ที่มาภาพ www.matichon.co.th/columnists/news_47280

Posted: 19 Oct 2018 09:38 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-10-19 23:38


สุรพศ ทวีศักดิ์

ผมไม่ค่อยชอบคำแปล “secularism” ว่า “ฆราวาสนิยม” เพราะ “ฆราวาส” เป็นคำบาลีแปลว่า “ผู้ครองเรือน” ซึ่งตรงกันข้ามกับนักบวชผู้สละการครองเรือน ความหมายจึงแคบมาก ผมชอบคำแปล “โลกวิสัย” มากกว่า เพราะความหมายสำคัญของ “secular” บ่งถึงแนวคิด หลักการ แนวปฏิบัติ หรือวิถีคนละอย่างกับ “religion” หรือศาสนา

แนวคิดโลกวิสัยปฏิเสธศาสนาหรือไม่? คำตอบคือ แนวคิดโลกวิสัยปฏิเสธ “อำนาจทางศาสนาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีภาพและความเสมอภาค” เช่น การนำหลักศาสนามาเป็นหลักการปกครองและการบัญญัติกฎหมายบังคับคนแบบรัฐศาสนายุคกลาง (หรือยุคปัจจุบันก็ตาม) เพราะในรัฐศาสนาเสรีภาพทางศาสนาไม่อาจมีได้จริง เท่ากับเสรีภาพในการใช้ชีวิตตามความเชื่อ ความพึงพอใจ รสนิยม อุดมคติ หรือความใฝ่ฝันของปัจเจกบุคคลไม่อาจมีได้ และเสรีภาพทางความคิดเห็น ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองก็ไม่อาจมีได้เช่นกัน เพราะไม่มีเสรีภาพเสนอแนวคิด หลักการ หรือวิถีปฏิบัติใดๆ ที่แตกต่างหรือตรงกันข้ามกับหลักความเชื่อทางศาสนาของรัฐศาสนานั้นๆ

เช่น ในชุมชนศาสนานับถือพระเจ้าองค์เดียว (monotheism) ยุคโบราณ แม้แต่การบูชารูปเคารพหรือการเปลี่ยนศาสนาก็ถูกปาหินให้ตาย ในรัฐคริสเตียนในยุโรปยุคกลาง เพียงเสนอความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ขัดกับความเชื่อทางศาสนาก็มีโทษถึงตาย รัฐอิสลามก็ไร้เสรีภาพไม่ต่างกัน รัฐพุทธผสมพราหมณ์ ผีในอุษาคเนย์แม้จะมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาต่างๆ ได้ แต่ภายใต้การปกครองที่ชนชั้นปกครองเป็นธรรมราชา สมติเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็คือระบบศักดินาที่กดขี่ไพร่ ทาส

พูดรวมๆ คือ ทั้งความเชื่อหรือคำสอนและประวัติศาสตร์ของสถาบันทางศาสนาหลักๆ เช่นพราหมณ์ พุทธ คริสต์ อิสลาม ต่างสถาปนาระบบชนชั้น ระบบทาส หรือยอมรับและสนับสนุนระบบชนชั้น ระบบทาสทั้งโยตรงและโดยปริยาย ซึ่งขัดกับหลักการโลกวิสัยโดยพื้นฐาน

การเกิดขึ้นของแนวคิดโลกวิสัยก็เพื่อโต้แย้งการปกครองด้วยหลักความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสนาแบบเข้มข้นที่ใช้หลักความเชื่อทางศาสนาเป็นหลักการปกครอง, การบัญญัติกฎหมายต่างๆ และศาสนจักรหรือผู้นำศาสนามีอำนาจบังคับศรัทธา หรือรัฐศาสนาแบบไม่เข้มข้นที่ใช้หลักความเชื่อทางศาสนาสถาปนาสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ชนชั้นปกครอง แม้ไม่บังคับความเชื่อทางศาสนา แต่ในรัฐศาสนาแบบไม่เข้มข้นอย่างรัฐพุทธผสมพราหมณ์ ผี ก็คือรัฐที่กดขี่เสรีภาพและไม่มีความเสมอภาคเช่นกัน

หลักการโลกวิสัย (secular principles) ที่เสนอขึ้นมาแทนหลักการปกครองแบบศาสนาคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และหลักการนี้ก็พัฒนามาเป็นหลักเสรีประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักสังคมนิยมประชาธิปไตย หลักการโลกวิสัยดังกล่าวนี้ปฏิเสธศาสนาเฉพาะ (1) การนำหลักความเชื่อทางศาสนามาเป็นหลักการปกครองและการบัญญัติกฎหมายบังคับคน และ (2) การให้อำนาจรัฐหรืออำนาจทางกฎหมายแก่องค์กรศาสนาต่างๆ ในการปกป้องและสนับสนุนการเผยแผ่ความเชื่อของศาสนานั้นๆ

พูดง่ายๆ คือ ประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ผ่านบทเรียนจากเวลาที่ยาวนานหลายพันปีว่า การปกครองด้วยหลักความเชื่อทางศาสนาและการให้ศาสนาจักรมีอำนาจทางกฎหมาย มันคือการปกครองที่พวกชนชั้นปกครองส่วนน้อยคือกษัตริย์ ขุนนาง นักบวชหรือผู้นำศาสนามีอำนาจกดขี่ เอาเปรียบคนส่วนใหญ่ ภายใต้ระบบเช่นนั้นไม่มีเสรีภาพทางศาสนาและทางอื่นๆ จึงต้องใช้หลักการโลกวิสัยคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ อำนาจ เจตจำนง และความยินยอมของประชาชนมาแทนที่ระบบที่กดขี่ในนามศาสนาดังกล่าว

เพื่อให้การปกครองตามหลักการโลกวิสัยเป็นไปได้จริง จึงต้องแยกศาสนจักรจากสถาบันอำนาจรัฐ (separation of church and state) ให้องค์กรของทุกศาสนาเป็นเอกชน ไม่ยกศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ ถือว่าการนับถือหรือปฏิเสธศาสนาเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลที่รัฐไม่ก้าวก่ายแทรกแซง รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา มีหน้าที่รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาเท่านั้น

บางคนมองว่า แนวคิดโลกวิสัยให้ความสำคัญกับการใช้เหตุผล ความเป็นวิทยาศาสตร์ในการอธิบายความจริงเกี่ยวกับโลก ชีวิต คุณค่า ศีลธรรม ความยุติธรรม ระเบียบทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และอื่นๆ ดังนั้นแนวคิดโลกวิสัยจึงกีดกันคำสอนทางศาสนาที่อธิบายความจริงเกี่ยวกับชีวิตและโลก คุณค่า ความดี ศีลธรรมที่ต่างออกไป

มุมมองดังกล่าวไม่ตรงนัก แท้จริงแล้วแนวคิดโลกวิสัยปฏิเสธปฏิเสธเฉพาะการนำเอาหลักความเชื่อทางศาสนามามีอำนาจบังคับคน ความเชื่อทางศาสนาที่ขัดหลักความเสมอภาคทางเพศ สนับสนุนอำนาจเผด็จการ หรือขัดหลักสิทธิมนุษยชนเท่านั้น

คำสอนของพระศาสดา เช่นที่สอนให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ให้อภัยแก่ศัตรู ให้ฝึกฝนปัญญาและกรุณาเพื่ออิสรภาพด้านใน และคำสอนใดๆ อันเป็นแนวปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความอดกลั้น ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่กดขี่บีฑากันในทางสังคม ช่วยให้เคารพความเป็นมนุษย์และสนับสนุนสันติภาพ หรือคำสอนใดๆ เพื่อช่วยให้ปัจเจกบุคคลมีชีวิตที่ดีโดยไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพคนอื่น หลักการโลกวิสัยไม่ได้กีดกันเลย

จริงๆ แล้วหากมองจากจุดยืนหลักการโลกวิสัย การเอาศาสนามาเป็นหลักการปกครองหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองต่างหากที่นำไปสู่ปรากฏการณ์ที่ขัดกับหลักคำสอนของพระศาสดาเสียเอง เพราะเมื่อใช้ศาสนาเป็นหลักการปกครองหรือนำศาสนามาเกี่ยวข้องกับการเมือง หรือเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง มักเป็นการสร้างระบบเผด็จการกดขี่ และเติมเชื้อไฟความขัดแย้งให้บานปลายกลายเป็นความรุนแรงบนความเชื่อที่สุดโต่งที่พูดเหตุผลกันไม่รู้เรื่อง

แต่เมื่อแยกศาสนาจากรัฐ-การเมือง ย่อมทำให้การบริหารจัดการในกิจการของรัฐและปัญญาหาต่างๆ ในทางการเมืองสามารถดำเนินไปตามหลักความมีเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นธรรมบนหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ อำนาจ เจตจำนงและความยินยอมของประชาชนได้ และทำให้ศาสนาสามารถเสนอคำสอนของพระศาสดาที่เน้นความรัก การให้อภัย ปัญญากรุณาและอิสรภาพด้านใน หรือมิติด้านจิตวิญญาณให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของปัจเจกบุคคลได้มากกว่า เพราะเรามีเสรีภาพในการศึกษาตีความและประยุกต์ใช้คำสอนของศาสนาได้มากกว่าการไม่แยกศาสนาจากรัฐ ที่การศึกษาตีความศาสนาผูกขาดอยู่กับอำนาจรัฐ ศาสนจักร นักบวช หรือผู้นำศาสนา

คำถามก็คือ เราควรเลือกทางไหนดี ระหว่างการไม่แยกศาสนาจากรัฐที่องค์กรศาสนาต่างๆ มีอำนาจทางกฎหมาย นักบวชและผู้นำทางศาสนาต่างๆ มีอภิสิทธิ์ทั้งในเรื่องสถานะ ยศศักดิ์ งบประมาณสนับสนุนจากรัฐ และมีอำนาจผูกขาดการตีความ ตัดสินถูก ผิดตามหลักศาสนา ขณะเดียวกันศาสนาก็ถูกใช้สนับสนุนอุดมการณ์และกลุ่มผู้ครองอำนาจรัฐฝ่ายอนุรักษ์นิยม กับการแยกศาสนาจากรัฐที่จะเอื้อให้สามารถนำหลักการโลกวิสัยคือ หลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมาเป็นหลักการปกครองได้จริง และเอื้อให้มีเสรีภาพในการศึกษาตีความคำสอนของพระศาสดาให้มีคุณค่าความหมายต่อชีวิตปัจเจกบุคคล และสนับสนุนสันติภาพทางสังคมอย่างเคารพคุณค่าแห่งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้จริง

พูดอีกอย่างคือ การคงระบบที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐนั่นแหละที่ทำให้ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของระบบอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและเป็นอุปสรรคต่อความงอกงามของศาสนธรรมเสียเอง การแยกศาสนาจากรัฐจะทำให้ศาสนาหลุดจากการตกเป็นเครื่องมือของระบบอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และทำให้ศาสนธรรมมีความหมายต่อชีวิตปัจเจกบุคคลและสังคมสมัยใหม่ได้จริง เราควรเลือกทางไหนดี

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.