Posted: 19 Oct 2018 10:12 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-10-20 00:12


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ก่อนจะมีกฎหมายเฉพาะเจาะจงอย่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เข้ามา “รับรอง” ให้การใช้สิทธิชุมนุมสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับทั้งประมวลกฎหมายอาญา รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เข้ามา “จัดการ” การชุมนุมอยู่เเล้ว ภายหลังจากที่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้มา 3 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอรวบรวมสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้น เพื่อเเสดงให้เห็นถึงแนวทางการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาว่า การรวมตัวแบบใดเป็นการชุมนุมที่ต้องห้ามภายใต้ความหมายของกฎหมายฉบับนี้ เเล้วคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่หรือไม่ เเละก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรกับผู้ถูกดำเนินคดี


“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ


การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎ หมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”

เนื้อความดังกล่าวคือบทบัญญัติในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นที่รับรู้รับทราบกันว่าเป็นบทบัญญัติที่รับรองเสรีภาพในการชุมนุมของบุคคลนับแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2560

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่า การเขียนรับรองเสรีภาพการชุมนุมในรัฐธรรมนูญกับเสรีภาพในการชุมนุมที่มีอยู่จริงของบุคคลทั่วไปนั้นมีความต่างกันลิบลับ ด้วยเหตุที่ “รัฐ” สามารถจำกัดการใช้สิทธิได้อย่างกว้างขว้างหากเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาความมั่นคง ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ซึ่งนำมาสู่การกล่าวอ้างว่ากฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติและมีสถานะเช่นพระราชบัญญัติอย่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ 2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งบังคับใช้อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ ปี 2560 สามารถจำกัดการใช้สิทธิดังกล่าวของบุคคลได้ ผลของความพยายามที่จะส่งเสียงเรียกร้อง วิพากษ์วิจารณ์ และขอมีส่วนร่วมของบุคคลในหลายกรณีจึงนำมาซึ่งการปิดกั้น ข่มขู่ และถึงขั้นดำเนินคดี

แม้ในทางหลักกฎหมาย ด้วยสถานะของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งตราขึ้นเพื่อกำหนดรายละเอียดของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะทุกรูปแบบ ต้องมีผลเป็นการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง ตามหลักกฎหมายเก่ายกเลิกกฎหมายใหม่ แต่ในทางปฏิบัติพบว่า เจ้าหน้าที่กลับใช้ทั้งกฎหมายและคำสั่งดังกล่าว ควบคุมการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของบุคคล โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐ และประชาชนทั่วไปที่รวมตัวกันออกมาแสดงความเห็นอยู่เสมอ

เพื่อให้เห็นตัวอย่างของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนในพื้นที่จริง และลักษณะการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่บังคับใช้กฎหมายอันขาดความชอบธรรมทางการเมืองทั้ง 2 ฉบับ เนื่องจากพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เองก็ตราขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงรวบรวมลักษณะการปิดกั้น คุกคาม ข่มขู่ และดำเนินคดีต่อประชาชน ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศไทย ภายในช่วงระยะเวลา 3 ปี นับแต่พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ มีผลบังคับใช้ โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็นกลุ่มผู้ถูกดำเนินด้วยพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ และกลุ่มผู้ถูกดำเนินคดีด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าวประกอบกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เพื่อให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการก่อภาระทางคดีให้กับหลายคนที่ออกมาใช้เสรีภาพของตนจนถึงปัจจุบัน

ใช้กฎหมายที่รับรองเสรีภาพในการชุมนุม ดำเนินคดีและปิดกั้นผู้ออกมาชุมนุมสะท้อนปัญหา

เจตนารมณ์ในการตราพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ขึ้นก็เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของบุคคลให้ชัดเจนและสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐให้สัตยาบันไว้ แต่ภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ด้วยเหตุที่บทบัญญัติบางส่วนของกฎหมายเองก็ไม่เอื้อต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุม ประกอบกับรัฐบาลจากการรัฐประหารที่ไม่ประสงค์จะเห็นประชาชนออกมาชุมนุม ด้วยเกรง “ความไม่สงบเรียบร้อย” ที่จะนำไปสู่ความไม่มั่นคงของ คสช. จึงทำให้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ ถูกนำมาใช้ในลักษณะจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งส่วนมากเป็นประชาชนหรือชาวบ้านที่รวมตัวกันแสดงความเห็น ยื่นข้อเรียกร้อง สะท้อนปัญหา หรือคัดค้านการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐ กรณีแรกๆ ซึ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะของรัฐถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้ คือ กลุ่มคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสาร (บขส.) แห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 ไปยังสถานีขนส่งแห่งที่ 3 ในจังหวัดขอนแก่น โดยมีประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม 7 คน ถูกดำเนินคดี เพราะเหตุไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง และร่วมกันชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานของรัฐ

ภายหลังจากนั้น ในการรวมตัวเพื่อเรียกร้อง หรือตรวจสอบการดำเนินใด ๆ ไม่ว่าของรัฐหรือเอกชนในบางพื้นที่ของภาคอีสาน แกนนำชาวบ้านหรือชาวบ้านบางส่วนซึ่งเข้าร่วม มักถูกดำเนินคดีในข้อหาซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ เช่น การรวมตัวของชาวบ้านในอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เพื่อคัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปเตชในพื้นที่ ไม่ว่าพวกเขาจะออกมาเดินรณรงค์ตามถนนเพื่อประกาศเจตนารมณ์คัดค้านการทำเหมืองโปแตช เนื่องในวันทำพิธีเปิดหลุมขุดเจาะสำรวจแร่หลุมแรกของบริษัท ซึ่งมีผู้ร่วมเดินรณรงค์ 2 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นผู้จัดการชุมนุมแต่ไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ก่อเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเปรียบเทียบคนละ 10,000 บาท หรือรวมตัวกันเพื่อติดป้ายคัดค้านโครงการดังกล่าวในที่ดินส่วนบุคคลที่ติดกับที่ดินส่วนบุคคลอีกแปลงหนึ่งซึ่งบริษัทเช่าเพื่อขุดเจาะสำรวจ อันส่งผลให้อชิตพล คู่กะสัง ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมฯ

กระทั่งการรวมตัวกันตั้งขบวนแห่เพื่อประชาสัมพันธ์งานบุญ “สืบชะตาห้วยโทง” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนเห็นความสำคัญและรักษาแหล่งน้ำ รวมทั้งให้ข้อมูลโครงการพัฒนาขนาดใหญ่โดยเฉพาะเหมืองเเร่โปเเตชที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ศตานนท์ ชื่นตา กลุ่มคัดค้านโปแตชที่เข้าร่วมขบวนแห่ประชาสัมพันธ์ ก็ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาเดียวกับกลุ่มคัดค้านโปแตชคนอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ แม้ว่าการแห่บอกบุญ จะเป็นกิจกรรมตามวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งได้รับการยกเว้นให้ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ หรือแม้แต่การรวมตัวอย่างฉับพลันเพื่อคัดค้านไม่ให้บริษัทขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจโปแตชเข้าพื้นที่ ที่ชาวบ้านเองก็ไม่ได้รู้ล่วงหน้าว่าบริษัทจะทำการขนอุปกรณ์ จึงไม่สามารถแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มชุมนุม 24 ชม. ซึ่งทำให้ผู้ร่วมชุมนุม 2 คน คือ สุดตา คำน้อย และกิจตกรณ์ น้อยตาแสง ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ชาวบ้าน “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย” ซึ่งรณรงค์คัดค้านการทำเหมืองทองคำในพื้นที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มากว่า 10 ปี ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกตำรวจหยิบยกพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ มาดำเนินคดีซ้ำเติมจากที่ถูกดำเนินคดีมาก่อนหน้านี้ทั้งคดีอาญาและแพ่งกว่า 20 คดี จากการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง โดยนางพรทิพย์ หงส์ชัย ถูกดำเนินคดีในข้อหา ไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง และร่วมกับสมาชิกกลุ่มฯ คนอื่นอีก 6 คน กีดขวางทางเข้าออกและรบกวนการปฏิบัติงานสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ พร้อมด้วยข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น ตามมาตรา 309 ประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีที่ชาวบ้านประมาณ 150 คน ติดตามการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ในวาระพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนและ สปก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ตามที่ประธานสภาฯ มีหนังสือเชิญ แม้ว่าการเข้าร่วมประชุมดังกล่าวจะเป็นการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ ก็ตาม

ในพื้นที่ภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน กลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันออกมาคัดค้านไม่ให้มีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และเรียกร้องให้รัฐดำเนินการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ถูกดำเนินคดีในอย่างน้อย 2 กรณี คือ กรณีคัดค้านการสร้างท่าเรือน้ำลึก ที่อำเภอปากบารา จังหวัดสตูล และกรณีคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาซึ่งทั้งสองกรณี ชาวบ้านกว่า 20 คน นอกจากจะถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ แล้ว ยังถูกดำเนินคดีตามข้อหาอื่นแห่งประมวลกฎหมายอาญา เช่น บุกรุกสถานที่ราชการในยามวิกาลอีกด้วย

ไม่ต่างกับในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ทำเหมืองทอง จังหวัดพิจิตร ที่แม้จะมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 72/2559 ออกมาปิดการทำเหมืองทอง แต่ผลกระทบที่ชาวบ้านรอบเหมืองได้รับนอกจากผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีชาวบ้าน 27 คนตกเป็นจำเลย เนื่องจากถูกตัวแทนบริษัทซึ่งสัมปทานเหมืองทองร้องทุกข์ว่า ถูกชาวบ้านข่มขืนจิตใจ ทั้งยังถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่า ชุมนุมโดยปกปิดใบหน้า และแกนนำถูกล่าวหาว่า ชุมนุมโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนการชุมนุม และไม่ควบคุมดูแลผู้ชุมนุม จากเหตุการณ์ที่ชาวบ้านเดินเข้าไปดูพื้นที่เหมืองเนื่องจากได้ยินเสียงรถของบริษัทเข้ามา บางคนเพิ่งกลับมาจากไร่นาจึงยังมีหมวกและผ้าปิดหน้าอยู่ แต่ตัวแทนบริษัทระบุว่า กลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันเข้าขัดขวางรถขนแร่ แม้ภายหลังบริษัทจะไม่ติดใจเอาความชาวบ้านในข้อหาข่มขืนจิตใจ แต่ศาลยังคงพิพากษาลงโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ ให้รอการกำหนดโทษมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในเขตอำเภอเมืองแพร่ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการ รวมตัวกันปราศรัยคัดค้านการทำเวทีประชาพิจารณ์ เนื่องจากไม่มีโอกาสส่งตัวแทนเข้าร่วมในจำนวนที่เท่ากันกับชุมชนอื่น อีกทั้งยังไม่สามารถเข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนของบริษัทได้ ภายหลังที่เหตุการณ์คลี่คลาย มีแกนนำชาวบ้านถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ 1 คน โดยถูกกล่าวหาว่า ไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าฯ และใช้ขยายเครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

จากกรณีที่ยกมาข้างต้น หากนับรวมถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ยกพระราชบัญญัติดังกล่าวมาข่มขู่ จนชาวบ้านหวาดกลัวที่จะใช้สิทธิเสรีภาพ เช่น กรณีที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ไม่พอใจที่ถูกสกัดกั้นไม่ให้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล และปีนประตูเพื่อเข้าไปร่วมเวที แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขู่ว่าจะจับ เนื่องจากผิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าปีนเข้าไป ก็จะเห็นถึงความย้อนแย้งของการบังคับใช้กฎหมายที่ด้านหนึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อรับรองให้เสรีภาพในการชุมนุมของบุคคลเกิดขึ้นได้จริง แต่บทบัญญัติในพระราชบัญญัติเองกลับไม่รองรับการใช้เสรีภาพในบางลักษณะ เช่น การชุมนุมที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเพื่อคัดค้านโครงการรัฐและเอกชน หรือนโยบายของรัฐ อีกด้านหนึ่งการบังคับใช้ของเจ้าหน้าที่ก็สกัดกั้นการใช้เสรีภาพในทางปฏิบัติของชาวบ้าน โดยอ้างข้อยกเว้นตามตอนท้ายของมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้รัฐไม่สามารถมองเห็นหรือเข้าใจความต้องการที่ชาวบ้านประสงค์จะสื่อสารออกมาผ่านการชุมนุม เมื่อนำกฎหมายที่มีโทษทางอาญามาบังคับใช้อย่างไม่จำเป็นหรือได้สัดส่วน

ศูนย์ทนายความฯ เห็นว่า เนื้อหาหรือข้อเรียกร้องที่ชาวบ้านต้องการสะท้อนเป็นส่วนหนึ่งของการใช้สิทธิในการพัฒนา (Right to development) ของประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นร่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่มิใช่เพียงประเทศไทย แต่พบในประเทศกำลังพัฒนาที่รัฐต้องการนำทรัพยากรมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้นแล้ว ความท้าทายของการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ กับการดำเนินการของรัฐโดยอ้างสิทธิในการพัฒนาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก จึงเป็นเรื่องที่รัฐต้องเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มในสังคมได้เข้าถึงข้อมูล กระบวนการ รวมทั้งแสดงออกคัดค้าน เห็นด้วย หรือขอให้แก้ไขได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการรับรองให้เสรีภาพในการชุมนุมเกิดขึ้นได้จริง จะทำให้ยุติข้อขัดแย้งได้ดีกว่าการนำกฎหมายมาบังคับใช้โดยไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ก่อให้เกิดภาระทางคดีแก่ชาวบ้านและยิ่งซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความยุติธรรมของคนเล็กคนน้อยขยายเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

พระราชบัญญัติการชุมนุมฯ บวก 3/58 รัฐใช้ยาแรงหวังกำหราบการชุมนุม

ก่อนหน้าที่พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ จะมีผลบังคับใช้ การชุมนุม การรวมกลุ่ม หรือแม้แต่การรวมตัวของประชาชนถูกจำกัดด้วยประกาศ คสช.ฉบับที่ 5/2557 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา จนกระทั่งวันที่ 1 เมษายน 2558 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึก แต่มีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ออกมาแทนที่โดยที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันคือ ห้ามมิให้บุคคลชุมนุม หรือมั่วสุมกันทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า หลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ตามหลักกฎหมาย ต้องมีผลเป็นการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ยิ่งไปกว่านั้น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ยังออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ก็ต้องสิ้นสภาพการบังคับใช้ แต่ในทางปฏิบัติ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้กลับถูกเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาใช้ดำเนินคดีต่อบุคคลควบคู่กับพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ ในหลายกรณี จึงเป็นการยากที่ประชาชนจะสามารถคาดเดาได้ว่า การออกมาชุมนุมของตนจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ แม้ว่าจะได้แจ้งการชุมนุมหรือดำเนินการอื่นใดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ แล้วก็ตาม

ความทับซ้อนของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวพบได้อย่างชัดเจนในการชุมนุมของประชาชน “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ซึ่งผลจากการจัดกิจกรรมเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 หลายครั้งหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร และที่ จ.ชลบุรี ทำให้มีประชาชนกว่า 130 คน ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และข้อหาตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ เช่น ร่วมกันชุมนุมจนก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนหรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมหลัง 18.00 น. โดยไม่ได้รับอนุญาต ฯลฯ ประกอบกับข้อหาอื่น เช่น ชุมนุมโดยกีดขวางทางจราจร ตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ.2522 โฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยมิได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 พร้อมทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอย่างการมั่วสุมตามมาตรา 215 และมาตรา 216 ทั้งยังแจ้งข้อกล่าวหาต่อแกนนำหรือบุคคลซึ่งขึ้นเวทีปราศรัยในการชุมนุมว่า กระทำการโดยมิได้อยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือแสดงความเห็นโดยไม่สุจริตตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย

เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า การแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าวด้วยกฎหมายควบคุมการชุมนุมทั้งหมด เท่าที่มีบทบัญญัติอยู่ ทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ และประมวลกฎหมายอาญา เกือบทุกกรณีเจ้าหน้าที่ทหาร เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และข้อหาที่ใช้ในการดำเนินคดีเพิ่มมากขึ้นหลังกลุ่มคนอยากเลือกตั้งยังนัดหมายชุมนุมเป็นระยะ ๆ แม้จะถูกดำเนินคดี รวมทั้งผู้ชุมนุมหลายคนถูกดำเนินคดีหลายคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมหลายครั้งในหลายพื้นที่ รวมถึงมีการดำเนินคดีผู้สังเกตการณ์การชุมนุมจากศูนย์ทนายความฯ เจ้าหน้าที่จากหน่วยข่าวกรอง (ภายหลังตำรวจไม่ได้เรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหา) และประชาชนธรรมดาที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม ทำให้เห็นชัดเจนถึงการพยายามใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสร้างภาระทางคดี เป้าหมายเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจนกระทั่งยุติการนัดชุมนุม

เจ้าหน้าที่ยังใช้การแจ้งข้อกล่าวหาที่ทับซ้อนกันของพระราชบัญญัติการชุมนุมฯ และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในลักษณะเช่นนี้ กับกลุ่มชาวบ้าน นักธุรกิจ และผู้ประกอบอาชีพค้าขายในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ที่รวมตัวกันชุมนุมและชูป้ายข้อความเพื่อสื่อสารให้ คสช. รับรู้ว่าประชาชนระดับรากหญ้ากำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจจากการบริหารประเทศ และนำภาพถ่ายและวิดีโอขณะทำกิจกรรม มาเผยแพร่สู่โซเชียลมีเดีย มีผู้ทำกิจกรรมถูกดำเนินคดีรวม 9 คน บางคนถูกเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตัวถึงที่พัก บางคนไม่ทราบว่าถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งนำไปสู่การพิพากษาลงโทษของศาลในเวลาต่อมา

ส่วนแถบภาคอีสาน ยังไม่พบกรณีที่ประชาชนถูกดำเนินคดีด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ควบคู่กับพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แต่พบความพยายามของเจ้าหน้าที่ในการนำมาใช้สกัดกั้นการรวมตัวของชาวบ้าน แม้ว่าการกระทำนั้นจะไม่เข้าลักษณะการชุมนุมก็ตาม เช่น กรณีทหารสั่งให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ระงับการจัดผ้าป่าสามัคคี โดยทหารอ้างว่าคำว่า “ต่อสู้คัดค้าน” ที่พิมพ์อยู่บนซองผ้าป่า “เพื่อระดมทุนในการต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ขัดกฎหมายความมั่นคง และผิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ จนกลุ่มชาวบ้านต้องเปลี่ยนรูปแบบงานและย้ายไปจัดงานในพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งก็ยังถูกเจ้าหน้าที่ทหารตามเข้าไปข่มขู่ชาวบ้านว่าอาจผิดกฎหมายอีก

กรณีเช่นนี้ แม้ชาวบ้านจะไม่ถูกดำเนินคดีทั้งตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 หรือพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แต่ก็ไม่สามารถทำกิจกรรมให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ทั้งยังสร้างความหวาดกลัวชาวบ้านที่จะรวมตัวกันทำกิจกรรมต่อไปอีกด้วย


นอกจากนี้ การบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ ยังก่อให้เกิดความสับสนต่อประชาชนผู้ต้องการใช้เสรีภาพในการชุมนุมมากขึ้นไปอีก เมื่อเจ้าพนักงานรับแจ้งการชุมนุมอาศัยอำนาจตาม มาตรา 19 ( 5 ) พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ หยิบยกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 มาเป็นเงื่อนไขห้ามการชุมนุม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่รับมอบหมาย เช่น การห้ามเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนชุมนุม คัดค้านคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 และ ฉบับที่ 4/2559 รวมทั้งห้ามการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 61 หรือแม้กระทั่งหยิบยกมากำหนดเป็นเงื่อนไขให้ปฏิบัติตาม เช่น ให้ผู้จัดงานเดินรณรงค์อนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร และผู้จัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ระมัดระวังและควบคุมผู้ร่วมการชุมนุมไม่ให้แสดงป้ายและสัญลักษณ์ต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลและ คสช. มิเช่นนั้นจะเข้าลักษณะการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ทั้งที่พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 19 กำหนดให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้ชุมนุม ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาหรือกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับประเด็นหรือเนื้อหาของการชุมนุม จึงเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ เพื่อประโยชน์ในการสกัดกั้นการแสดงออกที่เป็นการต่อต้านรัฐบาลและ คสช. อย่างชัดเจน ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถส่งเสียงเรียกร้องใด ๆ ต่อรัฐบาลและ คสช. ได้ ทั้งที่เป็นผู้ที่ควบคุมและกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศทั้งหมดในสถานการณ์ปัจจุบัน

มีข้อสังเกตด้วยว่า การชุมนุมในสถานศึกษาซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ให้นำพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ มาบังคับใช้ แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่กลับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 มาใช้ดำเนินคดีกับกลุ่มคนบางกลุ่มที่จัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัย แม้เนื้อหาของการจัดงานนั้นจะเป็นการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังรอกระบวนการประชามติ ในปี 2559 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือการนำเสนอบทความวิชาการและการจัดประชุมในงานประชุมนานาชาติไทยศึกษา (The13th International Conference on Thai Studies) ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งไม่เข้าข่ายเป็นการชุมนุม หรือมั่วสุมทางการเมืองในลักษณะใด การดำเนินคดีทั้งสองนี้ ทำให้นักวิชาการ นักศึกษา นักกิจกรรม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนถูกดำเนินคดีรวม 16 คน

ลักษณะตัวอย่างการใช้ทั้งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ดำเนินคดีกับบุคคล ตลอดจนปิดกั้นการชุมนุม นอกจากก่อให้เกิดความกังขาว่าสรุปแล้วพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ มีวัตถุประสงค์ของการตราเพื่อรับรองเสรีภาพในการชุมนุมหรือไม่ ยังเห็นได้ชัดเจนว่า รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการชุมนุมดังที่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้การรับรองไว้ ในเมื่อข้อยกเว้นที่พระราชบัญญัตินี้ไม่มีผลบังคับใช้ รัฐยังสามารถนำเอาคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 มาดำเนินการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมได้โดยไม่อิงกับพื้นที่ และขึ้นอยู่กับอำเภอใจของการตีความคำว่า “ชุมนุม หรือมั่วสุมทางการเมือง” มากกว่า 3 ปี ส่งผลให้ปัจจุบัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ กว่า 217 คน และถูกดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 กว่า 405 คน

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่อาจคาดเดาได้ว่าพฤติการณ์แห่งคดีเช่นใดที่จะนำมาสู่การแจ้งข้อกล่าวหาตามคำสั่งและกฎหมายดังกล่าว แต่ผลจากการบังคับใช้และจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้นักวิชาการและกลุ่มภาคประชาสังคมเริ่มนำคำอธิบายการฟ้องร้องคดีลักษณะนี้ว่าเป็นการดำเนินคดีเพื่อปิดปาก (Strategic Lawsuit Against Public Participations) หรือ SLAPPs ซึ่งผู้เริ่มต้นดำเนินคดีอาจเป็นบุคคลทั่วไปหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ แต่มีลักษณะการดำเนินคดีเพื่อหวังผลให้สร้างภาระแก่ผู้ถูกดำเนินคดี หรือเพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นสาธารณะต่าง ๆ เช่น กรณีของชาวบ้าน นักศึกษา นักกิจกรรม และนักวิชาการข้างต้น ซึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้ง เรียกร้อง ตรวจสอบ และรวมตัวเพื่อส่งเสียงถึงรัฐในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ความสำเร็จของการดำเนินคดีลักษณะนี้จึงเกิดขึ้นเมื่อผู้ถูกดำเนินคดีตกอยู่ในภาวะติดพันหรือไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ก่อภาระทางการเงิน สูญเสียรายได้และเวลา หรือถูกกีดกันมิให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเพราะเห็นต่าง เป็นต้น

เมื่อ “การชุมนุม” ถูกปิดกั้นโดยกฎหมาย เสียงของประชาชนก็แผ่วเบา

การนำพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 มาใช้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพในการแสดงความเห็น ก่อให้เกิดผลกระทบและสร้างภาระให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดีอย่างมากมาย แม้หลายกรณีศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง หรืออัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี แต่ก็มีหลายคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกและปรับ โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีโอกาสได้สัมภาษณ์วิรอน รุจิไชยวัฒน์ หรือแม่ไม้ สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ซึ่งถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ ร่วมกับสมาชิกกลุ่มคนอื่นอีก 6 คน เนื่องจากเข้าร่วมการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง จังหวัดเลย แม่ไม้บอกเล่าถึงความลำบากในการทำมาหากินระหว่างที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะเรียกร้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมตรวจสอบการทำเหมืองทองของบริษัทเอกชน ว่าตนต้องมาตามนัดของเจ้าหน้าที่หรือศาลทุกครั้ง แต่ละครั้งต้องหยุดงานจนขาดรายได้ ในขณะที่ต้องส่งเงินให้ลูกซึ่งกำลังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยด้วย บางครั้งถึงขั้นคิดว่าอยากให้ลูกหยุดเรียนสักระยะหนึ่งเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้นจากการถูกดำเนินคดี เฉพาะในคดีดังกล่าว ค่าใช้จ่ายโดยรวมของจำเลยทั้ง 7 คน ซึ่งได้แก่ ค่าเดินทาง ค่าวิชาชีพทนาย ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าถ่ายเอกสาร รวมแล้วเป็นเงินกว่า 100,000 บาท

เช่นเดียวกับวาสนา เคนหล้า หนึ่งในจำเลยในคดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเปิดเผยว่า การประกอบอาชีพค้าขายของเธอได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากการบริหารประเทศของ คสช. จึงออกมาร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเธอเห็นว่าเป็นเสรีภาพที่ประชาชนสามารถทำได้ แต่กลับถูกดำเนินคดี และทำให้เธอต้องเดินทางมาตามนัดของพนักงานสอบสวนและอัยการจากจังหวัดอุดรธานีเข้ากรุงเทพฯ หลายครั้ง ในแต่ละครั้งเธอต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ไม่ต่ำกว่าครั้งละ 2,500 บาท และเธอต้องปิดร้านอย่างน้อย 2 วัน ทำให้ขาดรายได้อย่างน้อยวันละ 1,000 บาท นอกจากนี้ยังต้องจ้างคนมาเฝ้าบ้านเพื่อเฝ้าของและให้อาหารสัตว์อีกวันละ 300 บาท

นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว ทั้งแม่ไม้และวาสนา ยังเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวจากการที่ถูกจับจ้องจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วยการแวะเวียนมา “เยี่ยม” สอบถามถึงการใช้ชีวิตและเหตุผลในการเข้าร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟู หรือเรียกร้องการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมนั้น ไม่อาจประเมินหรือคำนวนด้วยตัวเงินได้ทั้งหมด ระหว่างทางของการต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น คัดค้านเหมืองแร่โปเตช โรงไฟฟ้าชีวมวล เหมืองทอง หรือเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก การเลือกตั้ง และประชาธิปไตย ของประชาชน ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองยังไม่มีประชาธิปไตย นอกจากประชาชนจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของกฎหมายที่จะนำมาจำกัดเครื่องมือในการเรียกร้องอย่าง “การชุมนุม” แล้ว ท้ายที่สุด สิทธิในการพัฒนาและกำหนดนโยบายสาธารณะในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็ถูกลดทอนไป จากการที่ความต้องการหรือมุมมองของประชาชนไม่ได้รับการรับฟังด้วยกระบวนการที่ประชาชนเห็นว่าเป็นวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย เช่น “การชุมนุม” เลย





เผยแพร่ครั้งแรกใน: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน http://www.tlhr2014.com


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.