บีบีซีไทย - BBC Thai

บ้านตาแปด ภาพสะท้อนปัญหาการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเหตุรุนแรงในภาคใต้

อุไร ภักดี กับนิติมา เดหนิ มีอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน พวกเธอเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วางระเบิดในคราวเดียวกัน ที่บ้านตาแปด อ. เทพา จ.สงขลา

ในหมู่บ้านที่เงียบสงบแห่งนี้ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมามีคนนำระเบิดไปวางที่ด้านข้างของร้านค้าหัวมุมสี่แยกในหมู่บ้าน แรงระเบิดทำให้มีคนเจ็บและคนตาย ระเบิดเพลิงหนนั้นส่งสะเก็ดกระจายไปในรัศมีวงกว้าง เด็กที่อยู่ในสนามเด็กเล่นที่อยู่ฝั่งตรงข้ามใกล้ๆสี่แยกเจอลูกหลงไปด้วยพร้อมๆกับผู้คนอีก 14 คน เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตทันที ญาติคนตายได้รับเงินช่วยเหลือซึ่งในพื้่นที่นี้เรียกกันว่าเงินเยียวยาจำนวน 500,000 บาท

อุไรที่บ้านอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุสูญเสียสามีไปในเหตุการณ์หนนั้น สามีของเธอไม่ได้เสียชีวิตในทันที เขาโดนสะเก็ดระเบิดฝังประปรายตามตัวหลายจุด แพทย์ได้ผ่าตัดเอาสะเก็ดระเบิดออกให้ ทว่าอีกหนึ่งสัปดาห์ให้หลังครอบครัวกลับพบว่าเขามีอาการแทรกซ้อนต้องเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง คราวนี้แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นเพราะอาการติดเชื้อและสามีของอุไรเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา

แพทย์ผู้รักษาลงรายละเอียดในใบรับรองแพทย์เพียงว่า เขาเสียชีวิตจากการติดเชื้อ ผลของใบรับรองแพทย์อันนั้นทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือไม่อาจเชื่อมโยงเหตุระเบิดดังกล่าวเข้ากับการเสียชีวิตของสามีของอุไรได้ เธอจึงไม่ได้รับเงินช่วยเหลืออันใด ยกเว้นค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลซึ่งครอบครัวไม่ต้องจ่ายแล้ว ส่วนที่เหลือครอบครัวต้องจ่ายเองทั้งหมด เวลาห้าเดือนผ่านไปโดยที่เจ้าหน้าที่ยังวนเวียนอยู่กับปัญหาการแก้ไขข้อความในเอกสาร

“เจ้าหน้าที่อำเภอเขากำลังตามเรื่องให้ เขาบอกว่าต้องแก้ไขใบรับรองแพทย์ คือมันต้องระบุว่าบาดแผลที่ได้มันมาจากเหตุรุนแรงไม่อย่างนั้นเขาจ่ายให้ไม่ได้” อุไรว่า การจะแก้ไขข้อความในใบรับรองแพทย์อันนั้น เจ้าหน้าที่ต้องตามหาแพทย์คนที่รักษาสามีของอุไรซึ่งปัจจุบันย้ายออกไปจากโรงพยาบาลสงขลาแล้ว และ “เขาบอกว่าตอนนี้ไม่รู้อยู่ที่ไหน” อุไรว่า

อีกมุมหนึ่งของสี่แยกที่เกิดระเบิด บ้านของนิติมาตั้งอยู่ในระยะห่างจากบริเวณสี่แยกไม่น้อย แต่เนื่องจากเป็นที่โล่งบ้านเธอจึงรับแรงระเบิดไปเต็มๆ บ้านเสียหาย รถในบ้านก็เสีย เธอซ่อมบ้านไปเป็นเงินกว่า 80,000 บาท แต่ได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อเยียวยาไม่ถึง 40,000 บาท ส่วนเรื่องรถต้องรอการประเมินราคา รอมา 5 เดือนก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีความคืบหน้า

“เหมือนตายทั้งเป็น” เธอว่า เพราะนิติมาต้องใช้รถขนส่งขนมออกไปตามที่ต่างๆ รถเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงครอบครัว เธอบอกว่าหน่วยราชการหลายแห่งวิ่งเต้นหลายแห่งผลัดกันเข้าไปพูดคุยและดูแลแต่ไม่มีความคืบหน้า “เราก็ไม่ได้ต้องการเงินชดเชยช่วยเหลือเรื่องบาดเจ็บเล็กๆน้อยอย่างที่เขามาบอกหรอก ขอแค่ได้ซ่อมรถให้เดินได้ก็พอใจแล้ว แต่นี่มันห้าเดือนแล้ว ไม่คืบหน้าเลย เห็นท่าจะต้องรอไปร้องกับแม่ทัพภาคสี่คนใหม่” แต่แม่ทัพภาคสี่คนใหม่ยังไม่เข้ารับตำแหน่ง

ช่วงบ่ายของวันที่ 22 ก.ย. หน่วยงานราชการคือกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าส่งทีมงานเข้าไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ อุไรและนิติมาเข้าร่วมพูดคุยพร้อมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบรายอื่นๆ ผลของการพูดคุยพบว่าการ “เยียวยา” ผู้ได้รับผลกระทบในระดับที่น่าจะถือได้ว่าเล็กๆ แค่นี้มีความซับซ้อนอยู่มากมาย

การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากหน่วยงานราชการแยกจ่ายเป็นสองกลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่สูญเสียชีวิตกับกลุ่มที่สูญเสียทรัพย์สิน หน่วยงานที่ช่วยเหลือมีหลายหน่วยงาน คือตั้งแต่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ ศอ.บต. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือ คมจ. หน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือ ปภ. ยุติธรรมจังหวัด และอื่นๆ ที่สำคัญ นอกเหนือจากเงินช่วยเหลือจากศอ.บต.จำนวน 500,000 บาท สำหรับในกรณีที่เสียชีวิตแล้ว เงินช่วยเหลืออื่นๆ จากบรรดาหน่วยงานที่เอ่ยถึงมีเป็นหลักพันคือ 2,000 - 6,000 บาท การให้ความช่วยเหลือของแต่ละรายมีรายละเอียดและเงื่อนไขที่ต้องศึกษา เช่นการช่วยเหลือในเรื่องค่ารักษาพยาบาลของบางหน่วยงานมีเงื่อนไขว่าจะต้องนอนโรงพยาบาลตั้งแต่กี่วันขึ้นไป แต่นอกเหนือจากนั้น ยังมีปัญหาอื่นอีก เมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามถึงเงินบางส่วนจากบางหน่วยงาน ผู้ได้รับผลกระทบบางคนบอกว่าได้รับแล้ว บางรายบอกว่ายังไม่ได้รับ คำถามว่าเพราะอะไรดูจะไม่ได้คำตอบ

“ผมก็ไม่รู้จะตอบยังไง” ผู้ได้รับผลกระทบคนหนึ่งบอก เขาขยายความว่าเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานหนึ่งที่ได้นำเงินไปให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยเดินทางไปบ้านตาแปดพร้อมด้วยเงิน แต่บางคนไม่รู้ล่วงหน้าจึงมีคนไม่ได้ไปรับจำนวนหนึ่ง สำหรับเขาเนื่องจากไม่ว่าง จึงฝากหลักฐานไว้กับผู้ได้รับผลกระทบด้วยกันให้ช่วยรับให้ แต่ทั้งเขาและอีกหลายรายต่างก็ไม่ได้รับเงิน เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่อำเภอก็ได้รับคำตอบว่า “จ่ายไปแล้ว” แต่ท้ายที่สุดไม่มีใครตอบได้ว่าใครรับเงินไปหรือเงินนั้นอยู่ที่ไหน คำตอบนี้ทำให้วงพูดคุยอึ้งไปตามๆกัน เจ้าหน้าที่ถามกับพวกเขาว่า ทำไมไม่ไปตามเรื่อง

“ก็อยากจะไปครับ แต่ไม่รู้พอค่าน้ำมันรถหรือเปล่า” เงินช่วยเหลือจำนวนที่ว่าคือ 3,000 บาท “ถ้าเกิดไปแล้วเจอปัญหารถยางรั่วยิ่งหนักข้อขึ้นไปอีก”

กลุ่มคนที่เดือดร้อนอีกกลุ่ม คือคนที่สูญเสียทรัพย์สิน เพราะปัญหาการตีราคาความเสียหายที่ต้องใช้เวลา ขณะที่นิติมาพบว่า การตีราคาค่าซ่อมบ้านต่ำกว่าความจริงเทบจะครึ่งต่อครึ่ง แต่ทรัพย์สินบางส่วนคือรถของเธอก็ยังไม่ได้ซ่อม เช่นเดียวกันกับชายหนุ่มอีกรายที่รถได้รับความเสียหาย เขาบ่นถึงเวลาห้าเดือนที่หายไปพร้อมกับการที่ไม่สามารถเริ่มอะไรใหม่ได้

เจ้าหน้าที่ปลอบใจพวกเขาว่า สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันถือว่าดีขึ้นกว่าเดิมมากนักเพราะได้มีการสะสางวางหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินช่วยเหลือใหม่ทำให้สามารถจ่ายเงินให้กับญาติผู้เสียชีวิตได้เร็วขึ้น แต่เดิมการจ่ายเงินช่วยเหลือทำได้ยากเย็นจนทำให้ผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์รุนแรงในช่วงแรกๆเรียกได้ว่าแทบจะไม่ได้รับอะไรเลย แต่กฎเกณฑ์ที่ว่าสะสางกันไประดับหนึ่งนี้ เป็นส่วนที่ครอบคลุมเฉพาะในกรณีการเสียชีวิตเท่านั้น ส่วนเรื่องความเสียหายด้านอื่นนั้นยังคงต้องรอกันต่อไป

(ภาพแรก นิติมา เดหนิ และภาพที่สอง อุไร ภักดี)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.