับรู้โลก และความสามารถทั้งหมดของมนุษย์ มาร์กซ์บอกว่า communism หรือการปลดแอกออกจากทุนนิยมหมายถึง liberation of sense การปลดปล่อยผัสสะในการรับรู้โลกทั้งหมดของมนุษย์ให้อิสระ รวมถึงความสามารถด้วย ซึ่งมาร์กซ์ใช้หลายคำมีคำว่า potentiality ด้วยหรือการปลดปล่อยศักยภาพให้สมบูรณ์แบบด้วย แต่คำว่าสมบูรณ์แบบก็เป็นคำที่มีปัญหา ในแง่ที่ว่าศักยภาพไม่มีวันสมบูรณ์แบบ มีแต่จะพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะฉนั้น การปลดปล่อยนี้ทำให้มนุษย์สามารถที่จะมองโลกด้วยสายตาของความเป็นมนุษย์ น่าสนใจว่า ในต้นฉบับลายมือใส่เครื่องหมายคำพูดในคำว่า “มนุษย์” ไว้ด้วยทุกคำ ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ว่าหมายถึงอะไร ตอนจบมาร์กซ์บอกว่า สัมผัสทั้งหมดที่มนุษย์มีจะเชื่อมต่อโดยตรงกับปฏิบัติการของการเป็นนักคิดที่มองโลกอย่างเป็นองค์รวม พูดง่ายๆ ว่า ผัสสะทั้งหมด ความรับรู้โลกทุกสิ่งสามารถ express ได้อย่างเป็นองค์รวม ถ้าผัสสะของมนุษย์มีความสำคัญ เราจะบอกได้อย่างไรว่าอะไรคือแก่นแกนของความเป็นมนุษย์ที่เป็นศูนย์กลาง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.